‘สุภิญญา’ ถาม ‘เอไอเอส-ทรู’ รับผลกระทบอะไรจากนโยบายรัฐ ถึงขอยืดจ่ายคลื่น 4G งวดสี่
วงเสวนาภาค ปชช. ค้านใช้ ม. 44 อุ้มสองค่ายมือถือ ยืดจ่ายคลื่น 900 งวดที่สี่ ‘รสนา’ เผยเอื้อประโยชน์เอกชนประหยัดดอกเบี้ย 3 หมื่นล. ‘สุภิญญา’ ตั้งข้อสังเกต กสทช. ไม่กล้าแก้เงื่อนไขเอง ทั้งที่มีอำนาจ โยนคำถามให้ ‘เอไอเอส-ทรูมูฟ’ ตอบ ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบอะไรจากนโยบายรัฐ ขณะที่ ACT แนะทำให้โปร่งใส ชงเรื่องเข้า สนช.พิจารณา ฝ่าย ‘ชาญชัย อิสระเสนารักษ์’ ให้เลขาธิการ สนง. กสทช. ลาออก หากทำหน้าที่เป็นลูกจ้าง ปกป้องเอกชน
วันที่ 8 เม.ย.2561 คณะกรรมการญาติวีรชน พฤษภา’ 35 และเครือข่ายตรวจสอบภาคประชาชน จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง มาตรา 44 อุ้มค่ายมือถือ:รัฐ-เอกชน ใครได้ใครเสีย ณ ห้องประชุม ชั้น 2 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวไม่เห็นด้วยที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะพิจารณาใช้มาตรา 44 อุ้มบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลสเน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัทลูกของเอไอเอส และบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด บริษัทลูกของทรูมูฟ ผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือที่ได้รับประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ (4G) ในการยืดจ่ายงวดที่สี่ออกไป ทั้งที่ในต่างประเทศพยายามให้จ่ายน้อยงวดมากที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการทิ้งคลื่นความถี่หรือเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ
ทั้งนี้ การจ่ายงวดที่สี่ในปี 2563 นั้น จะมีมูลค่ารวมทั้งสองค่ายมือถือ ราว 1.2 แสนล้านบาท และยืดจากจ่ายงวดที่สี่ครั้งเดียวเป็นแบ่งจ่าย 5 ปี โดยนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ซึ่งเป็นผู้นำเสนอแนวคิดดังกล่าว อ้างว่า รัฐจะได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 1.5
“นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว.คลัง) เคยอธิบายเรื่องดังกล่าวไว้ว่า ดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 1.5 นั้น เป็นดอกเบี้ยที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สถาบันการเงินใช้ได้ และให้สิทธิ์กู้ 1 วันเท่านั้น ไม่ใช่กู้ 5 ปี มิฉะนั้นเอกชนจะประหยัดดอกเบี้ยได้ถึง 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมาก”
อดีต ส.ว. ยังกล่าวถึงการบังคับใช้มาตรา 44 ของ คสช. ด้วยว่า หากมีการใช้ในกรณียืดการจ่ายงวดที่สี่ ตั้งถามเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ให้อำนาจใช้ได้ 3 กรณี คือ เรื่องเกี่ยวข้องกับการปฏิรูป การปรองดองสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ และการแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักร จึงตั้งคำถามว่า เป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตหรือไม่
อย่างไรก็ตาม พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ออกมาเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า การใช้มาตรา 44 อุ้มสองบริษัทมือถือ ยังมีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายอีกมาก ดังนั้นจึงคาดหวังว่า คสช.จะทบทวนโดยรอบคอบ เพราะสังคมเกิดคำถามการที่มีผู้นำเสนอและหากมีการอนุมัติ จนทำให้เอกชนประหยัดดอกเบี้ยได้สูงถึง 3 หมื่นล้านบาทนั้น เป็นการทำให้ฟรี ๆ หรือมีเงินทอนติดมาด้วย
