บทพิสูจน์มาตรการป.ป.ช.103/7! ต่อตระกูล ชวนตรวจสอบราคากลางช็อปโอท็อป แห่งละ8แสน
"...ถ้าท่านเป็นผู้ออกแบบและเป็นผู้กำหนดสเปควัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ให้ได้ใช้ตามวัตถุประสงค์ใช้งาน บริการข้อมูลแก่นักท่องเที่ยว ของ การท่องเที่ยว และเป็นจุดจำหน่ายเผยแพร่สินค้า OTOP ท้องถิ่นไปด้วย ท่านจะประหยัดเงินงบประมาณของชาติ ลงได้อย่างไรบ้าง รวมทั้งจะปรับปรุงวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง ให้มีการแข่งขันราคากัน อย่างจริงจังได้อย่างไร และจะประหยัดได้เป็นเงินเท่าใด ?.."
"ในการตรวจสอบข้อมูลการกำหนดราคากลางงานก่อสร้างนั้น จะมีการประสานงานกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เข้ามาช่วยดูข้อมูลเรื่องการกำหนดราคากลาง วัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างด้วย ซึ่งล่าสุดได้มีการพูดคุยรายละเอียดกับ รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค นายกสมาคมวิศวกรรมสถานฯ ไว้เบื้องต้นแล้ว และยินดีที่จะเข้ามาร่วมตรวจสอบโครงการนี้ด้วย"
คือคำยืนยันของ นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และในฐานะเลขานุการคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ระหว่างการเปิดเผบข้อมูลกับสำนักข่าวอิศรา ว่า ภายหลังจากที่สำนักข่าวอิศรา นำเสนอข่าวการจัดซื้อ ‘ตู้ประชารัฐ สุขใจ’ ที่ใช้ขายสินค้าโอท็อปของททท. จำนวน 148 ตู้ทั่วประเทศ วงเงินกว่า 122 ล้านบาท อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ได้รับเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบอย่างเป็นทางการแล้ว
นายประยงค์ กล่าวว่า ในเบื้องต้นได้กำหนดประเด็นการตรวจสอบไว้ 2 ส่วนหลัก คือ 1. การกำหนดราคากลางงานก่อสร้าง ว่าแพงเกินไปหรือไม่ และ2. ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างทำถูกระเบียบข้อบังคบที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่
"พื้นที่แรกที่เจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจสอบคือ ในเขตกทม. จากนั้นจะขยายผลการตรวจสอบไปยังภูมิภาคอื่นๆ คาดว่าจะใช้เวลาตรวจสอบสักระยะหนึ่ง ก่อนสรุปข้อเท็จจริงตามที่ตั้งประเด็นไว้" เลขาฯ ป.ป.ท.ระบุ
(อ่านประกอบ : ข้อมูลอิศราเป็นผล! ศอตช.รับสอบงานสร้างช็อปโอท็อปประชารัฐ ททท. แห่งละ 8 แสน)
ล่าสุด รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสถานฯ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ชื่อว่า ต่อตระกูล ยมนาค ระบุว่า
ซุ้ม ททท.ขนาด 4x3.5 เมตร ราคากลาง 8 แสนบาท !
บทพิสูจน์ มาตรการ ป.ป.ช. 103/7
ที่ให้เปิดเผยวิธีการคำนวณ ราคากลาง และให้ประกาศชื่อคนคิดราคากลาง หวังให้สังคมช่วยกันตรวจสอบราคากลางได้ผล
สำนักข่าวอิศรา พบราคากลางสูงลิ่ว ร้องเรียนให้ตรวจสอบประเด็นการจัดซื้อ ‘ตู้ประชารัฐ’ ที่จะใช้เป็นที่ประชาสัมพันธ์ของ ททท. ( การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)และขายสินค้าโอท็อป
จำนวน 148 ตู้ทั่วประเทศ วงเงินจัดซื้อ 122 ล้านบาท
เอกสารรายการคิดราคา นำมาให้ดูแล้วครับ (ดูเอกสารท้ายเรื่อง)
ขอให้ช่วยกันตรวจสอบได้ครับ
ขออาจารย์สถาบันต่างๆ นำตัวอย่างนี้ใช้เป็นแบบฝึกหัด หรือข้อสอบวิชา คิดราคาค่าก่อสร้าง หรือ ในหลักสูตรอบรมของ ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. ได้เลย
คำถาม
1/ จุดใดบ้างที่มีราคาสูง เห็นได้ชัดว่าผิดปกติ
2/ จุดใดบ้างที่ คิดราคาต่อหน่วย สูงกว่า ราคากลางของราชการที่กำหนดไว้
3/ รายการวัสดุ อุปกรณ์ ใด ที่อาจกำหนดสเปค ไว้สูง มีราคาแพง เกินความต้องการแท้จริง
4/ ถ้าท่านเป็นผู้ออกแบบและเป็นผู้กำหนดสเปควัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ให้ได้ใช้ตามวัตถุประสงค์ใช้งาน บริการข้อมูลแก่นักท่องเที่ยว ของ การท่องเที่ยว และเป็นจุดจำหน่ายเผยแพร่สินค้า OTOP ท้องถิ่นไปด้วย
ท่านจะประหยัดเงินงบประมาณของชาติ ลงได้อย่างไรบ้าง รวมทั้งจะปรับปรุงวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง ให้มีการแข่งขันราคากัน อย่างจริงจังได้อย่างไร
และจะประหยัดได้เป็นเงินเท่าใด ?
