ความจริงของโลกออนไลน์ : ความจริงที่ภาครัฐต้องใส่ใจ
นับตั้งแค่อินเทอร์เน็ตถูกสร้างขึ้นและแพร่หลายสู่ผู้ใช้ซึ่งก็คือประชาชนทุกประเทศในโลกนี้ จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกวินาที ณ นาทีที่บทความกำลังถูกเขียนอยู่นี้ มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในโลกนี้ราว 3,500 ล้านคนจากประชากรของโลกราว 7,400 ล้านคน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตต่อประชากรราว 47 เปอร์เซ็นต์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปเอเชียนั้นมีสัดส่วนการใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดในโลก เท่ากับว่าคนเกือบครึ่งโลกสามารถติดต่อกับใครต่อใครในโลกนี้ผ่านสังคมออนไลน์ ในขณะที่คนอีกเกือบ 4,000 ล้านคนในโลกยังเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต แต่มีแนวโน้มว่าจำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น
สำหรับประเทศไทยนั้นจำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตมีอยู่ประมาณ 38 ล้านคนคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 56 เปอร์เซ็นต์และมีผู้ที่ ยังไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอีกประมาณ 30 ล้านคน แต่แนวโน้มของจำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตน่าจะเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มของโลก
สังคมออนไลน์บนอินเทอร์เน็ตมิใช่สถานที่แห่ง การเรียนรู้ ความสนุกสนาน การสร้างความชอบ การแสดงความเห็น การชมเชยและสรรเสริญเยินยอแต่เพียงอย่างเดียว สังคมออนไลน์อีกด้านหนึ่งที่ทุกคนจะได้พบไม่ว่านาทีใดนาทีหนึ่งเสมอก็คือ การสร้างความเท็จ การดูถูกเหยียดหยาม การด่าทอ การประณาม การสร้างความเกลียดชัง การละเมิดความเป็นส่วนตัว หลอกลวง สร้างกระแสและตัดสินสิ่งต่างๆจากข้อมูลด้านเดียว เป็นต้น
1. สังคมออนไลน์ไม่มีความเป็นส่วนตัว
ข้อมูลบนสื่อสังคมออนไลน์นั้นเป็นข้อมูลที่ส่ง-รับถึงตัวผู้ใช้โดยตรง เป็นข้อมูลที่ไม่ได้ผ่านการกลั่นกรองจากหน่วยงานใดๆ เป็นข้อมูลที่ไม่มีพรมแดน ไม่มีด่านตรวจสอบ ซึ่งหมายความว่าข้อมูลบนโลกออนไลน์นั้นเป็นข้อมูลที่เคลื่อนที่ได้อย่างมีอิสระ ไม่มีขอบเขตรวมทั้งขาดการควบคุมหรือมาตรฐานใดๆในการนำเอาข้อมูลไปใช้และหากสื่อสังคมออนไลน์ถูกนำไปใช้ในทางมิชอบสามารถชักนำสังคมไปในทางตรงข้ามกับความจริง สร้างความเกลียดชังและผลกระทบในด้านที่สังคมไม่พึงปรารถนาได้โดยง่าย
เมื่อใดก็ตามที่เราเข้าไปสู่โลกออนไลน์และแลกเปลี่ยนข้อมูล ข้อมูลเหล่านั้นจะคงอยู่ตลอดไปแม้ว่าผู้ส่งข้อมูลต้นทางจะลบข้อมูลออกไปแล้วก็ตามเพราะในโลกออนไลน์นั้นผู้ใช้อุปกรณ์จะทิ้งร่องรอยทางดิจิทัล ( Digital footprint)เอาไว้มากมายทุกหนแห่ง การค้นหา การคลิก ภาพทุกภาพ และข้อความทุกข้อความ แม้แต่เสียงประเภทต่างๆ จะถูกทิ้งร่องรอยจากการบันทึกเอาไว้ให้นักเก็บข้อมูลเพื่อการตลาดและใครก็ตามสามารถเก็บข้อมูลเหล่านั้นได้เสมอไม่ว่าในทางเปิดเผยหรือทางลับก็ตาม จึงไม่น่าสงสัยเลยว่าทำไมจึงมีโฆษณาสิ่งที่เราสนใจหรือสิ่งที่เรากำลังค้นหาขึ้นมาให้เห็นขณะที่เราเปิดอินเทอร์เน็ตราวกับว่ามีคนทายใจเราได้ถูกอย่างไม่น่าเชื่อทั้งๆที่บางเหตุการณ์เกิดขึ้นนานจนเราลืมไปแล้วก็ตาม
พ่อแม่ที่กำลังจะมีลูกบางครอบครัวชอบที่จะฝากร่องรอยทางดิจิทัลไว้ให้ลูกทั้งที่ลูกยังไม่ได้ลืมตามาดูโลกด้วยซ้ำไป เพราะภาพลูกที่อยู่ในครรภ์แม่นั้นสามารถที่จะส่งไปอวดใครต่อใครในโลกนี้ผ่าน Cloud-based network ด้วย สื่อสังคมออนไลน์ ที่หลากหลาย เช่น LINE Facebook YouTube หรือ Instagram ภายในแค่พริบตา เป็นการสร้างร่องรอยทางดิจิทัลให้กับลูกโดยที่พ่อแม่ไม่รู้เลยว่าในอีกสิบปีหรือยี่สิบปีข้างหน้าลูกจะพอใจต่อสิ่งที่พ่อแม่ได้ทำไว้หรือไม่และพ่อแม่จะเจ็บปวดเพียงใดถ้าสิ่งที่ตัวเองทำด้วยความชื่นชมกับลูกในวันนี้จะกลับมาทำร้ายครอบครัวในภายหลังโดยอาชญากรทางเทคโนโลยี ที่ใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือ การกระทำต่อเด็กในลักษณะดังกล่าวเป็นความความอ่อนไหวต่อเรื่องการคุ้มครองสิทธิเด็กในครรภ์รวมทั้งการเผยแพร่ข้อมูลทางการแพทย์ต่อสาธารณะด้วย
ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ต้องตระหนักอยู่เสมอว่า ทันทีที่ท่านเข้าสู่สังคมออนไลน์ ความเป็นส่วนตัวของท่านจะหายไปทันที ข้อมูลส่วนตัวของท่านทุกประเภทที่ท่านควรเป็นเจ้าของกลับกลายเป็นทรัพย์สินอันล้ำค่าของผู้ประกอบการสื่อออนไลน์และสิ่งที่ท่านต้องยอมรับเมื่อเข้าสู่สังคมออนไลน์ก็คือ “การถูกสอดแนม” ในรูปแบบต่างๆ ทั้งจากผู้ประกอบการสื่อออนไลน์ จากภาครัฐ จากอาชญากร ฯลฯ ผ่านอุปกรณ์ดิจิทัล ที่หลากหลาย รวมทั้งโทรศัพท์มือถือ เกมออนไลน์และ การสอดแนมผ่านคุกกี้ (Cookies) เป็นต้น
เทคโนโลยีดิจิทัลและสื่อออนไลน์ทำให้ผู้สอดแนมสามารถที่จะรู้วงจรการใช้ชีวิตของท่านตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเวลาเข้านอน ท่านยิ่งใช้เครื่องมือดิจิทัลมากขึ้นเท่าใด ผู้สอดแนมก็สามารถจะเก็บรายละเอียดการใช้ชีวิตของท่านได้มากเท่านั้น
ผลการศึกษาจากกลุ่มบุคคลที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดข้อหาลักทรัพย์ใน สหราชอาณาจักรเมื่อปี 2011 พบว่า 78 เปอร์เซ็นต์ยอมรับว่า แอบส่องสื่อออนไลน์ คือ Facebook Twitter และ Foursquare ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะเข้าลักทรัพย์และยอมรับด้วยว่าใช้ Google’s Street View ในการวางแผนเส้นทางการเข้าบ้านและการหลบหนีด้วยและถ้าบุคคลเหล่านี้รู้ตำแหน่งที่อยู่ปัจจุบันของเจ้าของบ้านที่อาจแจ้งบนสื่อสังคมด้วยแล้วการตัดสินใจของกลุ่มคนเหล่านี้ก็จะง่ายขึ้น ดังนั้นการแสดงตำแหน่งที่อยู่บนสื่อออนไลน์ก็เป็นดาบสองคมได้เช่นกัน
นอกจากข้อมูลส่วนตัวที่ท่านเปิดเผยให้กับสื่อสังคมเหล่านี้ด้วยความตั้งใจหรือด้วยความไม่รู้ก็ตาม ข้อมูลบางประเภทซึ่งเป็นความลับที่ท่านไม่พึงประสงค์จะเปิดเผยแต่กลับรั่วไหลด้วยวิธีใดก็ตามไปสู่สังคมออนไลน์จะถูกแพร่ไปทั้งโลกอย่างรวดเร็วและไม่สามารถจะเอากลับคืนมาได้อีกไม่ว่าท่านจะใช้ความพยายามหรือใช้เงินทองมากมายเพียงใดก็ตาม เท่ากับว่าท่านไม่สามารถควบคุมข้อมูลที่สร้างขึ้นมาเองได้เลย ข้อมูลส่วนตัวของท่านทุกประเภทที่ท่านควรเป็นเจ้าของกลับถูกควบคุมโดย Facebook YouTube LinkedIn Google ฯลฯและกลายเป็นทรัพย์สินอันล้ำค่าของบริษัทเหล่านี้หรือบริษัทพันธมิตรนายหน้าค้าข้อมูลอื่นๆ โดยที่เราไม่ทราบเลยว่าข้อมูลของเราถูกนำไปใช้อะไรบ้าง
ในโลกยุคดิจิทัลที่กำลังมีบทบาทอย่างยิ่งต่อสังคมโลกนั้น สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือเรากำลังสูญเสียการควบคุมข้อมูลของเราเองให้กับผู้อื่น การเกิดขึ้นของ Cloud-based network เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงว่าเราได้สูญเสียการควบคุมข้อมูลของเราไป เพราะ ตราบใดที่เราใช้บริการโครงข่ายประเภทนี้ ข้อมูลของเราจะถูกนำไปเก็บไว้ในที่ที่ไม่ใช่ของเราอีกต่อไป ข้อมูลอันมีค่าของเราซึ่งเป็นทั้งข้อมูลเนื้อหา(Content) หรือข้อมูลประกอบ(Meta data)อาจจะถูกเก็บไว้ที่เซิร์ฟเวอร์ มุมไหนของโลกก็เป็นได้ ภายใต้กฎเกณฑ์ กฎหมายและระบบการป้องกันความเสียหายจากการโจมตี ภายในประเทศนั้นๆ ซึ่งมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใดเราไม่อาจทราบได้เลยและนี่คืออีกช่องทางหนึ่งที่อาชญากรทางเทคโนโลยีใช้ในการโจรกรรมข้อมูล
2. ท่านไม่ใช่ “ลูกค้า” แต่ท่านคือ” สินค้า” ของสื่อสังคมออนไลน์
ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ผู้ให้บริการเครื่องมือสืบค้น ผู้ให้บริการอีเมล์ และ ผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ทุกค่าย รวมทั้งบริษัทโทรศัพท์ต่างต้องการข้อมูลที่ท่านสร้างขึ้นเพื่อนำไปใช้ทางการค้า ตัวอย่างเช่น จำนวนผู้ใช้ Facebook ราว 1,700 ล้านคน มีการอัพโหลด ภาพขึ้น Facebook มากกว่า 350 ล้านภาพ และยอดกดไลค์ มากกว่า 6,000 ล้านครั้งต่อวัน คือข้อมูลสำคัญที่สุดที่ Facebook ต้องการ เช่นเดียวกับข้อมูลการสืบค้นของ Google Yahoo และการอัพโหลดภาพ บน YouTube ก็คือข้อมูลสำคัญที่สุดในการทำธุรกิจของบริษัทเหล่านี้
ข้อมูลส่วนตัวของท่านเองรวมทั้งข้อมูลพฤติกรรมต่างๆที่ท่านที่สร้างขึ้นร่วมกับคนอื่นๆทั่วโลกซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้อมูลฟรีนั้นจะกลายเป็นข้อมูลจำนวนมากที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า Big Data ข้อมูลเหล่านี้จะถูกวิเคราะห์โดยกรรมวิธีขั้นสูง (Analytics) ด้วยคอมพิวเตอร์ศักยภาพสูงและนำผลไปใช้ทางธุรกิจรวมทั้งมีการส่งข้อมูลเปลี่ยนมือไปยังบริษัทโฆษณาหรือบริษัทนายหน้าข้อมูลซึ่งเป็นบุคคลที่สามในห่วงโซ่การค้าข้อมูล
พูดง่ายๆว่า ตราบใดที่สื่อสังคมออนไลน์เสนอบริการให้กับท่านแบบให้เปล่าเท่ากับว่าท่านคือ “สินค้า” ที่ถูกแลกเปลี่ยนไปมาของบริษัทเหล่านั้นอย่างไม่ต้องสงสัย ส่วน “ลูกค้า”ตัวจริงก็คือบริษัทโฆษณาและบริษัทประเภทนายหน้าข้อมูลนั่นเอง ยิ่งบริษัทสื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้เพิ่มจำนวนหน่วยความจำในอีเมล์ หรือเพิ่มฟังชั่นใน แอพพลิเคชั่น ให้ท่าน มากขึ้นเท่าไรก็เท่ากับว่ารายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวเท่านั้นและที่สำคัญคือ แม้ว่าท่านจะยกเลิกการบัญชีการใช้งานของสื่อสังคมออนไลน์ แต่ละรายไปแล้วก็ตามข้อมูลของท่านอาจจะไม่ได้ถูกลบไปด้วยเพราะบริษัทเหล่านี้อาจจะยังเก็บข้อมูลของท่านเอาไว้ใช้ประโยชน์และมีความเป็นไปได้ว่าแม้สื่อออนไลน์ที่ท่านได้ปิดบัญชีไปนั้นจะลบข้อมูลของท่านไปแล้วก็ตามแต่ข้อมูลของท่านได้ถูกขายต่อหรือเปลี่ยนมือไปสู่บริษัทนายหน้าซึ่งเป็นบุคคลที่สาม ที่สี่ หรือที่ห้าไปแล้ว
ในโลกดิจิทัลนั้น ข้อมูลจะถูกจดจำไว้อย่างถาวร การลอกเลียนแบบข้อมูลทำได้ง่าย ข้อมูลที่ลอกเลียนแบบจะเหมือนกับข้อมูลต้นฉบับทุกอย่าง มีต้นทุนในการลอกเลียนแบบต่ำและที่สำคัญคือสามารถนำไปใช้ได้อีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า ดังนั้นข้อมูลส่วนตัวที่บริษัทเหล่านี้ได้ไปจากท่านจะสร้างมูลค่าให้กับบริษัทเหล่านี้ตลอดไป เว้นเสียแต่ว่าระบบสามารถที่จะให้ท่านระบุวันหมดอายุของข้อมูลได้หรือจนกว่าข้อมูลของท่านไม่มีค่าพอที่จะให้เขาเก็บไว้ใช้งาน
สิ่งที่น่าสนใจก็คือข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งเป็นข้อมูลของคนไทยทั้งชาติที่ถูกเก็บไปนั้นแม้ว่าจะมีการระบุในเงื่อนไขการใช้งานไว้ก็ตาม แต่ตามความเป็นจริงเราไม่ทราบเลยว่าสื่อสังคมออนไลน์ได้บันทึกข้อมูลอื่นใดบ้างนอกเหนือจากในเงื่อนไขที่แจ้ง มีองค์กรใดควบคุมกำกับดูแลการบันทึกข้อมูล ข้อมูลถูกขายให้กับใครและอยู่ส่วนใดของโลก มูลค่าของข้อมูลมีมากน้อยเพียงใดและ รายที่ได้จากการขายข้อมูลตกอยู่กับใครบ้าง
3.การโจรกรรมข้อมูล
ความสำคัญของการใช้ข้อมูลในโลกดิจิทัลทำให้ประเทศต่างๆทั่วโลกให้ความสำคัญต่อการครอบครองข้อมูล ทั้งข้อมูลบุคคล ข้อมูลการค้า ข้อมูลพฤติกรรม ข้อมูลองค์กร และข้อมูลประเภทอื่นๆและถือว่าข้อมูลคือทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้(Intangible asset)ประเภทหนึ่ง
การโจรกรรมข้อมูลมีตั้งแต่การโจมตีเพื่อต้องการข้อมูลบุคคลโดยตรง ไปจนถึงการโจรกรรมฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เช่น ฐานข้อมูลทางธุรกิจ ฐานข้อมูลทางการเงิน ฐานข้อมูลความมั่นคงจากภาครัฐ ฐานข้อมูลจากสื่อออนไลน์ต่างๆเป็นต้น การโจรกรรมข้อมูลในโลกดิจิทัลนั้นจึงไม่ต่างจากการโจรกรรมทรัพย์สินเลยเพียงแต่ใช้วิธีการและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการโจรกรรมและทรัพย์สินในโลกดิจิทัลก็คือข้อมูลนั่นเอง
สื่อสังคมออนไลน์คือแหล่งรวมข้อมูลส่วนบุคคลที่ใหญ่ที่สุด จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า สื่อสังคมออนไลน์เป็นที่หมายปองของอาชญากรที่ต้องการขโมยข้อมูลส่วนตัวของใครก็ตามที่ตกเป็นเป้าหมายของมิจฉาชีพเหล่านั้น การใช้สื่อออนไลน์จึงไม่ได้มีความปลอดภัยเสมอไป
จากการเปิดเผยของ The Telegraph เมื่อเดือน ตุลาคม 2011 พบว่าว่า ในแต่ละวันผู้ใช้ Facebook ราว 600,000 บัญชี ถูกโจมตีจากแฮ็กเกอร์ เป้าหมายของพวกแฮ็กเกอร์ คือต้องการข้อมูลที่เป็น ข้อความ ภาพ และข้อมูลส่วนตัวต่างๆทุกประเภท และปลอมตัวตนของเจ้าของบัญชีเพื่อส่งข้อมูลหลอกลวงไปยังสมาชิกในกลุ่ม หลอกขายสินค้าปลอม หรือแม้แต่การหลอกลวงเพื่อการคุกคามทางเพศ เป็นต้น Facebook จึงเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่ถูกโจมตีเพื่อการขโมยข้อมูลมากที่สุดแห่งหนึ่ง
Facebook ได้กล่าวไว้ในเงื่อนไขในการใช้บริการ (Terms of Service) ในหัวข้อความปลอดภัยว่า “เราใช้ความพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อให้ Facebook มีความปลอดภัย แต่เราไม่อาจรับประกันความปลอดภัยได้ เราจำเป็นต้องให้คุณช่วยดูแลความปลอดภัยให้แก่ Facebook ซึ่งรวมถึงคุณจะต้องยึดมั่นในการปฏิบัติดังต่อไปนี้…...” จากเงื่อนไขดังกล่าวแปลว่าท่านไม่ได้มีความปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์เมื่อใช้สื่อสังคมประเภทนี้ และทุกคนมีโอกาสตกเป็นเหยื่อด้วยกันทั้งสิ้น ที่น่าเป็นห่วงก็คือเมื่อบัญชีแรกของท่านถูกโจมตีสำเร็จพวกมิจฉาชีพมักจะใช้ ชื่อและรหัสผ่าน ไปใช้กับบัญชีอื่นๆของท่านได้ด้วยถ้าท่านใช้ ชื่อและรหัสผ่าน เดียวกันหลายบัญชี
จากรายงานของ CNN เมื่อ เดือนสิงหาคม 2012 พบว่า มีบัญชี Fcaebook ปลอมอยู่ราว 86 ล้านบัญชี แต่เมื่อแยกประเภทออกไปแล้วพบว่ามีทั้งบัญชีที่ซ้ำกัน บัญชีที่ใช้ผิดประเภทและบัญชีที่เป็น สแปม จากตัวเลขในรายงานประจำปีของ Facebook ในปี 2014 เปิดเผยว่าบัญชีของ Facebook จำนวน 11.2 เปอร์เซ็นต์เป็นบัญชีปลอม เท่ากับว่า มีบัญชีปลอมบน Facebook แยกตามประเภทของบัญชีราว 140 ล้าน บัญชี
จากการรายงานของศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย ( ThaiCERT) เมื่อเดือน มิถุนายน 2559 เกี่ยวกับ ความปลอดภัยของ Facebook ว่า “การตั้งค่าเริ่มต้นเพื่อค้นหาเพื่อนโดยหมายเลขโทรศัพท์ไว้เป็นแบบสาธารณะอาจเป็นช่องทางให้แฮกเกอร์สามารถเข้ามาเก็บข้อมูลของผู้ใช้ได้…….” “ดังนั้นผู้ใช้ต้องตระหนักถึงการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวให้ผู้อื่นสามารถเห็นได้เพียงข้อมูลที่จำเป็นเท่านั้นและคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นก่อนที่จะอัพโหลดหรือโพส ข้อมูลใดๆ ลงไปบนสื่อสังคมออนไลน์ “
ไม่เพียงแต่ Facebook เท่านั้นที่มีโอกาสถูกโจมตี Google เองก็ตกเป็นข่าวเมื่อปี 2010 ในเรื่องการรั่วไหลของข้อมูลจากการถูกโจมตีที่มีต้นทางมาจากประเทศจีนโดยมีเป้าหมายอยู่ที่ Gmail ของนักสิทธิมนุษยชนใน สหรัฐอเมริกา เอเชีย และ ยุโรป ที่ต่อต้านจีนในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยที่ Google เองไม่ได้เปิดเผยถึงรายละเอียดความเสียหายดังกล่าวมากนัก ในขณะเดียวกันผู้บริหาร Microsoft ได้ให้ข้อมูลว่าในช่วงเวลาใกล้เคียงกันบริษัท Microsoft ก็ถูกโจมตีจากต้นทางประเทศจีนเช่นกัน
การโจรกรรมข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์ครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นคือการขโมยรหัสผ่านของ MySpace มากกว่า 427 ล้านรหัสผ่าน ของบัญชีทั้งหมด 360 ล้านบัญชีและข้อมูลได้ถูกนำไปขายผ่านสื่อออนไลน์ ทั้งนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายนปี 2013และใช้เวลานานถึงสามปีจึงปรากฏเป็นข่าว
จากสถิติการทดสอบของบริษัทวิจัยในแคลิฟอร์เนียร่วมกับนักศึกษาจาก Technion- Israel Institute of Technology พบว่า 95 เปอร์เซ็นต์ของโปรแกรมที่ประสงค์ร้ายต่อระบบคอมพิวเตอร์หรือที่เรียกกันว่า มัลแวร์ ( Malware) ที่เกิดขึ้นในระบบไม่สามารถถูกตรวจสอบได้จากเครื่องมือตรวจไวรัส ที่เป็นที่รู้จักกันในท้องตลาดและจากผลการศึกษาของ Kaspersy Lab พบว่าในแต่ละวันมีการพบมัลแวร์ ใหม่ๆราว 200,000 ชิ้น
ดังนั้นการโจรกรรมข้อมูลจึงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาเท่าที่โอกาสและความสามารถของแฮ็กเกอร์ จะอำนวยให้แม้ว่าจะมีการป้องกันที่เข้มแข็งเพียงใดก็ตาม แต่ละระบบย่อมมีจุดอ่อนให้แฮ็กเกอร์ โจมตีได้เสมอไม่ระบบใดก็ระบบหนึ่ง ทั้งการโจมตีเฉพาะบุคคลหรือการโจมตีองค์กรขนาดใหญ่
ในปี 2013 บริษัท Target ซึ่งเป็นห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกาถูกโจรกรรมข้อมูลรวมจำนวนลูกค้าที่เสียหายถึง 110 ล้านราย สิ่งที่ แฮ็กเกอร์ ได้จากการโจรกรรมครั้งนั้นก็คือข้อมูลบัตรเครดิตลูกค้าและข้อมูลส่วนตัวลูกค้า ประมาณการว่าข้อมูลบัตรเครดิตราว 2 ล้านบัตรถูกนำไปขายในตลาดมืดก่อนมีการยกเลิกบัตรโดยมีมูลค่าประมาณ 27 เหรียญต่อบัตร
จากการสำรวจของ Congressional Research Center พบว่าประชาชนอเมริกัน 13.1 ล้านคนตกเป็นเหยื่อของการขโมยข้อมูลส่วนบุคคลในแต่ละปี เป็นการพิสูจน์ได้ว่าในโลกออนไลน์นั้น การสูญหายของข้อมูลเกิดขึ้นได้เสมอไม่ว่าจะเกิดจากการโจมตีส่วนตัวหรือโจมตีเพื่อขโมยข้อมูลขนาดใหญ่ก็ตามและพิสูจน์ได้ถึงระดับความมั่นคงปลอดภัยในระบบเก็บข้อมูลของแต่ละแห่งว่ามั่นคงมากน้อยเพียงใด สิ่งที่น่าหวาดหวั่นก็คือข้อมูลปริมาณมากๆทุกประเภทที่อยู่ในมือของนายหน้าค้าข้อมูลอาจจะรั่วไหลไปอยู่ในมือของอาชญากรทางเทคโนโลยีได้ด้วยเช่นเดียวกัน
จากข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะในปี 2013 พบว่าบริษัท Experian ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการด้านข้อมูล เกิดความผิดพลาดในการขายข้อมูล ทำให้เลขหมายประกันสังคม ( Social Security Number ) ของประชากรชาวอเมริกันสองในสามตกไปอยู่ในมือแก๊งอาญากรรมของเวียดนาม ซึ่งหมายถึงเลขหมายประกันสังคมของคนอเมริกันกว่า 200 ล้านคนตกไปอยู่ในมืออาชญากรทางเทคโนโลยีอย่างดายเพราะความผิดพลาดจากการตรวจสอบรายละเอียดของบริษัทนายหน้าค้าข้อมูลเอง นอกจากนี้ในปี 2015 ระบบเซิร์ฟเวอร์ ของบริษัท Experience ถูกโจมตีจากแฮ็กเกอร์ อีกครั้ง สร้างความเสียหายต่อลูกค้า Experian ราว 15 ล้านราย ลดทอนความน่าเชื่อถือในระบบความปลอดภัยของบริษัท Experience เป็นอย่างยิ่ง ที่เลวร้ายไปกว่านั้นก็คือแก๊งอาชญากรรมข้ามชาติดั้งบริษัทนายหน้าค้าข้อมูลเสียเองโดยใช้บริษัทบางแห่งบังหน้า สร้างความเสียหายมากมายต่อสังคมโดยทั่วไป
สำหรับประเทศไทยนั้น จากข้อมูลของ Kaspersky Security Bulletin 2015 พบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 17 ใน 20 อันดับของโลกที่ ผู้ใช้สื่อออนไลน์มีความเสี่ยงสูงที่สุด ที่จะติดไวรัสทางอินเทอร์เน็ต (อันดับ 1 ความเสี่ยงสูงสุด) ในขณะที่ผลการศึกษาของสำนักเดียวกันเมื่อปี 2014 ประเทศไทยไม่ติดกลุ่ม 20 อันดับแรก แสดงว่าความเสี่ยงต่อการจากการถูกโจมตีของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น
สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ได้รายงาน ดัชนีการความปลอดภัยทางไซเบอร์ ในปี 2014 พบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 15 ของโลกจาก 29 อันดับ (อันดับ 1 หมายถึงปลอดภัยที่สุดโดยจัดอันดับจากประเทศสมาชิกสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ จำนวน 194 ประเทศ หลายประเทศมีลำดับซ้ำกันเพราะคะแนนเท่ากัน)
จากสถิติดังกล่าวประเทศไทยคงจะต้องใช้มาตรการที่เข้มข้นกว่าเดิมต่อความปลอดภัยของระบบสารสนเทศ เพราะเราได้ประกาศแล้วว่าประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบในเวลาอีกไม่นาน ซึ่งหมายความว่าจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ดิจิทัลจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกมาก หากขาดการป้องกันที่ดีเพียงพอ ความเสี่ยงต่อการถูกโจมตีทางอินเตอร์เน็ตคงจะเพิ่มขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย
เมื่อครั้งที่คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตยังไม่แพร่หลาย เป็นที่รู้กันว่าระบบโทรศัพท์เป็นที่ลองของของพวกแฮ็กเกอร์ทั้งหลาย การเจาะระบบโทรศัพท์ยังคงเป็นที่นิยมของพวกแฮ็กเกอร์ตลอดมา จนมาถึงยุคที่โทรศัพท์กลายเป็นคอมพิวเตอร์ทรงประสิทธิภาพขนาดเล็กนั้นกลับกลายเป็นว่าโทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์ที่ไม่ปลอดภัยที่สุดอย่างไม่น่าเชื่อและจุดอ่อนของโทรศัพท์มือถือก็คือระบบปฏิบัติการ(Operating System)นั่นเอง
พวกแฮ็กเกอร์ รู้ดีว่าในยุคของข้อมูลข่าวสารนั้น โทรศัพท์มือถือคือแหล่งสร้างข้อมูลที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ จากข้อมูลการศึกษาของ McAfee พบว่า ในปี 2014 มี มัลแวร์ ที่สร้างขึ้นสำหรับโจมตีโทรศัพท์มือถือถึง 4 ล้านชิ้น เพิ่มจากที่พบในปีก่อนหน้าถึง 614 เปอร์เซ็นต์ ยิ่งไปกว่านั้น ก็คือจากการรายงานของบริษัท Cisco พบว่า 99 เปอร์เซ็นต์ของ มัลแวร์ ของเครื่องโทรศัพท์มือถือทั้งหมดในปี 2013 มีเป้าหมายอยู่ที่โทรศัพท์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android ที่พัฒนาโดย Google แสดงให้เห็นว่าผู้ที่ใช้มือถือแบบ สมาร์ทโฟนด้วยระบบปฏิบัติการที่ว่านั้น มีโอกาสที่จะถูกโจมตีมากน้อยเพียงใด
ไม่เฉพาะระบบปฏิบัติการ Android เท่านั้น ระบบปฏิบัติการ iOS ที่พัฒนาโดยบริษัท Apple ก็มีจุดอ่อนต่อการโจมตี เช่นเดียวกัน ข้อมูลจากนักวิจัยของบริษัท Cisco พบว่า แฮ็กเกอร์สามารถส่งไฟล์ภาพบางประเภท ไปยังมือถือของผู้รับปลายทางที่ใช้ระบบปฏิบัติการ iOS เพื่อโจมตีผ่านระบบป้องกันของ iOS และสามารถควบคุมมือถือของเครื่องปลายทางที่รับภาพได้ สิ่งที่ผู้ใช้สามารถป้องกันการโจมตีในกรณีนี้ก็คือต้อง อัพเกรด ระบบปฏิบัติการ เวอร์ชั่นใหม่ จึงเห็นได้ว่าไม่ว่าจะเป็นระบบปฏิบัติการของค่ายไหนก็ตามย่อมมีจุดอ่อนด้วยกันทั้งสิ้นและผู้ใช้อาจตกเป็นเหยื่อของการโจมตีได้ตลอดเวลา
การโจรกรรมข้อมูลที่เพิ่งเกิดเป็นข่าวในประเทศไทยเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2559 โดยพนักของบริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่แห่งหนึ่งนำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือไปหาผลประโยชน์ส่วนตัวจนผู้เสียหายต้องออกมาร้องเรียนทางสื่อออนไลน์นั้นเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ชัดเจนแล้วว่าข้อมูลส่วนบุคคลมีความสำคัญเพียงใดและไม่ว่าฝ่ายใดก็ตามจะละเลยในเรื่องนี้ไม่ได้เป็นอันขาดเพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อของความปลอดภัยต่อตัวผู้ใช้เองและทรัพย์สินเงินทองทั้งสิ้น
3.นักป่วนเว็บ
ในสังคมออนไลน์นั้นท่านจะได้พบบุคคลหลากหลายประเภท หนึ่งในนั้นก็คือกลุ่มคนที่รู้จักกันในชื่อ “นักป่วนเว็บ” ( Troll) หรือถ้าจะเทียบกับภาษาไทยคงจะเรียกว่าพวก “เกรียน” ก็คงจะได้ บุคคลเหล่านี้ เป็นพวกที่แสดงกิจกรรมบนโลกออนไลน์จากพฤติกรรมของตัวเอง
จากการศึกษาที่มีการเผยแพร่ในวารสาร Journal Personality and Individual Differences ปี 2014 พบว่าพวก “นักป่วนเว็บ” ซึ่งเป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ตส่วนหนึ่งนั้นจะมีความสัมพันธ์กับบุคลิกภาพ 4 แบบด้วยกันคือ หลงตัวเอง (Narcissism) จิตป่วน (มีความคิดและปัญญาดีแต่จิตทราม) (Psychopathy) ชอบโกหกหลอกลวง ( Machiavellianism) และนิยมหาความสุขบนความเจ็บปวดของผู้อื่น(Sadism)
