‘วิกฤตอภิสิทธิ์ชน’ เรื่องที่ใหญ่กว่า เสือดำ
หมายเหตุ:บทความชิ้นนี้นำเสนอความคิดเห็นบางช่วงบางตอนของ ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์การต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ในเวทีเสวนา เรื่อง เสือดำเเละเรื่องที่ใหญ่กว่าเสือดำ ณ หอศิลปวัฒนธรรมเเห่งกรุงเทพมหานคร
วันที่ 27 เม.ย.2561 ชมรมนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง จัดกิจกรรมรณรงค์รักษาพันธุ์สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม พร้อมกับจัดเสวนา เรื่อง เสือดำและเรื่องที่ใหญ่กว่าเสือดำ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
“ประเทศไทยยังมีปัญหาการล่าสัตว์ การบุกรุกทำลายป่า แต่ที่ย่ำแย่กว่านั้น คือ เจ้าหน้าที่ป่าไม้โดนล่าเช่นเดียวกัน ไม่เฉพาะเสือดำเท่านั้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้ยังแก้ไขไม่ได้ในระบบที่ผ่านมา”
ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์การต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เริ่มต้นชวนพูดคุย โดยชี้ให้เห็นถึงประเด็นความล้มเหลวในการอนุรักษ์ พร้อมเท้าความให้ฟังด้วยการไล่เรียงเหตุการณ์ภายหลังจับกุมนักธุรกิจใหญ่ล่าเสือดำในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ฝั่งตะวันตก ซึ่งประชาชนมองว่า “เพราะเหตุใด นายวิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรจึงยอมปล่อยให้นายทุนใหญ่เข้าไปในพื้นที่ได้”
ทั้งนี้ ทันทีที่มีข่าวปรากฎออกมา หลังจากนั้นกระแสโซเซียลมีเดีย สิ่งที่ประชาชนและสื่อมวลชนติดตาม พบว่า นอกจากนายวิเชียรแล้ว ยังมีตัวละครอีกหลายตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง หนึ่งในนั้น คือ นางกาญจนา นิตยะ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และข้าราชการอีกหลายคน
เขาตั้งคำถามว่า ทำไมตัวละครเหล่านี้จึงเข้ามาเกี่ยวกับการอนุญาตให้นายทุนเข้าไปในพื้นที่ได้ เพราะมีการโทรศัพท์สั่งการโดยวาจา ซึ่งเป็นลักษณะของระบบราชการไทยที่ทุกกรม ทุกหน่วยงาน ปฏิบัติ เพราะ ‘นายสั่ง’ สำคัญกว่ากฎระเบียบ การใช้อำนาจ ‘ดุลยพินิจ’ สำคัญกว่ากฎกติกาที่ตั้งไว้วางไว้
“นายสั่งมา ไว้ใจได้ ร่ำรวยขนาดนี้ เขาคงไม่ทำอะไรชั่วร้ายขนาดนี้หรอก”
เมื่อมีการตั้งคำถามว่า ทำไมถึงปล่อยเข้าไป เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ระบุสื่อมวลชนนำเสนอคำให้สัมภาษณ์ สรุปความได้ว่า เป็นสิ่งที่ทำกันมาอย่างนี้ ฉะนั้นต้องทำต่อไป
ในระบบราชการไทย ข้าราชการส่วนใหญ่จะผูกพันกับนักการเมือง
มีการวิ่งเต้นเส้นสายเพื่อให้ตนเอง
ได้อยู่ในตำแหน่งที่ดีและมีอำนาจและมีผลประโยชน์
ดร.มานะ กล่าวต่อว่า ในระบบราชการไทย ข้าราชการส่วนใหญ่จะผูกพันกับนักการเมือง มีการวิ่งเต้นเส้นสายเพื่อให้ตนเองได้อยู่ในตำแหน่งที่ดีและมีอำนาจและมีผลประโยชน์ ขณะเดียวกันผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า โดยเฉพาะนักการเมือง จะพยายามให้ผู้ที่เชื่อฟังตนเองหรือมีโอกาสที่จะเอื้อเฟื้อตนเอง เข้าไปอยู่ในตำแหน่งที่สามารถตอบสนองได้ ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นต่อเนื่องในระบบราชการไทย
ตัวละครที่เกี่ยวข้องอีกตัวหนึ่ง คือ อดีตข้าราชการกรมอุทยานฯ ซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานให้นายทุนเข้าไปในพื้นที่ เขาระบุ แม้จะเกษียณไปแล้ว แต่ยังสามารถใช้คอนเนกชั่น เส้นสาย เปิดทางให้เข้าไปได้ แต่ในมุมมองเห็นว่า สังคมไทยต้องรู้จักเป็นสังคม เอ๊ะ!
