‘ฟางเส้นสุดท้าย’ เกษตรกร : ปัญหาหนี้นอกระบบ รุนแรงมากขึ้น
หลายคนอาจไม่ทราบว่าสถานการณ์หนี้นอกระบบของเกษตรกรล่าสุดเป็นอย่างไร?
งานวิจัยชิ้นใหม่ของ มูลนิธิชีวิตไท (โลโคลแอค) Towards Organic Asia กลุ่มกสิกรรมธรรมชาติโพธาราม และสภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย โดยได้รับความช่วยเหลืออย่างดีจากศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม พิมพ์ออกมาเป็นหนังสือชื่อ ‘หนี้นอกระบบเกษตรกร ฟางเส้นสุดท้าย สู่การสูญเสียที่ดิน’ พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ ผู้อำนวยการ มูลนิธิชีวิตไท ผู้คร่ำหวอดกับงานวิจัยหนี้สินของชาวนา ให้ข้อมูลผ่านบทนำไว้อย่างน่าสนใจ
‘สำนักข่าวอิศรา’ (www.isranews.org) เรียบเรียงเนื้อหาส่วนหนึ่งมาเสนอ
ในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์หนี้นอกระบบเกษตรกร ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้เกษตรกรในชนบทหลายจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง เผชิญปัญหาที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม นอกจากจะมีหนี้สินเรื้อรังกับสถาบันการเงินที่ไม่สามารถชำระคืนแล้ว เกษตรกรยังมีปัญหาหนี้นอกระบบอีกหลายแหล่งเพิ่มเข้ามา ทำให้ในรอบหลายปีที่ผ่านมา มักมีข่าวกรณีที่เกษตรกรหรือชาวนาตัดสินใจฆ่าตัวตาย เนื่องจากไม่สามารถหาทางออกจากปัญหาหนี้ที่พอกพูน และต้องเผชิญกับภาวะบีบคั้นทางจิตใจ
แม้หน่วยงานรัฐจะตระหนักถึงปัญหาหนี้นอกระบบของเกษตรกร และมีโครงการช่วยเหลืออยู่บ้าง เช่น การลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบเพื่อให้ทราบจำนวนและปริมาณหนี้ การโอนย้ายจากหนี้นอกระบบมาเป็นหนี้ในระบบ การให้เงินกู้ยืมอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อนำไปใช้หนี้นอกระบบ หรือแม้แต่การช่วยเหลือด้านคดีความหากถูกฟ้องร้องดำเนินคดี แต่ปัญหาหนี้นอกระบบเกษตรกรไม่ได้ลดลงเลย กลับทวีความรุนแรงมากขึ้น และมีจำนวนเกษตรกรที่เป็นหนี้นอกระบบเพิ่มมากขึ้น แสดงว่าแนวทางแก้ปัญหาของหน่วยงานรัฐที่ผ่านมา ยังแก้ไขได้ไม่ตรงจุด ไม่เท่าทันกับความซับซ้อนของปัญหาที่เปลี่ยนแปลงไปในสภาพปัจจุบัน หรือเป็นเพียงการแก้ไขที่ปลายเหตุ แต่ไม่ใช่การมองปัญหาแบบรอบด้าน เพื่อแก้ไขที่ต้นเหตุให้ตรงจุด
ปัญหาหนี้นอกระบบเกษตรกร ไม่ใช่ลำพังเพียงปัญหาเชิงพฤติกรรมของเกษตรกร หรือปัญหารายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย เกษตรกรจึงเป็นหนี้เท่านั้น แต่ปัญหาหนี้นอกระบบเกษตรกร เกี่ยวโยงกับปัญหาโครงสร้างการผลิตที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังของภาคเกษตรกรรรม รวมไปถึงความไม่เป็นธรรมของสถาบันการเงิน อันส่งผลกระทบต่อเนื่องที่เรียกว่าหนี้ในระบบก่อให้เกิดหนี้นอกระบบ และการเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม ทำให้ถูกเจ้าหนี้นอกระบบเอาเปรียบด้วยสัญญาขายฝากและสัญญาจำนองที่ไม่เป็นธรรม และอาจรวมถึงการถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ถูกยึดที่ดินขายทอดตลาด ส่งผลกระทบไปถึงสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ของครอบครัว และการสูญเสียที่ทำกินของเกษตรกร
เกษตรกรในสังคมไทยร้อยละ 78 หรือสูงกว่านี้ มีหนี้สินจากการลงทุนทำการเกษตรกับสถาบันการเงินของรัฐและเอกชน แต่เมื่อเกษตรกรขาดทุนจากการผลิตซ้ำซากจากโครงสร้างการผลิตที่ไม่เป็นธรรม เมื่อเกษตรกรกู้เงินถึงเพดานการกู้ของสถาบันการเงินแล้ว เกษตรกรจึงหันไปพึ่งแหล่งเงินกู้นอกระบบเพื่อลงทุนทำการเกษตรแทน รวมถึงเกษตรกรจำนวนมากเลือกที่จะรักษาเครดิตการกู้ยืมกับสถาบันการเงินไว้เพื่อให้กู้ได้ในคราวต่อไป ด้วยการกู้ยืมแหล่งเงินกู้นอกระบบมาใช้คืนแหล่งเงินกู้ในระบบ ทำให้ปัญหาหนี้นอกระบบเกี่ยวโยงกับหนี้ในระบบอย่างแยกกันไม่ขาด
