- Home
- Isranews
- เสียหายจริง536 ล.-ฟ้องแพ่งหจก.โคราช แล้ว! องค์การค้าสกสค.ชี้ปมขายหนังสือพันล.เจอเช็คเด้งงวด 3
เสียหายจริง536 ล.-ฟ้องแพ่งหจก.โคราช แล้ว! องค์การค้าสกสค.ชี้ปมขายหนังสือพันล.เจอเช็คเด้งงวด 3
'รององค์การค้า สกสค.' แจง 'อิศรา' เป็นทางการ ปมปัญหาสัญญาซื้อขายหนังสือพันล้าน เกิดขึ้นช่วงปี 58-59 เผยชื่อคู่ค้า หจก. ส.ศึกษาภัณฑ์นครราชสีมา ตกลงเงื่อนไขชำระค่าสินค้า 6 งวด แต่จ่ายมาได้แค่ 4 งวด ก่อนเงียบหายไม่ติดต่อ ขณะที่เช็คงวด 3 ยอด200 ล้าน หลังเอาไปขึ้นเงินเจอเด้ง ไม่มีเงินอยู่ในบัญชี ทำให้ต้องยกเลิกสัญญาทั้งหมด คิดมูลค่าความเสียหายจริงตามสัญญา 536 ล้าน ล่าสุดยื่นเรื่องฟ้องร้องศาลแพ่ง หจก.ฯ -ผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว ส่วนพฤติการณ์เอื้อ ปย. อดีตผู้บริหาร-จนท. ให้เป็นเรื่องในขั้นตอนสืบสวน
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวกระทรวงศึกษาธิการ ว่า ในช่วงปลายปี 2560 ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ ได้ทำหนังสือแจ้งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้สืบสวนการทุจริตกรณีการทำสัญญาซื้อขายสินค้า ระหว่าง องค์การค้าของ สกสค. กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) แห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา ตามสัญญาเลขที่ 436/2558 ลงวันที่ 16 ธ.ค.2558 ที่มีปัญหาเกิดขึ้นในการจ่ายเงินงวดที่ 3 วงเงิน 200 ล้านบาท เนื่องจาก หจก.ดังกล่าว ในฐานะผู้ซื้อสินค้า ได้สั่งจ่ายเงินค่าสินค้าเป็นเช็คธนาคารพาณิชย์ โดยไม่มีการนำเช็คฝากธนาคารเพื่อเรียกเก็บเงินภายในกำหนด แต่เจ้าหน้าที่ องค์การค้าของ สกสค. กลับออกใบเสร็จรับเงินให้ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่า ได้ชำระค่าสินค้าครบถ้วนเพื่อให้สามารถส่งมอบสินค้าได้ ทั้งที่ ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงานการเงิน และบัญชี พ.ศ.2559 องค์การค้าของ สกสค. กำหนดให้จะต้องมีการชำระค่าสินค้าให้ครบถ้วนก่อนจึงจะส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อได้ และการที่เจ้าหน้าที่ สกสค. ไม่ได้นำเช็คของหจก.รายนี้ ไปฝากธนาคารเพื่อเรียกเก็บเงินภายในกำหนด แต่กลับออกใบเสร็จรับเงินไปให้ก่อน จึงถือว่าใบเสร็จดังกล่าว เป็นเอกสารรับเงินเท็จ และยังมีการช่วยเหลือลงบัญชีว่าได้รับชำระเงินเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้มีการสั่งจ่ายสินค้าให้ หจก.ได้ ทั้งที่ ยังไม่ได้มีการชำระค่าสินค้ากันจริงด้วย(อ่านประกอบ: เปิดคดีทุจริตใหม่ สกสค. ! เอื้อปย.รับเช็คเด้ง200ล.จ่ายค่าสินค้ามิชอบ-ศธ.แจ้งDSI สืบสวนแล้ว)
