วงเสวนาแก้คอร์รัปชั่นจี้"บิ๊กตู่"เลิกสัญญาคิงเพาเวอร์ อ้างผิดมาตลอด
วงเสวนาแก้คอร์รัปชั่นจี้"บิ๊กตู่"เลิกสัญญาคิงเพาเวอร์ อ้างผิดซ้ำซาก รัฐสูญปย.มหาศาล ด้าน"ชาญชัย"เผย คำชี้แจง ทอท. หลักฐานสำคัญมัดตัว ปม คิงเพาเวอร์ไม่ทำตามสัญญา
เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2560 ที่ ห้องประชุมชั้น 2 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน จัด อภิปรายสาธารณะแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ชาตินี้หรือชาติหน้า? ครั้งที่ 7 ว่าด้วย การทุจริตประพฤติมิชอบภายในกระทรวงคมนาคม โดยยกประเด็น ที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)(ทอท.)ให้บริษัทคิงเพาเวอร์ เข้ามาจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบิน พร้อมจะติดตั้งและเชื่อมโยงระบบตรวจวัดยอดขาย (Point Of Sale : POS) แบบ Online Real-Time กับระบบคอมพิวเตอร์ของกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ แต่ปรากฏความล่าช้ามานานกว่า 9 ปี ตั้งแต่ปี 2548-2557 ทำให้ทอท.เสียผลประโยชน์ ไม่สามารถเก็บเงินรายได้ตามที่ตกลงในสัญญา
นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า กรณีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ได้ทำหนังสือแจ้งไปประธานบอร์ดทอท. และทำหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประเด็นเรื่องการไม่เชื่อมโยงข้อมูลข้อมูลรายรับในการอนุญาตให้ประกอบการ แต่สิ่งที่น่าคิด คือ ทอท. ตอบกลับมาว่า ทอท.ได้ดำเนินการติดตั้งมาตั้ง POS มาตั้งแต่ 2554 ซึ่งเริ่มต้นก็โกหก เเล้ว เพราะมีระบบนี้มาตั้งแต่ 2549 แล้ว และซื้อไว้ด้วย
นายชาญชัย กล่าวอีกว่า ในหนังสือที่ทอท.แจ้ง ระบุว่าในปัจจุบันได้พัฒนาให้รู้ว่าการขายออนไลน์ เรียลไทม์ได้และโดยบริษัทผู้รับจ้างติดตั้งระบบ ได้ทำการติดตั้งที่ท่าอากาศยานดอนเมือง 13 เครื่อง แล้วเสร็จ ทอท.สามารถรับรู้ข้อมูลการขายแบบออนไลน์ เรียลไทม์ได้ตั้งแต่ วันที่ 1 มีนาคม แล้ว ขณะนี้กำลังติดตั้งที่สนามบินสุวรรณภูมิอีก 193 เครื่อง ซึ่งคาดว่า ทอท.จะสามารถรับรู้ข้อมูลการขายได้ในวันที่ 1 พ.ค.และจะมีการขยายไปในสนามหาดใหญ่ ภูเก็ต เชียงใหม่
“แสดงว่าที่ผ่านมาไม่ได้ทำจริงๆ วันนี้การให้การสัมภาษณ์บอกว่าได้ทำแล้ว หนังสือชี้แจงมาทาง สตง. ที่น่าตกใจคือตัวเลขของทอท. กรมศุลกากรและ กรมสรรพากร ทำไมตัวเลขไม่ตรงกัน” นายชาญชัย กล่าว และว่า ทอท.ตอบว่า ในปี 2555 ทอท.ได้พิจารณาการเชื่อมโยงรายงานการขายของคิงเพาวเวอร์ ดิวตี้ฟรี กับศุลกากรและกรมสรรพากรที่เป็นหน่วยหลักในการจัดเก็บภาษีของประเทศแล้ว แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากเหตุผลดังต่อไปนี้ กรมศุลกากรใช้วิธีการควบคุมคลังสินค้าทัณฑ์บนที่ได้รับอนุมัติจากกรมศุลกากรโดยการควบคุมทางกายภาพและทางบัญชี โดยอยู่ในความรับผิดชอบของกรมศุลกากรในแต่พื้นที่ ที่คลังสินค้าตั้งอยู่ และไม่มีการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้งาน ทำให้ทอท.ไม่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลหรือบูรณาการกับกรมศุลกากรได้ ทั้งนี้ การประสานงานตรวจสอบทราบว่า ณ ปัจจุบันกรมศุลกากรยังใช้วิธีการดังกล่าว