เอ๊ะ! บริษัทนายทุนที่เข้าไปในพื้นที่ป่าเป็นบริษัทก่อสร้าง ร่ำรวยจากการก่อสร้างทั้งหลายแหล่ ทำถนน ทำเขื่อน แล้วเพราะเหตุใด ถึงได้ว่าจ้างเจ้าหน้าที่ป่าไม้มาเป็นที่ปรึกษาบริษัทฯ เงินเดือนสูง
เขาไขคำตอบว่า บริษัทขนาดใหญ่ในไทยจะคอยว่าจ้างข้าราชการชั้นสูงที่มีบารมี ระดับอธิบดี ผู้อำนวยการสำนัก ปลัด รองปลัด หรือแม้แต่อดีตผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์ เงินเดือน 3 หมื่น 5 หมื่น 1 แสน หรือ 2 แสน จ้างไว้สองปีสามปี ใครมีผลงานดีจ้างต่อจากนั้น
ใครเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ เมื่อเกษียณแล้ว อยากมีงานทำ มีรถประจำตำแหน่ง วันนี้ต้องทำตัวดี ๆ อยู่ในโอวาท เพื่อเกษียณแล้วจะได้เงิน
เอ๊ะต่อไปอีกว่า แล้วทำไมบริษัทก่อสร้างต้องจ้างเจ้าหน้าที่ป่าไม้เป็นที่ปรึกษา ดร.มานะโชว์ภาพการสร้างรีสอร์ทที่อาจอยู่ในเขตพื้นที่ป่าของนายทุนใหญ่ ที่ดินดังกล่าวอาจไม่ผิดกฎหมาย แต่ต้องการยกตัวอย่างให้เห็นว่า สิ่งเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกัน ไม่มีประโยชน์ที่จะไปว่าจ้างคนมาเป็นที่ปรึกษา เพราะหล่อ เสียงเพราะ ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่รุกรานกันต่อไปในระบบที่เป็นความเชื่อมโยงกันระหว่างผลประโยชน์กับอำนาจ
โดยสรุปจากการไล่เรียงเรื่องราวมาทั้งหมด จะเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกำลังเป็น ‘วิกฤตอภิสิทธิ์ชน’ และในวันข้างหน้าจะร้ายแรงมากยิ่งขึ้น เรากำลังมีปัญหาอำนาจนิยมและผลประโยชน์ ระบบอุปถัมภ์ การฆ่าสัตว์ การโค่นต้นไม้ การค้าของเถื่อนตามชายแดน การฆ่าเจ้าหน้าที่ป่าไม้
“ทุกวันนี้หลายเรื่องไม่ถูกจัดการแก้ไขอย่างถูกต้อง คนมีอำนาจ คนรวย คนมีเส้นสาย สามารถเอารัดเอาเปรียบสังคมได้ เพราะทำผิดแล้วไม่ถูกลงโทษ ในวันข้างหน้าจะเกิดวิกฤตอภิสิทธิ์ชน หากแก้ไขไม่ได้ตั้งแต่วันนี้ สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคม” ดร.มานะ สรุปในที่สุด .