ผู้หญิงไม่เก่งเทคโนโลยี : ความจริงคนละมุม
ตั้งแต่เกือบสองร้อยปีที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ โอกาสของผู้หญิงในการศึกษาต่อในสาขาวิศวกรรมและเทคโนโลยีถูกปิดกั้นจากนโยบายของสถานศึกษา สภาพแวดล้อมและทัศนคติเชิงลบตลอดมา แม้ว่าทุกวันนี้มหาวิทยาลัยต่างๆเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เข้าศึกษาต่อในสาขาเทคโนโลยีโดยไม่ได้จำกัดเรื่องเพศเหมือนแต่ก่อน แต่จำนวนของผู้หญิงที่เข้าศึกษาด้านเทคโนโลยีก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นจนเป็นที่น่าพอใจ
คนทั่วไปมักมีความเชื่อจนดูเหมือนกลายเป็นความจริงว่า “ผู้หญิงไม่เก่งเทคโนโลยี” งานด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรม รวมทั้งงานช่างประเภทต่างๆ จึงแทบจะถูกผูกขาดโดยผู้ชาย แม้ว่าในภายหลังเมื่อมนุษย์สามารถสร้าง เทคโนโลยีชนิดเบา เช่น อิเล็กทรอนิกส์ โทรคมนาคม คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ซึ่งไม่ต้องใช้กำลังมาก สามารถทำงานในร่มได้และไม่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ขึ้นมาได้ก็ตาม งานเหล่านี้ก็ยังมีสัดส่วนของผู้ชายมากกว่าผู้หญิงอยู่ดี ทั้งๆที่การทำงานกับเทคโนโลยีประเภทนี้ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ต้องจำกัดว่าเป็นงานของเพศชายหรือเพศหญิง
จากตัวเลขในตลาดแรงงานและระบบการศึกษาของไทยเท่าที่ผ่านมาจะเห็นว่า งานด้านเทคโนโลยีทั้งหลาย รวมทั้งจำนวนนักเรียนในสถานศึกษาที่เปิดสอนด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรม ยังถูกยึดครองโดยผู้ชาย สถาบันการศึกษาที่สอนหลักสูตรเกี่ยวกับเทคโนโลยีไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัยจะมีจำนวนนักเรียนชายมากกว่านักเรียนหญิงเสมอ
แม้ว่าระยะหลังมีนักเรียนหญิงเข้ามาเรียนสาขาเทคโนโลยีมากขึ้นก็ตามและบางสาขามีจำนวนนักศึกษาหญิงมากกว่านักศึกษาชาย แต่ในภาพรวมยังมีสัดส่วนต่ำกว่านักเรียนชาย หรือเมื่อได้เข้ามาเรียนและสำเร็จการศึกษาแล้ว ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยได้เดินออกไปจากอาชีพเทคโนโลยีทั้งๆที่ไม่ได้มีอุปสรรคในเรื่องความสามารถในงานด้านเทคโนโลยีหรือวิชาเรียนที่สนับสนุนงานเทคโนโลยีแต่อย่างใด
ความไม่สมดุลของแรงงานและการศึกษาด้านเทคโนโลยีระหว่างเพศชายและเพศหญิงนั้น มิใช่เกิดเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ประเทศต่างๆในโลกนี้ล้วนอยู่ในสถานการณ์คล้ายคลึงกัน นอกจากความไม่สมดุลของแรงงานทั้งสองเพศอันเนื่องจาก ความเชื่อ ความไม่ยอมรับ หรือขาดแรงจูงใจแล้ว นโยบายของภาครัฐหรือนโยบายของบริษัทบางแห่งยังบั่นทอนอาชีพทางเทคโนโลยีของผู้หญิง จนดูเหมือนว่า งานหลายอาชีพไม่เปิดกว้างสำหรับผู้หญิงและทำให้ประเทศหรือองค์กรขาดมุมมองและพลังสร้างสรรค์จากเพศหญิงต่อการพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีไปอย่างน่าเสียดาย