นี่คือในส่วนของกรมสรรพากรนั้นเนื่องจากใช้วิธีเรียกเก็บภาษีโดยอิงระบบกรมศุลกากร ซึ่งจะยกเว้นภาษีอากรและไม่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับสินค้าที่ขายในคิงเพาเวอร์ดิวตี้ฟรี เพราะถือว่าไม่ได้นำสินค้าเข้ามาในประเทศ กรมสรรพากรจึงไม่มีข้อมูลขายของคิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ทำให้ไม่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อตรวจสอบและบูรณาการข้อมูลเพื่อตรวจสอบได้
“ข้อเท็จจริงที่มีการตอบ สตง. ไป เราจะปล่อยเรื่องนี้ไปอย่างไร รายได้หายไป จะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เพราะเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจไปนั่งบริหารตรงนั้น และมีอะไรที่คุ้มเอาไว้ทำให้กล้าทำแบบนี้ ขนาดที่ว่าเปิดเผยต่อสาธารณชนขนาดนี้ แสดงว่าต้องมีอะไร"
นายชาญชัย กล่าวอีกว่า เรารู้ว่าเขามีอิทธิพลมากขนาดไหน แค่รัฐบอกเลิกสัญญาวันนี้ รัฐไม่ถูกฟ้องด้วย ในแง่กฎหมาย คิงเพาเวอร์ไปฟ้องศาลคำฟ้องบอกว่าคิงเพาวเวอร์ ลงทุนเกินพันล้านบาท แต่ตอนฟ้องบอกว่า ตนเองคือโจทก์และจำเลยคือทอท. ถามว่าแล้วคิงเพาเวอร์รู้ว่าเมื่อไหร่ที่มีมูลค่าทรัพย์สินเกินพันล้านบาท จะต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯโดยเคร่งครัดทันที แล้ววันไหนที่รู้ ก็คือวันที่มีการถอนฟ้อง เพราะอยู่ในคำฟ้องก่อนหน้าว่ามีทรัพย์เกินพันล้านบาท ดังนั้นถ้ารัฐบอกเลิกสัญญาคิงเพาเวอร์ แล้ววันนี้จะมาฟ้องใหม่เมื่อไหร่ คิงเพาวเวอร์จะโดนข้อหาฟ้องเท็จทันที และจะโดนคดีอาญา นี่เป็นประเด็นข้อกฎหมายใหญ่ ไปเรียกคำสั่งศาลปกครองที่ไหนก็ตามแต่ไม่ได้ ทั้งหมดคิง เพาเวอร์ทำตัวเองทั้งนั้น
ด้าน รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตกรรมการบอร์ดการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย และอดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ตอนที่เข้าไปเป็นบอร์ดปี 2550-51 มองเห็นความไม่ชอบมาพากล เราต้องทำหน้าที่
"ผมไม่รู้จักคิงเพาเวอร์ส่วนตัว เมื่อเข้าไปเป็นบอร์ด มีประเด็นคือพื้นที่สุวรรณภูมิทั้งหมดยกให้เอกชนทำธุรกิจทั้งหมด สนามบินกลายเป็นห้างสรรพสินค้าที่มีที่จอดเครื่องบิน เป็นการผูกขาดเจ้าเดียว ผู้โดยสารไม่มีทางเลือกเป็นเหยื่อทางการค้าที่หนีไม่ได้ พอมาดูสัญญาที่ให้เอกชนเข้ามา เขาแบ่งการจัดสรรที่เป็นสองสัญญา หนึ่งคือพื้นที่ ดิวตี้ฟรี 5 พันตารางเมตร สอง พื้นที่เชิงพาณิชย์ 2หมื่นตารางเมตร"
รศ.ดร.เจิมศักดิ์ กล่าวต่อว่า พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ บอกว่าหน่วยงานรัฐที่มีการทำธุรกิจกับเอกชนจะเซ็นสัญญาเองไม่ได้ ถ้าการลงทุนเกินพันล้านบาท ต้องขอให้คนอื่นมาช่วยดู ต้องให้กระทรวงการคลังมาดู แล้วเข้าที่ประชุม ครม. ถึงจะเซ็นได้
