ผู้นำจีนคณะใหม่ กับทิศทางโลกและไทย
"...การมองว่าประเทศไทยจะเดินไปอย่างไร ควรเริ่มที่การศึกษา เพราะจุดอ่อนใหญ่ของไทยทุกวันนี้คือ ขาดการจัดการศึกษาที่จะเตรียมคนและประเทศให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการพัฒนา ไม่ว่าเราจะเลือกเดินไปในแง่ใด เราก็ยังไม่ได้เตรียมตัว เช่น ถ้าเราจะเลือกเดินไปทางนวัตกรรม เป็น 4.0 แบบที่เราพูด และเหมือนกับหลายประเทศ เราก็ยังไม่ได้มีการเตรียมตัวที่ชัดเจนที่จะมารองรับการพัฒนาในทางนี้..."
เร็วๆ นี้ ศ.ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองแห่งเอเชีย (APRC) อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถายืนยันบทบาทและความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของจีนในเวทีโลกและทิศทางภายหลังมีผู้นำคณะใหม่ใน เวที Think Tank ครั้งที่ 14 ของสถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต
ทิศทางของจีน
ด้านต่างประเทศ: เดินหน้าเพิ่มบทบาทในเวทีโลก
ศ.ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวถึงทิศทางของจีน เรื่องเศรษฐกิจระหว่างประเทศว่า จีนจะเน้นเดินหน้าเปิดเสรี (Open Economy) ต่อไป ทั้งด้านการค้า การเงิน และการลงทุน เห็นได้ชัดผ่านการเดินหน้านโยบาย Belt and Road Initiative (BRI) ที่ประกาศโดยสีจิ้นผิงในปี 2013 และเพิ่งจัดประชุมประกาศความก้าวหน้าและความสำเร็จไปเมื่อเดือน พ.ค. ปี 2017 BRI เป็นทางหนึ่งที่จะดันส่วนเกิน (surplus) ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรด้านก่อสร้าง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินของจีน ออกสู่ภายนอกประเทศ และเป็นการเชื่อมจีนกับโลกภายนอก
การตั้งสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศที่ไม่ใช่ของตะวันตก
จีนยังเพิ่มบทบาททางเศรษฐกิจในโลก ผ่านการตั้งสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศใหม่ๆ ที่นอกเหนือจากสถาบันในระบบ Bretton Woods เช่น ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่จีนมองว่าถูกครอบงำโดยตะวันตก รวมทั้งธนาคาร ADB ที่จีนมองว่าถูกครอบงำโดยญี่ปุ่น และไม่ตอบสนองความต้องการของจีน ที่สำคัญคือ ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Asian Infrastructure Investment Bank : AIIB) ซึ่งเวลานี้มีประเทศต่างๆ เข้าเป็นสมาชิกถึง 58 ประเทศแล้ว มีวัตถุประสงค์ชัดเจนในการระดมการสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการการพัฒนาในประเทศต่างๆ ที่ BRI ผ่านไป
การพยายามทำให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินสากลมากขึ้น
การพยายามทำให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินสากลมากขึ้น เป็นอีกหนทางสำคัญรองรับยุทธศาสตร์เพิ่มบทบาทของจีนในเศรษฐกิจโลก ซึ่งถึงปัจจุบัน จีนก็ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้พอสมควร ทั้งในการเพิ่มสัดส่วนเงินหยวนในอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ (International Payment/Trading Currency) จากแทบจะไม่มีเลย มาอยู่ที่ 2.8% ของสกุลเงินระหว่างประเทศ (ขณะที่ดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ 44% ยูโร 27% และเยน 2.76%) และสองคือสามารถทำให้เงินหยวนเข้าไปเป็นสกุลเงินหนึ่งของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (Global Reserve Currency) ที่ได้รับการยอมรับโดย IMF ปัจจุบัน ในกองทุน Special Drawing Rights ของ IMF ที่มีขึ้นให้ประเทศต่างๆ กู้ยืมในยามที่สกุลเงินของตนมีปัญหานั้น มีสัดส่วนของเงินหยวนอยู่ที่ 10.9% ขณะที่ของดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ 41% ยูโร 30.9% เยน 8% และปอนด์ 8%