บริษัทธุรกิจ องค์กรทางเทคโนโลยีชั้นนำและสถาบันการศึกษาจำนวนมากตระหนักถึงปัญหานี้ดีและมีความพยายามในการลดความไม่สมดุลทางเพศในงานเทคโนโลยีลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างบุคลากรเข้าสู่วงจรธุรกิจเทคโนโลยีผ่านสถาบันการศึกษานั้น มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของโลก เช่น Carnegie Mellon MIT University of Washington The University of British Columbia Princeton ฯลฯ ต่างพยายามหาวิธีที่จะชักชวนให้ผู้หญิงเข้ามาเป็นนักศึกษาสายวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ เพื่อเพิ่มจำนวนนักศึกษาหญิงในสาขาวิชาดังกล่าวให้มากขึ้น
สาเหตุการขาดแคลนแรงงานหญิงในงานเทคโนโลยี
จากรายงานเผยแพร่โดย World Economic Forum พบข้อมูลว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลกนั้น มีผู้หญิงที่อยู่ในงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (Science-Technology-Engineering-Mathematics :STEM) น้อยกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังพบว่าระหว่างปี 2006-2014 ผู้สำเร็จการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์เพศหญิงมีจำนวนลดลง สวนทางกับความต้องการแรงงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ข้อมูลจากแหล่งเดียวกันเปิดเผยว่า สาเหตุที่ แรงงานหญิงในสาขาเทคโนโลยีและสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง มีจำนวนค่อนข้างน้อย มีสาเหตุหลักมาจาก ขาดการสนับสนุนที่จริงจัง ผู้หญิงมีความท้อใจอยู่เป็นทุนเดิม ขาดคนต้นแบบที่จะเดินตามรอย มีแรงกดดันในเชิงลบจากเพื่อนร่วมงานและมีการล่วงละเมิดหรือการข่มขู่
นอกจากนี้บ่อยครั้งที่กลุ่มผู้หญิงที่มีจำนวนไม่มากเหล่านี้ยังถูกตัดสินล่วงหน้าจากความเป็นเพศหญิง รวมทั้งมีปัญหาด้านเชื้อชาติอีกด้วย จึงเป็นเหตุให้ไม่สามารถดึงดูดใจผู้หญิงให้เข้ามาสู่อาชีพเทคโนโลยีได้มากเท่าที่ควร
จากข้อมูลในรายงานผลการศึกษาหลายแห่งยังไม่เคยพบว่า ผู้หญิงด้อยศักยภาพในเรื่องวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีแต่อย่างใด ซึ่งหมายความว่างานที่ใช้ทักษะด้าน STEM นั้น ผู้หญิงและผู้ชายมีศักยภาพไม่แตกต่างกัน เพราะเท่าที่ผ่านมามีผู้หญิงที่สำเร็จการศึกษาสาขาวิศวกรรมและเทคโนโลยีประสบความสำเร็จด้านการงานมีชื่อเสียงระดับประเทศและระดับโลกมากมายตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน
ผู้หญิงกับงานวิศวกรรมและเทคโนโลยี
ผู้หญิงมีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีมาอย่างช้านานเท่าๆกับผู้ชายและมีความสามารถไม่ยิ่งหย่อนกว่าผู้ชาย เป็นต้นว่า เอดา เลิฟเลซ (Ada Lovelace) หญิงชาวอังกฤษซึ่งมีชีวิตอยู่เมื่อสองร้อยปีก่อนได้รับการยกย่องว่า เป็นโปรแกรมเมอร์คนแรกของโลกจากผลงานการสร้างภาษาสำหรับเครื่องจักรวิเคราะห์(Analytical Machine)ที่ ชาส์ล แบบเบจ เป็นผู้สร้างขึ้นและต่อมาได้พัฒนาเป็นคอมพิวเตอร์ในที่สุด ด้วยความสามารถของเธอ เอดา เลิฟเลซ จึงได้ชื่อว่าเป็น ต้นแบบของนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์(Computer scientist) ซึ่งเป็นอาชีพที่น่าสนใจที่สุดอาชีพหนึ่งในปัจจุบัน
