การสร้างเศรษฐกิจไทยสู่ “เศรษฐกิจแบบหลั่นล้า” หรือ “หลั่นล้าอีโคโนมี”
การท่องเที่ยวของไทยจึงนับว่าเป็นเสน่ห์ที่หาจากที่อื่นไม่ได้ในสายตาคนทั่วโลก เพราะด้วยสิ่งที่ฝังอยู่ในวัฒนธรรมไทยที่มีทั้งความยิ้มแย้มและยืดหยุ่น จนทำให้การท่องเที่ยวของเรามาไกลจนถึงขั้นเรียกได้ว่าเป็น "ปาฏิหาริย์ครั้งใหม่ของโลก (The New Miracle of the World)"
สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต โดย ศาสตราจารย์ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้ชูแนวคิด “เศรษฐกิจแบบหลั่นล้า” หรือ “หลั่นล้าอีโคโนมี” อันเกิดจากการเฝ้ามองเศรษฐกิจโลกที่เริ่มซบเซาและการส่งออกของไทยก็หดตัวลง ทางออกที่จะพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้ก้าวหน้าและยั่งยืนจะต้องหันมาสร้างเศรษฐกิจที่เป็นจุดแข็งของคนไทย สังเกตว่าธุรกิจที่คนไทยทำได้ดีมักจะเชื่อมโยงและมีฐานมาจากอุปนิสัยและวัฒนธรรมของคนไทยที่ชอบเล่น ชอบเที่ยว รักความสนุก รักความบันเทิงและเป็นกันเอง อันได้แก่ ธุรกิจบริการการท่องเที่ยวและโรงแรม ภาพยนตร์ ดนตรี อาหาร การเกษตรแบบบูติค สุขภาพ กีฬา ฯลฯ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ อ.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิการวิทยาลัยการท่องเที่ยวและการบริการ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และชี้ให้เห็นถึงโอกาสการเติบโตและมูลค่าที่ได้จากเศรษฐกิจแบบหลั่นล้าในอนาคต ดังมีสาระที่สำคัญต่อไปนี้
ปัจจุบันการท่องเที่ยวของไทยเป็นที่รู้จักในระดับโลก ไทยมีนักท่องเที่ยวที่กลับมาเที่ยวซ้ำมากถึงร้อยละ 64 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวกลายเป็นเครื่องจักรสำคัญอันดับ 2 ที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศนำหน้าภาคเกษตรกรรมและเป็นรองเพียงภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น
ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากระดับโลกใน 2 ข้อ ได้แก่ ข้อแรก คือ Best Value for Money หมายความว่า คุณจ่ายเงิน 100 เหรียญ คุณได้ห้องนอนที่ดีที่สุดในประเทศไทยแน่นอน เมื่อเทียบ 100 เหรียญที่ไปจ่ายประเทศอื่น เรามีค่าโรงแรมถูกที่สุดในอาเซียน แต่อนาคตเราจะเปลี่ยนเป็น Best Value for Experience
นอกจากนี้ ไทยยังได้รับการยอมรับจาก Agoda ว่ามีความหลากหลายของห้องนอนมากที่สุดในโลก ตั้งแต่คืนละหกสิบไปจนถึงคืนละหลายแสนบาท รวมกว่า 275,000 แบบ สื่อให้เห็นว่าไทยมีต้นทุนทางด้านวัตถุที่ไม่ใช่แค่หาดทราย ทะเลหรือสวน แต่ยังมีห้องนอนที่หลากหลายมาก สะท้อนให้เห็นว่า “หลั่นล้าของไทย” นอกจากหลั่นล้าที่อยู่นอกโรงแรมแล้ว หลั่นล้าในโรงแรมก็ลงทุนไปไกลมากแล้ว
อย่างไรก็ตาม ชาวต่างชาติที่บินกลับมาเที่ยวที่ไทยเป็นประจำเขาไม่ได้มาเพราะตื่นเต้นกับความหลากหลายของห้องเพียงอย่างเดียว แต่เขาสนใจมาคุยกับคนไทยในท้องถิ่น ถึงแม้ชาวบ้านจะคุยภาษาอังกฤษไม่ค่อยเก่ง แต่ก็พอคุยรู้เรื่อง คุยสนุก ทำให้เขารู้สึกอยากจะติดตามวิถีชีวิตคน นี่เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงการท่องเที่ยวจิตอาสา (Voluntourism) และเป็นที่มาของข้อที่สอง คือ Best Local Friendly อีกทั้ง นักท่องเที่ยวในประเทศไทยมักไม่ให้ความร่วมมือกับตู้ประชาสัมพันธ์ เพราะเรามองว่าตู้ประชาสัมพันธ์เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่และเราไม่ค่อยอยากคุยกับเจ้าหน้าที่ เราอยากคุยกับชาวบ้านมากกว่า เพราะชาวบ้านนั่นแหละคือคนที่ให้ข้อมูลที่น่ารักที่สุด ถูกผิดไม่เป็นไร ขอแค่ให้ได้ความรู้สึกเป็นกันเอง