ศ.ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวว่าย้อนหลังไปก่อนหน้านี้ไม่ถึงสิบปี แม้เพียงแนวคิดที่จะเสนอให้มีสถาบันการเงินระหว่างประเทศทางเลือก หรือสกุลเงินทางเลือกอื่นนอกจากของตะวันตกและญี่ปุ่นในระบบเศรษฐกิจโลกนั้น แน่ใจได้ว่าจะต้องโดนโจมตีอย่างรุนแรง แต่การที่ตะวันตกมีท่าทียอมรับการตั้งธนาคาร AIIB ของจีน ธนาคาร New Development Bank ของประเทศกลุ่ม BRICS รวมทั้งการที่เงินหยวนสามารถเพิ่มบทบาทของตนโดยได้รับการยอมรับจากสถาบันของตะวันตกได้ จึงเป็นความเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตายิ่ง
การขยายการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ
จีนยังเดินหน้าขยายบทบาททางเศรษฐกิจในเวทีโลก ผ่านการขยายการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ การรวมกลุ่มที่สำคัญในระดับโลกและมีพลังอยู่ในปัจจุบันคือ ความร่วมมือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งเคยแข่งคู่มากับ TPP (Trans-Pacific Partnership) ที่นำโดยสหรัฐ แต่บัดนี้ TPP นั้นคิดว่าไปไม่รอดเพราะพี่ใหญ่คือสหรัฐอเมริกาโดยประธานาธิบดีทรัมป์ไม่เอาด้วยเพราะถือหลัก America First ซึ่งในเมื่อ TPP พับไป สีจิ้นผิงจึงประกาศในการประชุม APEC 2015 ที่จีนว่าให้เอา TPP กับ RCEP มารวมกันให้เป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกเสียเลยจะดีกว่า เรียกว่า FTAAP (Free Trade Area of Asia-Pacific) ที่ก็จะมีทั้งสมาชิกของ RCEP คืออาเซียน 10 ประเทศ และอินเดีย จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และประเทศในแปซิฟิก ไม่ว่าจะเป็นเปรู เม็กซิโก ชิลี อเมริกา แคนาดา ฯลฯ รวมเข้ามาหมด ซึ่งสีจิ้นผิงได้ผลักดันเรื่องนี้ซ้ำอีกครั้งในการประชุม APEC ครั้งถัดมาที่เปรู ถือว่าอยู่ระหว่างดำเนินการ
ส่วนในภูมิภาคอาเซียน จีนก็ตั้งความร่วมมือทางเศรษฐกิจขึ้นมาหลายประการ ที่สำคัญคือ ความร่วมมือแม่โขง-ลานช้าง เป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงคือ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม กับจีน โดยไม่มีมหาอำนาจอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง (เช่นเดียวกับที่สหรัฐและญี่ปุ่นต่างก็มีความร่วมมือส่วนตัวของตนกับทุกประเทศลุ่มน้ำโขงยกเว้นจีนเช่นกัน คือ ความริเริ่มสหรัฐ-ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (US-Lower Mekong Initiative) สำหรับสหรัฐ และโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS : Greater Mekong Subregion) (แม้จะมีจีนเป็นสมาชิกด้วยแต่ GMS มี ADB ที่มีญี่ปุ่นเป็นผู้สนับสนุนหลักเป็นเจ้าภาพ) กับความร่วมมือประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น (Japan-Mekong Cooperation) สำหรับญี่ปุ่น) และความร่วมมือเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ (Pan - Beibu Gulf Economic Cooperation) ซึ่งเป็นความร่วมมือที่จะเชื่อมโยงจีนเข้ากับอาเซียนตามหลัก 1 แกน 2 ปีก เชื่อมโยงจากเมืองหนานหนิง เมืองหลวงมณฑลกวางสีของจีน ไปจบที่สิงคโปร์เป็นแกนตั้ง ส่วนปีกซ้าย ปีกขวาเชื่อมกับอาเซียน ซึ่งก็ยังคงอยู่และคงจะดำเนินต่อไป ในการนี้ มณฑลกวางสี กวางตุ้ง และไหหลำ เป็น 3 มณฑลของจีนที่ได้รับมอบหมายให้เชื่อมโยงกับประเทศไทย
