เราอย่าหลงประเด็นเรื่อง "อูเบอร์"
ประเทศไทยจะคุ้นกับการทำอะไรที่สะดวก และผิดกฎหมาย สุดท้ายทำให้เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย กรณีอูเบอร์ก็จะเป็นอีก บททดสอบว่า อูเบอร์จะยอมเข้ามาสู่ภายใต้รูปแบบการกำกับดูแลของประเทศไทยหรือไม่ ซึ่งเป็นรูปแบบปกติไม่ได้แตกต่างจากหลายๆ ประเทศ
กรณีกรมการขนส่งทางบก เอาจริงตรวจจับรถโดยสารสาธารณะ แท็กซี่อูเบอร์ (Uber) เนื่องจากพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 ฉบับปัจจุบัน ยังไม่รองรับการให้บริการร่วมเดินทาง ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ที่นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้บนสมาร์ทโฟน
ขณะที่อูเบอร์ ออกมารณรงค์ให้ร่วมลงชื่อสนับสนุนให้รัฐบาลรองรับบริการร่วมเดินทาง (Ridesharing) เพื่อส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานการเดินทางของประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น
ประเด็นดังกล่าว รศ.ดร.เอกชัย สุมาลี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย Smart City สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้พัฒนาระบบ All thai taxi มองว่า เรื่องระบบขนส่งมวลชน วันนี้กลุ่มทุนทุกประเทศเข้ามาเกือบหมดแล้ว มาพร้อมเทคโนโลยี มาพร้อม องค์ความรู้ (Know-how) มาพร้อมข้อมูลที่จะมาเก็บในประเทศไทย ฉะนั้นภาคเอกชนต้องปรับตัวให้เร็วที่สุดภายใน 1-2 ปีนี้
"หากใครยังไม่สามารถเข้าถึงชุดข้อมูลที่ชี้นำในแง่ของการเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารการเข้าถึงลูกค้า การยกระดับความปลอดภัยในภาคขนส่ง โลจิสติก จะถูกกลุ่มของผู้มีประสบการณ์แย่งชิงลูกค้า และประชาชนก็จะเริ่มร้องเรียนหรือเปรียบเทียบว่า ทำไมเราใช้ระบบของเอกชน ทำไมดี แต่ของภาครัฐทำไมคุณภาพบริการยังไม่ถึง เป็นต้น สุดท้ายก็เกิดแรงกดดัน คาดว่า ภาครัฐต้องใช้เวลาหน่อยเพราะมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ และกำลังคน"
รศ.ดร.เอกชัย กล่าวถึงเทรนด์ที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ และการแข่งขันไม่มีขอบเขตแล้ว ทั้งธุรกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ทั้งเอกชนและรัฐจำเป็นต้องปรับตัวให้เร็วที่สุด
กรณีอูเบอร์ ผู้พัฒนาระบบ All thai taxi มองว่า เป็นแพลตฟอร์มที่ไม่มีขอบเขต เป็นแชร์ริ่งอีโคโนมี (Sharing economy) ประเด็นที่เราควรมอง นโยบายภาครัฐในกำกับดูแลสามารถจะเอื้อ หรือเปิดโอกาสให้กลุ่มธุรกิจพวกนี้ ดำเนินธุรกิจโดยอยู่ภายใต้กฎหมายไทยได้หรือไม่
“อูเบอร์ใช้แอพลิเคชั่น (application) เรียกรถ ไม่ผิด อย่าหลงประเด็น แต่ประเด็นที่ผิดคือ การกำหนดราคาค่าโดยสาร และการใช้รถผิดประเภท หากคุณเปิดร้านค้า คุณก็ต้องเช่าที่ของตนเอง แต่เมื่อเป็นระบบขนส่งมวลชน ใช้โครงข่ายของภาครัฐ ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการเสียภาษี ฉะนั้นจะมีกลไกเรื่องของการกำหนดราคา ทำอย่างไรให้เป็นธรรม มิใช่ว่า จะมีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งสามารถกำหนดราคาได้” รศ.ดร.เอกชัย กล่าว และว่า ประเทศไทยจะคุ้นกับการทำอะไรที่สะดวก และผิดกฎหมาย สุดท้ายทำให้เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย กรณีอูเบอร์ก็จะเป็นอีกกรณีเหมือนกันที่ เป็นบททดสอบว่า อูเบอร์จะยอมเข้ามาสู่ภายใต้รูปแบบการกำกับดูแล ของประเทศไทยหรือไม่ ซึ่งเป็นรูปแบบปกติไม่ได้แตกต่างจากหลายๆ ประเทศ