หลังจากยุคของ เอดา เลิฟเลซ มีผู้หญิงอีกหลายคนที่ศึกษาด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมจนสำเร็จ เช่น เอลิซาเบ็ท แบรก เป็นผู้หญิงคนแรกของสหรัฐอเมริกา ที่สามารถเรียนจบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมโยธา จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ เมื่อ 142 ปีที่แล้ว จะด้วยเหตุผลใดก็ตามเธอไม่ได้ประกอบอาชีพทางวิศวกรรม แต่กลับทำงานเป็นแม่บ้านและเลี้ยงดูลูกอยู่กับบ้าน
อีกสิบแปดปีต่อมามีหญิงสาวชื่อ จูเลีย มอแกน จบการศึกษาด้านวิศวกรรม จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน แต่ผันตัวเองไปเป็นอาชีพสถาปนิกที่มีชื่อเสียง เธอได้ออกแบบอาคารใน แคลิฟอร์เนียมากกว่า 700 แห่ง
อีเลน สวอลโล ริชาร์ด คือผู้หญิงคนแรกที่สามารถเข้าเรียนในสถาบันเทคโนโลยีชั้นนำของโลกอย่าง MIT ได้ ในฐานะนักเรียนพิเศษและต่อมาได้เป็นอาจารย์หญิงในวิชาเคมีของสถาบันแห่งนี้ แต่เธอคงเป็นอาจารย์เพียงคนเดียวที่ไม่เคยได้รับค่าจ้างจากการสอนเลย แม้ว่าเธอสามารถเรียนต่อระดับบัณฑิตศึกษาที่สถาบันเดิมได้แต่การเรียนของเธอที่นั่นไม่ได้ราบรื่นเสียเลยที่เดียว เพราะเธอกลับไม่ได้รับปริญญาเนื่องจากในขณะนั้นสถาบันยังไม่เคยมอบปริญญาระดับบัณฑิตศึกษาแก่ผู้หญิงมาก่อน เธอเป็นที่รู้จักในฐานะผู้บุกเบิกงานด้านวิศวกรรมสุขาภิบาลของสหรัฐอเมริกา
ในยุคหลังมีผู้หญิงอีกหลายคนที่จบการศึกษาสาขาวิศวกรรมและประสบความสำเร็จในอาชีพ แต่ผู้หญิงมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ที่มีทักษะขั้นสูงทางเทคโนโลยีและวิศวกรรม กลับหันหลังให้กับงานเหล่านี้อย่างไม่ใยดี
ในสมัย ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ได้เคยแต่งตั้ง ประธานเจ้าหน้าที่ด้านเทคโนโลยี (Chief Technology Officer) เป็นสุภาพสตรี ชื่อ เมแกน สมิธ อดีตผู้บริหารของ Google เพื่อรับผิดชอบในการกำกับดูแลงานด้านเทคโนโลยีของรัฐบาลอเมริกัน ซึ่งเธอน่าจะเป็น ประธานเจ้าหน้าที่ด้านเทคโนโลยีสตรีที่ทรงอิทธิพลที่สุดในวงการเทคโนโลยีในขณะนั้น นอกจากนี้ยังเห็นบทบาทของผู้หญิงอีกมากที่โดดเด่นในงานเทคโนโลยีทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของหลายๆประเทศรวมทั้งประเทศไทยเองด้วย แต่เมื่อเทียบกับผู้ชายแล้วยังมีจำนวนน้อยกว่ามาก (สถิติจำนวนผู้หญิงในธุรกิจเทคโนโลยีชั้นนำ แยกตามทวีป : อเมริกาเหนือ 18.1 เปอร์เซ็นต์ ลาตินอเมริกา 13.4 เปอร์เซ็นต์ ยุโรปและอัฟริกา 11.2 เปอร์เซ็นต์ เอเชีย 11.5 เปอร์เซ็นต์)
สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ
นอกจากการขาดแคลนแรงงานหญิงในงานเทคโนโลยีดังเหตุผลข้างต้นแล้ว การไม่ได้รับการต้อนรับจากที่ทำงานและสิ่งแวดล้อมอื่นๆในที่ทำงาน เช่น การถูกคุกคามทางเพศจากเพื่อนร่วมงานชาย การถูกเปรียบเทียบกับคนอื่นที่เหนือกว่า ความอึดอัดจากสภาพการแข่งขันในที่ทำงาน การได้รับมอบหมายงานที่ไม่ท้าทาย ขาดความก้าวหน้าอาชีพ การไม่มีเพื่อนร่วมงานเพศเดียวกัน การไม่ให้เกียรติผู้หญิง ความไม่สมดุลของการใช้ชีวิตกับการทำงาน การถูกมองว่าไม่มีความสำคัญในงานเทคโนโลยี และ การอยู่ในวัฒนธรรมที่ถือว่าผู้ชายมีอำนาจ ฯลฯ ก็มีส่วนทำให้อาชีพเทคโนโลยีไม่น่าสนใจสำหรับผู้หญิง
