ไขที่มารวมสัญญาซื้อขายไฟ2ฉ.-ปริศนาไอ้โม่งรับปย.สตึงนัมกัมพูชา-วัดใจ 'บิ๊กตู่'เช็คบิล
"..ในรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการสตึงนัมซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทย และกัมพูชา อีกแห่งหนึ่งเป็นจุดสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเป็นโครงการที่กำลังถูกจับตามองว่า มีกลุ่มบุคคลที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด กับผู้บริหารกระทรวงพลังงานเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ขณะที่ในรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินงานโครงการ มีการระบุถึงแผนงานในการวางท่อใหม่ ที่ต้องใช้เม็ดเงินงบประมาณจำนวนมหาศาลอีกด้วย และอาจเป็นอีกเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ 'คนบางกลุ่ม' พยายามหาวิธีการทุกช่องทาง ในการเร่งรัดผลักดันโครงการนี้ ให้เกิดขึ้นให้ได้ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน และการภาระค่าใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินที่มาจากภาษีประชาชน..."
"การซื้อขายไฟฟ้าโครงการเขื่อนน้ำงึม 1 และโครงการเขื่อนเซเสด เป็นความร่วมมือระหว่างไทย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในรูปแบบของการให้ความช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้า เพื่อช่วยเสริมความมั่นคงในระบบไฟฟ้าของแต่ละประเทศร่วมกัน รวมทั้งเป็นการประสานประโยชน์ตามข้อตกความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในกลุ่มประชาคมอาเซียนในการแบ่งปันการใช้ทรัพยากรร่วมกัน และช่วยกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายมีการซื้อและขายไฟฟ้าให้แก่กันมาโดยตลอด"
"การพิจารณาการรับซื้อไฟฟ้าระหว่าง 2 ประเทศ คณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงและปัจจัยในด้านต่างๆมาใช้ประกอบการพิจารณาอย่างรอบด้าน ราคารับซื้อที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากต้นทุนเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ คือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำห้วยลำพันใหญ่ และการก่อสร้างเพื่อเพิ่มกำลังผลิตของเขื่อนน้ำงึม 1 และเขื่อนเซเสด ที่นำมารวมพิจารณาในข้อตกลงความร่วมมือในการซื้อและขายไฟฟ้าผ่านสัญญาเขื่อนน้ำงึม 1 และ เขื่อนเซเสด ในครั้งนี้ ประกอบกับราคารับซื้อไฟฟ้าในอัตราหน่วยละ 2 บาท จะใช้เฉพาะในช่วงเวลาความต้องการไฟฟ้าสูง ส่วนในช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำจะซื้อในราคาหน่วยละ 1.60 บาท ซึ่งอยู่ในระหว่างเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)"
คือ คำชี้แจงล่าสุดจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ที่ส่งเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ชี้แจงข้อเท็จจริงมาให้สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รับทราบ โดยอ้างคำให้สัมภาษณ์ของ ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และโฆษกกระทรวงพลังงาน
หลังจากการรวมสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนน้ำงึม 1 และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนเซเสด ระหว่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (ฟฟล.) ดังกล่าว ที่ส่งผลทำให้มีการปรับราคาซื้อขายไฟฟ้าใหม่ จากเดิมที่ กฟผ.จะซื้อไฟฟ้าจาก ฟฟล. ในราคา 1.60 บาท ต่อหน่วย ส่วนราคาไฟฟ้าที่ กฟผ.ขายให้กับฟฟล. อยู่ที่ราคา 1.74 บาท ต่อหน่วยมาเป็น กฟผ.ซื้อไฟฟ้าจากฟฟล. ในราคา 2 บาท ต่อหน่วย ส่วน กฟผ.ขายไฟให้กับฟฟล. ในราคา 2.10 บาท ต่อหน่วย
ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า อาจทำให้ฝ่ายไทยเสียประโยชน์ เนื่องจากสภาพการใช้ไฟฟ้าจริงของประเทศลาวมีสัดส่วนน้อยมาก ซึ่งหากลาวไม่ได้รับซื้อไฟฟ้าจากไทยตามสัญญาฉบับนี้เลย ขณะที่สัดส่วนการใช้ไฟไฟาของไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และจำเป็นต้องซื้อไฟฟ้าจากลาว ก็เท่ากับว่าไทยอาจจะต้องเป็นฝ่ายรับซื้อไฟฟ้าจากลาวเพียงฝ่ายเดียว ในอัตราราคารับซื้อไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2 บาทต่อหน่วยตามสัญญา จากราคาเดิมแค่ 1.60 บาทต่อหน่วยเท่านั้น และอาจจะเป็นผลทำให้ราคาค่าไฟฟ้าที่จะต้องจัดเก็บจากประชาชนปรับเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
(อ่านประกอบ : ราคา2บ.มีผลช่วงกำลังใช้สูง!พลังงานยันรวมสัญญาซื้อไฟฟ้าเขื่อนน้ำงึม1-เซเสด พิจารณารอบด้าน, คนไทยเสี่ยงจ่ายค่าไฟแพงขึ้น! เปิดช่องโหว่รวมสัญญาเขื่อนน้ำงึม1-เซเสด เหตุลาวใช้น้อย)
ทั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชนรับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่มาและความเป็นไปในการรวมสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนน้ำงึม 1 และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนเซเสด ดังกล่าว มากขึ้น
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกมานำเสนอ ดังนี้
ความเป็นมาการรวมสัญญา
หนึ่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กฟผ และรัฐวิสาหกิจลาว ฟฟล ได้มีการซื้อขายไฟฟ้าในลักษณะของการให้ความช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าแบบNon-Firmภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน2ฉบับดังนี้
-สัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนน้ำงึม 1 (150 เมกะวัตต์)เป็นสัญญาที่ ฟฟล. โครงการเขื่อนน้ำลึก (60 เมกะวัตต์)และโครงการเขื่อนน้ำเทิน2 ( 75 เมกะวัตต์) ให้กฟผ.ในลักษณะNon-Firm โดยมีจุดที่ กฟผ.รับพลังงานไฟฟ้าอยู่ที่ สฟ.หนองคาย บึงกาฬ นครพนมและมุกดาหาร และ ฟฟล.จะซื้อไฟฟ้าจาก กฟผ.ในช่วงที่การผลิตไฟฟ้าใน สปป.ลาวไม่เพียงพอโดยจุดที่ ฟฟล.รับพลังงานไฟฟ้าอยู่ที่ สฟ.โพนต้อง ท่านาแล้ง ปากซัน ท่าแขก และปากบ่อ ซึ่งสัญญาฯ น้ำงึม1 จะมีอายุสัญญา 11 ปี (วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2549-วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2560)
-สัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนเซเสดเป็นสัญญาที่ ฟฟล. ขายไฟฟ้าส่วนเกินจากความต้องการในประเทศที่ผลิตจากโครงการเขื่อนเซเสด1 (45 เมกะวัตต์) โครงการเขื่อนเซเสด2(76 เมกะวัตต์) และโครงการห้วยลำพันใหญ่ (88 เมกะวัตต์)ให้ กฟผ.ในลักษณะ Non-firm โดยมี. ที่กฟผ. รับพลังงานไฟฟ้าอยู่ที่ สฟ. สิรินธรจังหวัดอุบลราชธานีและ ฟฟล. จะซื้อไฟฟ้าจาก กฟผ. โดยที่จุดที่ ฟฟล. รับพลังงานไฟฟ้าที่ สฟ.บังเยาะซึ่งสัญญาฯเซเสดมีอายุสัญญา 16 ปี (วันที่1 พฤษภาคม 2544 - วันที่ 30 เมษายน 2560)
สอง ต่อมาวันที่ 27 กรกฎาคม 2559 คระอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน(คณะอนุกรรมการประสานฯ) ได้มติเห็นชอบแนวทางในการเจรจาสัญญาฯ น้ำงึม 1 และสัญญาฯเซเสด กับ ฟฟล.
ทั้งนี้ สำหรับประเด็นที่เกี่ยวกับ (1) การระงับข้อพิพาท และ (2) การบังคับใช้กฎหมาย คณะอนุกรรมการประสานฯ มอบหมายให้ปรึกษาหารือกับสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) ต่อไป
สาม วันที่ 4 สิงหาคม 2559 กฟผ. ได้นำข้อคิดเห็นจากคณะอนุกรรมการประสานฯ เข้าหารือ กับ อส. เพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับประเด็น (1) การระงับข้อพิพาท และ (2) การบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งจากผลการประชุมคณะอนุกรรมการประสานฯ และจากการหารือกับอัยการสูงสุด สามารถสรุปแนวทางและหลักการในการเจรจาสัญญาฯ ได้ดังนี้
- ให้รวมสัญญาฯน้ำงึม 1 และสัญญาฯ เซเสดเข้าด้วยกันเป็นสัญญาฯฉบับใหม่
-ให้มีการปรับรอบปีของสัญญาฯเป็นปีปฏิทิน ( 1 มกราคม – 31 ธันวาคม) ของทุกปี
- ให้พิจารณาความเหมาะสมเกี่ยวกับการกำหนดเงื่อนไขการชำรพเงิน เช่น เงื่อนไขอัตราแลกเปลี่ยน
-ให้มีการคิดดอกเบี้ยในกรรีที่มีการชำระเงินล่าช้าเพื่อให้มีความสอดคล้องกับสัญญาฯ กับประเทศอื่นๆ เช่น การไฟฟ้ามาเลเซีย และการไฟฟ้ากัมพูชา
-ให้พิจารณาความเหมาะสมในการขยายอายุสัญญาฯ (4-8 ปี) โดยให้มีการทบทวนราคาซื้อขายไฟฟ้าทุก 4 ปีให้พิจารณาความเหมาะสมของราคาซื้อขายไฟฟ้า
-ให้พิจารณาใช้แนวทางการระงับข้อพิพาท ได้แก่
(1) เมื่อมีปัญหาขัดแย้งเกิดขึ้น ให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายหารือร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงโดยเร็วบนพื้นฐานของเหตุผลข้อเท็จจริงและความเข้าใจอันดีของทั้งสองฝ่าย
(2) ในกรณีที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายไม่สามารถเจรจาหาข้อยุติข้อพิพาทได้ให้คณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าของทั้งสองฝ่ายเข้าหารือร่วมกันเพื่อหาข้อยุติข้อพิพาท
- ควรจะต้องมีการกำหนดมาตรการในการดำเนินการหากเกิดกรรฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามสัญญาฯ ขึ้น เช่น หากคู่สัญญาอีกฝ่ายไม่สามารถชำระเงินได้ภายในระยะเวลา 60 วัน คู่สัญญามีสิทธิที่จะยกเลิกสัญญาฯ ได้
- ให้สัญญาฯใช้กฎหมายไทย
สี่ วันที่ 31 สิงหาคม 2559 กฟผ. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเจรจาและจัดทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (ฉบับใหม่) กับ ฟฟล.เพื่อเจรจาและจัดทำร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ ฟฟล. ภายใต้นโยบายและแนวทางการเจรจาสัญญาที่คณะอนุกรรมการประสานฯมอบหมาย
ห้า วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 กฟผ. และ ฟฟล. ได้มีหนังสือขยายอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของสัญญาฯน้ำงึม 1 และสัญญาฯเซเสด โดยขยายอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าออกไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2560 หรือจนกว่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้าฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ แล้วแต่เหตุการณ์ใดจะเกิดขึ้นก่อน เนื่องจากยังไม่ได้ข้อยุติในเรื่องอัตราค่าไฟฟ้า ซึ่งจะมีผลทำให้ไม่สามารถลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าฉบับใหม่ได้ทันกำหนดสิ้นสุดสัญญาซื้อขายไฟฟ้าฉบับเดิมดังกล่าว
