- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- พลิกบันทึก‘เปรื่อง’ไขปัญหาที่ดิน ‘วัดพระศรีฯ-มรภ.พระนคร’ ก่อน‘พงศ์’เซ็นเช่า9.4 ล.
พลิกบันทึก‘เปรื่อง’ไขปัญหาที่ดิน ‘วัดพระศรีฯ-มรภ.พระนคร’ ก่อน‘พงศ์’เซ็นเช่า9.4 ล.
ย้อนความเป็นมากรณีเช่าที่ดินวัดพระศรีฯ-มรภ.พระนคร จากยุค“เปรื่อง กิจรัตน์ภร”อดีตอธิการฯ สู่ยุค “พงศ์ หรดาล” ก่อนเซ็น 3 ปีเกือบ 10 ล. นำไปสู่ปม กก. ร้อง สตง.สอบเอื้อวัด?
กรณีปัญหาเช่าที่ดินหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร (ผู้เช่า) กับ วัดพระศรีมหาธาตุวรวิหาร(ผู้ให้เช่า) จำนวน 23 แปลง เนื้อที่ 162 ไร่ เป็นเวลา 36 เดือน วงเงิน รวม 9,408,960 บาท ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่ น.ส.ขจิตพรรณ อมรปาน อาจารย์ประจำพุทธวิชชาลัย และกรรมการสภาคณาจารย์และข้าราชการ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ตรวจสอบการบริหารงานของผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร
เงื่อนปมก็คือ ที่ดินที่ทำสัญญาเช่าจำนวน 23 แปลงนั้น เป็นที่ดินของกรมธนารักษ์ (ที่ราชพัสดุ) ซึ่งมหาวิทยาลัยฯเป็นดูแลและใช้ประโยชน์ จำนวน 9 แปลงเนื้อที่ 34-0-15 ไร่ เท่ากับมหาวิทยาลัยฯเช่าที่ดินของมหาวิทยาลัยเองส่วนหนึ่ง (ที่ดินของกรมธนารักษ์ แต่มหาวิทยาลัยดูแล) หรือ เท่ากับยอมรับว่า มหาวิทยาลัยได้ยกที่ดินให้วัด?
นำไปสู่ข้อสงสัยว่าหากเป็นข้อเท็จจริงแล้ว เงินค่าเช่าที่ดินที่จ่ายให้แก่วัดไปแล้วจะทำอย่างไร?
ใครจะต้องรับผิดชอบ?
อย่างไรก็ตาม ในหนังสือ “ลุงเปรื่อง…อีกหนึ่งตำนานราชภัฎ” ของ รศ.ดร.เปรื่อง กิจรัตน์ภร อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ได้บอกเล่าประวัติความเป็นมา ที่ดิน ที่ตั้งของมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครว่า เข้ามารับตำแหน่งอธิการวิทยาลัยครูพระนครในปี พ.ศ.2536 รับรู้ว่าวิทยาลัยต้องจ่ายเงินค่าเช่าที่ดินให้กับวัดทุกปีโดยเบิกจ่ายจากเงินงบประมาณแผ่นดิน จึงพยายามรักษาความสัมพันธ์อันดีกับวัดพระศรีมหาธาตุเสมอมา เมื่อศึกษาประวัติของสถาบัน ก็พบว่าการมาตั้งอยู่ ณ สถานที่นี้มีเรื่องน่าสนใจ
ในพ.ศ. 2483 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ดำริจัดตั้งวัดขึ้น โดยได้ประกาศเขตสังฆาวาสเป็นที่ดินประมาน 50 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินที่ได้รับการบริจาคเงินมาซื้อจากราษฎร และบางส่วนได้รับการบริจาคมาจากตระกูลรัตตกุล โดยคุณวิไล รัตตกุล ปัจจุบันพื้นที่สังฆาวาสมีประมาน 83 ไร่