คนประเภทนี้อาจทำไปด้วยพฤติกรรมของตัวเองและบางครั้งอาจรับใช้ฝ่ายการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็เป็นได้ ในการหาเสียงเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาปี 2016 ทีมงานของ ฮิลลารี คลินตัน จากพรรคเดโมแครท ใช้งบประมาณราว 1 ล้านเหรียญ ตั้งหน่วยเฉพาะกิจเพื่อให้นักป่วนเว็บตอบโต้พวกที่ให้ร้ายเธอบน Facebook Twitter Instagram ฯลฯ ขณะเดียวกันมีข่าวว่ารัสเซียดูเหมือนจะจ้างนักป่วนเว็บเพื่อสนับสนุนโดนัล ทรัมป์ บนสื่อสังคมออนไลน์อีกด้วย
ข้อมูลจาก Time Magazine เดือน สิงหาคม 2516 ซึ่งอ้างถึงการสำรวจของ The Pew Research Center ของ สหรัฐอเมริกา พบว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีอายุระหว่าง 17 ถึง 24 ปี ถูกรังควาญจากนักป่วนเว็บ ในขณะที่ผู้หญิง 26 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าถูกตามตื๊อจากคนในโลกออนไลน์
4. ผู้ก่อการร้าย ใช้สื่อออนไลน์สนับสนุนการปฏิบัติการ
กลุ่มก่อการร้ายจำนวนมากตามข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกามีการก่อตั้งในช่วงที่ ซึ่งอินเทอร์เน็ตมีการใช้งานอย่างแพร่หลายในระหว่างปี 1997 ถึง 2016 จึงเป็นไปได้ว่าอินเทอร์เน็ตมีอิทธิพลต่อการก่อการร้ายไม่มากก็น้อย เพราะผู้ก่อการร้ายสามารถ เรียนรู้วิธีการก่อการร้ายใหม่ๆจากโลกออนไลน์ เลียนแบบวิธีการที่ใช้ในโลกอีกฟากหนึ่งได้อย่างไม่ยากเย็นรวมทั้งใช้สื่อออนไลน์ในการติดต่อสื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจูงใจให้เข้าร่วมขบวนการและขอรับบริจาคโดยการโฆษณาผ่านอินเทอร์เน็ตนั้นเป็นวิธีที่ได้ผล ดังนั้นอินเทอร์เน็ตจึงเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้ควบคู่กับการอบรมการปฏิบัติการผ่านศูนย์การอบรมการก่อการร้ายที่มีฐานประจำในบางประเทศ
ผู้ก่อการร้ายในปัจจุบันมีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีไม่แพ้พวกที่อยู่ในวงการคอมพิวเตอร์ทั่วๆไป นอกจากอาวุธปืนหรือระเบิดซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานต่อการโจมตีเป้าหมายแล้วอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น Smart phone และ GPS การใช้ไฟล์ PDF ในการเก็บแผนผังเป้าหมาย การใช้ Google Earth และ Google Street View ในการหาตำแหน่ง การใช้โทรศัพท์ผ่านดาวเทียม และใช้ Skype ติดต่อกับฐานบัญชาการ การใช้ข้อมูลตำแหน่งพิกัดจากสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook ตามรอยตำแหน่งของเป้าหมาย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ คือเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่จำเป็นในการปฏิบัติการในแต่ละครั้ง
ผู้ก่อการร้าย มีการพัฒนาวิธีการเข้ารหัสข่าวสาร(Encryption) เพื่อใช้ติดต่อกันบนสื่อออนไลน์ นอกจากนี้ยังมีเทคนิคอื่นๆ เช่น ใช้เทคนิคในการซ่อนไฟล์ลับไว้ภาพ(Steganography) รวมทั้งใช้เทคนิคง่ายๆที่เรียกว่า Dead dropping ซึ่งเป็นการเก็บข้อความที่จะส่งไว้ใน Draft ของ อีเมล์ หรือ Drop box แทนที่จะส่งตรงไปยังผู้รับ แต่ผู้รับสามารถอ่านข้อความได้เมื่อใช้ รหัสผ่าน เดียวกับ อีเมล์ ต้นทาง เป็นต้น
การระเบิดจากการก่อการร้ายที่กรุงปารีสที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 130 คน เมื่อปลายปีที่แล้วทำให้เชื่อว่าผู้ก่อการร้ายอาจใช้เครื่องเล่นเกม Sony Play Station 4( PS4) ในการวางแผนโจมตีเพราะการถอดรหัสการสื่อสารระหว่างเครื่องเล่นเกมนั้นทำได้ยากกว่าการแกะรอยจากสื่อสังคมออนไลน์ เช่น WhatsApp ซึ่งถ้าหากเรื่องนี้เป็นความจริงแสดงให้เห็นว่าผู้ก่อการร้ายใช้เทคโนโลยีทุกรูปแบบในการหลบหลีกการตรวจจับข้อความและการสื่อสารจากเจ้าหน้าที่
นอกจากเครือข่ายก่อการร้ายที่กล่าวถึงแล้ว เครือข่ายอาชญากรรมทั่วโลกที่มีชื่อเสียงที่มีอยู่เดิมทั้ง ในญี่ปุ่น จีน และโคลัมเบีย ต่างใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อขยายการปฏิบัติการจากอาชญากรรมแบบดั้งเดิม องค์กรเหล่านี้รู้ดีว่าธุรกิจมืดของพวกเขาจะดำเนินต่อไปไม่ได้เลยถ้าไม่ใช้เทคโนโลยีโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีดิจิทัล เพราะนอกจากสามารถหลบหลีกการสอดแนมแล้ว การใช้เครื่องมือทางดิจิตอลยังเป็นช่องทางหารายได้ใหม่ด้วย เช่น การส่งสแปม ( Spam ) การส่งหน้าเพจปลอมมาเพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัว(Phishing) การโฆษณาขายผลิตภัณฑ์ยาหรือเอาหารเสริมปลอม การแพร่ภาพเด็กเพื่อการอนาจาร การแบล็คเมล์รูปแบบต่างๆ เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอาชญากรรมที่เรียกว่า องค์กรอาชญากรรมของโลกไซเบอร์ ที่เป็นองค์กรเกิดใหม่นั้นเกิดขึ้นราวดอกเห็ดโดยมีการรวมตัวอยู่ในประเทศต่างๆทุกภูมิภาคของโลก เช่น จีน สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย ไต้หวัน รัสเซีย โรมาเนีย บัลแกเรีย บราซิล อินเดีย และยูเครน เป็นต้น สิ่งที่องค์กรเหล่านี้ต้องลงทุนก็คือโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีและโทรศัพท์มือถือแบบพิเศษเพื่อหลีกเลี่ยงการสอดแนมจากสื่อออนไลน์ทั้งหลายรวมทั้งการสอดแนมจากเจ้าหน้าที่รัฐด้วย
