คนไทยเสี่ยงจ่ายค่าไฟแพงขึ้น! เปิดช่องโหว่รวมสัญญาเขื่อนน้ำงึม1-เซเสด เหตุลาวใช้น้อย
เปิดช่องโหว่ รวมสัญญาขายไฟฟ้าเขื่อนน้ำงึม 1-เขื่อนเซเสด! คนกฟผ. ชี้หลังปรับราคาใหม่ 2 บาท/หน่วย ไทยอาจเสียเปรียบ เหตุรับซื้ออยู่ฝ่ายเดียว เนื่องจากสัดส่วนการใช้ไฟลาวน้อยมาก -ห่วงปชช.ได้รับผลกระทบจ่ายค่าไฟแพงตาม
การจัดทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (ฟฟล.) ในลักษณะการให้ความช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าแบบ Non-Firm ที่มีการรวมสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเป็นฉบับเดียว จากเดิมแยกออกเป็น 2 ฉบับ คือ สัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนน้ำงึม 1 และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนเซเสด กำลังถูกจับตามองเรื่องความเสียเปรียบที่ฝ่ายไทยจะได้รับจากการซื้อขายไฟฟ้าตามสัญญาที่จะเกิดขึ้นซึ่งมีการปรับราคาใหม่เป็น 2 บาท/หน่วย
แหล่งข่าวจากกฟผ. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ในการรวมสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนน้ำงึม 1 และโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนเซเสด เป็นฉบับเดียว จะส่งผลทำให้กฟผ.ซื้อไฟฟ้าจากฟฟล. ในราคา 2 บาท ต่อหน่วย ขณะที่ กฟผ.ขายไฟให้กับฟฟล. ในราคา 2.10 บาท ต่อหน่วย ซึ่งเป็นการปรับราคาเพิ่มขึ้นจากข้อกำหนดในสัญญาเดิมที่กฟผ.ซื้อไฟฟ้าจาก ฟฟล. ในราคา 1.60 บาท ต่อหน่วย ขณะที่ กฟผ.ขายไฟให้กับฟฟล. ในราคา 1.74 บาท นั้น หากเปรียบเทียบราคาที่กฟผ.ขายไฟฟ้าให้กับ ฟฟล.ในราคา 2.10 บาท ต่อหน่วย กับราคาที่กฟผ.ซื้อจากฟฟล.ในราคา 2 บาท ต่อหน่วยแล้ว อาจจะเห็นว่าไทยได้รับประโยชน์มากกว่าจากการขายไฟฟ้าให้ลาว
แต่ในข้อเท็จจริงที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ในขณะนี้ คือ สภาพการใช้ไฟฟ้าจริงของประเทศลาวมีสัดส่วนน้อยมาก หากลาวไม่ได้รับซื้อไฟฟ้าจากไทยตามสัญญาฉบับนี้เลย ขณะที่สัดส่วนการใช้ไฟไฟาของไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และจำเป็นต้องซื้อไฟฟ้าจากลาว ก็เท่ากับว่าไทยอาจจะต้องเป็นฝ่ายรับซื้อไฟฟ้าจากลาวเพียงฝ่ายเดียว ในอัตราราคารับซื้อไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2 บาทต่อหน่วยตามสัญญา จากราคาเดิมแค่ 1.60 บาทต่อหน่วยเท่านั้น
"หากเหตุการณ์เป็นแบบนั้น ในท้ายที่สุดของสัญญาฉบับนี้จะทำให้ไทยเสียเปรียบจากการซื้อขายไฟฟ้าในราคาที่สูงขึ้นตามสัญญาใหม่ทันที และอาจจะเป็นผลทำให้ราคาค่าไฟฟ้าที่จะต้องจัดเก็บจากประชาชนปรับเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย" แหล่งข่าวระบุ
แหล่งข่าว ยังระบุด้วยว่า เกี่ยวกับเรื่องการรวมสัญญาล่าสุดทราบว่า ผ่านความเห็นชอบในหลักการจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)ไปแล้ว แต่ในเรื่องอัตราค่าไฟฟ้ายังไม่ได้ข้อสรุปดีนัก เนื่องจากผู้บริหารระดับสูงในรัฐบาลบางกระทรวงไม่ค่อยเห็นด้วยกับการปรับขึ้นราคาขายไฟฟ้าในส่วนของลาว ต้องการให้มีการพิจารณารายละเอียดอีกใหม่อีกครั้ง แม้ว่าทางผู้แทนกระทรวงพลังงานจะให้เหตุผลว่า เพื่อให้ลาวมีรายได้เพิ่มขึ้นจะได้นำเงินมาชำระเงินกู้ที่จะนำไปลงทุนโครงการกับไทยเร็วขึ้นก็ตาม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้พยายามติดต่อ นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว แต่ได้รับแจ้งจากฝ่ายเลขาฯ ว่า ผอ.สนพ.ติดประชุมอยู่
