เปลืองงบฯ ดร.เจิมศักดิ์ เปิดงานวิจัยพัฒนาข้าวไทย จี้รัฐเลิกเล่นลิเกด้านการตลาด
ดร.เจิมศักดิ์ เปิดโมเดลการปฏิรูประบบและพัฒนาข้าวไทย ยันยั่งยืนรัฐต้องหยุดแจกเงินชาวนา หันไปส่งเสริมเกษตรกรเพิ่มผลผลิตต่อไร่-ลดต้นทุนการผลิต เชื่อคือทางออกเกษตรกรได้กำไรสูงสุด
วันที่ 25 กันยายน คณะกรรมการศึกษาแนวทางการปฏิรูประบบและพัฒนาข้าวไทย มหาวิทยาลัยรังสิต จัดประชุมวิชาการ โดย ศาสตราภิชาน ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานกรรมการศึกษาแนวทางการปฏิรูประบบและพัฒนาข้าวไทย มหาวิทยาลัยรังสิต นำเสนอผลการศึกษาโมเดลการปฏิรูประบบและพัฒนาข้าวไทยฯ ณ ห้องประชุม 1-801 มหาวิทยาลัยรังสิต
ศาสตราภิชาน ดร.เจิมศักดิ์ กล่าวถึงรายงานการปฏิรูประบบและพัฒนาข้าวไทยฉบับนี้มองลึกกว่ามองแค่ระยะสั้น เรามองว่า ประเทศไทยจะคงรักษาสภาพแชมป์การส่งออกข้าวนี้ไว้ได้อย่างไรเมื่อโลกเปลี่ยน โจทย์นี้หนักมากหากมัวแต่ทำเรื่องการตลาด หรือนำเงินแจกชาวนาประเทศ อนาคตเราจะสู้กับใครไม่ได้ รวมถึงแข่งกับต่างประเทศระยะยาวก็ไม่ได้
"เราต้องคิดว่า จะเล่นกับของจอมปลอมในประเทศหรือจะเอาเรื่องจริงสู้กับต่างประเทศ นโยบายรัฐบาลต้องลดต้นทุนการผลิตข้าวให้ได้ ปัจจุบันนี้ผลผลิตข้าวต่อไร่ของไทยต่ำมากๆ เฉลี่ย 600-700 กก./ไร่ ซึ่งงานวิจัยพบว่า ไทยมีทางออกโดยการเจาะตลาดใหม่ ไม่ใช่ปลูกข้าวแค่กินอิ่ม แต่ต้องเป็นข้าวที่กินอร่อย (Tasty) ปลอดภัย(Safety) และเสริมสุขภาพ(Healthy) จับตลาดสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น
ศาสตราภิชาน ดร.เจิมศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลควรทุ่มเทไปที่ปฏิรูปการผลิต เพื่อจับตลาดมูลค่าสูง อย่าไปเล่นกับสินค้าข้าวแบบโหลๆ ที่มีอยู่ดาษดื่นในตลาดโลก
พร้อมกันนี้ รัฐบาลควรเลิกเล่นลิเกด้านการตลาด ขอให้มองไปตลาดโลกด้วย เราไม่สามารถทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงได้ เพราะไทยไม่มีอำนาจขนาดนั้น ฉะนั้น นโยบายที่ยั่งยืน คือการลดต้นทุนการผลิตให้กับข้าวไทย เพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น ซึ่งไม่ใช่การนำเงินไปแจกชาวนา
"การนำเงินแจกชาวนา คือการไปลดต้นทุนให้ตัวชาวนา แต่ไม่ได้ลดต้นทุนการผลิตข้าวให้กับประเทศชาติเลย" ประธานกรรมการศึกษาแนวทางการปฏิรูประบบและพัฒนาข้าวไทยฯ กล่าว และขยายความเสริมอีกว่า การลดต้นทุนการผลิตข้าว ต้องดู 1.พัฒนาพันธุ์ข้าวพันธุ์ใหม่ที่เน้นเจาะตลาดใหม่ ที่ตรงกับความต้องการ 2.พัฒนาน้ำและดิน ใช้เทคโนโลยี ข้อมูลดาวเทียมเข้ามาช่วย รวมถึงเครื่องวัดความชื้นในดิน การให้น้ำต้องสอดคล้องกับข้อมูล การทำนาแปลงใหญ่ แบบไม่มีคันนาเป็นต้น 3.การขนส่งข้าว 90% ขนส่งไปทางถนน ขณะที่การขนส่งทางน้ำมีต้นทุนต่ำกว่ามาก แต่มีอุปสรรคที่เรือไม่สามารถลอดในบางช่วงของสะพานในบางช่วงเวลาได้ และ 4.การบริหารจัดการ
ทั้งนี้ ศาสตราภิชาน ดร.เจิมศักดิ์ กล่าวถึงการจัดเกรดแบ่งชั้นข้าวเปลือก และข้าวสาร ด้วยว่า ถึงวันนี้ก็ยังทำไม่สำเร็จ หากทำได้จะนำสู่เป้าหมายมุ่งเน้นให้ชาวนาได้กำไรสูงสุด ไม่ใช่ได้ราคาสูงสุด