เมื่อถามถึงการเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมาย รศ.ดร.เอกชัย อธิบายถึง พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 ผู้โดยสารมีอยู่แล้วเป็นกฎหมายที่บอกว่า คุณจะให้บริการผู้โดยสารต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแล จากกรมการขนส่งทางบก คนขับต้องลงทะเบียน เมื่อเรามีกฎหมายไทย และจะเปิดรับเทคโนโลยีนี้เข้ามา เราต้องมีจุดที่สามารถถ่วงดุลกันได้ระหว่างการเปิดกว้าง กับการป้องกันในเรื่องของกลไกราคา
“หากไม่มีการกำกับดูแล หรืออนุญาตให้อูเบอร์ดำเนินการได้ ก็จะทำให้รถแท็กซี่ธรรมดาควรใช้ระบบเดียวกันหรือไม่ เราก็จะกลับไปสู่ยุค ที่หากจำได้ เวลาขึ้นแท็กซี่ก็ต่อรองราคาเอา อาจดูโมเดิร์นหน่อยก็เห็นในมือถือ ซึ่งอยากฝากให้สังคมช่วยตอบ ข้อดีมี ข้อเสียก็มี และต้องไม่ลืม กลไกทางกฎหมายมี ทำอย่างไรถึงมีจุดที่สมดุลกันก่อนเปิดกว้างไม่เฉพาะเจ้าใดเจ้าหนึ่ง”
รศ.ดร.เอกชัย กล่าวว่า ในหลายประเทศที่ให้บริการอูเบอร์ เจอปัญหาคล้ายๆ ไทยวันนี้ มีที่ซิดนีย์ เป็นเมืองหลวง ประเทศออสเตรเลีย ที่ยอมโดยให้มีการเก็บภาษี ขณะที่อูเบอร์ต้องส่งข้อมูลให้ภาครัฐ ซึ่งมีการกำกับดูแลตลอด เช่น คนขับขับชั่วโมงเกินหรือไม่ คนขับมีประวัติไม่ดีหรือไม่ และทุกรอบที่วิ่งจะมีการเก็บภาษีเข้ารัฐ
หรือแม้แต่ที่อังกฤษ ก็มีการแยกระบบแท็กซี่ที่แตกต่างกัน ที่เรียกว่า Black cab คือขับไปใครโบกก็ได้ อีกกลุ่มหนึ่งเรียกว่า Private High เรียกได้จากศูนย์กลางเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นจากคอลเซ็นเตอร์ หรือแอพลิเคชั่น ทั้งหมดนี้โครงสร้างราคาต่างกัน รวมถึงโครงสร้างกำกับดูแลก็ต่างกัน การกำหนดราคาต่างกัน
รศ.ดร.เอกชัย กล่าวว่า มีคำถามเชิงสังคม เราจะเชื่อกลไกการกำกับดูแล หรือเราจะเชื่อในตัวระบบที่ได้มีการคิดค้นขึ้นมา กรณีอูเบอร์
และเมื่อถามถึงนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของภาครัฐกับกรณีอูเบอร์ รศ.ดร.เอกชัย มองว่า เป็นคนละเรื่องกัน เป็นการเล่นวาทกรรม ไทยแลนด์ 4.0 คือการใช้ข้อมูล Data ไทยแลนด์ 4.0 ไม่ได้บอกว่าคุณต้องผิดกฎหมาย มิเช่นนั้น ก็ทำเว็บ เนื้อหาผิดกฎหมายก็ไม่ใช่ บางเรื่องเป็นกฎหมายที่บางคนรู้สึกเบา บางคนรู้สึกเป็นเรื่องคอขาดบาดตายต้องมาคุยกัน
“ผมว่า หากอูเบอร์เข้ามาสู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐไทย โดยเฉพาะกลไกราคา รวมถึงข้อมูลที่ต้องส่งให้ภาครัฐ รถคุณอยู่ตรงไหนบ้าง ใครขับ เรื่องพวกนี้อูเบอร์ต้องยอมเปิดข้อมูล เพราะรัฐก็คือผู้กำกับดูแล และเป็นตัวแทนของประชาชนที่ลงทุนโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐาน นี่คือสิ่งที่จะมาเจอกันได้”
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย Smart City ระบุด้วยว่า วันนี้อูเบอร์ไม่ใช่มีปัญหาแค่ประเทศไทย ฮ่องกงก็เป็น และเราอย่าหลงประเด็นการใช้แอพไม่ผิด แต่อะไรที่ผิดตัวบทกฎหมาย ไม่ได้หมายความว่าเราทำได้เลย และบอกว่า นี่คือไทยแลนด์ 4.0