ทีดีอาร์ไอชี้รัฐมอบ “เหรียญเชิดชู” ไม่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจผู้สูงอายุสละเบี้ยยังชีพ
“วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์” ชี้ผู้สูงอายุบริจาคเบี้ยยังชีพไม่เข้าเป้า เหตุสิ่งตอบแทน “เหรียญเชิดชูเกียรติ” ไม่เพียงพอสร้างแรงบันดาลใจ -นิสัยคนไทยบริจาคตลอดชีพน้อย ส่วนใหญ่ทำเป็นครั้งคราว แนะศึกษาพฤติกรรมก่อนเริ่มนโยบาย
กรณีกระทรวงการคลังออกมาระบุตัวเลขผู้สูงอายุบริจาคเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 600-1,000 บาท เข้าโครงการสละสิทธิการรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุโดยสมัครใจ เพื่อเข้ากองทุนผู้สูงอายุ มีจำนวนน้อยแค่ 200-300 คน จากเป้าหมาย 5 แสนคน จำนวนเงินที่คาดว่าจะได้รับคืนไม่ต่ำกว่า 4 พันล้านบาท ทำให้อาจมีการปรับเปลี่ยนขั้นตอนการบริจาค จากเดิมต้องดำเนินการที่สำนักงานเขต ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มาเป็นธนาคารหรือออนไลน์แทน เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้สูงอายุ
ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่าปกติการบริจาคเงินจะต้องสร้างแรงบันดาลใจ แต่สำหรับโครงการฯ ที่ขอรับบริจาคเบี้ยยังชีพจากผู้สูงอายุยังไม่เห็นว่า การได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติ หักลดหย่อนภาษี 1 เท่า ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดจะมีนัยยะสำคัญจนทำให้ผู้สูงอายุบริจาคได้ ฉะนั้นรัฐจะต้องสร้างแรงบันดาลใจที่มากกว่านี้ ทั้งนี้ จะต้องศึกษาวิจัยพฤติกรรมของผู้สูงอายุก่อนดำเนินนโยบาย เชื่อว่าจะได้ผลดีมากกว่าการคาดเดาจากเป้าหมายที่กำหนดขึ้น
เมื่อให้ยกตัวอย่างการสร้างแรงบันดาลใจที่เป็นรูปธรรม นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ ระบุเพียงว่า คนไทยนิยมบริจาคเพียงครั้งเดียว ในกรณีประสงค์จะช่วยเหลือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ขณะที่การบริจาคแบบต่อเนื่องยังมีน้อย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศแล้ว จะมีความนิยมมากกว่า โดยใช้วิธีจัดส่งเอกสารมาให้ลงชื่อบริจาค และตัดยอดเงินบริจาคจากบัตรเครดิตแทน
“การบริจาคเงินตลอดชีพ เป็นอะไรที่ไม่ได้อยู่ในพฤติกรรมของคนไทยมาก่อน ทำให้การตัดสินใจไม่น่าจะง่าย ๆ ดังนั้น ยืนยันหากไม่มีการศึกษาพฤติกรรมก่อนมีนโยบาย แล้วเลือกลองผิดลองถูกเช่นนี้ จึงไม่แปลกใจที่มีผู้สูงอายุเข้าร่วมโครงการน้อยมาก” ดร.วรวรรณ กล่าวในที่สุด .
อ่านประกอบ:เชียงราย ตรัง นนทบุรี นำโด่ง จำนวนคนบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ-สรุปยอดรวมแค่ 4 ล้าน
บริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเข้ากองทุนฯ คลังมอบเหรียญเชิดชูเกียรติ