- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เปิดปมชนวนเหตุปลด "ผอ.ไทยพีบีเอส" อนุมัติโครงการวงเงินเกิน50ล.?
เปิดปมชนวนเหตุปลด "ผอ.ไทยพีบีเอส" อนุมัติโครงการวงเงินเกิน50ล.?
"...เงื่อนปมสำคัญของโครงการนี้ เริ่มต้นจากการที่ฝ่ายบริหารได้จัดทำโครงการเสนอต่อ คณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. ให้พิจารณาอนุมัติวงเงินงบประมาณ 800 ล้านบาท เป็นทางการ และผ่านการพิจารณาเรียบร้อยแล้ว แต่ในขั้นตอนปฏิบัติของฝ่ายบริหาร มีการแบ่งสอยย่อยงบประมาณออกเป็นโครงการจัดซื้อแต่ละส่วน ประมาณ 3-4 โครงการ จึงทำให้วงเงินจัดซื้อแต่ละโครงการเมื่อสอยย่อยออกมา มีราคาจัดซื้อแต่ละโครงการเกิน 50 ล้านบาท แม้ว่าจะนับรวมอยู่ในงบประมาณทั้งหมด 800 ล้านบาทแล้วก็ตาม.."
ในคำสั่งเลิกจ้าง นายสมชัย สุวรรณบรรณ ออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส ของคณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. ที่ประกาศออกมาเป็นทางการ เมื่อวันที่ 9 ต.ค.2558 ที่ผ่านมา
หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่นำมาใช้ประกอบการพิจารณาเลิกจ้าง อดีต ผอ.ส.ส.ท. คือ การทำผิดสัญญาจ้างกรณีอนุมัติโครงการที่มีวงเงินเกิน 50 ล้านบาท โดยไม่ได้รับอนุมัติจากกรรมการนโยบายถึง 4 ครั้ง?
คำถามสำคัญ คือ โครงการนี้คือโครงการอะไร? ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกกรณีอนุมัติโครงการที่มีวงเงินเกิน 50 ล้านบาท ของ ผอ.ส.ส.ท.ดังกล่าว
พบว่า เป็นโครงการที่เกี่ยวกับการจัดหาโครงการทีวีดิจิทัล รวมวงเงินกว่า 800 ล้านบาท ของไทยพีบีเอส
เงื่อนปมสำคัญของโครงการนี้ เริ่มต้นจากการที่ฝ่ายบริหารได้จัดทำโครงการเสนอต่อ คณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. ให้พิจารณาอนุมัติวงเงินงบประมาณ 800 ล้านบาท เป็นทางการ และผ่านการพิจารณาเรียบร้อยแล้ว
แต่ในขั้นตอนปฏิบัติของฝ่ายบริหาร มีการแบ่งสอยย่อยงบประมาณออกเป็นโครงการจัดซื้อแต่ละส่วน ประมาณ 3-4 โครงการ จึงทำให้วงเงินจัดซื้อแต่ละโครงการเมื่อสอยย่อยออกมา มีราคาจัดซื้อแต่ละโครงการเกิน 50 ล้านบาท แม้ว่าจะนับรวมอยู่ในงบประมาณทั้งหมด 800 ล้านบาทแล้วก็ตาม
"ฝ่ายบริหารเข้าใจว่า หลังได้รับอนุมัติงบประมาณจำนวน 800 ล้านบาท จากคณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. แล้ว ฝ่ายบริหารสามารถที่จะเริ่มดำเนินการจัดซื้อได้เลย ไม่ต้องนำเรื่องขอเสนออนุมัติต่ออีก"
"แต่เนื่องจากมีการแยกงานจัดซื้ออกเป็นส่วนๆ ส่งผลทำให้งบประมาณการจัดซื้อแต่ละโครงการมีวงงบประมาณเกิน 50 ล้านบาท และการจัดซื้อแต่ละครั้ง ก็ไม่ได้นำขออนุมัติต่อ คณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. จึงทำให้คณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. เห็นว่าเป็นการกระทำที่ผิดระเบียบ ขณะที่การอนุมัติโครงการจัดซื้อที่แบ่งเป็นโครงการย่อยๆ ของฝ่ายบริหาร ถูกระบุว่าลงนามอนุมัติโดย ผอ.ส.ท.ท.จำนวน 2-3 ครั้งด้วย"
ทั้งนี้ ผลจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในขั้นตอนปฏิบัติงานระหว่าง คณะกรรมการนโยบายฯ กับฝ่ายบริหารดังกล่าว ส่งผลทำให้เมื่อวันที่ 28 ส.ค.2558 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้น ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายครั้งที่ 22/2558 ลงวันที่ 19 มิ.ย.2558 ลงนามโดยรองศาสตราจารย์ นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานกรรมการนโยบาย
มีการระบุเนื้อหาในคำสั่งว่า "คณะกรรมการนโยบายเห็นว่า ฝ่ายบริหารใช้วงเงินผิดระเบียบ แต่ฝ่ายบริหารเห็นว่าไม่ผิด ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายจึงมีมติให้มีการสอบข้อเท็จจริงตามข้อเสนอดังกล่าว"
คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงชุดนี้ มีจำนวน 5 ราย ประกอบไปด้วย
1.รองศาสตราจารย์จุรี วิจิตรวาทการ
2. นายสมชาย แสวงการ
3. นายสมชาย หอมลออ
4. นายพูลประโยชน์ ชัยเกียรติ
5. นายนิวัติ แก้วล้วน (ดูเอกสาประกอบ)
โดยในช่วงที่ผ่านมา คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงชุดนี้ ได้นัดประชุมกันมาบ้างแล้ว แต่ปัจจุบันยังไม่มีผลสรุปการสอบสวนออกมาเป็นทางการ
ขณะที่การดำเนินงานในปัจจุบัน ก็ประสบปัญหาเรื่องการลาออกของคณะกรรมการ อาทิ รองศาสตราจารย์จุรี วิจิตรวาทการ และนายสมชาย หอมลออ
นายนิวัติ แก้วล้วน หนึ่งในคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีนี้ ให้สัมภาษณ์ยืนยันกับสำนักข่าวอิศรา ว่า ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะสรุปผลการสอบข้อเท็จจริงกรณีนี้ได้เมื่อไหร่ การประชุมหลายครั้งที่ผ่านมา อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น บอกได้แค่เพียงวงเงินงบประมาณโครงการรวมจำนวนทั้งหมดอยู่ที่ตัวเลข 800 ล้านบาท
นายนิวัติ กล่าวต่อไปว่า แต่สิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ คือ จำนวนคณะกรรมการ ที่มีไม่ครบองค์ประชุม โดยในส่วนรองศาสตราจารย์จุรี วิจิตรวาทการ มีปัญหาสุขภาพลาออกไปนานแล้ว เช่นเดียวกับ นายสมชาย หอมลออ ทำให้เหลือกรรมการแค่ 3 คน
"ล่าสุด มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ 1 คน เข้ามาทำหน้าที่แทน รองศาสตราจารย์จุรี วิจิตรวาทการ แต่เจ้าตัวก็เพิ่งแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบว่า ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่นี้ได้ เนื่องจากขาดคุณสมบัติ ทำให้จำนวนกรรมการยังเหลือแค่ 3 คน เหมือนเดิม"
"ล่าสุดคณะกรรมการได้ทำบันทึกแจ้งไปยังคณะกรรมการนโยบายให้รับทราบข้อเท็จจริงแล้ว ส่วนคณะกรรมการนโยบายจะว่าอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับเขา เราเข้าไปก้าวล่วงอะไรไม่ได้"
ขณะที่ รองศาสตราจารย์จุรี วิจิตรวาทการ ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า การลาออกของตนเกิดขึ้นก่อนที่นายสมชัย จะถูกคำสั่งปลดออกจากตำแหน่ง ผอ.ส.ท.ท.นานแล้ว เนื่องจากมีปัญหาด้านสุขภาพ
"ในการประชุมสองครั้งแรก เราไม่ได้ไปเข้าร่วมอะไรด้วย ขณะที่รายละเอียดของเรื่องก็มีความซับซ้อน เมื่อทำงานได้ไม่เต็มที่จึงขอลาออกจากตำแหน่งดีกว่า" รองศาสตราจารย์จุรีระบุ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2558 ที่ผ่านมา นายสมชัย สุวรรณบรรณ ได้เดินทางมาที่ไทยพีบีเอสเพื่อเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีการอนุมัติโครงการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์โครงข่ายทีวีดิจิทัล ที่มีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท
โดยมีพนักงานไทยพีบีเอส มอบดอกไม้เพื่อให้กำลังใจ
นายสมชัย กล่าวว่า เป็นประเด็นหนึ่งที่คณะกรรมการนโยบาย ใช้เป็นเหตุผลในการเลิกจ้าง คณะกรรมการชุดนี้ตั้งโดยคณะกรรมการนโยบายมาประมาณ 1 เดือนกว่าแล้ว และได้ส่งหนังสือให้ตนมาชี้แจงในวันนี้ (อ้างอิงข้อมูลข่าวนายสมชัย เข้าชี้แจงคณะกรรมการสอบสวนฯ จาก เดลินิวส์ออนไลน์)
ส่วนรายละเอียดการชี้แจงของนายสมชัย ต่อกรณีการอนุมัติโครงการที่มีวงเงินเกิน 50 ล้านบาท ยังไม่มีการเปิดเผยออกมาเป็นทางการในขณะนี้!
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก mgronline.com
อ่านประกอบ :
ฟังจากปาก! “สมชัย สุวรรณบรรณ”ไฉนถูกปลดพ้นเก้าอี้ ผอ.ไทยพีบีเอส
เบื้องหลัง! คำสั่งปลดฟ้าผ่า "สมชัย สุวรรณบรรณ" ช็อคคนไทยพีบีเอส