เปิดใจ 'ภาวิช ทองโรจน์' โต้ถูก ม.มหาสารคามเรียกชดใช้คดีละเมิด150ล.
"ผมได้ตามไป ดูถึงที่ตั้งบริษัทก็พบว่า ปิดประตูทิ้งร้าง ไม่มีใครเลย ผมต้องคิดหนักในการตัดสินใจตอนนั้นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัย บนสถานการณ์ที่ประเทศนี้หรือประเทศไหนๆ ก็อาจไม่เคยประสบมาก่อน ถ้าจะไม่จ่ายเงินการก่อสร้างอาคาร 3 หลังที่จะต้องเสร็จก่อนเปิดเทอมก็จะไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ แผนการรับนิสิตที่ประกาศรับไปแล้วก็จะประสบปัญหา"
จากกรณีมีการเผยแพร่หนังสือกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2559 แจ้งผลพิจารณาความผิดละเมิดของเจ้าหน้าที่ ถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) โดยหนึ่งในเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง มีชื่อ รองศาสตราจารย์ ภาวิช ทองโรจน์ เป็นหนึ่งในผู้ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน รวมเป็นเงินกว่า 100 ล้านบาทนั้น
ล่าสุด ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ภาวิช ทองโรจน์ ปัจจุบันนั่งเก้าอี้นายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม (มนพ.) และอดีตอธิการบดี มมส.ช่วงปี 2540 เปิดใจกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงผลการสอบข้อเท็จจริงความผิดทางละเมิดดังกล่าวว่า “หนังสือกระทรวงการคลังฉบับนั้น ไม่ได้มีอำนาจในการสั่งการใดๆ และไม่มีอะไรที่สั่งถึงผมโดยตรง แต่เป็นเพียงการตอบข้อหารือของ มมส. ตามประเด็นที่ มมส. หารือไปเท่านั้น และไม่ได้มีกระบวนการยุติธรรมอยู่ในนั้น คือไม่ได้มีการไต่สวนหรือเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงหรือโต้แย้ง”
ในหนังสือกระทรวงการคลังฉบับนั้น มมส. ถามอะไรไปบ้าง กระทรวงการคลังก็ตอบเท่านั้น จึงเป็นเพียงการฟังความข้างเดียว
"เมื่อได้คำตอบจากข้อหารือแล้ว มมส. ก็เอาความตามนั้นมาเป็นพื้นฐานในการออกคำสั่งทางปกครอง คือให้ผมและผู้เกี่ยวข้องรวม 9 คน ไปจ่ายเงินให้ มมส.
ที่ใช้คำว่าจ่ายเงินนั้น เพราะพฤติการณ์เป็นอย่างนั้น คือจะเรียกว่าเป็นการชดใช้ก็ไม่ได้ เพราะจนบัดนี้ มมส. ก็ยังไม่ได้ไปจ่ายเงินตามที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้มม.ร่วมรับผิดชำระเงินให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ธนพล จำกัด (มหาชน) เลย”
ศ.(พิเศษ) ดร.ภาวิช ชี้แจงย้อนกลับไปในช่วงเวลานั้นอีกว่า เราพิจารณาแล้ว กรณีทั้งหมดนี้ มมส. ดำเนินการโดยมิชอบ รวมทั้งละเว้นอยู่ 4-5 ประเด็น จึงเห็นว่า เป็นคำสั่งทางปกครองที่มิชอบและผิดกฎหมาย จึงได้ดำเนินการฟ้องต่อศาลปกครอง ซึ่งทางเทคนิคก็ต้องฟ้อง ผู้ออกคำสั่ง ได้แก่ อธิการบดี และผู้ยกการอุทธรณ์คำสั่ง ได้แก่ เลขา สกอ.
“ดังนั้นที่ไปเผยแพร่กันบอกว่า ผมถูกศาลฎีกาสั่งก็ดี หรือถูกกระทรวงการคลังสั่งก็ดี จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ข้อเท็จจริง ผู้สั่งคือ มมส. และผมกำลังต่อสู้ว่า เป็นคำสั่งที่ผิดกฎหมาย และทีมกฎหมายผมกำลังพิจารณาฟ้องอาญาเพิ่มเติมด้วย"
ส่วนประเด็น ที่ว่า "กระทรวงการคลังมีหนังสือให้รับผิดทางแพ่ง" หรือแม้แต่บางทีก็เลยเถิดเป็นว่า "ถูกคำสั่งศาลฎีกาให้ชำระหนี้" นั้น
อดีตอธิการบดี มมส. ไล่เรียงให้เห็นว่า
ประการแรกเลย กระทรวงการคลังไม่เคยมีหนังสือให้รับผิดทางแพ่ง
"ผมไม่เคยแพ้คดีใดๆ ในศาลฎีกาเลย ที่จริงผมเห็นว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับใดๆ กับการปฏิบัติหน้าที่ของผมที่สภา มนพ."