"ปรากฏว่ารัฐเอกชนรายดังกล่าว บอกว่าไม่เกินพันล้านบาท เขาแยกสัญญาสองฉบับ คือดิวตี้ฟรีคำนวนแล้ว ได้แปดร้อยล้านบาท และส่วนของพื้นที่พาณิชย์อยู่ที่ 9ร้อยล้านบาท แต่เมื่อมีการตรวจสอบในช่วงนั้นพบว่า ดิวตี้ฟรีมีพื้นที่1.2 หมื่นตารางเมตร และพื้นที่พาณิชย์มีเกือบ3หมื่นตารางเมตร ดังนั้นที่สองสัญญามีวงเงินเกินพันล้านบาททั้งคู่"
รศ.ดร.เจิมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะเดียวกันกฤษฎีกาตีความการคำนวนเงินลงทุนรัฐกับเอกชน ระบุว่า คำว่าเงินลงทุนของรัฐเอกชน ต้องเอาพื้นที่รวมกับสิ่งอำนวยที่ทำให้กิจการนี้ดำเนินไปได้ ก็จะมีตัวอาคารส่วนอื่น ที่จอดรถ เนื่องจากกลาย เป็นสัดส่วนของร้านค้ากี่เปอร์เซ็น เงินลงทุนเท่าไหร่ เพื่อดูว่าเกินพันล้านบาทหรือไม่ซึ่งกรณีคิงเพาวเวอร์ถูกบอร์ดใช้ไปคำนวน แค่เท่านี้ ก็เกินพันล้านเยอะแยะ
“ตอนนั้นกลายเป็นว่าทั้งหมดคือการทำสัญญาไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หมายความว่าทอท.และเอกชนไม่มีสัญญาต่อกัน เป็นโมฆะ ไปหมดเเล้ว ถ้าเขาไม่ขนย้ายกิจการออกไป เราสามารถฟ้องกลับ เมื่อเรื่องแดงมาแบบนั้น เอกชนก็เลยฟ้องท่าอากาศยานทันที บังเอิญมีการเปลี่ยนรัฐบาลบอร์ดชุดเดิมออกไป เรื่องคาที่ตรงนั้น ตามดูถึงมารู้ในภายหลังว่า เขาไปตกลงยอมความกัน ทำมาหากินกันต่อไป ส่วนคิงเพาวเวอร์ก็ไปจ้างบริษัทเอกชน ไปคำนวน ก็บอกว่าไม่ถึงพันล้านบาท ยินดีถอนฟ้องทั้งสองฝ่าย”
รศ.ดร.เจิมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า จริงๆ ที่นายกฯบอกว่าจะไปดูกฎหมายให้บอกเลิกสัญญา ขอบอกว่าถึงเวลาบอกลาสัญญาได้เเล้ว เพราะผิดมาตั้งแต่ต้น จะให้ต้องรอถึงปี 2563 ยอมๆ เสียหายทุกปีหลายหมื่นล้านบาทจากการเก็บเงินไม่ได้ ทั้งที่นโยบายนั้นจะต้องมีการแข่งขัน อย่างน้อยการทำธุรกิจในพื้นที่สนามบินต้องมีสามเจ้าเพื่อให้เกิดการแข่งขัน ให้ผู้ซื้อมีทางเลือก ส่วนอีกสัญญาร้านค้าเชิงพาณิชย์ พื้นที่มากมายมหาศาล เราให้พวกร้านเหมาเช่ากับคิงเพาเวอร์เจ้าเดียวได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ทอท.มีศักยภาพในการจัดการพื้นที่เปิดให้เช่ากับเราได้โดยตรงเก็บเงินเข้าโดยตรงได้ แต่ทำไมไม่ทำ
ผู้สื่ิอข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายของการอภิปราย ผู้ร่วมอภิปรายต่างเห็นฟ้องกันว่า ถึงเวลาที่รัฐต้องเร่งจัดการปัญหานี้โดยเร็ว โดยเฉพาะการบอกเลิกสัญญากับทางคิงเพาเวอร์ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติให้มากที่สุด นอกจากนี้ยังมองด้วยว่าในฐานะที่ ทอท.เป็นบริษัทมหาชน อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ที่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เมื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่รักษาผลประโยชน์ของตนเอง ดังนั้นผู้ถือร่วมถือหุ้นรายอื่นๆ ก็มีสิทธิฟ้องร้องได้ด้วยเช่นเดียวกัน