ต่อมารัฐบาลได้จัดหาที่ดินขยายเพิ่มเติมต่อเนื่องจากเขตสังฆาวาสอีกเกือบ 200ไร่ รวมที่ดินบริเวณสุสานทหารอากาศด้วย ปีพ.ศ. 2495-2497 รัฐบาลจอมพล ป. ได้อนุมัติสร้างอาคาร 3 หลัง เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษา คืออาคารหอนอน 2 หลัง ปัจจุบันคือ อาคาร 5 และ 6 และอาคารเรียน 1 หลัง คือ อาคารโรงเรียนมัธยมสาธิตฯในปัจจุบัน จากนั้นจึงจัดตั้งโรงเรียนมัธยม โดยสังกัดกรมวิสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
รศ.ดร.เปรื่อง กล่าวว่า สำหรับโรงเรียนฝึกหัดครูพระนครนั้น ปีพ.ศ.2499 รัฐบาลจอมพล ป. ต้องการใช้อาคารบริเวณวังจันทรเกษมซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนเป็นที่ทำการของคุรุสภา จึงให้ย้ายโรงเรียนฝึกหัดครูพระนคร มายังที่ตั้งปัจจุบัน โดยระยะแรกใช้อาคารที่โรงเรียนมัธยมและนักเรียนฝึกหัดครูพระนครพักที่หอนอนทั้งสองหลัง จากนั้นจึงอนุมัติงบประมาณสร้างอาคารเรียน ปัจจุบันคืออาคาร 3 การที่โรงเรียนฝึกหัดครูพระนครย้ายมาอยู่ในที่นี้เป็นการย้ายตามนโยบายของรัฐบาล ผู้บริหารทุกคนที่เข้ามาบริหารโรงเรียนฝึกหัดครูจนยกฐานะเป็นวิทยาลัยครู ไม่ได้คิดว่าจะต้องเช่าที่ดินจากวัดพระศรีมหาธาตุหรือหน่วยงานใดทั้งสิ้นและไม่มีหลักฐานในการตั้งงบประมาณส่วนนี้ จนพ.ศ.2527 คุณหญิงพึงใจ สินธวานนท์ เป็นอธิการวิทยาลัยครูพระนคร มีนโยบายไม่รับฝากเด็กเข้าเรียนโรงเรียนมัธยมสาธิตฯเด็ดขาด เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างวิทยาลัยกับวัดพระศรีมหาธาตุ นำไปสู่การที่วัดยื่นฟ้องขับไล่วิทยาลัยครูพระนคร เนื่องจากไม่จ่ายค่าเช่าที่ดินในวัดมากว่า10ปีแล้ว ทำให้รู้ว่ากรมศาสนาเคยเบิกงบประมาณแผ่นดินเหลือจ่ายให้กับวัดพระศรีมหาธาตุเป็นเงินทำบุญปีละ 30,000 บาท ตั้งแต่ พ.ศ. 2515-2516 เพื่อให้มีเงินพอใช้ในกิจของสงฆ์ จนปีพ.ศ.2517 กรมศาสนาจึงขอให้กรมการฝึกหัดครูเบิกเงินทำบุญส่วนนี้ให้กับวัดต่อไปแต่ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ
รศ.ดร.เปรื่อง กล่าวต่อว่า จากการฟ้องขับไล่ในครั้งนั้น ศาลวินิจฉัยว่าเงินที่กรมศาสนาเคยเบิกจ่ายให้วัดเป็นเงินทำบุญ การที่ผู้ทำบุญไม่ทำบุญจะอ้างเป็นเหตุฟ้องขับไล่ไม่ได้ วิทยาลัยครูพระนครเป็นส่วนราชการด้วย แต่เนื่องจากนักเรียน นักศึกษาเดินผ่านวัดมายังโรงเรียนและวิทยาลัย ศาลจึงให้กรมการฝึกหัดครูตั้งงบประมาณเบิกจ่ายเงินทำบุญเป็นค่าทำความสะอาดวัด และกรรมการฝึกหัดครูไม่ได้จ่ายเงินส่วนนี้มานานกว่า10ปี จึงให้จ่ายเงินทำบุญเดือนละ 33,000 บาท
