สตง.พบพิรุธทำนาขั้นบันไดน่าน แบ่งซอยงาน เบิกเงินเกิน-จี้ผู้ว่าฯสอบภาษีรับเหมา64สัญญารวด
เปิดผลสอบโครงการสร้างเสริมทำนาขั้นบันไดบนพื้นที่สูง วงเงิน 15 ล้าน สนง.ทรัพยากรธรรมชาติ-สิ่งแวดล้อมจว.น่าน สตง.พบพิรุธเพียบ เบิกเงินเกินจริง-แบ่งซอยงาน จี้ผู้ว่าฯตั้งกรรมการสอบไล่บี้ภาษีรับเหมา64สัญญารวด
การดำเนินงานโครงการส่งเสริมการทำนาขั้นบันไดบนพื้นที่สูง วงเงินกว่า 15 ล้านบาท ของ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างงานและการเบิกจ่ายงบประมาณไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงหลายประเด็น อาทิ การแบ่งสอยงานรับจ้าง รวมไปถึงการเบิกเงินว่าจ้างเกินกว่าเนื้องานจริง เบื้องต้น สตง. เห็นสมควรให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริง พร้อมแจ้งรายชื่อ และข้อมูลผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างเหมา ให้สำนักงานสรรพากรพื้นที่น่าน ตรวจสอบข้อมูลการเสียภาษีเพิ่มเติมด้วย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สตง. ได้สรุปรายงานผลการตรวจสอบโครงการส่งเสริมการทำนาขั้นบันไดบนพื้นที่สูง วงเงินงบประมาณ 15,816,000 บาท ประจำปี 2559 ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน โดยพบว่าการดำเนินงานโครงการโดยการว่าจ้างบุคคลเข้ามารับงานจัดทำนาขั้นบันไดไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ขณะที่ผลการดำเนินงานเกษตรกรไม่มีการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไร่หมุนเวียนมาเป็นการทำนาแบบหยอดหรือนาดำขั้นบันได นอกจากนี้ยังมีการใช้ประโยชน์จากนาขั้นบันไดผิดวัตถุประสงค์จำนวนมาก ขณะที่การดำเนินงานด้านพัสดุ พบปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณไม่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้อง ไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง โดยจากการตรวจสอบเอกสาร หลักฐานการเบิกจ่าย และสังเกตการณ์พื้นที่ดำเนินการของเกษตรกรจำนวน 53 แปลง จำนวนเงินเบิกจ่าย 3,462,550.62 บาท พบว่า มีการเบิกจ่ายเงินในพื้นที่ที่ไม่มีการดำเนินการ จำนวน 26 แปลง สำหรับพื้นที่ที่มีการขุดปรับแต่งพื้นที่เป็นนาขั้นบันได พบว่าเบิกจ่ายเงินงบประมาณสูงกว่าความเป็นจริงจำนวน 26 แปลง เป็นจำนวนเงิน 842,458.88 บาท
สตง.ยังระบุด้วยว่า การดำเนินงานโครงการนี้ มีการจัดสัญญาจ้างในลักษณะเป็นการแบ่งจ้างรับเหมาดำเนินการด้วยวิธีตกลงราคา รวมจำนวนทั้งสิ้น 64 สัญญา มูลค่าตามสัญญารวม 12,562,000.00 บาท โดยจัดทำสัญญาจ้างตามพื้นที่ของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 19 แห่ง จำนวนเนื้อที่ดำเนินการรวม 800ไร่ พบว่า การจัดทำสัญญาจ้างเหมาดำเนินการขุดปรับแต่งพื้นที่ ในพื้นที่ดำเนินการโครงการ จำนวน 7 แห่ง จัดทำสัญญาจำนวน 14 สัญญา จำนวนเงินรวม 4,287,500.00 บาท มีการลดวงเงินเพื่อให้สามารถจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีตกลงราคา ซึ่งหากรวมมูลค่าสัญญาจ้างแล้ว วงเงินจะเกินกว่าวิธีการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีตกลงราคา หรือมีมูลค่ามากกว่า 500,000 บาท ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าวไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุพ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 22 กำหนดให้การแบ่งซื้อหรือแบ่งจ้างโดยลดวงเงินที่จะซื้อหรือจ้างในครั้งเดียวกันเพื่อให้วงเงินต่ำกว่าที่กำหนดโดยวิธีหนึ่งวิธีใด หรือเพื่อให้อำนาจสั่งซื้อสั่งจ้างเปลี่ยนไป จะกระทำมิได้