ที่สำคัญคือความรู้สึกของผู้หญิงที่มีความกังวลว่า อาชีพด้านเทคโนโลยีคืออุปสรรคต่อความเป็นแม่ อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงอึดอัดต่อการอยู่ในอาชีพเทคโนโลยีและดูเหมือนตัวเองแปลกแยกจากเพื่อนร่วมงาน สิ่งเหล่านี้อาจเป็นปัจจัยให้ผู้หญิงตัดสินใจที่จะไม่เลือกเดินทางบนอาชีพเทคโนโลยีและผู้หญิงส่วนใหญ่เมื่อออกจากอาชีพนี้ไปแล้วมักไม่หวนกลับมาอีก เมื่อเปรียบเทียบกับอาชีพ นักบัญชี แพทย์และนักกฎหมายแล้ว อาชีพเทคโนโลยีและวิศวกรรม เป็นอาชีพที่ผู้หญิงหันหลังให้มากที่สุด
แรงจูงใจเข้าสู่อาชีพเทคโนโลยี
การเข้ามาอยู่ในอาชีพเทคโนโลยีและวิศวกรรมของผู้หญิงและผู้ชายมีเหตุผลเริ่มต้นคล้ายกันคือสามารถทำคะแนนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ได้ดีสมัยเรียนมัธยมปลาย ประกอบกับคาดหวังว่าอาชีพทางเทคโนโลยีมีแนวโน้มที่จะได้รับค่าจ้างสูงกว่าอาชีพอื่นในอนาคต (จากข้อมูลการสำรวจพบว่าผู้หญิงในสายงาน STEM มีรายได้เฉลี่ยน้อยกว่าผู้ร่วมงานเพศชายราว 16,000 ดอลลาร์ )
เมื่ออยู่ในชั้นเรียน ผู้หญิงและผู้ชาย มีผลการเรียนไม่แตกต่างกัน แต่จากผลการสังเกตของผู้วิจัยพบว่า ผู้หญิงมีความสงสัยต่อการแก้ไขปัญหามากกว่าผู้ชายและมักต้องการความเห็นเพิ่มเติมจากอาจารย์หรือที่ปรึกษาเพื่อยืนยันความมั่นใจเสมอ นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้หญิงยังมีความคาดหวังที่จะเป็นนักเทคโนโลยีที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาหลักๆของสังคมและสร้างความแตกต่างให้กับชีวิตผู้คนจากประโยชน์ของเทคโนโลยี มากกว่าผู้ชาย
การถูกกีดกันด้วยนโยบาย
หนึ่งในปัจจัยที่น่าสนใจที่ทำให้ผู้หญิงถูกกีดกันออกจากงานด้านเทคโนโลยี ซึ่งเริ่มมานานนับร้อยปีและมักไม่ค่อยมีการกล่าวถึงคือ นโยบายของสถาบันการศึกษา รวมทั้งนโยบายขององค์กรและนโยบายของประเทศที่ไม่ได้ให้ความสนใจต่อปัญหาการแบ่งแยกเพศในงานเทคโนโลยีมากเท่าที่ควร หรือบางครั้งนโยบายของแต่ละองค์กรหรือแต่ละประเทศอาจซ้ำเติมต่อปัญหาการแบ่งแยกเพศในอาชีพเทคโนโลยีอีกด้วย
ในช่วงก่อนปลาย ค.ศ. 1800 การเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย ในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายสำหรับผู้หญิง โดยเฉพาะการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมนั้นเป็นเรื่องยากยิ่งเพราะมหาวิทยาลัยบางแห่งรับผู้หญิงเข้าเรียนเฉพาะบางสาขาเท่านั้น
จากงานวิจัยของนักจดหมายเหตุของสมาคมวิศวกรหญิง ของสหรัฐอเมริกา พบว่า แต่ละปีของช่วง ค.ศ. 1876-1900 แทบจะไม่พบผู้หญิงมากกว่า 1 คน ได้รับปริญญาทางวิศวกรรมศาสตร์ ทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงพอจะเห็นผู้หญิงจำนวนหนึ่งได้รับปริญญาทางวิศวกรรมอยู่บ้างในบางปี
ในอดีต สถาบันทางทหารเวสปอยท์ ซึ่งเปิดสอนวิชาวิศวกรรม และสถาบัน Rensselaer Polytechnic ซึ่งเป็นสถาบันทางวิศวกรรมที่เก่าแก่ ของสหรัฐอเมริกา ก็ไม่รับผู้หญิงเข้าศึกษาต่อทั้งสองสถาบัน นอกจากนี้มหาวิทยาลัยชั้นนำอื่นๆอีกหลายสถาบัน ซึ่งแม้ว่าจะมีการรับผู้หญิงเข้าศึกษาวิชาวิศวกรรมในช่วงปี 1800 อยู่บ้างก็ตาม แต่บางครั้งนักศึกษาหญิงถูกปฏิเสธการได้รับปริญญาแม้ว่านักศึกษาหญิงเหล่านั้นจะผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างครบถ้วนแล้วก็ตาม
