หุ้นเกิน 5% ตัวชี้วัด มาตรฐาน รมต. ยุค คสช. ตกต่ำที่สุด ?
"...มาตรฐานของรัฐมนตรีบางคนยุคนี้ด้อยกว่ารัฐมนตรียุคขิงแก่ที่มาจากอำนาจพิเศษ(เช่นเดียวกัน) และไม่ได้สูงส่ง ดีเด่นไปกว่ายุคนักการเมืองที่ถูกด่าเช้าด่าเย็น ในการกระทำลักษณะเดียวกัน .. ผู้มีอำนาจในรัฐบาลใช้หลักการตัดสินใจโดยเลือกที่จะอุ้มพวกพ้อง ไม่สนใจข้อเท็จจริงและเสียงทักท้วงของผู้คนในสังคม เพียงเพราะกลัวเสียหน้า ให้ลูกน้องไปตายเอาดาบหน้า ทำให้เห็นว่าระบบอุปถัมภ์ค้ำชูยังคงฝังลึกและดำรงอยู่อย่างเข้มแข็งในสังคมไทยต่อไป..."
กรณีการถือหุ้นเกิน 5% ของภรรยา นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถูกเรียกร้องจากสังคมจำนวนไม่น้อยให้แสดงสปิริตลาออกจากตำแหน่งโดยไม่ต้องรอผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ภายหลังจากถูกคณะกรรมการ การเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบพบว่าขาดคุณสมบัติจากความเป็นรัฐมนตรีเป็นผู้ยื่นคำร้อง แต่ดูเหมือนเจ้าตัวไม่ยี่หระ แสดงเจตจำนงว่าจะอยู่ในตำแหน่งต่อไป
ในข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติแล้วว่า ภรรยา รมว.ต่างประเทศ ถือหุ้น บริษัท ปานะวงศ์ จำกัด จำนวน 7,200 หุ้น จากจำนวนทั้งหมด 60,000 หุ้น คิดเป็น 12 % ของทุนจดทะเบียน และ บริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ จำกัด จำนวน 3,500 หุ้น จากจำนวนทั้งหมด 20,000 หุ้น คิดเป็น 17.50 % ของทุนจดทะเบียน โดยที่นายดอนไม่ได้แจ้งให้ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ประธานกรรมการ ป.ป.ช.) ทราบว่าประสงค์จะได้รับผลประโยชน์ จากการที่ภรรยาถือหุ้นทั้งสองแห่ง เกินกว่าร้อยละ 5 ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี ตามบทบัญญัติในมาตรา 5 ของ พระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543
สุดท้ายก็ต้องไปว่ากันที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดว่าขาดคุณสมบัติจากความเป็นรัฐมนตรีหรือไม่
ความจริงเรื่องการถือครองหุ้นเกิน 5% ของรัฐมนตรี ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งขึ้นกับคนในรัฐบาลนี้ ก่อนหน้านี้มีรัฐมนตรี 10 คน กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายในลักษณะเดียวกัน แบ่งเป็น
รัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ จำนวน 8 คน
1.นายสิทธิชัย โภไคยอุดม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ถือหุ้น บริษัท วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนานาชาติ จำกัด 59,170 หุ้น หรือ 16.17 % ของทุนจดทะเบียน
2.นายอารีย์ วงศ์อารยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ถือหุ้น บริษัท ตรังชัวร์ จำกัด จำนวน 2,000,000 หุ้นคิดเป็น 20%
3. นางอรนุช โอสถานนท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถือหุ้นเกิน 5 % 3 แห่ง ได้แก่ หจก.บ้านดอกพุด จำนวน 2,000,000 หุ้น คิดเป็น 66.67% ,บริษัท บุณยพรหม จำกัด 500,00 หุ้น คิดเป็น 50% และ บริษัท อุดมแช่มรวย จำกัด 100,000 หุ้น คิดเป็น 50% ของทุนจดทะเบียน
4.นายสวนิต คงสิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถือหุ้น บริษัท เอส พี เอ็น ทรัพย์พินิต จำกัด 5,996 หุ้น หรือคิดเป็น 59.96% และ หุ้น บริษัท เนตรสวัสดิ์ จำกัด จำนวน 100 หุ้น หรือ คิดเป็น 10%
5.นายเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถือหุ้น บริษัท หาดทรายเงิน จำกัด 13,000 หุ้น คิดเป็น 7.2%
6.นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถือหุ้นบริษัท M.D.EX -IM TRADING CO., LTD. คิดเป็น 10%