หก วันที่ 4-5 เมษายน 2560 กฟผ. และ ฟฟล. ได้มีมติที่ประชุมเห็นชอบร่างสัญญาฯฉบับใหม่ (final Draft) โดยหากทั้งสองฝ่ายได้รับการอนุมัติอัตราค่าไฟฟ้าและไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติม กฟผ.จะนำร่างสัญญาฯฉบับใหม่ที่ได้ตรวจสอบจากสำนักกฎหมายแล้ว เสนอขออนุมัติตามขั้นตอน พร้อมทั้งส่งให้ ฟฟล. ดำเนินการแปลเป็นภาษาลาวต่อไป ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ลงนามย่อกำกับ (Initial) ร่างสัญญาฯ (Final Draft) ร่วมกัน
เจ็ด ฟฟล. ได้มีหนังสือลงวันที่ 11 เมษายน 2560 แจ้งว่ากระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สปป. ลาว ได้เห็นชอบอัตราค่าไฟฟ้าตามที่ กฟผ. และ ฟฟล. เห็นชอบร่วมกันดังกล่าวแล้ว
แปด วันที่ 1 พฤษภาคม 2560 คณะอนุกรรมการประสานฯได้มีมติเห็นชอบอัตราค่าไฟฟ้าตามที่ กฟผ.และ ฟฟล. เห็นชอบร่วมกันดังกล่าวแล้ว
เก้า วันที่ 17 พฤษภาคม 2560 คณะกรรมการ กฟผ. ได้มีมติเห็นชอบร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (ฉบับใหม่) ระหว่าง กฟผ. กับ ฟฟล. พร้อมทั้งให้ กฟผ. นำส่งร่างสัญญาฯ ให้ อส. ตรวจพิจารณา และนำร่างสัญญาฯ ดังกล่าวเสนอขอความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการประสานฯคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่มีประเด็นแก้ไขในสาระสำคัญเกี่ยวกับอัตราค่าไฟฟ้าให้ผู้ว่าการ กฟผง ลงนามสัญญาฯได้โดยไม่ต้องนำร่างสัญญาฯที่แก้ไขมาเสนอขอความเห็นชอบอีกครั้ง
สิบ วันที่ 30 พฤษภาคม 2560 กฟผ. ได้นำส่งร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (ฉบับใหม่) ระหว่าง กฟผ. กับ ฟฟล. และให้ อส. ตรวจพิจารณาซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2560 กฟผ. ได้เข้าไปชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับร่างสัญญาฯต่อ อส.
สิบเอ็ด วันที่ 3 กรกฎาคม 2560 คณะอนุกรรมการประสานฯ ได้มีมติเห็นชอบร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. กับ ฟฟล. และให้นำร่างสัญญาฯดังกล่าวเสนอขอความเห็นชอบจาก กพช. และครม.ต่อไป
ข้อสังเกตเกี่ยวกับการดำเนินงาน
อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับโครงการรวมสัญญาดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากแหล่งข่าวใน กฟผ. ว่า ในการรวมสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนน้ำงึม 1 และโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนเซเสด เป็นฉบับเดียว กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า สภาพการใช้ไฟฟ้าจริงของประเทศลาวมีสัดส่วนน้อยมาก หากลาวไม่ได้รับซื้อไฟฟ้าจากไทยตามสัญญาฉบับนี้เลย ขณะที่สัดส่วนการใช้ไฟไฟาของไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และจำเป็นต้องซื้อไฟฟ้าจากลาว ก็เท่ากับว่าไทยอาจจะต้องเป็นฝ่ายรับซื้อไฟฟ้าจากลาวเพียงฝ่ายเดียว ในอัตราราคารับซื้อไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2 บาทต่อหน่วยตามสัญญา จากราคาเดิมแค่ 1.60 บาทต่อหน่วยเท่านั้น
ซึ่ง หากเหตุการณ์เป็นแบบนั้น ในท้ายที่สุดของสัญญาฉบับนี้จะทำให้ไทยเสียเปรียบจากการซื้อขายไฟฟ้าในราคาที่สูงขึ้นตามสัญญาใหม่ทันที และอาจจะเป็นผลทำให้ราคาค่าไฟฟ้าที่จะต้องจัดเก็บจากประชาชนปรับเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
