- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เปิดละเอียดผลสอบสตง.ชี้สารพัดปัญหา"อภิมหาหอประชุมฯ" โคราช 161 ล้าน
เปิดละเอียดผลสอบสตง.ชี้สารพัดปัญหา"อภิมหาหอประชุมฯ" โคราช 161 ล้าน
"..สำหรับส่วนราชการค่าเช่า 12,000 บาท/8 ชั่วโมง คาดว่าจะมีส่วนราชการขอใช้ประมาณเดือนละ 8 ครั้ง คิดเป็นเงิน 96,000 บาท กำไรจากต้นทุนที่ประมาณค่าใช้จ่ายครั้งละ1,042.72 บาท ส่วนราชการขอใช้คิดเฉพาะค่าใช้จ่ายจริงไม่รวมค่าบริหารจัดการ ค่าเสื่อมราคาค่าผลประโยชน์ สรุป กำไรเดือนละ 8,341.76 บาท.."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นรายละเอียดในรายงานการตรวจสอบดำเนินงานโครงการก่อสร้างอาคารหอประชุมอเนกประสงค์อำเภอเมืองนครราชสีมาของที่ทำการปกครองอำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมาปีงบประมาณ 2555 กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย วงเงิน 161 ล้านบาท ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่เผยแพร่เป็นทางการเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2558 ที่ผ่านมา
-------------
ในปีงบประมาณ 2551 อำเภอเมืองนครราชสีมาจัดทำโครงการก่อสร้างอาคารหอประชุมอเนกประสงค์อำเภอเมืองนครราชสีมา เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างจากกรมการปกครอง โดยเป็นอาคารชั้นเดียวขนาดกว้าง 56 เมตร ยาว 70 เมตร พื้นที่อาคาร 3,600 ตารางเมตรพร้อมติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ตกแต่งภายใน ติดตั้งระบบเสียง เก้าอี้ประชุมและโต๊ะอเนกประสงค์ตลอดจนการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณรอบหอประชุม รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 49.78 ล้านบาท ในพื้นที่สาธารณะประโยชน์บึงหัวทะเล เพื่อใช้ในการประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้านและสามารถใช้ในการประชุมสัมมนา จัดนิทรรศการ จัดงานต่างๆ ของส่วนราชการต่างๆ มีที่จอดรถเพียงพอ และเป็นอาคารที่งามสง่า มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณแต่อย่างใด
ในปีงบประมาณ 2553 อำเภอเมืองนครราชสีมาจัดทำโครงการก่อสร้างอาคารหอประชุมอเนกประสงค์อำเภอเมืองนครราชสีมา ขึ้นใหม่ โดยเป็นอาคารชั้นเดียวขนาดกว้าง 110 เมตรยาว 118 เมตร พื้นที่อาคาร 9,400 ตารางเมตร พร้อมติดตั้งเครื่องปรับอากาศตกแต่งภายใน ติดตั้งระบบเสียง เก้าอี้ประชุมและโต๊ะอเนกประสงค์ สามารถรองรับผู้เข้าร่วมประชุมได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 คนจากเดิมงบประมาณโครงการฯ 49.78 ล้านบาท เพิ่มเป็น 161.66 ล้านบาท ในพื้นที่สาธารณประโยชน์
บึงหัวทะเล เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงมหาดไทย ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้มอบให้กรมการปกครองนำโครงการฯ เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ไปยังกระทรวงการคลัง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2553 อนุมัติให้ดำเนินโครงการฯ และอนุมัติการจัดสรรวงเงินเหลือจ่ายตามพระราชกำหนดให้อำนาจ กระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 วงเงิน 161.66 ล้านบาท