สำหรับประเด็นความเป็นมาของเหตุที่ทำให้ มมส.ได้รับความเสียหาย เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด กิจกำจร (ปัจจุบันล้มละลายไปแล้ว) ทำสัญญาโอนสิทธิการรับเงินค่าก่อสร้างให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ธนพล จำกัด (มหาชน) และแจ้งให้ มมส. ทราบแล้วนั้น
ต่อมามมส.จ่ายเงินค่าก่อสร้างส่วนที่เหลือทั้งหมดให้แก่ หจก.กำจรกิจ ซึ่งไม่มีสิทธิได้รับเงินแล้ว เป็นการจ่ายเงินให้แก่ผู้ไม่มีสิทธิได้รับเงินนั้น
ย้อนเหตุการณ์นี้กลับไปเกือบ 20 ปี ในฐานะอธิการบดี มมส.เวลานั้น ดร.ภาวิช บอกว่า ประมาณ ปี 2540 คือช่วงที่ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ "ต้มยำกุ้ง"
“ปี 2540 ตอนนั้น ผมทำหน้าที่อธิการบดี มมส. ผมได้ตัดสินใจจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ผู้รับเหมาที่เป็นคู่สัญญา แทนที่จะจ่ายให้กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง ซึ่งเดิมผู้รับเหมานั้นได้มาทำสัญญาโอนสิทธิการรับเงินไว้ เหตุที่ทำเช่นนั้นก็เพราะในขณะนั้นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นั้นถูกธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติสั่งให้เลิกกิจการ เพราะเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินเน่าที่เป็นข่าวใหญ่โตในตอนนั้น
หมายความว่า ณ ขณะนั้น บ.เงินทุนฯ นั้นไม่มีตัวตนแล้ว และความเป็นจริงก็เป็นเช่นนั้น
ผมได้ตามไปดูถึงที่ตั้งบริษัทก็พบว่า ปิดประตูทิ้งร้าง ไม่มีใครเลย ผมต้องคิดหนักในการตัดสินใจตอนนั้นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัย บนสถานการณ์ที่ประเทศนี้หรือประเทศไหนๆ ก็อาจไม่เคยประสบมาก่อน
ถ้าจะไม่จ่ายเงินการก่อสร้างอาคาร 3 หลังที่จะต้องเสร็จก่อนเปิดเทอมก็จะไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ แผนการรับนิสิตที่ประกาศรับไปแล้วก็จะประสบปัญหา
ครั้นจะจ่ายตามเงื่อนไขปกติก็ไม่มีคนรับเงินแล้ว เพราะ บ.เงินทุนฯ นั้นปิดไปแล้ว ครั้นจะไปวางเงินไว้ที่ สำนักงานวางทรัพย์ อันนั้นก็จะทำได้เมื่อมีกรณีพิพากษาว่า เงินนั้นควรตกเป็นของผู้ใด หากเอาเงินไปวางไว้เงินก็นิ่งอยู่เฉยๆ ไม่เกิดผลใดๆ ก็หมายความว่า ทำไม่ได้อีก
ผมตรองโดยถี่ถ้วนแล้วเห็นว่า ไม่มีทางอื่น จึงตัดสินใจจ่ายเงินให้คู่สัญญา ปรึกษาท่านนายกสภาฯ สมัยนั้น (อ.มีชัย ฤชุพันธุ์) ด้วยวาจาแล้ว ก็ได้ข้อสรุปตรงกัน และคิดอยู่ด้วยในตอนนั้นแล้วว่า ในอนาคตอาจมีเรื่องมีราวตามมา เราก็รับความเสี่ยงเอาก็แล้วกัน เพราะไม่เช่นนั้นมหาวิทยาลัยก็จะเสียหายหนัก”