ด้านน.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช. กล่าวว่า การประมูลคลื่นความถี่ 4G ได้มีการวิเคราะห์มาแล้วว่า ผู้ประมูลได้จะมีกำไร มิฉะนั้นคงไม่เคาะราคาประมูลกันในเวลานั้น หากปล่อยให้มีการเอื้อประโยชน์ให้เอกชน จะส่งผลให้เสียประโยชน์เรื่องดอกเบี้ย พร้อมตั้งข้อสังเกต กสทช.มีสิทธิที่จะแก้ไขกติกาเงื่อนไขการประมูล เพราะมีอำนาจ แต่พบว่า กสทช.ยังไม่กล้าดำเนินการ แม้แต่จะลงมติเสนอเรื่องต่อ คสช. แต่กลับโยนเรื่องไปให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการเอง ดังนั้น สุดท้าย หาก คสช.มีมติที่จะช่วยเหลือ นอกจากจะโดนกล่าวหาว่าอุ้มเอกชนแล้ว ยังจะโดนกล่าวหาว่าอุ้ม กสทช.ด้วย
ส่วนเหตุผลมีความจำเป็นต้องช่วยยืดการจ่ายเหมือนกับทีวีดิจิทัลนั้น อดีต กรรมการ กสทช. ระบุว่า ที่ผ่านมาทีวีดิจิทัลยังมีข้อถกเถียงกันได้ เพราะมีการฟ้องร้องกันที่ศาล จึงถกเถียงเพื่อให้ช่วยเหลือได้ แต่สำหรับบริษัทมือถือแล้ว ยังไม่เห็นว่า คสช.จะมีส่วนทำให้เกิดผลเสียต่อการประกอบกิจการ ยกเว้น บริษัทมือถือจะตอบคำถามชัด ๆ ว่า ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐอย่างไร
ขณะที่ นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีสถานการณ์ใดที่บ่งชี้ว่า เอกชนอยู่ในสภาวะที่ควรได้รับความช่วยเหลือ เพราะปีที่ผ่านมาเอไอเอสมีผลประกอบการรวมกว่า 6 แสนล้านบาท กำไรกว่า 3 หมื่นล้านบาท ทรูมูฟ 2.3 แสนล้านบาท กำไร 2.3 พันล้านบาท ดังนั้น จะเห็นว่า บริษัทยังมีความสามารถระดมทุนจากตลาด หรือกู้เงินมาชำระได้เลย ถ้าไม่มีจะเป็นความสูญเสียของประเทศ
“เพิ่งมีข่าวว่า ทรูมูฟประกาศการใช้เงินลงทุน 3.6 พันล้านบาท ทำเคเบิลใต้น้ำเพื่อเชื่อมโยงระบบเครือข่ายดิจิทัลระหว่างประเทศในเอเชียแปซิฟิก โดยจะมีอายุการใช้งาน 25 ปี และจะเริ่มใช้ในปี 2563 อีกทั้งยังรองรับระบบ 5G ที่จะประมูลเร็ว ๆ นี้ด้วย ดังนั้นจะเห็นว่ามีการลงทุนเตรียมพร้อมแล้ว ฉะนั้นจึงไม่ต้องห่วงจะไม่มีเงินมาจ่ายงวดที่สี่”
เลขาธิการองค์กรต่อต้านฯ ยังกล่าวว่า หากจะให้การช่วยเหลือจริง ๆ จะต้องทำให้โปร่งใส ดังนั้น จึงควรผ่านกระบวนการที่มีการตรวจสอบอย่างชัดเจน โดยนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้เปิดอภิปราย เก็บข้อมูลให้ชัดเจน คิดว่าคนไทยจะยอมรับ ส่วนการใช้มาตรา 44 ถือเป็นการตัดตอนที่ไม่มีผู้ใดรับผิดชอบ
“จะใช้วิธีไหนก็ได้ ขอให้ ครม. และ คสช.แสดงท่าทีอย่างเปิดเผย ใช้กฎหมายอย่างไรก็ได้ แต่หากใช้มาตรา 44 ช่วยเหลือ แล้ววันข้างหน้ามีความเสียหายเกิดขึ้น ขอให้บุคคลเหล่านี้ต้องรับผิดชอบ ชดใช้ อย่าลอยตัว มิฉะนั้นจะไม่ยุติธรรมกับสังคมไทยและไม่เป็นธรรมกับคนไทยทั้งประเทศ” นายมานะ กล่าว
สุดท้าย นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการด้านกลไกการปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวว่า กสทช.ต้องอธิบายให้สังคมรับทราบ ภาระหน้าที่ทำเพื่ออะไร หากนายฐากร ตันฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงาน กสทช. กำลังทำหน้าที่เป็นลูกจ้างของสองบริษัทมือถือ ให้ลาออกไปเป็นลูกจ้าง เพื่อคอยปกป้องผลประโยชน์ของเอกชน ไม่ใช่มานั่งอยู่ในตำแหน่งเลขาธิการ กินเงินภาษีของประชาชนหลายแสนบาท แต่ไม่ใช่ไปปกป้องว่า เอกชนจะประมูลไม่ได้ แล้วรัฐจะไม่ได้เงิน นั่นแสดงว่า กำลังนำเรื่องของอนาคตที่เป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ มากำหนดกฎเกณฑ์ในปัจจุบันเพื่อมาเป็นข้ออ้างกับรัฐบาลในการยืดการจ่ายงวดที่สี่ หากทำอย่างนี้ กฎหมายฮั้วประมูลจะไม่ปล่อย เพราะถือว่าเงื่อนไขที่เสนอไว้ครั้งแรกมีการประมูลกันโดยเสรี ไม่มีใครเอาปืนหรือดาบจ่อคอหอยหรือหัวให้สองบริษัทมือถือมาประมูล .
อ่านประกอบ:กสทช. กับตรรกะประหลาดเพื่อ “อุ้ม” ผู้ประกอบการ 4G