โดยให้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยดำเนินการ และจังหวัดนครราชสีมาได้มอบหมายให้ที่ทำการปกครองจังหวัดนครราชสีมา ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานประสานกับกรมการปกครองซึ่งเป็นต้นสังกัด จังหวัดนครราชสีมาได้รับจัดสรรงบประมาณโครงการฯ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม2554 โดยการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณแผนงานการลงทุนเพื่อการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตในระดับชุมชนและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเงิน 159.00 ล้านบาท
จังหวัดนครราชสีมา ดำเนินการจัดจ้างตามสัญญาจ้างเลขที่ E1/2554 ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2554 มูลค่าตามสัญญา 159.00 ล้านบาท กำหนดส่งมอบงานภายใน 360 วัน ครบกำหนดวันที่ 30 กันยายน 2555 แต่มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจ้าง จำนวน 4 ครั้ง โดยขยายเวลาก่อสร้างถึงวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 ผู้รับจ้างก่อสร้างแล้วเสร็จ ส่งมอบงานงวดสุดท้ายเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2556 และคณะกรรมการตรวจการจ้างได้ตรวจรับงานเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2556 ซึ่งสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดนครราชสีมา ได้ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างโครงการดังกล่าวแล้ว
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ตรวจสอบการใช้ประโยชน์ตามแผนบริหารจัดการโครงการก่อสร้างอาคารหอประชุมอเนกประสงค์อำเภอเมืองนครราชสีมา โดยมีประเด็นข้อตรวจพบ ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 การดำเนินโครงการไม่บรรลุวัตถุประสงค์
ข้อตรวจพบที่ 2 การบริหารจัดการแผนงานของโครงการขาดประสิทธิภาพ
โดยมีรายละเอียดแต่ละประเด็น ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 การดำเนินโครงการไม่บรรลุวัตถุประสงค์
อำเภอเมืองนครราชสีมาได้จัดทำโครงการก่อสร้างอาคารหอประชุมอเนกประสงค์อำเภอเมืองนครราชสีมา โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. เป็นอาคารหอประชุมอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ใช้งานได้ในหลายกิจกรรม
2. เพื่อใช้เป็นที่ประชุมประจำเดือนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
3. เพื่อให้เป็นศูนย์รวมให้ส่วนราชการต่างๆ ได้ใช้เป็นที่ประชุมสัมมนา จัดงานนิทรรศการงานแสดงสินค้า จัดกิจกรรมส่วนรวมและจัดเลี้ยงต่างๆ
4. จัดงานพระราชพิธีต่างๆ
จากการตรวจสอบ พบว่า จังหวัดนครราชสีมาส่งมอบอาคารหอประชุมฯ ให้อำเภอเมืองนครราชสีมา เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2556 สำนักงานธนารักษ์พื้นที่นครราชสีมาได้ขึ้นทะเบียนสิ่งปลูกสร้างบนที่ราชพัสดุ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2557 และทะเบียนอาคาร/สิ่งปลูกสร้าง แบบ ทร.01/2 หลังจากอำเภอเมืองนครราชสีมาได้รับมอบทรัพย์สินเป็นระยะเวลา 12 เดือน (เดือนตุลาคม 2556 – กันยายน 2557) พบว่า อาคารหอประชุมฯ มีการใช้ประโยชน์ได้เพียงบางวัตถุประสงค์ ดังนี้
-ใช้จัดเป็นที่ประชุมประจำเดือนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จำนวน 10 ครั้ง ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2556 ถึงเดือนกันยายน 2557