และเมื่อถามว่า ช่วงปี 2541 นิติกร มมส. ให้ความเห็น ให้ มมส.จ่ายเงินให้แก่ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ธนพล จำกัด (มหาชน) หรือหากไม่แน่ใจ ให้วางเงินไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์ แทนจ่ายหจก.กำจรกิจ และทำไมในฐานะอธิการบดีมมส. สมัยนั้นจึงลงนามอนุมัติให้จ่ายตรงให้ หจก.กำจรกิจ
ดร.ภาวิช อธิบายเพิ่มเติมว่า ตอนนั้นนิติกรก็ตอบตามทฤษฎี และสถานการณ์ของประเทศในตอนนั้นเอาทฤษฎีใดๆ ตอบไม่ได้เลย เราพิจารณาแล้ว ไม่ใช่ไม่พิจารณา แต่ถ้าทำตามคำแนะนำ คือ เอาเงินไปวางที่ สำนักงานวางทรัพย์ เงินก็จะไปกองอยู่เฉยๆ ไม่ได้ประโยชน์ใดๆ เลย ข้อสำคัญคือตอนนั้น เรามีแผนการรับนิสิต เราเดินหน้าหมดแล้ว ถ้าไม่มีตึกก็จะเกิดปัญหามาก งานทุกอย่างสะดุดหมด
ดร.ภาวิช ยังยกกรณีที่เกิดกับเขา คล้ายกับกรณีที่เกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยอื่นอีก 2 แห่ง ได้แก่ ม.บูรพา และ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งอธิการบดีทั้งสองก็จำต้องตัดสินใจเช่นเดียวกับเขาทุกประการ คือจ่ายเงินตรงให้ผู้รับเหมาที่เป็นคู่สัญญา
“เรื่องราวก็ผ่านมาด้วยดี มหาวิทยาลัยได้อาคารมาตามแผน ซึ่งกรณีของ มมส. เป็นการบุกเบิกสถานที่ตั้งใหม่ด้วย เป็นอาคารกลุ่มแรกที่สร้าง ณ ที่ตั้งมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ การรับนิสิตใหม่ก็ทำได้ตามแผน คณะที่เปิดใหม่ 4 คณะก็เดินเครื่องได้ ตอนนั้นไม่มีใครทราบว่า ต่อมาจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย บ.เงินทุนฯ นั้นอาจหายไปเลยไม่มีอะไรกลับมาอีกก็ได้
แต่ต่อมาเมื่อประเทศจะกลับมาฟื้นตัว รัฐบาลตอนนั้นได้ตัดสินใจแก้ปัญหาโดยตั้ง องค์กรเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ขึ้นมา และ ปรส. ได้มารวบรวมเอาหนี้เน่าทั้งหลายมาพยายามไล่เก็บหนี้ โดยการฟ้องร้อง รวมทั้งมหาวิทยาลัยทั้ง 3 ก็ถูกฟ้องด้วย
กรณีของ มมส. ผมได้ดูแลคดีเป็นอย่างดี จนผลปรากฏว่า ในการตัดสินของศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลชั้นต้นมหาวิทยาลัยชนะคดี คือศาลได้ยกฟ้อง มมส. จากนั้นผมก็หมดวาระจากการเป็นอธิการบดีมมส. กลับไปอยู่ที่จุฬาฯ ตามเดิม และไม่ได้สนใจเรื่องทั้งหลายที่ มมส. เลย จนต่อมาทราบในภายหลังว่า ทางฝ่ายโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ ทาง มมส.ขณะนั้นไม่สนใจติดตามคดี ในที่สุดก็แพ้คดีทั้งชั้นอุทธรณ์และฎีกา
พอแพ้คดีที่ศาลฎีกา สิ่งแรกที่ ผู้บริหาร มมส. ทำ คือตั้งคณะกรรมการสอบหาผู้รับผิดทางละเมิดเลย แล้วก็ออกคำสั่งเรียกให้ผมนำเงินไปชดใช้
คำสั่งฉบับแรก มมส.ออกมาก่อนเลยโดยไม่รอข้อตอบหารือจากกระทรวงการคลัง ครั้นกระทรวงการคลังตอบข้อหารือมาในภายหลังจึงต้องมาออกคำสั่งใหม่บนพื้นฐานของการตอบข้อหารือ (ซึ่งกระทรวงการคลังพิจารณาจากข้อมูลที่ได้จาก มมส. เพียงด้านเดียว ไม่ได้เปิดโอกาสให้มีการคัดค้านหรือโต้แย้ง) สั่งให้ผมและเพื่อนร่วมงานอีก 8 คนต้องเป็นผู้รับผิดทางละเมิด (เป็นคำสั่ง มมส.) ให้จ่ายเงินจำนวน 150 กว่าล้านบาทให้แก่ มมส. "