7.นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ถือหุ้น บริษัท กมลา บีช รีสอร์ท จำกัด 10,000 หุ้น คิดเป็น 20%
8.นายนิตย์ พิบูลย์สงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถือหุ้นใน หจก.ปิยะบุตร ด้วยเงิน 25,000 บาท คิดเป็น 25% ของทุนจดทะเบียน
รัฐมนตรีในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช 2 คน
1.นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นางจุไร สะสมทรัพย์ ภรรยา ถือหุ้นบริษัท ทรัพย์ฮกเฮง จำกัด จำนวน 25,000 หุ้น คิดเป็น 50% ของทุนจดทะเบียน
2.นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถือหุ้นบริษัท ทรัพย์วัฒนา จำกัด 22,000 หุ้น หรือ 11 %
3 คนแรก พอคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าถือครองหุ้นเกิน 5 % โดยไม่ปฏิบัติตามกฏหมายการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมและขัดต่อหลักการในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน นายสิทธิชัยประกาศลาออกทันที ตามด้วยนางอรนุช และ นายอารีย์ เป็นคนที่ 3 และต่อมาเมื่อนายสวนิต นายเกษม ถูกขุดคุ้ยก็ได้ยื่นใบลาออกเช่นกัน รวมลาออกทั้งหมด 5 คน
อีก 3 คนไม่ได้ยื่นใบลาออก นายแพทย์มงคลชี้แจงว่าการถือครองหุ้น M.D.EX -IM TRADING เพราะได้รับการชักชวนการเพื่อน เป็นบริษัทจดทะเบียนในต่างประเทศ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนและได้คืนหุ้นไปแล้ว ส่วนนายสมหมายอ้างว่าเพื่อนเอาชื่อไปถือหุ้นและบริษัทได้ยกเลิกกิจการไปแล้ว นายนิตย์ ไม่ทราบเหตุผล
ส่วนคดีนายไชยาและนายวิรุฬไม่ลาออก นายไชยาถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาว่าขาดคุณสมบัติต้องพ้นตำแหน่งคาเก้าอี้ ขณะที่นายวิรุฬถูกปรับออกตำแหน่งก่อนศาลรัฐธรมนูญมีคำวินิจฉัย
กรณีรัฐมนตรี 5 คนที่ลาออกน่าสนใจ เพราะสามารถอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้บัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา 298 วรรคสาม มิให้นำบทบัญญัติเรื่องให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวในกรณีที่รัฐมนตรีถือหุ้นเกินกว่าที่กำหมายกำหนดแล้วไม่โอนไปให้นิติบุคคลตามที่กฎหมายกำหนดจัดการแทน ตามมาตรา 182 (7) มาใช้บังคับกับการดำรงตำแหน่งของนายกฯและรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ความเป็นรัฐมนตรีของบุคคลทั้ง 5 จึงไม่สิ้นสุดลง จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ทั้ง 5 คนตัดสินใจลาออก เป็นบรรทัดฐานเอาไว้ก่อนแล้ว
กรณีหุ้นของ รมว.กระทรวงการต่างประเทศ สังคมเห็นอะไร?
ผู้เขียนเห็นว่า
1.มาตรฐานของรัฐมนตรีบางคนยุคนี้ด้อยกว่ารัฐมนตรียุคขิงแก่ที่มาจากอำนาจพิเศษ(เช่นเดียวกัน) และไม่ได้สูงส่งดีเด่นไปกว่ายุคนักการเมืองที่ถูกด่าเช้าด่าเย็น ในการกระทำลักษณะเดียวกัน
2.ผู้มีอำนาจในรัฐบาลใช้หลักการตัดสินใจโดยเลือกที่จะอุ้มพวกพ้อง ไม่สนใจข้อเท็จจริงและเสียงทักท้วงของผู้คนในสังคม เพียงเพราะกลัวเสียหน้า ให้ลูกน้องไปตายเอาดาบหน้า? ทำให้เห็นว่า ระบบอุปถัมภ์ค้ำชูยังคงฝังลึกและดำรงอยู่อย่างเข้มแข็งในสังคมไทยต่อไป
3.ข้อเรียกร้องให้ปฏิรูประบบการเมือง (หมายรวมถึงนักการเมืองและข้าราชการ) เป็นเพียง ‘วาทกรรมน้ำลาย’ ของคนบางกลุ่มบางพวก ถูกนำมาใช้เพียงบางครั้งบางคราวเท่าที่ตนเองได้ประโยชน์ พบเห็นได้บนถุงกล้วยแขก หรือ บนแผ่นกระดาษที่ถูกทิ้งไว้บนพื้นเท่านั้น
สะท้อนว่า มาตรฐานการตัดสินใจ อยู่ในระดับตกต่ำที่สุดแล้วใช่ไหมครับ?
อ่านประกอบ:
เทียบคดี ‘เมียดอน-เมียไชยา’ เหมือนกันเป๊ะ ปมถือหุ้นเกิน 5%
เมีย‘ดอน’ลดสัดส่วนเหลือ 4% เพิ่งโอนหุ้นส่วนเกินให้ลูกชาย หลังนั่ง รมต.2 ปี