-ใช้จัดเป็นที่อบรม จัดงานเลี้ยง จำนวน 2 ครั้ง ได้แก่ โครงการอบรมให้ความรู้กับผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะ จำนวน 1,800 คน ของสำนักงานขนส่งจังหวัดนครราชสีมา จัดงานเลี้ยงและพิธีเปิดการแข่งขัน ของคณะกรรมการสเปเชียลโอลิมปิคแห่งประเทศไทย โดยอำเภอเมืองนครราชสีมาไม่ได้จัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้สถานที่ เพียงแต่หน่วยงานผู้ขอใช้เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ได้แก่ ค่าทำความสะอาดและจัดสถานที่ ค่าน้ำ ค่ากระแสไฟฟ้าจัดเก็บตามหน่วยไฟฟ้าที่ใช้งานจริง
จากการสัมภาษณ์ และสอบถามกลุ่มเป้าหมาย (กลุ่มตัวอย่าง) ของโครงการ ได้แก่ นายกสมาคมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านอำเภอเมืองนครราชสีมา จำนวน 1 ราย หน่วยงานราชการ จำนวน 12 ราย หน่วยดำเนินการจัดงาน จำนวน 14 ราย ผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้า จำนวน 28 ราย รวม 55 ราย สรุปความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ของโครงการโดยแยกตามวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. เพื่อใช้เป็นที่ประชุมประจำเดือนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โดยสัมภาษณ์นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้าน สรุปได้ว่า อาคารหอประชุมฯ มีการออกแบบและก่อสร้างไม่เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ได้แก่ ปัญหาระบบเสียงก้อง ติดตั้งระบบปรับอากาศขนาดใหญ่เกินไป ระบบประปาไม่สะอาด หลังคาชำรุดไม่ติดตั้งกล้องวงจรปิด
2. เพื่อให้เป็นศูนย์รวมให้ส่วนราชการต่างๆ ได้ใช้เป็นที่ประชุมสัมมนา จัดงานนิทรรศการงานแสดงสินค้า จัดกิจกรรมส่วนรวมและจัดเลี้ยงต่างๆ โดยการสอบถามข้อคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างอาคารหอประชุมฯ สรุปได้ว่า หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนไม่ทราบว่า มีการก่อสร้างอาคารหอประชุมฯ คิดเป็นร้อยละ 58.00 – 92.90 และไม่ทราบว่าหอประชุมฯ ได้เปิดให้ใช้แล้วคิดเป็นร้อยละ 58.30 – 100 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมาก
3. เพื่อจัดงานพระราชพิธีต่างๆ พบว่า อำเภอเมืองนครราชสีมา และจังหวัดนครราชสีมาไม่เคยใช้อาคารหอประชุมฯ ในการจัดงานพระราชพิธีแต่อย่างใด และจากการสอบถามความคิดเห็นของหน่วยงานราชการ สรุปได้ว่า หอประชุมฯ เป็นอาคารขนาดใหญ่ หากใช้ในการจัดงานพระราชพิธีควรเป็นพระราชพิธีเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนาง
เจ้าพระบรมราชินีนาถ เนื่องจากมีประชาชนทุกกลุ่มอาชีพเข้าร่วมงาน เป็นจำนวนมาก
จากผลการตรวจสอบข้างต้น จะเห็นได้ว่าหน่วยงานราชการที่มีลักษณะงานในการจัดงานต่างๆ รวมถึงผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมงาน ยังมีปัญหาในการใช้อาคารหอประชุมฯ อยู่หลายประการ เช่น หอประชุมฯ อยู่ไกลจากตัวเมืองนครราชสีมา ยังขาดการบริหารจัดการที่ดี และ ขาดการประชาสัมพันธ์ เป็นต้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลให้การดำเนินโครงการฯ ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
ข้อตรวจพบที่ 2 การบริหารจัดการแผนงานของโครงการขาดประสิทธิภาพ
ปีงบประมาณ 2553 อำเภอเมืองนครราชสีมา จัดทำโครงการก่อสร้างอาคารหอประชุมอเนกประสงค์อำเภอเมืองนครราชสีมา โดยเป็นอาคารชั้นเดียวขนาดกว้าง 110 เมตร ยาว 118 เมตร พื้นที่อาคาร 9,400 ตารางเมตร พร้อมติดตั้งเครื่องปรับอากาศตกแต่งภายใน ติดตั้งระบบเสียง เก้าอี้ ประชุมและโต๊ะอเนกประสงค์ ขนาดความจุไม่น้อยกว่า 2,000 คน งบประมาณ 161.66 ล้านบาท