ล่าสุด นายกิตติศักดิ์ รัตนฉายา รองผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า การทำสัญญาซื้อขายหนังสือ ระหว่าง องค์การค้าของ สกสค. กับ หจก. ส.ศึกษาภัณฑ์นครราชสีมา ในช่วงปี 2558-2559 มีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจริง โดย หจก.ฯได้ทำสัญญาซื้อหนังสือเรียน กับ องค์การค้า ของ สกสค. ตกลงเงื่อนไขการจ่ายเงินให้กับองค์การค้า ของ สกสค. จำนวน 6 งวด นับตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค. 2559 จนถึงวันที่ 18 มิ.ย. 2559 รวมวงเงินกว่า 1,000 ล้านบาท แต่ หจก.ฯ ได้ขอผ่อนผันการจ่ายเงินในแต่ละงวด โดยทยอยจ่ายเงินเป็นครั้งสุดท้ายในงวดที่ 4 เมื่อวันที่19 ส.ค. 2559 และหลังจากวันนั้น องค์การค้า ของ สกสค.ฯ ก็ไม่สามารถติดต่อกับทาง หจก.ฯ ได้อีก ซึ่งกรณีนี้ถือว่าเป็นความเสียหายแล้ว เพราะหจก.ฯไม่ได้จ่ายเงิน 6 งวดตามที่ได้ทำสัญญาเอาไว้ องค์การค้า ของสกสค.จึงได้ยกเลิกสัญญากับ หจก.ฯทั้งหมด และตัดสิทธิ์ไม่ให้เข้ามาทำสัญญาขายหนังสือกับองค์การค้า ของ สกสค. อีก
"ถ้านับจำนวนเงิน 4 งวด ที่ หจก.ฯได้จ่ายมาให้กับ องค์การค้า ของ สกสค. จะคิดเป็นจำนวนเงินมูลค่ารวมทั้งสิ้น 663,727,213.11 ล้านบาท แต่มีปัญหาเกิดขึ้นในการจ่ายเงินงวดที่ 3 เพราะหลังจากที่ องค์การค้า ของ สกสค. ได้เอาเช็คในงวดที่ 3 ซึ่งมีมูลค่า 200 ล้านบาทไปขึ้นเงินกับทางธนาคาร ปรากฏว่าไม่มีการนำเงินมาฝากแต่อย่างใด จึงทำให้ยอดเงินที่ได้รับมาที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ 463,727,213.11 ล้านบาทเท่านั้น ไม่ใช่ 663,727,213.11 ล้านบาท ขณะที่เงินค่าหนังสือที่เหลือจ่ายตามสัญญาทั้งหมด 1,000 ล้านบาท อีก 536,272,787 บาท ก็ไม่ได้รับ จึงถือเป็นความเสียหาย ซึ่งปัจจุบันทางองค์การค้า สกสค.ได้ฟ้องร้องต่อศาลแพ่งให้ดำเนินการเรียกค่าเสียหายกับ หจก.ฯและผู้ที่เกี่ยวข้องไปแล้ว"
รองผู้อำนวยการ องค์การค้า สกสค.กล่าวต่อว่า "ในกรณีการผิดนัดชำระเงินนั้น ถ้าหากเช็คที่เด้งเป็นเช็คในงวดที่ 4 ซึ่งเป็นงวดล่าสุดที่จ่ายมาก็พอจะประนีประนอมกับทาง หจก.ฯได้ บ้างว่าที่เขายังไม่นำเงินเข้าธนาคารเพราะอาจจะมีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน จะได้เรียกมาพูดคุยว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป แต่ปรากฏว่าเช็คที่เด้งกลับเป็นงวดที่ 3 ซึ่งตนก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมหจก.ถึงไม่เอาเงินที่จะจ่ายในงวดที่ 4 ไปฝากจ่ายในงวดที่ 3 ก่อน แต่งวดที่ 4 มีจ่าย แต่งวดที่ 3 กลับไม่มีจ่าย"
ส่วนกรณีปรากฏข้อมูลว่า ทำไมถึงมีการออกใบเสร็จให้ก่อนที่จะนำเงินไปขึ้นเช็ค นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า เป็นกระบวนการทางบัญชี เนื่องจากเวลาที่ใครมาจ่ายเช็ค ก็ต้องมีการออกเอกสารยืนยันว่าได้รับเช็คแล้วก่อน จึงมีการออกใบเสร็จรับเงินให้กับทางหจก.ฯ เพื่อเป็นเครื่องยืนยันในกรณีนี้ เพราะถ้าหากเอาเช็คมาให้ และทางองค์การค้า ของ สกสค. จะไม่ออกอะไรให้เลยก็คงจะไม่ได้ ส่วนเรื่องการสืบสวนข้อเท็จจริงปัญหาในกระบวนการทำงาน คงเป็นเรื่องของหน่วยงานตรวจสอบที่จะเข้ามาดูรายละเอียด ซึ่งในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตนเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้ไม่นานนัก จึงบอกอะไรได้ไม่มากนัก
