4 สภาวิชาชีพ ค้าน ร่างกม.อุดมศึกษา จี้ตัดคำ ‘วิชาชีพ’ ออกจากมาตรา 48
4 สภาวิชาชีพ จี้ตัดคำ ‘วิชาชีพ’ ออกจากมาตรา 48 ร่าง กม.อุดมศึกษา หวั่นให้อำนาจมหาวิทยาลัยทำธุรกิจแข่งกับเอกชน สร้างผลเสียต่อเศรษฐกิจ สังคม ปชช. โดยเฉพาะงานวิศวกรรม-สถาปัตยกรรม ชี้ส่อขัด รธน. มาตรา 75 วรรสอง -มาตรา37 เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่
วันที่ 18 ก.ย. 2561 สภาสถาปนิก ร่วมกับสภาวิศวกร สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ และสภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดแถลงข่าว 4 สภาวิชาชีพ ประเด็น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การอุดมศึกษา มาตรา 48 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม ประชาชน อย่างไร ณ อาคารสภาสถาปนิก กรุงเทพฯ
นายทัศไนย ไชยแขวง อุปนายกสภาทนายความฯ กล่าวว่า 4 สภาวิชาชีพ มีความเห็นร่วมกันว่า มาตรา 48 บัญญัติว่า “สถาบันอุดมศึกษามีหน้าที่ในการให้บริการทางวิชาการและวิชาชีพและให้คำปรึกษาทางวิชาการและวิชาชีพแก่สังคมภายนอกสถาบันอุดมศึกษา โดยนำความรู้จากการจัดการศึกษา การฝึกอบรมทางวิชาการ การผลิตงานวิจัยและการสร้างนวัตกรรม การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มาดำเนินการดังกล่าว เพื่อพัฒนาสังคม ในด้านวิชาการหรือการพัฒนาความรู้ตลอดจนความเข้มแข็งของประเทศชาติและนานาชาติ” จะให้อำนาจแก่สถาบันอุดมศึกษาทำธุรกิจแข่งขันในตลาดได้ ซึ่งทำให้สภาวิชาชีพต่าง ๆ กังวล โดยเฉพาะงานด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อการประกอบวิชาชีพ เศรษฐกิจ และสังคม
ทั้งนี้ หากกฎหมายบังคับใช้สำเร็จ เชื่อว่า การให้อำนาจในการบริการวิชาชีพจะนำไปปฏิบัติได้ไม่เต็มที่ เพราะอาจขัดกฎหมายหลายบทและหลักปฏิบัติจริง โดยเฉพาะขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 75 วรรคสอง “รัฐต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ การรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม การจัดให้มีสาธารณูปโภคหรือการจัดทำบริการสาธารณะ”
“อย่าลืมว่าหลายมหาวิทยาลัยเป็นองค์กรของรัฐ เพราะฉะนั้นหน่วยงานของรัฐออกมาแข่งขันกับเอกชน อาจถูกตั้งคำถามว่า ทำถูกกฎหมายหรือไม่” อุปนายกสภาทนายความฯ กล่าว และว่า นอกจากนี้สถาบันอุดมศึกษา ซึ่งเป็นนิติบุคคล การดำเนินธุรกิจในหลายวิชาชีพต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ซึ่งขึ้นกับสภาวิชาชีพต่าง ๆ ตั้งคำถามว่า หลักเกณฑ์เข้าคุณสมบัติดังกล่าวหรือไม่
นอกจากนี้ยังมีประเด็นความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ นายทัศไนย ระบุมีทั้งกำไรและขาดทุน ดังนั้น หากกฎหมายให้สถาบันอุดมศึกษาทำการค้าได้ ต้องพิจารณาให้รอบด้านว่า หากไม่ประสบความสำเร็จ จะหาทางออกอย่างไร กรณีเกิดภาระทางการเงิน ทั้งที่ตามหลักการแล้ว สถาบันอุดมศึกษามีหน้าที่ให้บริการทางวิชาการ ถ้าทำธุรกิจ แล้วไม่ประสบความสำเร็จ ย่อมมีผลต่อมหาวิทยาลัยในการดำเนินการด้วย
ทั้งนี้ ยังเห็นว่าร่างกฎหมายไม่มีความสมบูรณ์เพียงพอ เนื่องจากมาตรา 48 ซึ่งอยู่ในส่วนที่ 3 การบริการวิชาการแก่สังคม ขัดกับวัตถุประสงค์การจัดการอุดมศึกษาหรือไม่ เพราะมาตรา 8 บัญญัติหลักการสำคัญในการจัดการอุดมศึกษา คือ หลักแห่งความรับผิดชอบต่อสังคม หลักเสรีภาพทางวิชาการ หลักความเป็นอิสระ หลักความเสมอภาค และหลักธรรมาภิบาล
ขณะที่มาตรา 37 บัญญัติว่าสถาบันอุดมศึกษามีหน้าที่และอำนาจในการจัดการศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม การบริการวิชาการแก่สังคม การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และอำนาจและหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น จะเห็นว่า มิได้มีส่วนใดระบุไว้เกี่ยวกับการบริการทางวิชาชีพ ฉะนั้นหากไม่ตัดคำว่า “วิชาชีพ” ในมาตรา 48 ออก จะเกิดปัญหาในการตีความและปฏิบัติในภายหลัง
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า 4 สภาวิชาชีพ มีความเห็นร่วมกันให้ตัดคำว่า “วิชาชีพ” ออกจากมาตรา 48 ในกรณีที่ต้องการให้สถาบันอุดมศึกษามีหน้าที่การให้บริการวิชาชีพ ต้องให้สอดคล้องกับกฎหมายวิชาชีพและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มิฉะนั้นจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ สังคม ประเทศชาติ และประชาชน ขณะที่ปัจจุบันร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษาอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา .