เบื้องหลังการรัฐประหารตุรกีกับการต่อสู้ทางการเมือง
อาจเป็นไปได้ที่ฝ่าย Kemalist ที่ส่วนใหญ่เป็นทหาร เป็นผู้ทำรัฐประหาร แต่เมื่อทำไม่สำเร็จ รัฐบาลของนาย Erdoganจึงฉวยโอกาสป้ายความผิดให้ไปกับกลุ่ม Gulenistเพื่อจะได้ถือโอกาสกวาดล้างฝ่ายต่อต้านการทางเมืองของตนไปเสียให้หมดไปจากตุรกี อีกไม่นานเราคงได้เห็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกลายร่างกลายเป็นรัฐบาลเผด็จการพลเรือนอย่างเต็มตัว
รศ.ดร.จำนง สรพิพัฒน์ ที่ปรึกษาสถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรัฐกิจ ได้วิเคราะห์ถึงเบื้องหลังรัฐประหารในตุรกี ซึ่งเป็นรัฐประหารที่คนไทยให้ความสนใจค่อนข้างมาก เพราะเหตุการณ์รัฐประหารแบบเดียวกันก็เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ในประเทศไทย ลองมาดูว่ารัฐประหารในตุรกีคราวนี้จะเหมือนหรือต่างกับเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศไทยอย่างไร สำหรับสาเหตุในเมืองไทยทุกท่านคงรู้กันดีอยู่แล้ว แต่สาเหตุในตุรกีเข้าใจว่ายังมีคนไม่มากที่เข้าใจปัญหาทางการเมืองของประเทศนี้
แต่ก่อนที่จะนำไปสู่คำตอบดังกล่าว ผู้เขียนขอปูพื้นความเข้าใจในความขัดแย้งทางการเมืองของตุรกีให้เข้าใจเสียก่อน ตุรกีประกอบด้วย กลุ่มนิยมทางการเมือง 3 กลุ่มหลักๆ ดังนี้
ก. กลุ่มเคมาลนิยม (Kemalist) เป็นกลุ่มสนับสนุนหลักการแยกการเมืองการปกครองแบบอาณาจักรออกจากศาสนจักรแบบเคร่งครัด แนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่สืบทอดมาตั้งแต่ยุคที่ Mustafa Kemal Ataturk บิดาของชาติตุรกีสมัยใหม่วางรากฐานไว้แต่ต้น ผู้นิยมแนวคิดนี้ส่วนใหญ่จึงเป็นพวกทหาร และกลุ่มเสรีนิยมชนชั้นกลางในเมืองที่ได้รับการศึกษาแบบตะวันตก
ข. กลุ่มพรรค AK Party ของประธานาธิบดี Erdogan ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในปัจจุบัน แนวคิดของกลุ่มนี้เป็นแนวคิดที่สนับสนุนให้ศาสนจักรมีบทบาทเข้ามาบริหารปกครองประเทศเช่นเดียวกับแนวคิดของกลุ่ม Brotherhood ในอียิปต์ที่ถูกโค่นล้มไปเมื่อไม่กี่ปีก่อน แนวคิดนี้สืบทอดมาจากการปกครองสมัยโบราณของอาณาจักรออตโตมันที่ศาสนาจักรและอาณาจักรเป็นหนึ่งเดียวกันในยุคการปกครองโดยคาลิฟฟะหรือ “กาหลิบ” ในภาษาไทย ความเชื่อนี้มีบางส่วนคล้ายกับแนวคิดของกลุ่ม IS ที่ต่อสู้อยู่ในตะวันกลาง (จึงไม่แปลกหากพรรค AK จะให้การสนับสนุนแบบลับๆ แก่ IS เมื่อมีการลุกขึ้นล้มล้างรัฐบาลอัสสาสของซีเรีย)
ค. กลุ่มกูเรนนิยม (Gulenist) กลุ่มนี้สนับสนุนแนวคิดของนาย Gulen ซึ่งเป็นครูสอนศาสนาอิสลามที่มีอิทธิพลของตุรกี กลุ่มนี้สนับสนุนให้ศาสนจักรมีบทบาทในการปกครองประเทศเช่นเดียวกับกลุ่มของนาย Erdogan แต่ไม่สนับสนุนให้ผู้เลื่อมใสแนวทางนี้เป็นนักการเมืองโดยตรงเพราะอาจทำให้ชื่อเสียงมัวหมองจากการแปดเปื้อนไปกับการเมือง แต่จะเลือกวิธีทำตัวเป็นแบบอย่างให้คนข้างเคียงศรัทธาและแทรกซึมเข้าไปกับคนในทุกระดับชั้นของสังคมเพื่อให้มีอิทธิพลกำหนดแนวคิดและทัศนะทางการเมืองของมหาชน ตลอดจนชักจูงให้คล้อยตามกับอุดมการณ์ของตน หลักคิดของนาย Gulen สืบทอดมาจากลัทธิซูฟีที่มีที่มาต่างจากหลักคิดทางศาสนาของพรรค AK ของนาย Erdogan