สตง.ยังระบุด้วยว่า จากการตรวจสอบรายละเอียดสัญญาจ้างเหมาดำเนินการทั้ง 64 สัญญา พบว่า เอกสารแนบท้ายสัญญาจ้างอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ซึ่งกำหนดขอบเขตการทำงานด้วยข้อความเช่นเดียวกันทุกสัญญา แตกต่างกันเพียงสถานที่ และจำนวนเนื้อที่ดำเนินการ โดยไม่มีแบบรูปรายการงานก่อสร้าง ไม่มีผังบริเวณการก่อสร้าง หรือจุดแสดงตำแหน่งการก่อสร้างนาขั้นบันไดในพื้นที่ของเกษตรกรเป้าหมายที่มีการคัดเลือกไว้ ไม่มีการระบุรายละเอียดรายชื่อของเกษตรกรผู้ได้รับสิทธิ์การเข้าร่วมโครงการ รวมถึงกำหนดระยะเวลาการรับประกันความชำรุดบกพร่องของงานจ้างภายในกำหนด 7 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ไม่สัมพันธ์กับระยะการตรวจสอบความชำรุดบกพร่องของงานจ้างที่อยู่ในระหว่างการรับประกันก่อนคืนหลักประกันสัญญา ตามหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรีที่ นร (กวพ) 1002/ว 42 ลงวันที่ 15 กันยายน 2532 เรื่อง วิธีปฏิบัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตรวจสอบความชำรุดบกพร่องก่อนการคืนหลักประกันสัญญา
"การดำเนินการดังกล่าว ทำให้ราชการเสียหาย โดยเฉพาะจากการเบิกจ่ายเงินในพื้นที่ที่ไม่มีการดำเนินการ จำนวน 1,835,544.35 บาท และเบิกจ่ายเงินงบประมาณสูงกว่าความเป็นจริง จำนวน 842,458.88 บาท กรณีที่มีการปรับพื้นที่เป็นนาขั้นบันได แต่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ ไม่มีการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไร่หมุนเวียนมาเป็นการทำนาแบบหยอดหรือนาขั้นบันได เป็นผลให้เกิดการสูญเปล่าของงบประมาณแผ่นดิน เป็นจำนวนเงินเบิกจ่ายทั้งสิ้น 3,133,190.61 บาท และอาจทำให้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้เพื่อทำการเกษตรไม่ได้รับการแก้ไขตามวัตถุประสงค์โครงการเกิดปัญหาบุกรุกพื้นที่ป่ารุนแรงขึ้น นอกจากนี้ยังไม่เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรในพื้นที่อีกทั้งไม่เกิดการปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ ส่วนกรณีจัดทำสัญญาจ้างมีลักษณะเป็นการแบ่งจ้าง ทำสัญญาจ้างไม่รัดกุม กำหนดระยะเวลารับประกันความชำรุดบกพร่องน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เป็นเหตุให้ทางราชการเสียเปรียบและมีความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริตต่องบประมาณแผ่นดิน" สตง.ระบุ
เบื้องต้น สตง.ได้มีข้อเสนอแนะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการจังหวัดน่าน และผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาผู้รับผิดชดใช้ทางละเมิดและพิจารณาโทษตามควรแก่กรณี สำหรับกรณีเกษตรกรไม่ได้รับนาขั้นบันไดแต่มีการเบิกจ่ายงบประมาณจำนวนเงินเบิกจ่าย 1,835,544.35 บาท กรณีจัดทำสัญญาจ้างในลักษณะของการแบ่งจ้าง และการจัดทำสัญญาจ้างไม่รัดกุมไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้พิจารณาโทษตามควรแก่กรณี หากพบว่าทำให้ราชการได้รับความเสียหายหรือเกิดการทุจริตต่องบประมาณแผ่นดิน ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาผู้รับผิดชดใช้ทางละเมิดต่อไป นอกจากนี้ ขอให้แจ้งรายชื่อและข้อมูลผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างเหมาดำเนินการ จำนวน 64 สัญญาให้สำนักงานสรรพากรพื้นที่น่าน เพื่อตรวจสอบว่าผู้รับจ้างซึ่งเป็นคู่สัญญานั้นมีการแสดงบัญชีรายการรับจ่ายของโครงการต่อกรมสรรพากร และมีการคำนวณภาษีเงินได้ รวมทั้งได้มีการชำระภาษีอากรครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันและปราบปรามการทุจริตตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 103/7 วรรค 2
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก Pantip ไม่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบของสตง.