แก้ปัญหาน้ำท่วม-แล้ง พระนักพัฒนาชี้ต้องสร้างฝายมีชีวิต 5 หมื่นแห่งทั่วประเทศ
อุทกภัยพายุเซินกา ทำ 90 ฝายมีชีวิตที่กาฬสินธุ์ล่าช้า คาดสิ้น ส.ค. สำเร็จครบตามเป้าหมาย ม.ร.ว.ดิศนัดดา แนะ 8 หมื่นหมู่บ้าน หมู่บ้านละฝาย เชื่อชาวบ้านลืมตาอ้าปากได้ ชมขรก.ตัวอย่างการทำงานแบบบูรณาการสำเร็จเป็นจังหวัดแรก
วันที่ 9 ส.ค. 2560 จังหวัดกาฬสินธุ์ จัดกิจกรรมรวมพลคนสร้างฝาย ตามโครงการผสานรวมพลังประชารัฐขับเคลื่อนสังคม เศรษฐกิจ สู่ความเข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืน ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาอำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อสรุปผลการสร้างฝายมีชีวิต โดยมีนายสุวิทย์ คำดี ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ประธาน เปิดงาน และ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการ มูลนิธิปิดทองหลังพระ และผู้บริหารหลายหน่วยงาน ร่วมงาน
นายสุวิทย์ กล่าวตอนหนึ่งถึงอุทกภัยช่วงที่ผ่านมาว่า จังหวัดกาฬสินธุ์ประสบอุทกภัยหนักส่งผลทำให้ฝายมีชีวิตหยุดชะงัก แต่คนกาฬสินธุ์ยังไม่ย่อท้อ กับการสร้างฝายมีชีวิตให้ได้ 90 แห่งภายในเดือนสิงหาคมนี้ตามเป้าหมาย เพื่อน้อมถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งถือเป็นการรวมพลังคนในชุมชนได้อย่างไม่น่าเชื่อ
แนะสร้างหมู่บ้านละฝาย เชื่อชาวบ้านรวย
ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าวถึงการมาจังหวัดกาฬสินธุ์ครั้งนี้ตื่นเต้นมาก เพราะเป็นวันสำคัญมากในชีวิต เคยทำงานมาตั้งแต่ 2507 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ 53 ปีที่แล้ว โดยพบว่า ภาคอีสานมีทุนมนุษย์ที่ดีที่สุดในประเทศไทย แต่สิ่งที่ขาดคือองค์ความรู้ ขาดโอกาส
"ผมต้องการมาเรียนรู้กับข้าราชการที่กาฬสินธุ์ทำงานบูรณาการการทำงานกันอย่างไร จากที่เริ่มทำงานจากแค่ 2 อำเภอ ทำงานกับกองทัพบกแก้ปัญหาความยากจน วันนี้ต้องขอสดุดีข้าราชการของจังหวัดกาฬสินธุ์ทำงานบูรณาการเป็นจังหวัดแรก นำศาสตร์พระราชาลงปฎิบัติจริง "ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าว และว่าวันนี้ขอตั้งคำถามกับข้าราชการว่า อะไรที่ชาวบ้านต้องการมากที่สุด นั่นก็คือการปลดภาระหนี้สิน ไม่ใช่น้ำ แต่น้ำคือ "พาหะ" ให้ภาระหนี้สินหมดไป ฉะนั้นทุกคนมีบทบาทสำคัญทำงานร่วมกันโดยระเบิดจากข้างใน อดทนและมีความเพียร ขยายศาสตร์พระราชา โดยเฉพาะข้อต่อสำคัญคือ"ครูฝาย" ที่ขยายออกไปทุกจังหวัดของภาคอีสาน
"การที่รัฐบาลคิดสูบน้ำจากแม่โขง ถามว่าเอาอะไรคิด ทั้งๆที่น้ำในภาคอีสานตกมาจากฟ้าปริมาณมหาศาล ประเทศไทยมีกว่า 8 หมื่นหมู่บ้าน หากสร้างฝายหมู่บ้านละฝาย ก็ 8 หมื่นฝาย ทำได้อย่างนี้คิดดู ชาวบ้านจะร่ำรวยขนาดไหน"
ขณะที่พระมหาสุภาพ พุทธวิริโย เจ้าอาวาสวัดป่านาคำ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ผู้บุกเบิกการสร้างฝายมีชีวิต ในจ.กาฬสินธุ์ กล่าวถึงการสร้างฝายมีชีวิต เป็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง โดยใช้ศาสตร์พระราชา ซึ่งประเทศไทยจะแก้ปัญหาบริหารจัดการน้ำได้ต้องสร้างฝายมีชีวิต 5 หมื่นตัวทั่วประเทศ ทั้งสร้างใหม่และซ่อมฝายของเก่า โดยไม่รอภาครัฐ ซึ่งหัวใจการสร้างฝายมีชีวิต คือเราต้องการน้ำ และต้องการการมีส่วนร่วม
"เราไม่สร้างฝาย แต่สร้างคนเพื่อไปสร้างฝาย ลดภาระเรื่องการบำรุงรักษา ให้ชุมชนร่วมกันดูแล" พระมหาสุภาพ กล่าว และว่า การดำเนินงานต่อจากนี้ เตรียมตั้งสถาบันฝึกอบรมครูฝาย ที่วัดป่านาคำ โดยมูลนิธิปิดทองหลังพระให้การสนับสนุน
ทั้งนี้ในช่วงบ่าย ได้มีพิธีมอบเกียรติบัตรแก่ครูฝายมีชีวิตที่ผ่านการอบรม โดยนายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมมอบรางวัลให้กับคนสร้างฝายได้จำนวนมากที่สุด เร็วที่สุด และคนสร้างฝายอายุน้อยที่สุด เป็นต้น
สำหรับการฝึกอบรมนักศึกษาครูฝายมีชีวิต ตามโครงการผสานรวมพลังประชารัฐฯ ในกิจกรรมเปลี่ยนภาระเป็นพลัง 90 ฝายถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 ปัจจุบันมีผู้ผ่านการอบรมแล้วทั้งสิ้น572 คน มี 90 ฝายเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ คาดภายในเดือนสิงหาคมนี้จะสร้างเสร็จครบ 90 ฝาย ซึ่งช่วงที่ผ่านมาดำเนินการล่าช้าลงเรื่องจากเป็นช่วงที่จังหวัดกาฬสินธุ์ประสบอุทกภัยจากออทธิพลของพายุเซินกา แต่ฝายส่วนใหญ่ที่ก่อสร้างไว้แล้วสามารถต้านทานกระแสน้ำได้ มีความเสียหายเพียงเล็กน้อย