การท่องเที่ยวของไทยจึงนับว่าเป็นเสน่ห์ที่หาจากที่อื่นไม่ได้ในสายตาคนทั่วโลก เพราะด้วยสิ่งที่ฝังอยู่ในวัฒนธรรมไทยที่มีทั้งความยิ้มแย้มและยืดหยุ่น จนทำให้การท่องเที่ยวของเรามาไกลจนถึงขั้นเรียกได้ว่าเป็น “ปาฏิหาริย์ครั้งใหม่ของโลก (The New Miracle of the World)” ฉะนั้น การท่องเที่ยวชุมชนจึงไม่ได้แค่สร้างมูลค่าที่เป็นตัวเงิน แต่มันยังทำให้เราค้นพบและสร้างคุณค่าในตัวเราเองได้อย่างมหาศาล
สิ่งที่ต้องทำต่อไปในเรื่องการท่องเที่ยว คือ การปรับโครงสร้างการบริหารของภาครัฐในการดูแลจัดการให้ตามทันความเปลี่ยนแปลง เพราะทุกวันนี้การใช้ระบบราชการบริหารทำให้ไม่ทันต่อสถานการณ์การท่องเที่ยวที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่ขาดแคลนบุคลากรและไม่มีอำนาจทางกฎหมาย ตั้งแต่ด้านการคมนาคม ทะเล ชายหาด ป่าไม้ ไปจนถึงการทำตลาดร้อยปี กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จึงต้องหันมาทำกิจกรรมด้านนักท่องเที่ยว (Demand Side) เป็นหลัก ทำให้แม้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะขึ้นมาเป็นอาหารจานหลักของหลั่นล้าอีโคโนมีแต่ข้าราชการดันมาไม่ถึง ตามมาไม่ทัน
นอกจากนี้ ไทยต้องปรับทิศทางในการทำเรื่องท่องเที่ยว ลดการสนับสนุนการท่องเที่ยวที่เน้นแต่ปริมาณ (Mass Tourism) และหันมาสนใจการท่องเที่ยวแบบกลุ่มเฉพาะ (Niche Tourism) โดยใช้พื้นฐานหลั่นล้าที่เรามีเข้ามาช่วย เพื่อให้เศรษฐกิจการท่องเที่ยวไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่สร้างผลกระทบทางลบให้สิ่งแวดล้อมและสังคมเฉกเช่นทุกวันนี้ ปัจจุบันการท่องเที่ยวแบบกลุ่มเฉพาะในประเทศไทยที่โดดเด่นมีด้วยกัน 3 ประเภท ดังนี้
ประเภทแรก คือ “การท่องเที่ยวแนวชีวิตผจญภัย” ซึ่งกำลังเป็นกระแสของโลก เพราะชนชั้นกลางมองว่าการท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา ทำให้มีนักท่องเที่ยวออกมาผจญภัยเปิดโลกกว้างมากขึ้น เราจึงควรทำการท่องเที่ยวให้เป็นกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมมากกว่าเป็นแค่ธุรกิจ
ประเภทที่สอง คือ “การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน” เป็นการท่องเที่ยวที่ใช้หลักการ “หลั่นล้าโดยเจ้าของบ้าน” ไม่ใช่หลั่นล้าที่ผู้เที่ยว ต้องไม่ตามใจนักท่องเที่ยวจนกระทบต่อชุมชนและประเทศ โดยให้เรื่องท่องเที่ยวรับใช้ชุมชน ไม่ใช่ชุมชนไปรับใช้ท่องเที่ยว เพราะถ้าให้ชุมชนรับใช้ท่องเที่ยว เขาอาจจะต้องย้ายหนีหรือเราต้องออกไปไล่เขา ฉะนั้น คนหลั่นล้าควรจะเป็นชาวบ้าน แล้วให้นักท่องเที่ยวไปท่องเที่ยวชุมชนโดยชุมชน
ยกตัวอย่างเช่น ตำบลปลาบ่า จังหวัดเลย ชุมชนจะนำรถเก็บเกี่ยวมาให้บริการแก่นักท่องเที่ยว ทำให้รู้สึกเหมือนเที่ยวฟาร์มและได้เห็นสิ่งที่ชาวบ้านทำ เช่น การปลูกแก้วมังกร การปลูกแนวกันไฟกินได้หรือปลูกพืชผักสวนครัวล้อมรอบ เป็นต้น และ อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย มีการเขียนธรรมนูญชาวบ้าน เพื่อเป็นข้อตกลงกันว่า จะไม่ทำลายความเป็นเอกลักษณ์และบรรยากาศวิถีดั้งเดิมของเชียงคาน