สถาบันการเงินที่มีเจตนารมณ์ช่วยเหลือเกษตรกรยากจน ส่งเสริมการออม ให้เงินกู้ยืมโดยไม่คิดอัตราดอกเบี้ย และไม่จำเป็นต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน คือสิ่งที่สังคมไทยยังขาดแคลน ทำให้เกษตรกรยากจน เมื่อตกอยู่ในภาวะวิฤตจำเป็นต้องใช้เงินและไม่มีที่พึ่ง จำต้องยอมกู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้นอกระบบ แม้จะต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 20 ต่อเดือน หรือสูงกว่านั้น หากเป็นการกู้ยืมเงินจากธุรกิจเงินกู้ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ‘หมวกกันน็อค’ ก็อาจรวมไปถึงความเสี่ยงที่จะถูกติดตาม คุกคาม ทำร้ายร่างกาย และทำให้อับอายขายหน้า จนไม่สามารถพบหน้าคนอื่น หรือไม่สามารถอยู่ในชุมชนได้อีกก็ตาม
มีข้อเสนอว่าการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเกษตรกร ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาหนี้ในระบบ ต้องจัดการปัญหาที่ต้นตอ คือการพัฒนาศักยภาพเกษตรกร ไม่ให้ขาดทุนจากการผลิตซ้ำซาก เพราะแม้ภาครัฐจะให้ความช่วยเหลือแก้ปัญหาหนี้นอกระบบบ้างในบางโอกาส แต่หากไม่พัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้มีรายได้ที่มั่นคง เกษตรกรก็จะหันกลับไปพึ่งพิงแหล่งเงินกู้ในระบบและนอกระบบอีก การช่วยเหลือของรัฐจึงควรตั้งอยู่บนพื้นฐานการลงทุนทางสังคม สร้างคุณค่าใหม่และแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาทำระบบเกษตรที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
และมีข้อเสนอด้วยว่าสถาบันการเงินของรัฐในปัจจุบัน โดยเฉพาะสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกร ยังมีนโยบายการช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่ถูกต้อง ควรปรับปรุงนโยบายในองค์รวม ไม่ใช่เพียงการให้เงินกู้ยืมเพื่อการเกษตรเท่านั้น แต่ควรมีนโยบายรักษาที่ดินเพื่อการเกษตรให้อยู่ในมือของเกษตรกร สร้างแรงจูงใจและให้คุณค่ากับการผลิตที่ยั่งยืน สนับสนุนการพึ่งตนเองด้านการผลิตมากกว่าสนับสนุนการกู้ยืมของเกษตรกร หรือเอื้อโอกาสให้เกษตรกรหาเงินมาชำระหนี้และไถ่ถอนคืนที่ดิน แทนการยึดที่ดินเกษตรกรขายทอดตลาด ในอนาคตอันใกล้ เพื่อรักษาที่ดินการเกษตรไว้ในมือของเกษตรกรรายย่อย ควรมีสถาบันธนาคารที่ดิน เพื่อซื้อที่ดินของเกษตรกร ไม่ให้หลุดไปอยู่กับนักเก็งกำไรและกว้านซื้อที่ดิน ดังที่มีสถิติในปัจจุบันว่า มีที่ดินเกษตรกรอยู่ระหว่างการถูกจำนองและขายฝากถึง 30 ล้านไร่ หรืออาจจะมากกว่านั้น
แม้การสูญเสียที่ดินของเกษตรกร ไม่ได้มีที่มาจากปัญหาหนี้สิน และโครงสร้างการผลิตที่ไม่เป็นธรรมเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีที่มาจากนโยบายและโครงการพัฒนาของรัฐในด้านต่างๆ เช่น การประกาศเขตป่าอุทยานแห่งชาติ เขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตที่ดินสาธารณะประโยชน์ และเขตเหมืองแร่ทับที่ดินทำกินของเกษตรกร ทำให้เกษตรกรขาดความมั่นคงในการถือครองที่ดิน และส่งผลต่อระบบการผลิตที่ไม่ยั่งยืน หากแต่ปัญหาหนี้สิน และโครงสร้างการผลิตที่ไม่เป็นธรรม ส่งผลกระทบในภาพกว้างต่อเกษตรกรถึงร้อยละ 80 ของประเทศ ที่ยังคงทำการผลิตในระบบเกษตรเคมี นำมาซึ่งปัญหาหนี้สิน และแนวโน้มการสูญเสียที่ดินในอัตราเร่งที่อันตราย
‘พงษ์ทิพย์’ สรุปว่า ควรจะถึงเวลาที่เกษตรกร และภาครัฐต้องเปลี่ยนแปลงตนเอง เพื่อให้ปัญหาหนี้สินและหนี้นอกระบบเกษตรกร ถูกแก้ไขที่ต้นเหตุของปัญหา ตรงจุดและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้จริง ก่อนที่ปัญหาเหล่านี้จะลุกลาม กลายเป็นฟางเส้นสุดท้าย สู่หายนะและการสูญเสียของภาคเกษตรกรรมอย่างที่ไม่อาจหวนคืนได้
ขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก www.siamintelligence.com