ขณะที่ก่อนหน้านี้ กฟผ. เคยออกมาชี้แจงเรื่องการขออนุมัติรวมสัญญาซื้อขายไฟโครงการเขื่อนน้ำงึม 1 และโครงการเขื่อนเซเสด ของรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว ทำให้ราคาค่าไฟฟ้าขึ้นจาก 1.60 บาทต่อหน่วย เป็นราคา 2 บาทต่อหน่วย ว่า
1. การซื้อขายไฟฟ้าโครงการเขื่อนน้ำงึม 1 และโครงการเขื่อนเซเสด เป็นความร่วมมือระหว่างไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (ฟฟล.) มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในลักษณะของการให้ความช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้า โครงการเขื่อนน้ำงึม 1 เริ่มสัญญาเมื่อ 26 ก.พ. 2549 จนถึงปัจจุบัน ส่วนโครงการเขื่อนเซเสด เริ่มสัญญาเมื่อ 1 พ.ค. 2544 จนถึงปัจจุบัน ราคาที่ กฟผ. รับซื้อไฟฟ้าอยู่ที่ราคาหน่วยละ 1.60 บาท ในช่วงความต้องการไฟฟ้าสูง และราคาหน่วยละ 1.20 บาท ในช่วงความต้องการไฟฟ้าต่ำ มีการใช้ราคาดังกล่าวมาแล้วเป็นเวลา 12 ปี
2. เนื่องจากสัญญาโครงการเขื่อนน้ำงึม 1 และสัญญาโครงการเขื่อนเซเสด มีคู่สัญญาเป็นบุคคลเดียวกัน (กฟผ. และ ฟฟล.) เงื่อนไขและข้อกำหนดในสัญญาฯ เหมือนกัน ราคาซื้อขายไฟฟ้าเป็นราคาเดียวกัน และปัจจุบันอายุสัญญาจะหมดอายุพร้อมกัน ในวันที่ 30 ก.ย. 2560 ดังนี้ เพื่อให้การบริหารสัญญาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งสองฝ่ายจึงเห็นสมควรให้รวมสัญญาทั้งสองเป็นสัญญาเดียว
3. ราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับสัญญาใหม่ของ ฟฟล. พิจารณาจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของ ฟฟล. ที่มีทั้งต้นทุนจากโรงไฟฟ้าเดิม และต้นทุนจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่/ปรับปรุงเพิ่มเติมโรงไฟฟ้าเดิม รวมทั้งพิจารณาว่าราคารับซื้อไฟฟ้าจาก ฟฟล. ต้องแข่งขันกับทางเลือกอื่นๆ ในการผลิตไฟฟ้าในไทยได้ โดยได้ข้อสรุปที่ราคารับซื้อไฟฟ้าหน่วยละ 2 บาท ในช่วงความต้องการไฟฟ้าสูง และราคาหน่วยละ 1.60 บาท ในช่วงความต้องการไฟฟ้าต่ำ
4. สัญญาซื้อขายไฟฟ้าฉบับใหม่นี้ คณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้พิจารณาอย่างรอบคอบและนำเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) (อ่านประกอบ : https://www.egat.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=2081&catid=31&Itemid=208)
ขณะที่ข้อสังเกต เกี่ยวกับสภาพการใช้ไฟฟ้าจริงของประเทศลาวมีสัดส่วนน้อย หากลาวไม่ได้รับซื้อไฟฟ้าจากไทยตามสัญญาฉบับนี้เลย ขณะที่สัดส่วนการใช้ไฟไฟาของไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และจำเป็นต้องซื้อไฟฟ้าจากลาว ก็เท่ากับว่าไทยอาจจะต้องเป็นฝ่ายรับซื้อไฟฟ้าจากลาวเพียงฝ่ายเดียว ในอัตราราคารับซื้อไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2 บาทต่อหน่วยตามสัญญา จากราคาเดิมแค่ 1.60 บาทต่อหน่วย เพิ่งจะถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์กันในขณะนี้