สิ่งที่น่าขมขื่นใจของนักศึกษาหญิงสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของบางสถาบันในยุคก่อนก็คือ เมื่อเข้าห้องเรียน ผู้หญิงจะถูกให้นั่งรอหลังห้องเพื่อให้นักศึกษาชายได้เลือกที่นั่งก่อนแล้วจึงมีสิทธิ์ได้เลือกที่นั่งต่อจากนักศึกษาชาย นอกจากนี้ยังมีการจำกัดเวลาในการใช้ห้องสมุดหรือห้องทดลองด้วย เป็นการตอกย้ำถึงการไม่ให้ความสำคัญต่อเพศหญิงบนสมมุติฐานและความเชื่อว่า วิชาฟิสิกส์และวิศวกรรมคืองานของผู้ชาย ส่วนวิชา เคมี พฤกษศาสตร์ ดาราศาสตร์ นั้นดูเหมือนเป็นวิชาของผู้หญิง
จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่เกือบสองร้อยปีที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ โอกาสของผู้หญิงในการศึกษาต่อในสาขาวิศวกรรมและเทคโนโลยีถูกปิดกั้นจากนโยบายของสถานศึกษา สภาพแวดล้อมและทัศนคติเชิงลบตลอดมา แม้ว่าทุกวันนี้มหาวิทยาลัยต่างๆเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เข้าศึกษาต่อในสาขาเทคโนโลยีโดยไม่ได้จำกัดเรื่องเพศเหมือนแต่ก่อน แต่จำนวนของผู้หญิงที่เข้าศึกษาด้านเทคโนโลยีก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นจนเป็นที่น่าพอใจ
นอกจากการถูกกีดกันจากนโยบายของสถานศึกษาแล้ว นโยบายของหน่วยงานหรือของประเทศก็มีส่วนสำคัญที่ผลักดันให้ผู้หญิงออกห่างจากอาชีพด้านเทคโนโลยีจนแทบจะเป็นเส้นขนานและกลายเป็นคนกลุ่มน้อยในอาชีพเทคโนโลยีและวิศวกรรม ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศอย่างคาดไม่ถึง
ในช่วงปี 1940 ประเทศอังกฤษถือว่าเป็นประเทศชั้นนำด้านการพัฒนาเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์นั้น อังกฤษไม่ได้น้อยหน้ากว่าชาติอื่นๆและเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปในเวลานั้นว่า คอมพิวเตอร์คืองานของผู้หญิงเพราะผู้หญิงคือกำลังสำคัญต่องานพัฒนาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองจนถึงประมาณปี 1960 ดังนั้นหน่วยวัดการทำงานของแรงงานของบริษัท IBM UK จึงใช้คำว่า “ ชั่วโมงแรงงานหญิง” (Girl hours) แทนที่จะใช้คำว่า “ ชั่วโมงแรงงานชาย” (Man hours) อย่างที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันและงานสำคัญๆด้านเทคโนโลยีในอังกฤษจึงมักมีชื่อผู้หญิงอยู่เบื้องหลังความสำเร็จเสมอ
จุดหักเหสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ของประเทศอังกฤษแทบจะสูญพันธุ์ในระยะต่อมาน่าจะเกิดขึ้นในช่วงปี 1959 เมื่อรัฐบาลอังกฤษได้เริ่มจ้างแรงงานชายมาเป็นผู้ปฏิบัติงานด้านคอมพิวเตอร์ด้วยเหตุผลที่ว่า ต้องการสร้าง ศูนย์กลางของความเชี่ยวชาญ (Core of expertise) สำหรับงานคอมพิวเตอร์ให้มีความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้แรงงานหญิงยังถูกมองว่า ไม่ใช่แรงงานในอุดมคติในระยะยาว ไม่น่าเชื่อถือและไม่สามารถที่จะยกระดับให้เป็นผู้เชี่ยวชาญที่ดีได้อีกด้วย การจ้างแรงงานชายจึงถือว่าไม่สูญเปล่าเพราะผู้ชายไม่ต้องลาออกจากงานเมื่อมีครอบครัว ด้วยนโยบายดังกล่าวแรงงานหญิงจำนวนมากมายที่ถูกฝึกมาเพื่อปฏิบัติงานด้านคอมพิวเตอร์จึงถูกปล่อยปละละเลยไปอย่างน่าเสียดาย
