กฎหมายเอื้อเฟื้อทายาท จ.อ.สมาน กุนัน “จ่าแซม” ที่เสียชีวิต ช่วยทีมหมูป่า
แม้จ่าเอก สมาน กุนัน จะมิได้รับราชการเพราะออกจากราชมาแล้วก็ตาม แต่มีกฎหมายที่ดีอยู่ฉบับหนึ่งที่ใช้บังคับเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในกรณีเช่นจ่าแซมนี้ แต่ปรากฏว่าประชาชนที่อยู่ในข่ายที่จะได้รับการสงเคราะห์ตามกฎหมายนี้รู้กันน้อยมาก หรือมาทราบก็ผ่านพ้นระยะเวลาสองปีไปแล้ว จึงเสียสิทธิที่พึงจะได้อย่างน่าเสียดาย
กฎหมายเอื้อเฟื้อทายาท จ. อ.สมาน กุนัน “จ่าแซม” ที่เสียชีวิต ในการช่วยเหลือทีมหมูป่า ในถ้ำหลวง จ.เชียงราย ในที่สุดด้วยความเอื้อเฟื้อจากทุกฝ่ายทั้งภาคราชการ-เอกชน รวมทั้งจากต่างประเทศได้ร่วมแรงร่วมใจในการช่วยเหลือทีมหมูป่า 13 ชีวิตที่ตรงกับสุภาษิตของไทยอยู่บทหนึ่งว่า
“แม้ไม่ใช่ชาติ ไม่ใช่เชื้อ ถ้ามีความเอื้อเฟื้อ ก็เหมือนเนื้ออาตมา”
ระยะเวลาในช่วง 17 วันจากความเอื้อเฟื้อตามสุภาษิตดังกล่าวที่ใช้ได้ในทุกชีวิตประจำวัน ทุกสถานที่ ทั่วทั้งโลก ก็จะเกิดผลดัง 13 ชีวิตที่สามารถช่วยออกมาได้ด้วยความปลอดภัยทุกคน
แต่ในคณะที่ร่วมกันช่วยเหลือก็มีความเสียใจที่สุดซึ้งเกิดขึ้นคือกรณีจ่าเอกสมาน กุนันหรือ “จ่าแซม” อดีตนักทำลายใต้น้ำจู่โจม หน่วยซีล ที่ออกจากราชการแล้ว แต่ด้วยความรักผูกพันที่ยังมีอยู่ในหัวใจคือความ “เอื้อเฟื้อ” ที่มีอยู่ในหน้าที่เดิมในอดีต เมื่อทราบข่าวนักฟุตบอลเยาวชนรวมทั้งโค้ช 13 คน ที่ติดอยู่ในถ้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย และหลายฝ่ายต่างได้พยายามช่วยเหลือพาออกจากถ้ำ ด้วยการระดมกำลังผู้เชี่ยวชาญนักดำน้ำนี้ จ่าเอก สมาน ได้มาร่วมช่วยค้นหาเพื่อพาออกจากถ้ำด้วย แต่การว่ายน้ำดำน้ำวันละหลายชั่วโมงของจ่าแซม ร่างกายอาจจะทนไม่ได้ จึงได้เสียชีวิตลงตามข่าวที่ทราบด้วยความเศร้าใจกันอยู่ในขณะนี้
กรณีดังกล่าวนี้แม้จ่าเอก สมาน กุนัน จะมิได้รับราชการเพราะออกจากราชมาแล้วก็ตาม แต่มีกฎหมายที่ดีอยู่ฉบับหนึ่งที่ใช้บังคับเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในกรณีเช่นจ่าแซมนี้ แต่ปรากฏว่าประชาชนที่อยู่ในข่ายที่จะได้รับการสงเคราะห์ตามกฎหมายนี้รู้กันน้อยมาก หรือมาทราบก็ผ่านพ้นระยะเวลาสองปีไปแล้ว จึงเสียสิทธิที่พึงจะได้อย่างน่าเสียดาย
กฎหมายฉบับนี้มีชื่อเต็มและเพียงชื่อก็เป็นสื่อให้เห็นถึงความ “เอื้อเฟื้อ” เป็น “อานิสงส์”เกิดขึ้นกรณีที่ได้รับการสงเคราะห์แล้ว คือ
พระราชบัญญัติสงเคราะห์ผู้ประสบภัยเนื่องจากการช่วยเหลือราชการการปฏิบัติงานของชาติ หรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม พ.ศ. 2543
กฎหมายฉบับนี้อ่านแล้วเข้าใจง่าย ที่เป็นลักษณะของกฎหมายที่ดีอ่านแล้วมีความสุขเย็นใจ ต่างกับกฎหมายบางฉบับที่ออกมาขณะนี้อ่านแล้วเข้าใจยากเหลือเกิน เช่นกฎหมาย “สินทรัพย์ดิจิทัล”หรือ “เงินบิทคอยน์”ที่ได้ออกมาใช้บังคับไม่กี่วันนี้ เพียงแค่ชื่อก็ไม่เข้าใจแล้ว แต่ก็จำเป็นต้องมีกฎหมาย “เทคนิค”ในรูปแบบใหม่เช่นนี้ตามเทศกาลของบ้านเมืองและโลก เพราะมนุษย์เราบางคนมีความไม่พอเพียง ตามพุทธพจน์บทหนึ่งที่ขออัญเชิญมาดังนี้
“แม้เหรียญกาปณ์ตกมาดังห่าฝน ก็มิทำให้กามชนอิ่มในกาม”
ขอย้อนมาถึงกฎหมายตอบแทนพลเมืองดี เช่น กรณีจ่าแซมและอีกหลายท่านที่อยู่ในข่ายที่จะได้รับเงินสงเคราะห์ เช่น กรณีชาวนาที่ต้องรับน้ำจากที่จำเป็นต้องระบายเข้าไปในนาทำให้พืชผล ต้นข้าวตายเสียหาย เป็นต้น
กฎหมายนี้ได้เคยมีมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 มาบัญญัติใหม่อีกครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ.2543 สมัยคุณชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี
ขอนำเฉพาะสาระสำคัญในกฎหมายฉบับนี้บางส่วน มาเผยแพร่ให้ทราบกัน ดังนี้
เงินที่จะช่วยเหลือตามกฏหมายมีทั้งกรณีที่จะได้แก่
1. ตัวผู้ประสบภัยเอง
2. ทายาทกรณีผู้ประสบภัยตาย
มีเงินช่วยเหลือ ดังนี้