นอกจากนี้ ยังได้รับการยืนยันข้อมูลว่า การรวมสัญญาดังกล่าว แม้จะผ่านความเห็นชอบในหลักการจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)ไปแล้ว แต่ในเรื่องอัตราค่าไฟฟ้ายังไม่ได้ข้อสรุปดีนัก เนื่องจากผู้บริหารระดับสูงในรัฐบาลบางกระทรวงไม่ค่อยเห็นด้วยกับการปรับขึ้นราคาขายไฟฟ้าในส่วนของลาว ต้องการให้มีการพิจารณารายละเอียดอีกใหม่อีกครั้ง แม้ว่าทางผู้แทนกระทรวงพลังงานจะให้เหตุผลว่า เพื่อให้ลาวมีรายได้เพิ่มขึ้นจะได้นำเงินมาชำระเงินกู้ที่จะนำไปลงทุนโครงการกับไทยเร็วขึ้นก็ตาม
ขณะที่ ในคำชี้แจงของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ที่แจ้งมาให้สำนักข่าวอิศรา รับทราบตามที่กล่าวไปเบื้องต้น
ยังไม่ได้ตอบคำถามสำคัญที่ว่า สภาพการใช้ไฟฟ้าจริงของประเทศลาวว่ามีสัดส่วนเป็นจำนวนเท่าไร และในกรณีที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง ต้องมีการรับซื้อไฟฟาในอัตราหน่วยละ 2 บาท จะเป็นผลทำให้ราคาค่าไฟฟ้าที่จะต้องจัดเก็บจากประชาชนปรับเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วยหรือไม่
ทั้งที่ ประเด็นนี้ ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก เพราะผลกระทบต่อคนในประเทศไทยโดยตรง
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ยังได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากแหล่งข่าว กฟผ. เพิ่มเติมว่า ในรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการสตึงนัมซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทย และกัมพูชา อีกแห่งหนึ่งเป็นจุดสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาด
เพราะเป็นโครงการที่กำลังถูกจับตามองว่า มีกลุ่มบุคคลที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด กับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงานเข้าไปเกี่ยวข้อง
ขณะที่ในรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินงานโครงการ มีการระบุถึงแผนงานในการวางท่อใหม่ ที่ต้องใช้เม็ดเงินงบประมาณจำนวนมหาศาลอีกด้วย
และอาจเป็นอีกเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ 'คนบางกลุ่ม' พยายามหาวิธีการทุกช่องทาง ในการเร่งรัดผลักดันโครงการนี้ ให้เกิดขึ้นให้ได้ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน และการภาระค่าใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินที่มาจากภาษีประชาชน
น่าสนใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เคยได้ยินข่าวหรือระแคะระคายข้อมูล 'ลับ' แบบนี้หรือไม่
ถ้า(เคย)ได้ยินแล้ว จะดำเนินการอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อไป
จะยินยอมถูกหลอก ปล่อยให้ปัญหาหลุดรอดผ่านพ้นสายตาไป หรือ จะเข้ามาสะสางแก้ไขปัญหาโดยทันที เพื่อทำให้โครงการเกิดขึ้น อย่างถูกต้องเรียบร้อย โดยยึดถือผลประโยชน์ของประชาชน ประเทศชาติเป็นเป้าหมายสูงสุดอันดับแรก
กรณีนี้ จึงถือเป็น 'หินลองทอง' อีกกรณีที่จะพิสูจน์ความจริงใจในการบริหารงานประเทศ ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่น่าสนใจและชวนให้ติดตามเป็นยิ่งอย่าง