30 องค์กรวิชาชีพ แถลงจี้รบ.หยุดกม.คุมสื่อ หนุนปชช.ตรวจสอบการทำหน้าที่
องค์กรวิชาชีพสื่อฯ แถลงการณ์ 5 ข้อวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก จี้รัฐบาลหยุดร่างกฎหมายจำกัดเสรีภาพ หนุนประชาชนตรวจสอบการทำหน้าที่ ย้ำใช้กลไกกำกับดูแลกันเองทางด้านจริยธรรมที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ-น่าเชื่อถือ
เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2560 คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูปจาก 30 องค์กรวิชาชีพสื่อออกแถลงการณ์วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก โดยมีเนื้อหาระบุว่า
แถลงการณ์วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก
3 พฤษภาคม 2560
องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก” เพื่อย้ำถึงเจตนารมณ์และหลักการที่เป็นพื้นฐานของเสรีภาพสื่อมวลชน ซึ่งคือเสรีภาพของประชาชน เพื่อให้มวลมนุษยชาติตระหนักถึงความสำคัญของสื่อมวลชนที่จะต้องมีเสรีภาพ
โดยตระหนักว่า สถานการณ์ทางด้านเสรีภาพของสื่อมวลชนไทยอยู่ในภาวะไม่ปกติภายใต้ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลายฉบับ อีกทั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... โดยเปิดทางให้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซงและควบคุมการทำหน้าที่สื่อมวลชน อีกทั้งยังเป็นการปิดกั้นและลิดรอนสิทธิการรับรู้ข่าวสารและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนและประชาชน
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์และองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนอื่นรวม 30 องค์กรได้เห็นความสำคัญของวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกและตระหนักถึงสถานการณ์ด้านเสรีภาพของสื่อมวลชนไทย จึงขอเสนอต่อฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. ให้รัฐบาลยับยั้งร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... เพราะนอกจากจะเป็นร่างกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นยังมีเนื้อหาที่ขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560
2. ให้ยกเลิกบรรดาประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่มีเนื้อหาจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชน เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มีเนื้อหารับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของและประชาชนไว้ชัดเจน
3. ให้สื่อมวลชนทุกประเภท พึงตระหนักว่า แม้รัฐธรรมนูญได้ให้หลักประกันในด้านสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน แต่การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมตามกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพโดยเคร่งครัดและพร้อมที่จะรับการตรวจสอบจากสังคม
4. ขอให้ประชาชนในฐานะผู้บริโภคข่าวสารมีส่วนร่วมในการตรวจสอบควบคุมการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนให้อยู่ในกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพอย่างเข้มข้น
5. องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอยืนยันว่า เสรีภาพของสื่อมวลชนมีความสำคัญต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การกระทำของทุกฝ่ายที่ละเมิดต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน เป็นสิ่งที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนไม่อาจยอมรับได้และจะต่อสู้เรียกร้องจนถึงที่สุด ทั้งนี้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนมีความตั้งใจและความมุ่งมั่นที่จะทำให้กลไกกำกับดูแลกันเองทางด้านจริยธรรมที่มีอยู่แล้ว มีประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์
สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย
สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย
สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย
สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
สมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย
สมาคมช่างภาพสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย
สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าวช่างภาพกีฬาแห่งประเทศไทย
สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ
สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย)
สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย
สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์
สมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย)
สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน
สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย
เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคเหนือ 17 จังหวัด
เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคอีสาน
เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคกลาง-ภาคตะวันออก
เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคใต้
ชมรมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์อาวุโส
ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม
ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ
ชมรมเพื่อเพื่อนช่างภาพสื่อมวลชน
สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย
3 พฤษภาคม 2560