"เงินสงเคราะห์" หมายความว่า เงินชดเชยและเงินดำรงชีพ
"เงินชดเชย" หมายความว่า เงินสงเคราะห์ที่จ่ายเป็นเงินก้อนให้แก่ผู้ประสบภัยหรือ
ทายาทในกรณีผู้ประสบภัยตาย เช่นในกรณีจ่าแซมทายาทจะเป็นผู้ได้รับเงินชดเชยลักษณะเดียวกับเงินบำเหน็จตกทอดตามกฏหมายบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
"เงินดำรงชีพ" หมายความว่า เงินสงเคราะห์ที่จ่ายเป็นรายเดือนให้แก่ผู้ประสบภัย
“เงินช่วยเหลือค่าจัดการศพ” จ่ายให้แก่ทายาทตามกฏหมายของผู้ตาย
"ทายาท" หมายความว่า
(1) บุตร และให้หมายความรวมถึงบุตรซึ่งได้มีคำพิพากษาของศาลว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายซึ่งได้มีการฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรก่อนหรือภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่บิดาตายหรือนับแต่วันที่ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของบิดา
(2) สามีหรือภรรยา
และ (3) บิดามารดา หรือบิดาหรือมารดา
เหตุที่จะได้รับการสงเคราะห์จะต้องเป็นการกระทำตามที่มาตรา 5 กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ ดังนี้
ผู้ใดถูกประทุษร้าย หรือได้รับอันตรายถึงสูญเสียอวัยวะหรือสมรรถภาพในการทำงานของอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งไป หรือทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บจนไม่สามารถใช้กำลังกายหรือความคิดประกอบอาชีพได้ตามปกติ เพราะเหตุผู้นั้นได้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) ช่วยเหลือราชการ
(2) ปฏิบัติงานของชาติตามที่ได้รับมอบหมายจากทางราชการ
(3) ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือช่วยเหลือบุคคลอื่นตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด
หรือ
(4) ปฏิบัติการตามหน้าที่มนุษยธรรม ซึ่งพลเมืองดีพึงปฏิบัติในเมื่อการปฏิบัติการนั้นไม่ขัดกับคำสั่งโดยชอบของเจ้าพนักงาน
ในกรณีตามวรรคหนึ่งให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้ประสบภัย และให้ได้รับเงินชดเชยเว้นแต่การถูกประทุษร้าย หรือการได้รับอันตรายหรือการป่วยเจ็บเกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือจากความผิดของตนเองในกรณีผู้ประสบภัยตายให้จ่ายเงินชดเชยให้แก่ทายาท
มาตรา 12 การขอรับเงินสงเคราะห์ต้องกระทำภายในระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่ผู้มีสิทธิได้ทราบถึงสิทธิของตน การยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์และแบบคำขอรับเงินสงเคราะห์ ให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงการคลังกำหนด
มาตรา 13 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า "คณะกรรมการสงเคราะห์ผู้ประสบภัย" ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม และผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข เป็นกรรมการ และให้อธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นกรรมการและเลขานุการ
มาตรา 17 การจ่ายเงินสงเคราะห์ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง
(หมายเหตุ ขอได้ช่วยบอกกล่าวกันต่อๆไปถึงสิทธิของพลเมืองดี ส่วนรายละเอียดมากกว่านี้หาอ่านได้ที่ web site หรือสอบถามไปที่กรมบัญชีกลาง )
อนึ่ง สุภาษิตที่มีความว่า “ เนื้อต่างเนื้อ ถ้าได้เอื้อเฟื้อ ก็เหมือนอาตมา” มาจากบทเต็มดังนี้ “ ถึงไม่ใช่ชาติ ไม่ใช่เชื้อ ถ้ามีความเอื้อเฟื้อ ก็เหมือนเนื้ออาตมา”
ในมุมกลับกันอีกบทหนึ่ง มีความนัยตรงข้ามที่ลึกซึ้งเช่นกันว่า “ถึงเป็นชาติ เป็นเชื้อ ถ้าไม่มีความเอื้อเฟื้อ ก็เหมือนเนื้อในป่า”
คงจำกันได้ดีว่า สุภาษิตในบทหลังนี้ก็เคยเกิด “เนื้อในป่าในใจกลางเมืองพุทธ” ในสถานที่ไม่ใช่ป่า แต่ก็เป็นเหตุให้ต้องหนีไปอยู่ในป่าอันเหตุที่เศร้าใจมาแล้วในบ้านเรา จึงไม่ขอหยิบยกมาซ้ำอีกในวาระที่เป็น “เทศกาลงานมงคล”ในขณะนี้