ด้วยทัศนคติด้านลบที่มีต่อแรงงานหญิงในครั้งนั้นจึงส่งผลให้ประเทศอังกฤษเกิดปัญหาทางโครงสร้างด้านแรงงานในสาขาคอมพิวเตอร์และสูญเสียความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในระยะเวลาเพียงแค่สิบกว่าปีต่อมา
มิใช่ประเทศอังกฤษเท่านั้นที่รับรู้กันว่า งานคอมพิวเตอร์เคยเป็นงานของผู้หญิง ในอดีตประเทศสหรัฐอเมริกาก็ใช้ศักยภาพของผู้หญิงในงานคอมพิวเตอร์เป็นหลัก บริษัทคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ๆ เช่น IBM และ HP ล้วนแต่จ้างและสนับสนุนผู้หญิง รวมทั้งคนผิวสีในงานคอมพิวเตอร์ เป็นจำนวนมาก นักคอมพิวเตอร์หญิงคนดังๆที่เป็นผู้นำในวงการคอมพิวเตอร์ในยุคนั้นจึงมาจากผลของการบ่มเพาะจากบริษัท IBM หรือ HP เกือบทั้งสิ้น
สถานการณ์ที่ทำให้เกิดจุดหักเหจนทำให้งานคอมพิวเตอร์ในสหรัฐอเมริกากลายเป็นงานของผู้ชายนั้นน่าจะเกิดในช่วงปลายทศวรรษที่ 70 ถึงทศวรรษที่ 80 เมื่อทั้งบิลเกตส์และสตีฟ จ็อบ รวมทั้งนักคอมพิวเตอร์ในยุคเดียวกันได้ก้าวเข้ามายืนอยู่แถวหน้าในวงการคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับผู้นำด้านคอมพิวเตอร์ที่เป็นหญิง รวมทั้งแรงงานหญิงรุ่นเยาว์ต่างค่อยๆหันหลังให้กับงานคอมพิวเตอร์ไปเช่นเดียวกับผู้หญิงในประเทศอังกฤษ
เพียงชั่วเวลาไม่นานงานคอมพิวเตอร์ในสหรัฐอเมริกาจึงกลายเป็นงานของผู้ชายในที่สุด
เรื่องราวของผู้หญิงในงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรมที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นบทเรียนที่เจือไปด้วยเรื่องราวของการแบ่งแยกเพศทั้งจากสิ่งแวดล้อมภายในสถานที่ทำงานรวมถึงนโยบายระดับชาติ การที่โลกนี้ยังไม่สามารถสร้างความสมดุลด้านแรงงานทางเทคโนโลยีได้อย่างมีนัยสำคัญอาจเป็นปัจจัยสำคัญต่อการขาดความหลากหลายในการพัฒนาและการนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีในทางสร้างสรรค์สังคมและจรรโลงสิ่งแวดล้อม
ดังนั้นนโยบายการส่งเสริม การไม่แบ่งแยกเพศในงานด้านเทคโนโลยี การสร้างทัศนคติเชิงบวกต่อเพศหญิงเพื่อลดความเชื่อที่ว่าผู้หญิงไม่เก่งด้านเทคโนโลยี รวมทั้งการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อเพศหญิง เพื่อให้ผู้หญิงได้พิสูจน์ตัวเองว่า เทคโนโลยีไม่ใช่สิ่งผูกขาดทางเพศและโลกนี้สามารถใช้พลังจากผู้หญิงขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีได้ดีไม่แพ้ผู้ชาย จึงน่าจะเป็นนโยบายที่สำคัญในการเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมใหม่ ที่องค์กรหรือรัฐไม่ควรมองข้ามไป
อ้างอิง
1. https://www.weforum.org/agenda/2017/11/women-in-tech-engineering-ellen-stofan/
2. https://hbr.org/2016/08/why-do-so-many-women-who-study-engineering-leave-the-field
3. Programmed Inequality, Marie Hick
4. https://www.wired.com/story/computer-science-graduates-diversity/