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลราคากลางจัดซื้อ ‘ตู้ประชารัฐ สุขใจ’ ของ ททท. จำนวน 148 แห่งทั่วประเทศ ที่มีการทำสัญญาว่าจ้างเอกชนจำนวน 5 ราย เข้ามารับจ้างงานในพื้นที่ 5 ภูมิภาค รวมวงเงินทั้งสิ้น 122,326,776.69 บาท ที่ประกาศอยู่ในฐานะข้อมูลการจัดซื้อจ้างหน่วยงานรัฐ พบว่า มีการแบ่งราคาจ้างงานออกเป็น 2 ส่วน คือ
1.งานก่อสร้าง วงเงิน 461,041 บาท (ยังไม่รวมค่า FACTOR F = 1.2230)
2. งานคุรุภัณฑ์ วงเงิน 244,715 บาท (ยังไม่ร่วม VAT 7%)
ทั้งนี้ ในส่วนงานก่อสร้าง วงเงิน 461,041 บาท เป็นงานสร้างอาคารบริการ ขนาดหน้ากว้าง 4.00 ลึก 3.50 เมตร
ประกอบด้วย
1. งานโครงสร้างเหล็กและหลังคา 34,621 บาท
2. งานผนังภายนอกและภายใน 131,600 บาท
3. งานพื้น 6,580 บาท
4. งานประตู 63,000 บาท
5. งานฝ้าเพดาน 5,920 บาท
6. งานสี 4,465 บาท
7. งานเบ็ดเตล็ด 46,250 บาท
8. งานเคาน์เตอร์ / ชั้นวางสินค้า 63,110 บาท
9. งานเทพื้น (คสล.) รับโครงสร้าง 12,600 บาท
10. งานระบบไฟฟ้า (ในตัวอาคาร ขนาด 4.00 x 3.50 ม.) 42,420 บาท
11. งานระบบไฟฟ้า หน้าพื้นที่งานสถานีบริการน้ ามัน 50,475 บาท
ส่วนงานคุรุภัณฑ์ วงเงิน 244,715 บาท แบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ
1. จอทัชสกรีนและคอมพิวเตอร์ให้ข้อมูลข่าวสารแบบ Offline
- จอทัชสกรีน ขนาด 55" /เครื่องแบบอินตรัลเทียลเกรด/ระบบทัชสกรีน 10 ทัชพอยท์ หรือดีกว่า พร้อมขารับจอยึดพนัง สำหรับน้ำหนักจอ 55" 1 ชุด 112,900 บาท
- เครื่องมินิ PC พร้อมระบบปฏิบัติการ Window 7Pro 1 ชุด 32,700 บาท
- ซอฟแวร์ + เนื้อหา 1 ชุด 37,500 บาท
- กรอบไม้อัดตกแต่งจอ 1 ชุด 4,000 บาท
- ค่าUPS กันไฟกระชาก (สำหรับจดทัชสกรีน) 1 ชุด 3,700 บาท
2. คอมพิวเตอร์ All in one จอ 23" หรือดีกว่า/อุปกรณ์ครบเซ็ท เมาท์และคีย์บอร์ด สเปก Coi5 หรือ ดีกว่า /Ram 4 gb หรือดีกว่า /HDD 500 gb หรือดีกว่า Air card + sim /พร้อมลิขสิทธิ์ 8.1 หรือดีกว่า 1 ชุด 40,000 บาท
3. เก้าอี้สตูลเหล็ก/พนักพิงเหล็ก 2 ตัว ตัวละ 1,500 บาท รวม 3,000 บาท
4. เก้าอี้ ไม้เนื้อแข็ง ทาสีย้อมไม้ธรรมชาติ พร้อมลงแล็คเกอร์ (เก้าอี้สำหรับมุมถ่ายรูป) ขนาดกว้าง 50Xยาว 150 ซม. 1 ชุด 11,215 บาท
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการกำหนดราคากลางงานก่อสร้างนั้น งานในส่วนของผนังภายนอกและภายใน มีราคาสูงที่สุด จำนวน 131,600 บาท งานเคาน์เตอร์ / ชั้นวางสินค้า 63,110 บาท งานประตู 63,000 บาท และยังมีงานเบ็ดเตล็ดที่ตั้งไว้จำนวน 46,250 บาท ด้วย
ขณะที่ข้อร้องเรียน ที่สำนักข่าวอิศรา ได้รับก่อนหน้านี้ คือการจัดซื้อ ‘ตู้ประชารัฐ สุขใจ’ ที่ใช้ขายสินค้าโอท็อปของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จำนวน 148 ตู้ทั่วประเทศ วงเงินกว่า 122 ล้านบาท ราคาเฉลี่ยตู้ละ 8 แสนบาท โดยใช้วิธีพิเศษถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีราคากว่าท้องตลาด ที่อยู่ประมาณตู้ละ 2 แสนบาท และบางพื้นที่ไม่มีการเปิดใช้งาน