โดยสรุป ยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่กล่าวมาของจีน ไม่ว่าจะเป็น BRI, AIIB, การส่งเสริมบทบาทเงินหยวนในสากล และกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่จีนทำและจะทำกับภูมิภาคต่างๆ ไม่ว่าแม่โขง-ลานช้าง RCEP และ FTAAP เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่าจีนจะยังดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเปิดต่อไป ในขณะที่สหรัฐค่อนข้างจะเน้นทิศทางต่อต้านโลกาภิวัตน์ ส่วนในยุโรป ฝ่ายขวาจัดก็มีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ในอังกฤษ (Brexit) และแม้จะไม่ได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาลเองทั้งหมด แต่ก็เข้าไปอยู่ในสภา มีอิทธิพลต่อรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะในฝรั่งเศส หรือเยอรมัน
ทิศทางเศรษฐกิจภายในประเทศ : เน้นพัฒนาตลาดภายในจีน
แม้จีนจะเดินหน้าเรื่องเปิดเศรษฐกิจของตนสู่โลก (open economy) แต่ขณะเดียวกันจีนก็เน้นเศรษฐกิจภายในประเทศด้วย ไม่ว่าการมุ่งขจัดความยากจน ส่งเสริมการผลิตภายในประเทศ เพราะฉะนั้น สิ่งที่สีจิ้นผิงประกาศเอาไว้ก่อนหน้านี้เรื่องนโยบาย Made in China 2025 คิดว่ายังคงอยู่เรื่อง Made in China 2025 ข้อสังเกตที่สำคัญคือ ที่เราพึ่งตลาดจีนกันอยู่ในอาเซียนนั้นมาจากการผลิตแบบ Supply Chain กล่าวคือไทยผลิตของอย่างหนึ่งส่งไปฟิลิปปินส์ ฟิลิปปินส์ส่งไปจีน ฟิลิปปินส์ผลิตของอย่างหนึ่งส่งมาไทย แต่เมื่อเกิดนโยบาย Made in China ขึ้นมา จีนจะกลายเป็นผู้ผลิตของ Intermediate Goods ไม่ได้เป็นผู้บริโภคอย่างเดียวอีกต่อไป ดังนั้น Supply Chain ในอาเซียนอาจจะหายไป การค้าระหว่างประเทศในหมู่อาเซียนจะกลายเป็นการค้าภายในของจีน ซึ่งผมคิดว่าอาเซียนน่าจะคิดถึงประเด็นนี้
ความท้าทายสำคัญของจีนจากการเพิ่มบทบาทของตนในโลกมากมายจากเรื่องทั้งหมดที่กล่าวมาคือ ทำให้เกิดความสั่นไหว ความหวั่นเกรง หวาดระแวง ต่อท่าทีหรือจุดประสงค์ของจีน เช่นที่เกิดขึ้นต่อนโยบาย Belt and Road ของจีน จากประเทศตะวันตก แม้กระทั่งประเทศเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอเชียใต้ แม้ว่าจีนจะพยายามตลอดที่จะทำให้ประเทศอื่นวางใจว่าจีนไม่ได้คิดรุกรานหรือครอบครองใคร นี่จะเป็นความลำบากของจีนต่อไปอีกอย่างน้อย 5 ปี
ทิศทางโลก
ศ.ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวถึงทิศทางสำคัญของโลกในประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจอื่นนอกเหนือจากจีน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การเกิดขึ้นของ Disruptive Technology
เรากำลังพบการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่สำคัญมาก มี disruptive technology ที่เปลี่ยนแปลงวิถีการผลิต ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศด้วย เช่น การที่มีเทคโนโลยี 3D Printing สามารถผลิตสิ่งของ เช่น ส่วนประกอบของอาคาร ขึ้นมาได้ รวมทั้งระบบ automation ที่เข้ามาทดแทนแรงงานคน ซึ่งก้าวหน้าไปมากในประเทศพัฒนาแล้ว รวมทั้งจีน อาจส่งผลให้ประเทศพัฒนาแล้วที่เคยไปตั้งฐานการผลิตในประเทศกำลังพัฒนาที่ค่าแรงถูกอาจย้ายฐานกลับไปผลิตในประเทศของตน (Re-shoring Investment) การค้าระหว่างประเทศที่เกิดจากตรงนี้ส่วนหนึ่งก็จะหายไป นั่นคือตัวอย่างของผลจาก Disruptive Technology
ยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจอื่นๆ
อาเซียน ศ.ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวว่าอาเซียนมียุทธศาสตร์หลักๆ คือเรื่อง ASEAN integration และ ASEAN Connectivity สองเรื่องนี้น่าจะไปกันได้กับ BRI ของจีนที่จะลงมาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความจริงนี่เป็นความฉลาดของจีนที่จะใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงทางกายภาพที่อาเซียนมีกันอยู่ภายในก่อนหน้าแล้วเป็นพื้นฐานสำหรับ BRI อย่างไรก็ตาม BRI และยุทธศาสตร์อื่นของจีนที่กล่าวมาที่จะสัมพันธ์กับอาเซียน เช่น Pan-Beibu RCEP หรือ FTAAF ต้องดูว่าอาจจะกระทบกับยุทธศาสตร์สำคัญของอาเซียนเรื่อง ASEAN Centrality ที่อาเซียนตั้งไว้ว่าตนจะต้องอยู่ในฐานะผู้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ความร่วมมือทั้งหลายในอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้หรือไม่ ต้องดูกันต่อไปว่าในยามที่จีนมีความริเริ่มยุทธศาสตร์ต่างๆ ลงมาสู่ภูมิภาคนี้มาก อาเซียนจะยังคงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และผู้นำชาติอาเซียนจะยังมีความไว้ใจใกล้ชิดกันอยู่หรือไม่
ส่วนญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ก็มียุทธศาสตร์ที่ออกมาคาน มาต้าน มาทาน BRI และยุทธศาสตร์ของจีนในภูมิภาคนี้ ในส่วนของญี่ปุ่น มี Abe Initiative และ AAGC (Asia-Africa Growth Corridor) (ดูภาพที่ 1) ที่จะเชื่อมแอฟริกา เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และญี่ปุ่นเข้าด้วยกัน ส่วนสหรัฐอเมริกาก็ตอบโต้ BRI อย่างเงียบๆ ด้วยยุทธศาสตร์ใหม่ของสหรัฐที่จะเรียกเขตแถบนี้ใหม่ ไม่เรียกว่าเอเชียแปซิฟิก หรืออาเซียนพลัส (ASEAN+) หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เรียกว่าภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Region) (ภาพที่ 2) ดังที่ปรากฏในการประชุม Quad Summit หรือการประชุมสุดยอด 4 ประเทศ ระหว่างทรัมป์ อาเบะ โมดี และเทิร์นบุลล์ ผู้นำอเมริกา ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย ซึ่งคล้ายจะส่งสัญญาณว่านี่คือทิศทางที่จะตอบสนองการขยายยุทธศาสตร์ของจีน
ภาพที่ 1 การเชื่อมโยงภายใต้ยุทธศาสตร์ Asia-Africa Growth Corridor
ที่มา https://i.ytimg.com/vi/LH-rPgIzpZQ/maxresdefault.jpg
ภาพที่ 2 ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
ที่มา https://www.coral-reef-info.com/image-files/Indo-Pacific-map.png
ทิศทางของไทย : ต้องเริ่มที่การศึกษา
