นักวิจัยชงกรมขนส่งทางบกขึ้นทะเบียนแอพฯ แท็กซี่ คาดใช้ระยะเปลี่ยนผ่าน 6-12 เดือน
ทีดีอาร์ไอชงข้อเสนอกรมการขนส่งทางบกกำกับแอพฯ แท็กซี่ จดทะเบียนผู้ประกอบการ-ผู้ขับขี่-รถยนต์ คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ใช้ระยะเปลี่ยนผ่าน 6-12 เดือน พร้อมจัดทำแผนปฏิบัติการ
วันที่ 23 ม.ค.2561 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดสัมมนา เรื่อง การกำกับดูแลแอพพลิเคชันรถแท็กซี่และRide-sourcing ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย เรื่อง การพัฒนาเพื่อความปลอดภัยและคุณภาพการให้บริการของรถแท็กซี่ โดยพิจารณาโครงสร้างต้นทุนและการประกอบการ ณ ห้องประชุมสโรชา โรงแรมสวิสโซเทล เลอคองคอร์ท กรุงเทพฯ
ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผอ.วิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยถึงผลการศึกษา โดยระบุถึงปัญหาที่พบของบริการแท็กซี่ในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของคนขับและสภาพรถ โดยผลสำรวจของเว็บไซต์บีบีซีไทย เมื่อปี 2560 พบว่า ร้อยละ 76 ของกลุ่มสำรวจพบปัญหาการใช้บริการแท็กซี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิเสธผู้โดยสาร สูงถึงร้อยละ 82.50 รองลงมาคือ สภาพรถแท็กซี่ ร้อยละ 30 และผู้ขับขี่มีกิริยาไม่สุภาพ ร้อยละ 26 นอกจากนี้ยังพบปัญหาอื่น ๆ ได้แก่ ขับรถเร็ว เบรกกะทันหัน ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร โกงมิเตอร์ เป็นต้น
ฉะนั้นปัญหาดังกล่าว ทำให้ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา มีการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลขนส่งผู้โดยสารเช่นเดียวกับแท็กซี่ โดยเรียกผ่านแอพพลิเคชั่น (Ride-sourcing) ซึ่งในประเทศไทยมีผู้ประกอบการรายใหญ่ 2 ราย คือ อูเบอร์ (Uber) และแกร็บ (Grab) มีการให้บริการค่อนข้างดี และยังมีการกำหนดค่าโดยสารที่เป็นไปตามระบบกลไกตลาด หมายความว่า หากพื้นที่ใดมีผู้ใช้บริการมาก ราคาจะปรับขึ้นสูง
ผอ.วิจัยด้านนโยบายการขนส่งฯ ทีดีอาร์ไอ กล่าวต่อถึงประโยชน์ทางตรงของบริการเรียกแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชัน ว่าจะทำให้ผู้ใช้บริการมีทางเลือกที่ดีขึ้น ส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์รถยนต์ที่ยังไม่ถูกใช้อย่างเต็มศักยภาพ ผู้ใช้บริการลดความรู้สึกในการรอคอยรถแท็กซี่ และช่วยให้ข้อมูลด้านคุณภาพการให้บริการแก่ผู้โดยสารด้วย ซึ่งแท็กซี่ปกติจะไม่มีข้อมูลเหล่านี้ ทำให้ไม่ทราบพฤติกรรมของผู้ขับขี่ สุดท้าย ช่วยเพิ่มการแข่งขันในตลาดขนส่งแบบจุดต่อจุด
ขณะที่ประโยชน์ทางอ้อม ช่วยขยายตลาดแรงงาน ผู้ประกอบการแท็กซี่ปรับตัวต่อการแข่งขันด้วยการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ
ส่วนโทษของการบริการเรียกแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชันนั้น ดร.สุเมธ กล่าวว่า จะมีปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัย เพราะปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้ ทำให้คนขับขี่ รถยนต์ มีสถานะผิดกฎหมาย นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อปัญหาความเป็นส่วนตัวของข้อมูล หากไม่มีการจดทะเบียน ข้อมูลส่วนตัวของผู้ขับขี่และผู้โดยสารที่อยู่กับเจ้าของแอพพลิเคชันอาจเผยแพร่โดยไม่ได้ตั้งใจ ตลอดจนปัญหาด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับการคิดค่าโดยสารเกินจริง
ดังนั้น ทีดีอาร์ไอ จึงมีข้อเสนอกรมการขนส่งทางบกเกี่ยวกับการคุ้มครองสวัสดิภาพผู้บริโภค จะต้องมีการกำกับดูแลบริษัทที่ทำแอพพลิเคชันและแอพพลิเคชัน ออกใบอนุญาตขับขี่มาตรฐานเดียวกัน และจดทะเบียนรถที่ให้บริการผ่านแอพพลิเคชันเพื่อให้บริการสาธารณะ (Re-registation) โดยกำหนดระยะเปลี่ยนผ่านภายใน 6-12 เดือน พร้อมกับเตรียมแผนปฏิบัติการในช่วงเปลี่ยนผ่าน .