ในพื้นที่สาธารณประโยชน์บึงหัวทะเล โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้มอบให้กรมการปกครองนำโครงการดังกล่าวขอรับการสนับสนุนงบประมาณ ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ต่อกระทรวงการคลัง ต่อมาสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะกระทรวงการคลัง ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการกลั่นกรองและบริหารโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ให้อำเภอเมืองนครราชสีมา (เจ้าของโครงการ) จัดส่งข้อมูลเกี่ยวกับแผนการดำเนินโครงการ แผนการใช้งานหอประชุม และแผนการบริหารจัดการโครงการหลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จ เพื่อประกอบการพิจารณา ซึ่งอำเภอเมืองนครราชสีมาได้จัดส่งแผนดังกล่าว ให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ โดยแต่ละแผนงานมีรายละเอียด ดังนี้
1. แผนการดำเนินโครงการก่อสร้างหอประชุม งบประมาณ 161.66 ล้านบาท
ประกอบด้วยงานถมดิน งานถนน พื้นที่ลานจอดรถ ทางจราจร พื้นที่โล่งใต้หลังคา พื้นที่ปรับอากาศ พื้นที่ส่วนไม่ปรับอากาศ พื้นที่ห้องเครื่อง
2. แผนการใช้หอประชุม เป็นแผนที่กำหนดกิจกรรมการใช้หอประชุม จำนวน
8 กิจกรรม โดยแต่ละกิจกรรมมีการกำหนดตัวชี้วัดชัดเจน ได้แก่ ใช้จัดประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบงานรัฐพิธี จัดงานนิทรรศการแสดงสินค้า OTOP จัดการแข่งกีฬา เปิดให้เช่าจัดงานเลี้ยง ประชุมสัมมนา
3. แผนการบริหารจัดการโครงการหลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จ เป็นแผนการใช้พื้นที่ หอประชุมอำเภอเมืองนครราชสีมา ประกอบด้วย ใช้จัดการประชุมประจำเดือนหัวหน้าส่วนราชการกำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯลฯ ผู้บริหารและพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดงานรัฐพิธีต่างๆ เป็นศูนย์จัดนิทรรศการและแสดงสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ OTOP ของดี 4 ภาค ของดีระดับภาคและของดีระดับท้องถิ่น มีพื้นที่ขายของที่ระลึก มีพื้นที่ขายอาหาร/ศูนย์อาหาร มีสถานที่จอดรถ และมีสำนักงานบริหารจัดการหอประชุม
ประมาณการค่าใช้จ่าย งบประมาณรายจ่ายในการใช้อาคารหอประชุมฯต่อวัน (8 ชั่วโมง) คิดเป็นเงิน 13,696.66บาท ประกอบด้วย ค่าไฟฟ้าแสงสว่างและปลั๊ก ค่าไฟฟ้าเครื่องปรับอากาศ ค่าน้ำประปา ค่าจ้างผู้จัดการศูนย์ประชุม ค่าจ้างเจ้าหน้าที่การตลาด ค่าแม่บ้าน พนักงานโสต และช่างไฟฟ้า ค่าพนักงานรักษาความปลอดภัยและคนสวน และค่าบริหารจัดการ ค่าเสื่อมราคาค่าผลประโยชน์ 25%
ประมาณการรายรับ
- สำหรับส่วนราชการค่าเช่า 12,000 บาท/8 ชั่วโมง คาดว่าจะมีส่วนราชการขอใช้
ประมาณเดือนละ 8 ครั้ง คิดเป็นเงิน 96,000 บาท กำไรจากต้นทุนที่ประมาณค่าใช้จ่ายครั้งละ1,042.72 บาท ส่วนราชการขอใช้คิดเฉพาะค่าใช้จ่ายจริงไม่รวมค่าบริหารจัดการ ค่าเสื่อมราคาค่าผลประโยชน์ สรุป กำไรเดือนละ 8,341.76 บาท