เครือข่ายก่อการร้ายและอาชญากรรมยุคใหม่ใช้โมเดลทางธุรกิจที่เรียกว่า Crime as a Service (CaaS) ซึ่งองค์กรอาชญากรรมสามารถซื้อหรือเช่า เครื่องมือเพื่อการประกอบอาชญากรรมทางเทคโนโลยีแบบสำเร็จรูปสารพัดอย่างจากออนไลน์เซลแมนในตลาดมืด ได้ไม่ว่าจะเป็น มัลแวร์ เครื่องมือขโมยข้อมูลและรหัสผ่าน รวมทั้งเครื่องมือเพื่อการโจมตีอื่นๆ อีกหลายรูปแบบได้โดยง่าย โดยไม่ต้องลงทุนสร้างทุกสิ่งทุกอย่างเอง
5. เด็กและเยาวชนคือเหยื่อของมิจฉาชีพบนโลกออนไลน์
ปัญหาผลกระทบของอินเทอร์เน็ตต่อสังคมไทยเป็นเรื่องที่พูดกันมานานตั้งแต่เราเริ่มมีอินเทอร์เน็ตใช้ในประเทศไทย มีการรายงาน การศึกษารวมทั้งสถิติและข้อมูลเกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ตของเด็กและเยาวชนในรูปแบบต่างๆตลอดจนมีข้อเสนอแนะจากบุคคลและสถาบันต่างๆต่อปัญหาที่เกิดขึ้นแก่เด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง เพราะทุกฝ่ายเข้าใจดีว่า เด็กและเยาวชนนั้นมีความอ่อนไหวต่อสิ่งที่ปรากฏทางผ่านอินเทอร์เน็ตมากกว่าผู้เล่นอินเทอร์เน็ตในวัยอื่นๆ แต่ดูเหมือนว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นยังไม่ได้รับการตอบสนองจากผู้เกี่ยวข้องเท่าที่ควร
จากการสำรวจของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เกี่ยวกับพฤติกรรมผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2559 พบว่าประชาชนกลุ่ม Gen Z ซึ่งเกิดตั้งแต่ปี 2544 และยังอยู่ในวัยเด็กมีสถิติการใช้อินเทอร์เน็ต 5.7 ชั่วโมงต่อวัน มีการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟน มากที่สุดเมื่อเทียบกับอุปกรณ์แบบอื่นๆ และ 95.8 เปอร์เซ็นต์ใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อพูดคุยกัน
ผลสำรวจจากแหล่งเดียวกันในหัวข้อ ปัญหาที่เกิดจากการทำกิจกรรมผ่านอินเทอร์เน็ต กลุ่ม Gen Z พบว่า เรื่องของ ความล่าช้าในการเชื่อมต่อ/ใช้งานอินเทอร์เน็ต เป็นปัญหาที่พบมากที่สุด (73.4 ) ส่วนปัญหาลำดับถัดๆไปได้แก่ ปริมาณโฆษณาออนไลน์ที่มารบกวน ( 49.0 ) เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตยากหรือหลุดบ่อย( 34.3 ) เสียค่าใช้จ่ายแพง (24.0) ไม่มั่นใจว่าข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตจะเชื่อถือได้ ( 18.4 ) การให้บริการอินเทอร์เน็ตไม่ทั่วถึง( 17.4 ) ถูกรบกวนด้วยสื่อลามกอนาจาร (13.0) ถูกรบกวนด้วยอีเมล์ขยะ( 8.8 ) ติดไวรัสคอมพิวเตอร์ ( 7.2 ) เกิดปัญหาแต่ไม่รู้จะไปขอความช่วยเหลือจากใคร( 4.0 ) ถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล( 3.2 ) และ ถูกหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต (1.7 )
แม้ตัวเลขการถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลและการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตของเด็กไทยยังอยู่ในอันดับที่ไม่สูงนักแต่ ภาครัฐและผู้เกี่ยวข้องยังคงต้องจับตาดูตัวสถิติในปีถัดๆไป และให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะจากข้อมูลการศึกษาของสหรัฐอเมริกาพบว่า เด็ก คือกลุ่มที่มีแนวโน้มต่อการถูกขโมยข้อมูลส่วนตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ในแต่ละปี เฉพาะในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวมีเด็กจำนวน 500,000 คน ตกเป็นเหยื่อของการถูกขโมยข้อมูลส่วนตัว ที่น่าตกใจก็คือจากการศึกษาเด็กจำนวน 40,000 คน ของ Cyber Lab ของมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon พบว่า เด็กมีโอกาสเป็นเหยื่อของการถูกขโมยข้อมูลส่วนตัวมากกว่าผู้ใหญ่ถึง 51 เท่า โดยที่เจ้าตัวหรือผู้ปกครองไม่รู้ตัวจนกว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วหรือมีใบแจ้งหนี้ส่งมาทวงหนี้ที่บ้าน