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลว่า จากการสืบสวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ของทางกระทรวงศึกษาฯ พบว่า ผู้บริหารระดับสูงองค์การค้า ของ สกสค.ในขณะนั้น มีความพยายามปกปิดข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร องค์การค้าของ สกสค. โดยอ้างต่อที่ประชุมว่า เหตุที่ยังไม่ได้มีการนำเช็คเข้าธนาคาร เพราะต้องการจะนำเช็คไปชำระหนี้ค่ากระดาษที่ยังค้างชำระกับเจ้าหนี้รายอื่น แต่ที่ประชุมเห็นว่า ควรนำเช็คเข้าบัญชีองค์การค้าก่อน เมื่อเช็คเรียกเก็บเงินได้แล้วจึงค่อยนำเงินไปชำระค่ากระดาษ แต่ผู้บริหาร สกสค.ในขณะนั้น เพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามมติดังกล่าว แสดงเจตนาให้เห็นว่าได้ร่วมกันกระทำผิดและช่วยเหลิอปกปิดมิให้มีการตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย ขณะที่เช็คที่รับมา ไม่สามารถขึ้นเงินได้ จึงเป็นเหตุทำให้ องค์การค้าของ สกสค. ได้รับความเสียหายเป็นเงินกว่า 200 ล้านบาท และต่อมา ผู้บริหารระดับสูง สกสค. รายนี้ ยังได้ยินยอมให้ หจก.คู่สัญญา นำเช็คฉบับใหม่ มาเปลี่ยนกับเช็คฉบับเก่า เพื่อให้ระยะเวลาที่ต้องชำระเงินตามเช็คงวดที่ 3 จำนวน 200 ล้านบาท ออกไปเพิ่มเติมได้อีกด้วย ก่อนที่ในเวลาต่อมาเช็คทั้งใบใหม่ใบเก่า ไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ จนเป็นเหตุให้ องค์การค้าของ สกสค. ได้รับความเสียหาย มูลค่ากว่า 200 ล้านบาท (อ่านประกอบ : เจาะพฤติการณ์ บิ๊กสกสค. เอื้อหจก.โคราช เปลี่ยนเช็คใหม่ ยืดเวลาจ่ายหนี้200ล.เด้ง2ฉ.รวด!)
ขณะที่ในส่วนของ หจก. ส.ศึกษาภัณฑ์นครราชสีมา นั้น สำนักข่าวอิศรา ได้พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ ผู้บริหารหจก. เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ตามเบอร์โทรศัพท์ที่แจ้งไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า คือหมายเลข 044-241-XXX อย่างไรก็ตาม พนักงานหจก.รายหนึ่ง แจ้งว่า ผู้บริหารไม่อยู่และไม่มีใครให้ข้อมูลเรื่องนี้ได้ และปัจจุบันยังไม่ได้มีการติดต่อกลับมาชี้แจงข้อเท็จจริงแต่อย่างใด
และมีรายงานข่าวจากดีเอสไอแจ้งว่า เกี่ยวกับ คดีนี้ ดีเอสไอ ได้สอบสวนเสร็จสิ้น และส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไปสอบสวนต่อแล้ว ตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค.2561 ที่ผ่านมา
หมายเหตุ : ภาพประกอบข่าวจาก Baania