- สำหรับภาคเอกชนขอใช้ในวันหยุดราชการ และภาคกลางคืนของวันราชการ คาดว่าจะมีผู้มาขอใช้ประมาณเดือนละ 8 ครั้ง อัตราค่าเช่าครั้งละ 15,000 บาท เป็นเงิน 120,000 บาท กำไรจากต้นทุนที่ประมาณค่าใช้จ่ายครั้งละ 1,303.34 บาท สรุปกำไรเดือนละ 10,426.72 บาท ตามแผนฯ กำหนดให้สมาคมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านอำเภอเมืองนครราชสีมาเป็นผู้บริหาร จัดการหอประชุมทั้งหมด รายได้จากการบริหารจัดการจะเป็นของสมาคมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ โดยขอยกเว้น การนำเงินส่งคลังเพื่อเป็นรายได้แผ่นดินตามระเบียบการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังในหน้าที่อำเภอและกิ่งอำเภอ พ.ศ. 2520 เพื่อนำมาใช้ในการบริหารจัดการ ปรับปรุง ดูแล บูรณะซ่อมแซม หอประชุม และใช้จ่ายในกิจการของสมาคม ตลอดจนสาธารณประโยชน์อย่างอื่น
จากการตรวจสอบการบริหารแผนงานต่างๆ ของโครงการก่อสร้างหอประชุม
อเนกประสงค์อำเภอเมืองนครราชสีมา ยังขาดประสิทธิภาพ ไม่คุ้มค่า และมีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. การดำเนินโครงการก่อสร้างหอประชุมอเนกประสงค์อำเภอเมืองนครราชสีมา ไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีและไม่เป็นไปตามแผนการก่อสร้าง ดังนี้
1.1การเปลี่ยนแปลงสถานที่ก่อสร้าง
ดำเนินการก่อสร้างอาคารหอประชุมบนที่ราชพัสดุภายในสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ
80 พรรษา ตำบลปรุใหญ่ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา โดยไม่มีเอกสารหลักฐานการขอเปลี่ยนแปลงสถานที่ดำเนินโครงการฯ ซึ่งมิใช่สถานที่เดียวกันกับที่ระบุไว้ในรายละเอียดโครงการฯ คือ พื้นที่สาธารณะประโยชน์บึงหัวทะเล ตำบลหัวทะเล อำเภอเมืองนครราชสีมา ตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองและบริหารโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ได้ให้ความเห็นชอบร่างแผนบริหารจัดการโครงการ
1.2 การก่อสร้างได้มีการเพิ่มพื้นที่ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น
อำเภอเมืองนครราชสีมาได้จัดทำโครงการอาคารหอประชุมฯ โดยมีความต้องการ
หอประชุมที่สามารถรองรับการประชุมได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 คน เอกสารของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ชี้แจงต่อคณะรัฐมนตรี ว่า อาคารหอประชุมฯที่ขอจัดสรรงบประมาณสามารถรองรับผู้ประชุมได้ 1,500 คน รวมทั้งแผนบริหารจัดการโครงการหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ ด้านประมาณการรายรับ ระบุว่า หอประชุมฯ รองรับผู้เข้ารับอบรมสัมมนา หรือจัดเลี้ยงได้ถึง 1,500 คน แต่จากการตรวจสอบพบว่า รายละเอียดการออกแบบและการก่อสร้างจริงโครงการก่อสร้างหอประชุมฯ กำหนดให้
ห้องอเนกประสงค์สามารถรองรับความจุได้ 4,000 คน ห้องประชุมย่อย 2 ห้อง ความจุ 400 คน ร้านค้าและร้านอาหาร 2 ร้าน ความจุ 200 คน
จากกรณีข้อ 1.1 และ 1.2 เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการฯ
โดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2553 ข้อ 19
1.3 การออกแบบอาคารหอประชุมฯ ไม่เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์
1.3.1 การออกแบบอาคารหอประชุม
การออกแบบอาคารหอประชุมมีความไม่เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์จำนวน 8 รายการ เช่น ปัญหาระบบเสียงก้องภายในหอประชุม ทำให้รับฟังเสียงได้ไม่ชัดเจน ไม่มีฉากกั้นห้องกรณีต้องการใช้หอประชุมเพียงบางส่วน และปัญหาการติดตั้งหลอดไฟส่องสว่างในระดับที่มีความสูงมาก เป็นต้น
1.3.2 การออกแบบระบบไฟฟ้า และระบบปรับอากาศ
จากการสอบถามวิศวกรโยธาเกี่ยวกับงานโครงการฯ ทราบว่า งานเครื่องกล
