ก.ล.ต.เผยสมาชิกกองทุนสำรองฯ เกินครึ่ง ออมไม่พอใช้วัยเกษียณ-เงินเก็บต่ำกว่าล้าน
ก.ล.ต.กระตุ้นนายจ้าง-ลูกจ้าง ออมเงินผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไว้ใช้รับสังคมผู้สูงอายุ หลังงานวิจัยพบ จะเกษียณอย่างสุข ต้องมีเงินออมไม่ต่ำกว่า 3 ล้าน ขณะที่ปัจจุบันจำนวนมากกว่าครึ่ง มีไม่ถึง 1 ล้าน หวังรัฐดัน กม.ภาคบังคับ
วันที่ 4 ต.ค. 2560 ที่โรงภาพยนตร์สยามภาวลัย ศูนย์การค้าสยามพารากอน นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงาน SEC Retirement Saving Symposium 2017 ในโอกาสครบรอบ 25 ปี ก.ล.ต. ถึงแนวทางกระตุ้นให้นายจ้างและลูกจ้างเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) เพื่อความมั่นคงทางการเงินหลังเกษียณ
นายรพี กล่าวว่า ปัจจุบันมีภาคเอกชนเพียง 1.7 หมื่นราย หรือร้อยละ 3 ที่จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ขณะที่ลูกจ้างที่เป็นสมาชิกมี 3 ล้านคน หรือร้อยละ 12 ซึ่งชี้ให้เห็นว่า นายจ้างและลูกจ้างเข้าอยู่ในระบบน้อย ทั้งนี้ แม้จะให้สิทธิใส่เงินในระบบสูงสุดร้อยละ 15 แต่ขณะนี้พบมีการใส่เงินในระบบเฉลี่ยร้อยละ 4-5% เท่านั้น
นอกจากนี้การนำเงินไปลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ส่วนใหญ่จะนำไปลงทุนในตราสารหนี้มากกว่าร้อยละ 80 ซึ่งผลตอบแทนค่อนข้างต่ำและไม่เพียงพอที่จะต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อ ขณะที่การลงทุนในตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า กลับมาเพียงร้อยละ 16 เท่านั้น ดังนั้น เมื่อคนไทยออมน้อย และลงทุนไม่เป็น ทำให้ไม่มีเงินเพียงพอเพื่อเกษียณ
“งานวิจัยของคณะวิทยาการจัดการ ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ค้นพบว่า ผู้ที่จะเกษียณอย่างมีความสุข มีเงินใช้จ่ายเพียงพอ ต้องมีเงินอย่างน้อย 3 ล้านบาท แต่ปัจจุบันสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 3 ล้านคน จำนวนมากกว่าครึ่ง มีเงินไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณไม่ถึง 1 ล้านบาท เท่านั้น”
เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวถึงทางออกจะต้องพยายามสร้างความรู้ความเข้าใจและชักชวนให้มีการเข้าสู่ระบบมากขึ้น โดยให้นายจ้างจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และใส่เงินเข้าไปในระบบมากที่สุด ร้อยละ 15 และทำให้ลูกจ้างเกิดความรู้สึกว่า เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเงินก้อนสุดท้ายเพื่อวัยเกษียณ เพราะส่วนใหญ่คนจะคิดถึงเงินออมเมื่อใกล้เกษียณแล้ว ซึ่งไม่ทันเวลา อย่างไรก็ตาม การให้นายจ้างสมทบเงินเข้าไปมากกว่าเดิม จะต้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจ โดยอาจต้องมองไปถึงว่า เงินส่วนนี้จะทำให้พนักงานเกษียณอย่างมีความสุข เกิดหลักประกันที่มั่นคง ส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อบริษัท ขณะที่ภาครัฐพยายามผลักดันกฎหมายจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับด้วย .