ประเด็นชี้แจงประกาศ สธ. ห้ามนำเข้า ผลิต จำหน่าย กรดไขมันทรานส์
การแสดงฉลากและการกล่าวอ้างทางโภชนาการ ปัจจุบันยังไม่อนุญาตให้กล่าวอ้าง "ปราศจากไขมันทรานส์" หรือข้อความทำนองเดียวกัน เนื่องจากอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการกล่าวอ้างทางโภชนาการของไขมันทรานส์
ประเด็นชี้แจงประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ.2561 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย มีผลใช้บังคับ
1. ไขมันทรานส์ คืออะไร
ไขมันทรานส์ (Trans Fat) เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่บริเวณพันธะคู่มีการจัดเรียงตัวของไฮโดรเจนอะตอมอยู่ตรงข้ามกัน สามารถพบได้ทั้งในธรรมชาติ และจากกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนลงในน้ำมัน
- ไขมันทรานส์จากธรรมชาติ พบได้ในเนื้อวัว ควาย ซึ่งเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ดังกล่าว เช่น นม เนย ชีส แต่พบในปริมาณเพียงเล็กน้อย
- ไขมันทรานส์จากกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partial Hydrogenation) ลงไปในน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง ซึ่งน้ำมันที่ผ่านกระบวนการดังกล่าวจะเรียกว่า Partially Hydrogenated Oil ทำให้น้ำมันที่อยู่ในสภาพของเหลวเปลี่ยนเป็นไขมันที่มีสภาพแข็งขึ้นหรือเป็นของกึ่งเหลว พบในอุตสาหกรรมเนยเทียม (margarine) หรือเนยขาว (shortening) ซึ่งไขมันดังกล่าวจะไม่เป็นไข เกิดการหืนช้า และมีอายุการเก็บรักษานานขึ้น
2. อาหารที่มีการใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partial hydrogenation)
• เนยเทียม (Margarine) และเนยขาว (Shortening)
• ผลิตภัณฑ์เบเกอรี เช่น ขนมปังกรอบ เค้ก พาย พัฟ เพสตรี และคุกกี้ เป็นต้น
• อาหารที่ผ่านการทอดโดยใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนแบบน้ำมันท่วม (Deep frying) ซึ่งต้องใช้อุณหภูมิสูง เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีลักษณะสัมผัสที่ดี กรอบนอก นุ่มใน และมีสีเหลืองน่ารับประทาน เช่น โดนัททอด
• ครีมเทียม วิปปิ้งครีม
3. อันตรายจากไขมันทรานส์
ไขมันทรานส์ให้ผลร้ายเช่นเดียวกับกรดไขมันอิ่มตัว คือ ทำให้ระดับโคเลสเตอรอลรวม (Total Cholesterol) ไขมันชนิดเลว (LDL-Cholesterol) ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) เพิ่มขึ้น รวมทั้งมีผลให้ระดับไขมันชนิดดี (HDL-Cholesterol) ลดลง ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
4. ปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน
องค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization) แนะนำ
- ปริมาณการบริโภคไขมันอิ่มตัวไว้ที่ 10% ของค่าพลังงานต่อวัน (หรือ 20 กรัมต่อวัน) และ
- ปริมาณสูงสุดสำหรับไขมันทรานส์ไม่เกิน 1% ของค่าพลังงานต่อวัน (หรือประมาณ 2 กรัมต่อวัน หรือประมาณ 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค)
5. ขอบเขตของประกาศกระทรวงสาธารณสุขและการบังคับใช้
ประกาศฯ ฉบับนี้มีขอบเขตการบังคับใช้กับน้ำมันและไขมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partial hydrogenation) และอาหารที่มีน้ำมันและไขมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบเท่านั้น มิได้หมายรวมถึงน้ำมันและไขมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนแบบสมบูรณ์ (Fully hydrogenation)
6. การกำกับดูแล ตรวจสอบ และเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อาหารที่อาจมีการใช้น้ำมันและไขมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนหลังจากที่ประกาศฯ ฉบับนี้มีผลใช้บังคับ
กำหนดแผนการตรวจสอบเฝ้าระวัง ณ สถานที่ผลิต สถานที่นำเข้า หรือสถานที่จำหน่ายอย่างต่อเนื่อง โดยพิจารณาจากเอกสารหลักฐาน เช่น สูตรส่วนประกอบ กระบวนการผลิต ข้อกำหนดคุณภาพ (Specification) ของวัตถุดิบที่ใช้ และใบรับรองผลวิเคราะห์ (Certificate of Analysis) เป็นต้น
ทั้งนี้ อาจสุ่มตัวอย่างวิเคราะห์ปริมาณไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์กลุ่มเสี่ยง
7. การเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการในการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ผู้ประกอบการมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารของตนว่าต้องไม่มีการใช้น้ำมันและไขมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ
ผู้ผลิตน้ำมันและไขมัน ต้องปรับกระบวนการผลิตน้ำมันและไขมันโดยไม่ใช้กระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน และต้องมีกระบวนการหรือขั้นตอนที่ทำให้ผู้ซื้อ/ผู้ใช้ มั่นใจได้ว่ามิได้ใช้กระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน โดยอาจออกใบรับรองกระบวนการผลิต ข้อกำหนดคุณภาพ (Specification) และใบรับรองผลวิเคราะห์ (Certificate of Analysis)
ผู้นำเข้าน้ำมันและไขมัน ต้องมั่นใจได้ว่า น้ำมันและไขมันที่นำเข้ามิได้ใช้กระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน โดยอาจขอใบรับรองกระบวนการผลิต ข้อกำหนดคุณภาพ (Specification) และใบรับรองผลวิเคราะห์ (Certificate of Analysis)
ผู้ผลิตและผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์อาหาร ต้องมั่นใจได้ว่า น้ำมันและไขมันที่นำเข้ามิได้ใช้กระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน โดยอาจขอใบรับรองกระบวนการผลิต ข้อกำหนดคุณภาพ (Specification) และใบรับรองผลวิเคราะห์ (Certificate of Analysis) จากผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าน้ำมันและไขมัน
8. การดำเนินการตามกฎหมาย กรณีตรวจพบการใช้น้ำมันและไขมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนในผลิตภัณฑ์อาหาร
ผู้ผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายอาหาร ต้องปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้ หากฝ่าฝืนประกาศซึ่งออกตามมาตรา 6(8) จะมีโทษตามมาตรา 50 คือ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 20,000 บาท
9. การดำเนินการตามกฎหมาย กรณีตรวจพบไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์อาหาร
ไขมันทรานส์สามารถตรวจพบได้ในผลิตภัณฑ์อาหารชนิดต่างๆ เนื่องจากอาจมีการใช้วัตถุดิบบางชนิดที่ได้จากสัตว์เคี้ยวเอื้อง ซึ่งตามธรรมชาติมีไขมันทรานส์เป็นองค์ประกอบ เช่น นม เนย ชีส
นอกจากนี้ น้ำมันบริโภคผ่านกรรมวิธีที่ทำให้บริสุทธิ์ (Refined edible oils) หรือน้ำมันพืชบรรจุขวด ซึ่งอาจผ่านกรรมวิธีที่ใช้อุณหภูมิสูงจนทำให้เกิดไขมันทรานส์ขึ้นได้ แต่พบในปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าว เป็นประกาศฯ ที่กำหนดให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ทั้งนี้ มิได้กำหนดห้ามพบไขมันทรานส์ในอาหารแต่อย่างใด ดังนั้น ควรต้องตรวจสอบเอกสารหลักฐานในเบื้องต้นว่า ไขมันทรานส์ที่ตรวจพบในอาหารนั้นมาจากแหล่งใด เช่น ตรวจสอบแหล่งวัตถุดิบที่ใช้และกรรมวิธีการผลิตวัตถุดิบ คุณภาพมาตรฐานของวัตถุดิบ สูตรส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ คุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ เป็นต้น หากพบว่ามีการใช้น้ำมันและไขมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
10. การแสดงฉลากและการกล่าวอ้างทางโภชนาการของไขมันทรานส์
1) ไม่อนุญาตให้แสดงข้อความ "ไม่ได้ใช้น้ำมันและไขมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน" บนฉลากผลิตภัณฑ์
2) แสดงปริมาณไขมันทรานส์ได้เฉพาะในกรอบข้อมูลโภชนาการเท่านั้น โดยแสดงไว้ในตำแหน่งใต้ไขมันอิ่มตัว และใช้หลักเกณฑ์การปัดตัวเลขเช่นเดียวกับไขมันอิ่มตัว
3) ปัจจุบันยังไม่อนุญาตให้กล่าวอ้าง "ปราศจากไขมันทรานส์" หรือข้อความทำนองเดียวกัน เนื่องจากอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการกล่าวอ้างทางโภชนาการของไขมันทรานส์
11. น้ำมันบริโภคผ่านกรรมวิธี (Refined edible oil / Refined cooking oil) เป็นแหล่งของไขมันทรานส์จริงหรือไม่
น้ำมันบริโภคผ่านกรรมวิธี คือ น้ำมันที่ได้จากการนำพืชน้ำมัน เช่น ผลปาล์ม เมล็ดถั่วเหลือง มาสกัดจนได้เป็นน้ำมันดิบ จากนั้นนำมาผ่านกรรมวิธีกำจัดยาง สี กลิ่น สิ่งเจือปน และกรดไขมัน จนได้เป็นน้ำมันบริโภคที่บริสุทธิ์ กระบวนการเหล่านี้เป็นที่มาของคำว่า “ผ่านกรรมวิธี” ซึ่งมิได้เกี่ยวข้องหรือใช้กระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partial hydrogenation) แต่อย่างใด ดังนั้น น้ำมันบริโภคผ่านกรรมวิธีจึงมิได้เป็นแหล่งของไขมันทรานส์
12. การใช้น้ำมันทอดซ้ำหลายๆ ครั้ง จะทำให้เกิดไขมันทรานส์จริงหรือ?
มีงานวิจัยที่ทดสอบการใช้น้ำมันทอดซ้ำต่อการเกิดไขมันทรานส์ พบว่า น้ำมันที่ใช้ทอดซ้ำหลายๆ ครั้ง ตรวจพบไขมันทรานส์ แต่อยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างต่ำถึงต่ำมาก ดังนั้น น้ำมันทอดซ้ำจึงมิใช่เป็นแหล่งของไขมันทรานส์ แต่อันตรายของน้ำมันทอดซ้ำ คือ สารก่อมะเร็ง