ปธ.ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ แนะสื่อเปิดพื้นที่ข่าวดีเพิ่มบทบาทส่งเสริมสิทธิเด็ก
ปธ.ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ เผยยังไม่เห็นความจำเป็น นำเด็ก ‘คลุมโม่ง’ นั่งแถลงข่าว แม้ปกปิดใบหน้า แต่ไม่ช่วยเยียวยาจิตใจ ตั้งคำถามกลับ ถ้าเป็นลูกหลานจะยอมหรือไม่ แนะสื่อให้ความรู้ ปชช. เลิกยุให้ประจาน เปิดใบหน้า-ชื่อ
วันที่ 14 มิ.ย. 2560 ที่โรงแรม เซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ กล่าวในเวทีเสวนา “บทบาทสื่อมวลชนในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเด็ก”จัดโดย สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สนับสนุนโดย องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
นางเมทินี กล่าวถึงบทบาทสื่อมวลชนกับการส่งเสริมและคุ้มครองเด็กนั้น มีความกังวล 2 ประการ คือ การนำเด็กที่กระทำความผิดมาแถลงข่าว แม้จะมีการปกปิดใบหน้า ด้วยวิธีคลุมโม่ง แต่สื่อมวลชนกลับไปเปิดส่วนอื่น ซึ่งทำให้บุคคลที่เกี่ยวข้องหรือรู้จักกับเด็กสืบทราบได้ว่าคือใคร
ขณะเดียวกัน แม้การคลุมโม่ง ช่วยปกปิดภาพลักษณ์ของเด็ก แต่กลับไม่ช่วยเยียวยาจิตใจภายใน เพราะขณะที่เด็กต้องนั่งแถลงข่าวนั้น จะต้องเดินเข้าไปท่ามกลางกล้อง เจ้าหน้าที่ และประชาชน จำนวนมาก กลายเป็นภาพจำของเด็ก จึงอยากให้คิดย้อนกลับไปว่า ถ้าเป็นลูกหลานจะยอมให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้หรือไม่
“จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องนำเด็กคลุมโม่งมานั่งแถลงข่าว ซึ่งยังมองไม่เห็นความจำเป็นเลย” ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ กล่าว และอาจอ้างว่า สังคมต้องการให้นำเสนอข่าวหรือประจานตัวตนของเด็ก สื่อมวลชนในฐานะผู้นำเสนอข่าวจึงจำเป็นต้องให้ความรู้กับประชาชนในฐานะผู้เสพสื่อว่า การนำเสนอข่าวลักษณะนี้ไม่ถูกต้อง
ส่วนความกังวลอีกประการหนึ่ง นางเมทินี กล่าวว่า สื่อมวลชนมักนำเสนอข่าวผู้กระทำความผิดรุนแรงเป็นฮีโร่ ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายมาก ที่สำคัญ มีการใช้ข้อเท็จจริงที่ทราบมาตัดสินความผิดไปล่วงหน้าก่อนแล้ว ซึ่งไม่ได้อยู่ในสำนวนการพิจารณาคดี เพราะศาลไม่สามารถนำข้อเท็จจริงที่ปรากฎในข่าวมาพิสูจน์เพื่อตัดสินได้ จึงไม่ต้องการให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวที่ชี้นำหรือฟันธงความผิด
ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ยังกล่าวถึงนโยบายการคุ้มครองสิทธิเด็กว่า รัฐบาลไทย ภายใต้การนำของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เคยเสนอร่างมติจัดทำยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการเชิงปฏิบัติของสหประชาชาติในการขจัดความรุนแรงต่อเด็กด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา เสนอต่อคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาแล้ว โดยนำแนวทางและต้นแบบมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้จะร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ สนับสนุนให้สื่อมวลชนมีส่วนร่วมกับชุมชนในการป้องกันเกี่ยวกับความรุนแรงในเด็ก โดยจำเป็นต้องสร้างการกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนป้องกันการละเมิดสิทธิเด็กและโต้ตอบความรุนแรงทางร่างกายและจิตใจที่เกิดขึ้นกับเด็ก และนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเด็กในแง่มุมการคุ้มครองมากขึ้น เปิดพื้นที่นำเสนอข่าวที่ดีเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ รวมถึงให้ความรู้กับสื่อมวลชนด้วยกันเอง และคนในสังคมด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในการจัดเสวนาบทบาทสื่อมวลชนในการส่งเสริมเเละคุ้มครองสิทธิเด็กครั้งนี้ ยังได้เชิญบรรณาธิการข่าว เเละนักวิชาการสื่อ จากองค์กรต่าง ๆ ทั้งหนังสือพิมพ์เเละโทรทัศน์ เข้าร่วมรับฟังเเละเเสดงความคิดเห็นด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้สื่อมวลชนเป็นผู้มีบทบาทในการนำเสนอข่าวที่คุ้มครองสิทธิเด็ก โดยยืนยันจะปกปิดทุกอย่างที่อาจนำไปสู่ตัวตนของเด็ก เเละยินดีที่จะไม่นำเสนอข่าวกรณีที่มีการนำเด็กคลุมโม่งมาเเถลงข่าว
ภาพประกอบ:เฟซบุ๊ก Banyong Suwanpong