ทั้งนี้ ดร. ภาวิช ยืนยันว่า มมส. ออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในหลายประเด็น จึงจำเป็นต้องนำเรื่องขึ้นฟ้องศาลปกครอง เรื่องนี้เพิ่งเริ่มต้น ยังไม่รู้ใครผิดใครถูก
“ ผมพูดมากกว่านี้ไม่ได้เพราะหลายประเด็นอยู่ในรูปคดี ในคำฟ้อง เราได้ยกข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงของสถานการณ์ประเทศในตอนนั้น รวมทั้งกระบวนการพิจารณาของ มมส. ซึ่งมีความหละหลวมและไม่เป็นธรรม และยกกรณีเปรียบเทียบ คือ อีกสองมหาวิทยาลัยซึ่งแพ้คดีเหมือนกัน ไม่มีใครเขาตามไล่เบี้ยอย่างนี้ จริงๆ ถ้ามีเรื่องอย่างนี้เขาต้องไปประนอมหนี้ก่อน เช่น มศว. ก็ไปประนอมกับแบก์ชาติ ที่อยู่ในสถานะเป็นเจ้าหนี้ในปัจจุบันเหลือ 120 ล้านบาท แทนที่จะเป็น 300 ล้านบาทตามคำพิพากษา
แต่กรณี มมส. ผลีผลามออกคำสั่งมาเลย โดยความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจริงเป็นเท่าไรก็ยังไม่รู้ ข้อสำคัญคือ ฐานของความผิดที่จะเข้าข่ายการรับผิดทางละเมิด ตาม พ.ร.บ.ความผิดทางละเมิด ปี 2539 คือจะต้องเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่ทำให้ราชการเสียหาย หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง แต่กรณีนี้ทั้ง 3 มหาวิทยาลัยเป็นการกระทำที่ใคร่ครวญแล้วบนสถานการณ์อันไม่ปกติ ซึ่งทำให้ไม่สามารถตัดสินใจเป็นอย่างอื่นได้ อีกสองมหาวิทยาลัยเขาก็เห็นอย่างนั้น คือเห็นเป็นเหตุสุดวิสัย และผู้ตัดสินใจได้ไตร่ตรองโดยชอบแล้ว จึงไม่ได้มีการไล่เบี้ยใดๆ”
อดีตอธิการบดี มมส. บอกว่า วันนี้ บ.ก่อสร้างที่เป็นจำเลยร่วมในกรณีนี้ (หจก.กำจรกิจ) ล้มละลายไปเพราะวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่ยังมีเงินเหลือที่ สำนักงานพิทักษ์ทรัพย์อีกหลายสิบล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่ มมส. พึงจะต้องไปติดตามเอาก่อน แต่ก็ไม่ทำ
“สำหรับข้อกังวลว่า แล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องเงิน เรื่องอย่างนี้ในที่สุดไม่มีใครได้ใครเสีย เพราะเป็นการฟ้องทางเทคนิค ทางออกง่ายนิดเดียว เจ้าหนี้ขณะนี้ คือ แบงก์ชาติ เริ่มต้นก็ตกลงประนอมหนี้กันก่อน ตัดให้เหลือน้อยที่สุดอย่าง มศว. ทำ แล้วมหาวิทยาลัยก็ขอตั้งงบประมาณจากสำนักงบฯ มาจ่ายไป จะผ่อนกี่ปีก็แล้วแต่จะตกลงกัน ก็แค่โยกเงินกระเป้าซ้ายไปกระเป๋าขวา คือหลวงใช้หลวง
ฉะนั้น จึงอยากจะถามว่า เรื่องนี้เกี่ยวกับจรรยาบรรณของผม และการปฏิบัติหน้าที่ที่มหาวิทยาลัยนครพนมตรงไหน คนที่มีใจเป็นธรรมที่ มมส. เขาชมเชยว่า เป็นวีรบุรุษทั้งนั้น ที่กล้าตัดสินใจทั้งๆ ที่รู้ว่า มีความเสี่ยง"