ในโลกที่มีทั้งฝั่งที่เป็น Anti-globalization กับฝ่าย Pro-Globalism และในแต่ละฝ่ายก็เต็มไปด้วยยุทธศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจ และมีปัจจัยแทรกที่สำคัญคือ Disruptive Technology ไม่ว่าจะในฝ่ายใดนี้ การมองว่าประเทศไทยจะเดินไปอย่างไร ควรเริ่มที่การศึกษา เพราะจุดอ่อนใหญ่ของไทยทุกวันนี้คือ ขาดการจัดการศึกษาที่จะเตรียมคนและประเทศให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการพัฒนา ไม่ว่าเราจะเลือกเดินไปในแง่ใด เราก็ยังไม่ได้เตรียมตัว เช่น ถ้าเราจะเลือกเดินไปทางนวัตกรรม เป็น 4.0 แบบที่เราพูด และเหมือนกับหลายประเทศ เราก็ยังไม่ได้มีการเตรียมตัวที่ชัดเจนที่จะมารองรับการพัฒนาในทางนี้ กล่าวคือถามว่าอะไรเป็นพื้นฐานของนวัตกรรม ก็คือความรู้ (knowledge) แล้วอะไรเป็นพื้นฐานขององค์ความรู้ ก็ต้องตอบว่าการวิจัยและพัฒนา (Research and Development : R&D) ถามต่อไปว่าอะไรคือพื้นฐานของการวิจัยและพัฒนา คำตอบก็คือทุน ต้องมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ถึงจะมีองค์ความรู้ แล้วถึงจะมีนวัตกรรม แต่ปัจจุบัน ประเทศไทยมีงบ R&D ประมาณ 0.4% ของ GDP แบ่งเป็นเอกชน 0.2% ภาครัฐ 0.2% และของภาครัฐก็ไม่เคยใช้หมด ส่วนสิงคโปร์มีประมาณ 2% ของ GDP สิงคโปร์ จีนมีประมาณ 2% ของ GDP จีน (ซึ่งเป็น GDP ที่ใหญ่อันดับสองของโลก) ดังนั้น ถ้าเราบอกว่าจะไปเป็นประเทศผู้สร้างนวัตกรรม แต่เราไม่มีพื้นฐาน (requirement) ของนวัตกรรมเลย คือไม่มีทุนด้านวิจัยและพัฒนา ทำให้ไม่มี R&D เพียงพอ แล้วก็ไม่มีองค์ความรู้ ก็ไม่มีทางที่เราจะไปถึงนวัตกรรมได้
หรือหากเราไม่เป็นประเทศผู้ผลิตนวัตกรรม เราจะตั้งเป้าเป็นประเทศผู้ใช้เทคโนโลยี (Technology User) เหมือนสิงคโปร์ ซึ่งนำหน้าเรามากในเรื่องนี้ ก็ได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าจะเป็นผู้ใช้นวัตกรรม เราต้องเร่งผลิตวิศวกรสายอาชีพ (practical engineers) และบัณฑิตสายวิชาชีพ (practical graduates) คือ ปวช. และ ปวส. ทุกวันนี้เราเตรียมพร้อมในเรื่องนี้บ้างหรือยัง
แต่หากเราเป็นผู้สร้างนวัตกรรม (Innovator) ไม่สำเร็จ เป็นผู้ใช้นวัตกรรม (Technology user) ก็ยังไม่เดินหน้าทำให้สำเร็จ ก็มีทางเดียวคือต้องเอา ready made ต้องเดินตามพระราชวิเทโศบายของรัชกาลที่ 5 คือ นำเข้าคนเก่งจากที่อื่นเข้ามาทำ เอามหาวิทยาลัยต่างประเทศเข้ามาตั้ง เอาผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศเข้ามา แต่เวลานี้ก็ยังไม่เห็นว่าเราจะไปทางใด ประเด็นคือ ไม่ว่าจะในทางใดเราก็ยังไม่มีการเตรียมตัว ซึ่งการเตรียมพื้นฐานเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ในจีนหรือในเยอรมัน เวลาเขาพูดถึงนโยบาย พูดถึงทิศทางที่ประเทศจะไป ไม่ว่าจะนโยบายภายในหรือระหว่างประเทศ เช่น จีนพูดว่าจะไปทางนวัตกรรม เยอรมันพูดว่าจะไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 หมายความว่าเขาเตรียมพร้อมเรื่องเหล่านี้มา 5-10 ปี แล้ว ทิศทางที่เขาประกาศนั้นเป็นผลของการวิจัยเมื่อ 10 ปีก่อน
ผมจึงขอฝากไว้ว่าอยากให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการของไทยได้ร่วมกันคิดตรงนี้ ผมคิดว่าการที่ประเทศไทยจะรอดหรือไม่รอด ไม่ได้ชี้ขาดที่เรื่องเศรษฐกิจ ไม่ได้ชี้ขาดที่การเมือง แต่ผมคิดว่าอยู่ที่เรื่องการศึกษา ถ้าเรายังไม่ยกเครื่องการศึกษา ซึ่งหมายความรวมถึงการศึกษาในทุกๆ เรื่อง ไม่ใช่เฉพาะการศึกษาในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ไม่ใช่เฉพาะเยาวชน แต่เป็นการเรียนรู้ของคนในสังคมทั้งหมด ถ้าเราไม่ยกเครื่องระบบการเรียนรู้ของประเทศ เราก็คงจะไปไม่รอดไม่ว่าในทางใด