นอกจากนี้ศาลยังบอกว่าในกาลหน้าถ้าจะมีการเช่าที่ดิน ให้คิดค่าเช่าตารางวาละ 50 สตางค์ โดยถือการเช่าครั้งนี้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา ต่อมาในช่วงท่านนิเชต สุนทรพิทักษ์ เป็นอธิบดีกรมการฝึกหัดครู มีนโยบายให้วิทยาลัยครูที่อยู่ในพื้นที่ของวัดทำสัญญาเช่าเป็นเวลาครั้งละ 30 ปี เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา แต่ทางวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขนยังไม่พร้อมทำสัญญาเช่า 30ปี และขอทำสัญญาเช่า 3 ปี ตามอำนาจของอธิบดี
การเบิกจ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินจึงเปลี่ยนจากเงินทำบุญ มาเป็นการเช่าด้วยประการนี้
จนเมื่อปี พ.ศ.2547 สถาบันราชภัฎพระนคร ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเป็นนิติบุคคล กรมการฝึกหัดครูเดิมยุบลงไป คู่สัญญาจึงเปลี่ยนเป็นการทำสัญญาระหว่างมหาวิทยาลัย กับ วัดพระศรีมหาธาตุ โดยวัดขอทำสัญญาเช่าคราวละ 1ปี จากนั้นทุกปีที่มีการต่อสัญญา วัดจะขอปรับขึ้นค่าเช่าในอัตราก้าวหน้าปีละประมาณ 10 % จนค่าเช่าเพิ่มขึ้นเดือนละประมาณ 260,000 บาท ในปีปัจจุบัน เกิดปัญหาระลอกใหม่ในปี พ.ศ.2539 โดยวัดพระศรีแจ้งว่าสัญญาเช่าตลาดศรีมหาธาตุสิ้นสุดลง และมีความเห็นขัดแย้งในคณะกรรมการวัดว่า ควรใช้ประโยชน์จากที่ดินนี้สร้างเป็นหอพัก ศูนย์การค้า สุสาน แต่ในที่สุดเจ้าอาวาสและกรรมการวัดส่วนใหญ่เห็นว่าควรนำที่ดินไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาและศาสนา โดยเน้นการใช้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างวัดกับมหาวิทยาลัย จึงทำหนังสือแจ้งมหาวิทยาลัย มีเอกสารหลักฐานชัดเจน สภามหาวิทยาลัยให้ความเห็นชอบในการใช้ประโยชน์จากที่ดินร่วมกัน มหาวิทยาลัยจึงของบประมาณแผ่นดินเพิ่มเติมเพื่อสร้างอาคารพุทธวิชชาลัย เป็นอาคารเรียนรวมและศูนย์วัฒนธรรม
“ ระหว่างที่กำลังก่อสร้างเกิดความขัดแย้งภายในองค์กรของวัด วัดได้ขอให้มหาวิทยาลัยทำสัญญาเช่าโดยอ้างมติของมหาเถรสมาคมที่กำหนดให้มีการทำสัญญาเช่า มิฉะนั้นวัดจะฟ้องขอที่ดินคืน ถ้าไม่ทำสัญญาเช่ามีเรื่องฟ้องร้องการก่อสร้างอาคารต้องยุติผู้รับเหมาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากมหาวิทยาลัยได้ เจ้าอาวาสได้ให้ไวยาวัจกรขณะนั้นคือ น.อ.ประสาน ประพันธ์รัตน์ ขอร้องให้ทำสัญญาไปก่อนเพื่อแก้ปัญหา จึงตกลงทำสัญญาเช่าที่ดินบริเวณที่ใช้สร้างพุทธวิชชาลัย โดยตั้งเบิกงบประมาณแผ่นดิน จนอาคารสร้างเสร็จ” รศ.ดร.เปรื่องกล่าว และว่า
มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครจึงต้องทำสัญญาเช่าที่ดินกับวัดพระศรีมหาธาตุถึง 2 ฉบับ โดยเบิกงบประมาณแผ่นดินมาจ่ายคู่สัญญาเดียวกันทั้งสองยอด สองสัญญานี้ยังมีลักษณะแบบก้าวหน้า ขึ้นค่าเช่าทุกปี ถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไปในอนาคต 10-20 ปี มหาวิทยาลัยต้องใช้งบจำนวนมาก นอกจากนี้ยังทำเอกสารขอให้วัดพิจารณาทบทวนค่าเช่าเพื่อให้เป็นไปเพื่อการศึกษาและข้อเสนอของศาล แต่ทางวัดพระศรีฯยังคงยืนยันให้ทำสัญญาแบบก้าวหน้าและยื่นฟ้องต่อศาลในปี พ.ศ.2555 เพื่อบังคับให้มหาวิทยาลัยทำสัญญาแบบก้าวหน้าต่อไป
จากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องตั้งแต่เริ่มมีการจัดตั้งวัด โรงเรียนมัธยม และโรงเรียนฝึกหัดครู ตั้งแต่ปี พ.ศ.2483 เป็นเวลายาวนานแต่ในระหว่างนี้ท่านนายกสภามหาวิทยาลัย อัยการและกรมธนารักษ์ ได้ให้คำแนะนำมหาวิทยาลัยปฏิบัติ 2เรื่องสำคัญดังนี้
1.ให้มหาวิทยาลัยทำหนังสือไปยังมหาเถรสมาคม เพื่อรายงานความเป็นมาและขอทบทวนค่าเช่าที่ดินโดยให้เป็นไปเพื่อการศึกษาและ ขอทำสัญญาเช่าที่ดินเป็นระยะเวลาคราวละ 30 ปี
2. กรมธนารักษ์ซึ่งเป็นผู้ดูแลทรัพย์สินของแผ่นดินเห็นว่า การตั้งอยู่ของมหาวิทยาลัยเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล อาคารสถานที่ของมหาวิทยาลัยล้วนมาจากงบแผ่นดินและเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน จึงขอให้มีการตั้งคณะกรรมการประกอบด้วย สำนักพุทธศาสนา มหาวิทยาลัย และกรมธนารักษ์ เพื่อศึกษาและทำประวัติของมหาวิทยาลัย ให้มหาวิทยาลัยมีความมั่นใจในการดำเนินงานจัดการศึกษาต่อไป
“ระหว่างที่มีข้อปัญหาขัดแย้งอยู่ บางคนบอกว่าจ่ายเงินให้เขาไปเสียเพราะยังไงก็เงินงบแผ่นดิน แต่ผมไม่ต้องการให้เรื่องนี้เป็นภาระของผู้บริหารรุ่นหลัง การใช้งบแผ่นดินไปจ่ายค่าเช่ามากมายในอนาคต จะทำให้ไม่มีงบพัฒนามหาวิทยาลัย อาจนำไปสู่การเพิ่มค่าธรรมเนียมนักศึกษา จึงเป็นการดีที่จะนำปัญหานี้ไปให้ส่วนราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับรู้และร่วมกันแก้ไขปัญหาต่อไป”
ข้างต้นคือความเป็นมาของปัญหาที่ดินวัดพระศรีฯ กับ มรภ.พระนคร ก่อนที่ ดร.พงศ์ได้ทำสัญญาเช่า 3 ปี และถูก ร้องเรียนไปยัง สตง.ให้ตรวจสอบ อยู่ในขณะนี้
อ่านประกอบ:
ฉบับเต็ม!หนังสือกรมธนารักษ์ท้วงปมที่ดิน มรภ.พระนคร-ก่อนถูกร้องเอื้อวัดพระศรีฯ
เปิดสัญญาเช่าที่ดินวัดพระศรีฯ 162 ไร่ ชนวนชง สตง.สอบ ‘มรภ.พระนคร’
อาจารย์สาวยื่น สตง.สอบ 5 ปมรวด อธิการฯ มรภ.พระนคร-เช่าที่ดินวัดพระศรีฯด้วย
ไทม์ไลน์: มรภ.พระนคร จ้างทำความสะอาด 1.2 ล. 2 ปมเงื่อนที่ยังไม่เคลียร์?