ในอดีตการเมืองของตุรกีมักมีทหารเป็นผู้กุมอำนาจ หากฝ่ายการเมืองไม่ปฏิบัติตามทิศทางที่ฝ่ายทหารเห็นชอบ รัฐบาลนั้นๆ มักจะถูกทำรัฐประหารหรือก็บีบให้ลาออก สำหรับข้อขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นเรื่องอ่อนไหวในตุรกีคือคำถามที่ว่า จะยินยอมให้หลักศาสนาเข้ามาอิทธิพลหรือข้องแวะกับอาณาจักร (secular state) ได้มากเพียงใด? ปัญหานี้มีความรุนแรงถึงขั้นที่รัฐบาลตุรกีต้องประกาศห้ามสตรีอิสลามโพกผ้าคลุมศีรษะในที่สาธารณะ (คนตุรกีส่วนใหญ่นับถืออิสลาม) อยู่ระยะหนึ่ง ขณะเดียวกันกลุ่มนิยมศาสนาก็พยายามต่อสู้ทางการเมืองเพื่อให้แนวคิดและหลักปฏิบัติทางศาสนาอิสลามมีส่วนร่วมในการบริหารปกครองบ้านเมืองให้มากขึ้น
ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ในระยะแรกฝ่ายของนาย Erdogan และ นาย Gulen ได้ร่วมมือกันเป็นพันธมิตรทางการเมืองเพื่อขจัดอิทธิพลของเหล่าทหารให้ออกจากการเมืองซึ่งประสบผลสำเร็จด้วยดีจนสามารถลดอิทธิพลของฝ่ายทหารไปได้ในระดับหนึ่ง แต่ท้ายที่สุดทั้งสองฝ่ายกลับแตกคอกันเนื่องจากการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันเอง ล่าสุดมีการการเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลของนาย Erdogan ที่จะนำพื้นที่สวนสาธารณะไปสร้างเป็นตึกอาคารพาณิชย์ พรรค AK ก็ตอบโต้ด้วยการกดดันรวมถึงจับกุมต่อผู้ต่อต้านและพลพรรคผู้นิยมนาย Gulen จนนาย Gulen ต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 1999
สำหรับการทำรัฐประหารเมื่อคืนวันศุกร์ที่ 15 ที่ผ่านมา รัฐบาลนาย Erdogan ยืนยันว่าเป็นฝีมือของกลุ่มนิยมนาย Gulen แต่จากการที่รัฐบาลทำการกวาดล้างผู้คนอย่างไม่เลือกหน้า จนขณะนี้จึงมียอดผู้เสียชีวิตสูงกว่า 45,000 คน ครอบคลุมคนเกือบทุกระดับอาชีพ ไม่เว้นแม้แต่ครู อาจารย์ในมหาวิทยาลัย ด้วยเหตุนี้ จึงมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า ข้อกล่าวอ้างของนาย Erdogan นั้นไม่น่าจะเป็นจริง เพราะแม้แต่นายพลอดีตผู้บังคับบัญชากองทัพอากาศตุรกีที่ถูกจับได้ซึ่งรัฐบาลอ้างว่าเป็นผู้นำฝ่ายขบถยังปฎิเสธว่าตนเองไม่มีส่วนรู้เห็น จึงมีนักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า การรัฐประหารครั้งนี้น่าจะเป็นการจัดฉากของนาย Erdogan เสียเองมากกว่า แต่เมื่อพิจารณาจากหลักฐานเชิงประจักษ์ จะเห็นว่าการปะทะระหว่างทหารที่ทำการรัฐประหารกับฝ่ายมวลชนของพรรค AK ที่ออกมาต่อต้านเป็นไปอย่างรุนแรงและมีผู้เสียชีวิตมากมาย จึงไม่น่าจะเป็นการจัดฉากอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์
ผมเชื่อว่า อาจเป็นไปได้ที่ฝ่าย Kemalist ที่ส่วนใหญ่เป็นทหาร เป็นผู้ทำรัฐประหาร แต่เมื่อทำไม่สำเร็จ รัฐบาลของนาย Erdogan จึงฉวยโอกาสป้ายความผิดให้ไปกับกลุ่ม Gulenist เพื่อจะได้ถือโอกาสกวาดล้างฝ่ายต่อต้านการทางเมืองของตนไปเสียให้หมดไปจากตุรกี ทั้งยังถือโอกาสกระชับอำนาจของตนเอง ซึ่งที่ผ่านมานาย Erdogan ก็มีชื่อเสียงในทางไม่ดีในทำนองนี้มานานแล้ว อีกไม่นานเราคงได้เห็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกลายร่างเป็นรัฐบาลเผด็จการพลเรือนอย่างเต็มตัว
ภาพประกอบจาก Nation TV, EPA