แม้ว่าประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีกฎหมายว่าด้วยการป้องกันความเป็นส่วนตัวของเด็กทางสื่อออนไลน์(Children’s Online Privacy Protection Act) โดยมีการจำกัดไม่ให้ผู้ประกอบการสื่อออนไลน์เก็บข้อมูลส่วนตัวของเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากผู้ปกครองก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติมักมีการละเมิดกฎหมายนี้อยู่เสมอ โดยใช้วิธีต่างๆนานาหลอกล่อเพื่อล้วงข้อมูลจากเด็ก เช่น ให้เด็กกรอกข้อมูลส่วนตัวเพื่อการแข่งขันตอบปัญหา กรอกข้อมูลเพื่อเล่นเกม กรอกข้อมูลคำถามต่างๆแลกกับรางวัลเล็กน้อย เป็นต้น และมีบริษัทอาหารเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ของโลกชื่อดังหลายแห่งและมีสาขาอยู่ในประเทศไทยต่างถูกปรับจากทางการสหรัฐอเมริกาเพราะการละเมิดกฎหมายฉบับนี้ด้วยเช่นกัน
เมื่อเดือน เมษายน 2015 Japan Time ของประเทศญี่ปุ่นได้เสนอรายงานเรื่องสื่อสังคมกับคดีล่วงละเมิดเด็ก พบว่าจากคดี จำนวน 1,421 คดี ที่เด็กอายุตั้งแต่ 17 ปีหรือน้อยกว่าตกเป็นเหยื่อของการละเมิดหลังจากมีการติดต่อกับผู้ใหญ่ทางสื่อสังคมออนไลน์ 93.5 เปอร์เซ็นของเหยื่อเกี่ยวข้องกับโสเภณีเด็กและสื่อลามกอนาจาร จำนวนที่เหลือคือการฆาตกรรมและการข่มขืน ส่วนใหญ่ของ เด็กที่ตกเป็นเหยื่อได้รับการติดต่อจากการส่งข้อความผ่าน แอพพลิเคชั่น เช่น LINE การนัดพบผ่านสื่อออนไลน์ เป็นต้น เด็กที่ตกเป็นเหยื่อมักไม่ได้รับการเตือนล่วงหน้าจากพ่อแม่ถึงความเสี่ยงต่อการใช้สื่อออนไลน์ แต่ส่วนใหญ่เคยได้รับการเตือนให้ระมัดระวังการใช่สื่อออนไลน์จากครูที่โรงเรียน
6. วาระประเทศไทย – สถาบันป้องกันภัยทางเทคโนโลยีดิจิทัลแห่งชาติ?
ภัยต่างๆที่เกิดขึ้นจากการใช้สื่อออนไลน์นั้นพิสูจน์ให้เห็นว่าเทคโนโลยีมีสองด้านเสมอแล้วแต่ใครจะนำไปใช้ในทางใดและภัยจากเทคโนโลยีออนไลน์สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกแห่ง ทุกเวลาที่สื่อออนไลน์เข้าไปถึง ภัยจากโลกออนไลน์ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นเพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นเหยื่อบางรายถึงกับต้องสังเวยชีวิต เหยื่อบางรายหมดเนื้อหมดตัวและบางรายต้องอับอายหรือเสียชื่อเสียงไปแบบที่ไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้
เราถูกกรอกหูจากผู้ประกอบการและผู้ขายเทคโนโลยีดิจิทัลแทบจะทุกสิบนาทีทางสื่อ ถึงประโยชน์และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล แต่คนไทยไม่เคยได้ยินเสียงเตือนจากภาครัฐต่อเรื่องความไม่ปลอดภัยของเทคโนโลยีดิจิทัล เหมือนเช่น การรณรงค์เรื่องภัยจากอุบัติเหตุทางถนนหรือพิษภัยของเหล้าเบียร์และบุหรี่ ทั้งๆที่คนไทยเสพสื่อออนไลน์มากถึงราว 38 ล้านคน
จากข่าวเรื่องของเกมโปเกมอนโก ที่ผ่านมาเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนว่า ภาระความรับผิดชอบของหน่วยงานที่มีอยู่นั้นครอบคลุมไม่ถึงรายละเอียดทั้งหมดต่อปัญหาของเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกิดขึ้น รวมทั้งกฎหมายไม่เอื้ออำนวยให้ การแก้ไขปัญหาจึงทำแบบขอไปทีเป็นครั้งคราวและไม่มีหน่วยงานใดมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการควบคุมกำกับดูแล ให้ความรู้หรือปกป้องผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง
รัฐต้องให้ความสำคัญต่อการป้องกันและกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีของประชาชนอย่างจริงจัง รัฐต้องจัดสรรงบประมาณก้อนหนึ่งเพื่อจัดตั้ง สถาบันป้องกันภัยทางเทคโนโลยีดิจิทัลแห่งชาติ หรือ สภาความมั่นคงทางเทคโนโลยีดิจิทัลแห่งชาติ หรือ สถาบันเตือนภัยทางเทคโนโลยีดิจิทัลแห่งชาติหรืออะไรก็แล้วแต่จะเรียก เพื่อทำหน้าที่ ดูแลความมั่นคงทางเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศในภาพรวม มีเครื่องมือและบุคลากรที่มีทักษะเพียงพอที่จะสามารถดำเนินการใดๆทั้งในลักษณะในเชิงป้องกันและการติดตามแก้ไขโดยการใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ขั้นสูงในการคาดการเหตุการณ์ สามารถดูแลในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายหรือให้ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงกฎหมายด้านเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งให้ความรู้หรือคำแนะนำแก่หน่วยงานอื่นๆรวมทั้งประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเป็นระบบและยั่งยืน เพื่อสร้างเกราะป้องกันให้กับผู้ใช้สื่อออนไลน์เกือบ 40 ล้านคนให้อยู่กับเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมีความเชื่อมั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องเป็นองค์กรที่งานใกล้ชิดกับภาคประชาชนและองค์กรผู้บริโภค สามารถเป็นที่พึ่งพิงให้กับเด็กและประชาชนทั่วไปจากภัยของสื่อออนไลน์ได้ ที่สำคัญที่สุดคือรัฐต้องถือว่าเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในเร็ววันก่อนที่ปัญหาจะลุกลามไปจนเกินกว่าจะแก้ไข
ภาพประกอบจาก : doctorpisek.com
อ่านประกอบ : ด้านมืดของโลกดิจิทัล