สถาบันไทยพัฒน์ ประกาศ 100 หลักทรัพย์จดทะเบียน โดดเด่นพัฒนายั่งยืน ปี 60
สถาบันไทยพัฒน์ประกาศ 100 หลักทรัพย์ จดทะเบียนโดดเด่นด้านสิ่งเเวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล ปีที่ 3 พบมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมบริการมากที่สุด 18 บริษัท รองลงมากลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม 16 บริษัท ต่ำที่สุด คือ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค 6 บริษัท -กลุ่มธุรกิจการเงิน ธนาคารหลายเเห่งติดโผ
วันที่ 30 พ.ค.2560 สถาบันไทยพัฒน์ ประกาศรายชื่อหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้าน สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance:ESG) จำนวน 100 บริษัท เป็นปีที่ 3 ณ โรงแรมแกรนด์ เซ็นเตอร์พอยต์ เทอร์มินอล 21 กรุงเทพฯ
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวถึงการประเมินในปีนี้ว่า สถาบันไทยพัฒน์ยังคงใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล ESG แบบบูรณาการที่ผนวกเข้ากับข้อมูลทางการเงิน ที่เรียกว่า Integrated ESG Assessment เพื่อให้สะท้อนผลตอบแทนการลงทุนหรือตัวเลขผลประกอบการที่สัมพันธ์กับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลของบริษัท โดยในปีนี้มีบริษัทขนาดกลางเเละขนาดย่อม (mai) เข้าอันดับเพิ่มจำนวนมากขึ้น
ทั้งนี้ การประเมินได้ใช้ข้อมูลที่เกี่ยวกับ ESG จาก 6 แหล่ง คือ ข้อมูลในหัวข้อความรับผิดชอบต่อสังคมในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, ข้อมูลการลงทุนในหลักทรัพย์ของกองทุนเปิด ทิสโก้ ESG เพื่อสังคม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด, ข้อมูลโครงการประกาศรางวัลรายงานความยั่งยืน สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย, ข้อมูลผลการสำรวจการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียน สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย, ข้อมูลโครงการประเมินระดับการพัฒนาความยั่งยืนของกิจการ สถาบันไทยพัฒน์ และข้อมูลการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสียและสื่อ บริษัท อิมเมจ พลัส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด จำนวน 12,148 จุดข้อมูล ตามที่บริษัทเผยแพร่ไว้ต่อสาธารณะ
โดยผลการคัดเลือกบริษัทจดทะเบียนที่เข้าอยู่ใน Universe ของ ESG100 ปี 2560 มีบริษัทติดอันดับกระจายอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมทั้งหมด 8 กลุ่ม 100 บริษัท จากการคัดเลือก 656 บริษัทจดทะเบียน ประกอบด้วย
1.กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (Agro & Food Industry) 11 บริษัท
2.กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Products) 6 บริษัท
3.กลุ่มธุรกิจการเงิน (Financials) 12 บริษัท
4.กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม (Industrials) 16 บริษัท
5.กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (Property&Construction) 14 บริษัท
6.กลุ่มทรัพยากร (Resources) 10 บริษัท
7.กลุ่มบริการ (Services) 18 บริษัท
8.กลุ่มเทคโนโลยี (Technology) 13 บริษัท
จะเห็นว่า บริษัทที่ได้รับการคัดเลือกอยู่ในกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 มาจากกลุ่มอุตสาหกรรมบริการมากที่สุด คือ 18 บริษัท รองลงมาคือกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม 16 บริษัท และมีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาด mai เข้ามาอยู่ในระบบ ESG100 จำนวน 10 บริษัท ได้แก่ ARROW, BKD, D, FPI, ITEL, PPS, SPA, TACC, TPCH, WINNER
ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวด้วยว่า สำหรับมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) รวมกันของหลักทรัพย์ ESG100 ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีมูลค่า 6.2 ล้านล้านบาท (ร้อยละ 40.6) เมื่อเทียบกับมาร์เกตแคปของ ตลท.ที่ 15.3 ล้านล้านบาท
“การจัดอันดับในครั้งนี้เป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นขององค์กรที่ต้องการพัฒนาข้อมูลการตัดสินใจการลงทุนสำหรับนักลงทุนอย่างเป็นระเบียบ ซึ่งผู้ลงทุนอาจไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดกับบริษัท หรือเข้าไม่ถึงข้อมูลที่ทำให้ผู้ลงทุนล่วงรู้ว่า สิ่งที่บริษัทกำลังฉายภาพกับข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร โดยยืนยัน ผู้ลงทุนจะได้รับประโยชน์ใช้ประกอบการลงทุนแน่นอน รวมถึงบริษัทยังใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการพัฒนาได้ด้วย ทั้งนี้ เราจะไม่เลือกบริษัทที่มีกำไรสูงสุด แต่จะเลือกบริษัทที่มีผลตอบแทนสูงสุด” ดร.พิพัฒน์ กล่าวในที่สุด .
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์