สุดท้าย ประเภทที่สาม คือ “การท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ” นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เดินทางมาด้วยกระเป๋าสตางค์สองใบ ใบหนึ่งเถ้าแก่ให้มา มางานประชุม นิทรรศการ สัมมนา กิจกรรมเหล่านี้เถ้าแก่เป็นคนออกค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าที่พักให้ พอตกเย็นก็แปลงกลายเป็นนักท่องเที่ยวหยิบกระเป๋าสตางค์อีกใบหนึ่งซึ่งเป็นของตัวเองออกมาใช้ นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จึงใช้จ่ายมากกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปมากกว่า 3 เท่าตัว และกำลังเป็นที่ต้องการของเมืองทั่วโลก จนหลายเมืองชูตัวเองเป็นเมืองแห่งการจัดประชุมและแสดงนิทรรศการ (Meetings, Incentives, Conference, Exhibitions – MICE)
ในประเทศไทย จุดแข็งของเราคือการมีศูนย์การประชุม (Convention Hall) ที่ใหญ่ติดอันดับศูนย์การประชุมที่ใหญ่ที่สุด 20 อันดับแรกของโลก นั่นคือ ไบเทค บางนาและอิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี ในแต่ละปี เรามีนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เดินทางจากต่างประเทศมาประชุมที่ไทยประมาณ 1 ล้านคน และมีการจับจ่ายใช้สอยโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 1 - 1.5 แสนล้านบาท และเป็นคนไทยที่จัดประชุมกันเองภายในประเทศอีกประมาณ 25 ล้านคน ชี้ให้เห็นว่าเวทีประชุมสัมมนาทำให้เงินหมุนเวียนในประเทศได้ ฉะนั้น เราควรกำหนดและรณรงค์ให้ผู้จัดประชุมใช้กาแฟ ข้าว หรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เสิร์ฟในที่ประชุมแทนการใช้ของจากโรงงานและของต่างชาติ เพราะถือเป็นการทำ MICE ที่มิใช่เพื่อ MICE เท่านั้น แต่ช่วยภาคส่วนอื่นในสังคมได้ด้วย
นอกจากการท่องเที่ยว อ.วีระศักดิ์ ยังได้กล่าวถึงกิจกรรมอื่นในเศรษฐกิจหลั่นล้า เช่น ธุรกิจละครและภาพยนตร์ ที่มีกองถ่ายภาพยนตร์เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทยมากกว่า 700 กว่ากองต่อปี เพราะสถานที่ถ่ายทำดี ต้นทุนดี ชาวบ้านดีและบริการดี มีข้อเสียแค่ตรงบทภาพยนตร์ การสร้างคาแรคเตอร์และการจัดจำหน่ายเท่านั้น อีกทั้งยังกล่าวถึงอิทธิพลของภาพยนตร์ไทยเรื่องต้มยำกุ้ง ที่ทำให้เกิดโรงเรียนสอนมวยไทยในประเทศรัสเซียจำนวน 150 แห่งในระยะเวลาเพียงหนึ่งปี ธุรกิจพระเครื่อง ที่คนจีนนิยมมาไทยเพื่อหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์หามงคลวัตถุคล้องคอกลับบ้าน จนเกิดเป็นตลาดพระเครื่องที่กรุงปักกิ่ง แสดงให้เห็นว่า เรามีจุดแข็งที่ทำได้ดี แต่แค่ต้องพัฒนาระบบบริหารจัดการให้รองรับการพัฒนาธุรกิจเหล่านี้ให้ต่อยอดไปได้ โดยที่คนไทย ชุมชนและประเทศชาติได้ประโยชน์
โดยสรุป โมเดลเศรษฐกิจแบบหลั่นล้าเป็นสิ่งที่เหมาะสม เป็นความถนัดชำนาญที่ฝังอยู่ในตัวคนไทยอยู่แล้ว พัฒนาต่อได้ไม่ยาก เป็นสิ่งที่เรามีพิเศษกว่าที่อื่นใดในโลก และมีสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงไม่แพ้ภาคส่วนอื่น ทุกแขนงของเศรษฐกิจแบบหลั่นล้านั้นล้วนแต่แตกแขนงมาจากวัฒนธรรมของเรา ฉะนั้น การใช้วัฒนธรรมเป็นตัวตั้งในการพัฒนาประเทศจึงเป็นเรื่องที่ควรนำไปใช้ และโมเดล “หลั่นล้าอีโคโนมี” จึงเป็นโมเดลการทำเศรษฐกิจอีกทางเลือกหนึ่งของไทย นอกเหนือจากแนวการพัฒนาเศรษฐกิจตามกระแสของโลกที่มุ่งเน้นด้านอุตสาหกรรมหรือเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพียงอย่างเดียว
ขอบคุณภาพจาก:http://www.blick.ch