และเครื่องปรับอากาศ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมาไม่มีผู้เชี่ยวชาญ จึงได้ขอความอนุเคราะห์ หจก. สุรนารีแอร์ แอนด์ เทรดดิ้ง เป็นผู้ประมาณการค่ากระแสไฟฟ้าของระบบปรับอากาศ แต่ไม่มีเอกสารหลักฐานให้ตรวจสอบ ในระหว่างตรวจสอบ จึงให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมาประสานให้ห้างดังกล่าวจัดทำประมาณการค่ากระแสไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศภายในหอประชุมฯ ได้ว่า หากมีการเปิดใช้เครื่องปรับอากาศเป็นเวลา 9 ชั่วโมงค่ากระแสไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศ ประมาณเดือนละ 629,245.00 บาท คิดเป็นค่ากระแสไฟฟ้าวันละ 20,975.00 บาท
จากการตรวจสอบ พบว่า หลังจากหอประชุมฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จ มีการใช้
ประโยชน์ 2 ลักษณะ คือ อำเภอเมืองนครราชสีมาใช้ประชุมประจำเดือนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตั้งแต่ เดือนธันวาคม 2556 – เดือนกันยายน 2557 เพียง 1 วันต่อเดือน โดยไม่เปิดใช้เครื่องปรับอากาศใช้เพียงเครื่องเสียง ไฟส่องสว่าง และพัดลม มีค่ากระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณเดือนละ 30,000 – 40,000 บาท ซึ่งสูงกว่าประมาณการข้างต้นเป็นอย่างมากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา ได้ตรวจสอบระบบไฟฟ้าและประเมินการใช้ไฟฟ้าของอาคารหอประชุมฯ ได้ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2557
พบว่า ปริมาณการโหลดใช้งานส่วนใหญ่เป็นเครื่องปรับอากาศซึ่งมีขนาดรวม 6,186,000 บีทียู คิดเป็น กำลังไฟฟ้า 716 กิโลวัตต์ และระบบแสงสว่างมีกำลังไฟฟ้า 27 กิโลวัตต์ เนื่องจากอาคารหอประชุมฯ มีขนาดใหญ่ และมีความสูงจากพื้นถึงหลังคาประมาณ 19.50 เมตร ดังนั้น เมื่อระบบเครื่องปรับอากาศมีการทำงานพร้อมกันทุกเครื่อง ทำให้ระบบความเย็นมีการใช้พลังงานในการเริ่มทำความเย็นให้ถึงค่าที่ติดตั้งเป็นระยะเวลานาน จึงทำให้เกิดการสิ้นเปลืองพลังงาน
1.4 จากการสังเกตการณ์อาคารหอประชุมฯ ณ วันที่ 30 กรกฎาคม 2557 พบว่า
อาคารหอประชุมฯ มีความชำรุด จำนวน 9 รายการ เช่น บริเวณพื้นกลางห้องน้ำหญิงมีรอยคราบน้ำขังห้องประชุมย่อย 2 หลังคารั่ว ฝ้าเพดานชำรุดหลุดร่อน เป็นต้น
จากผลการตรวจสอบข้างต้นจะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ
ซึ่งประกอบด้วย การเปลี่ยนแปลงสถานที่ก่อสร้างหอประชุม การเพิ่มขนาดพื้นที่ของหอประชุมโดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ รวมทั้งการออกแบบการก่อสร้างที่ไม่เหมาะสมทำให้การดำเนินงานไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการฯ กล่าวคือ อาคารหอประชุมฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จเป็นเวลาหนึ่งปี (เดือนตุลาคม 2556 ถึงเดือน กันยายน 2557) ด้วยงบประมาณ 159.00 ล้านบาทแต่ใช้ประโยชน์เพียงการประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นเพียงกิจกรรมเดียวจากทั้งหมด 8 กิจกรรมจึงเป็นการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่ไม่คุ้มค่า
2. การใช้หอประชุมอเนกประสงค์อำเภอเมืองนครราชสีมา
ตามรายละเอียดโครงการฯ และแผนการใช้หอประชุมอเนกประสงค์อำเภอเมือง
นครราชสีมาได้กำหนดแผนการใช้พื้นที่หอประชุมฯ ไว้ทั้งสิ้น 8 กิจกรรม โดยกำหนดตัวชี้วัดและระยะเวลาไว้ชัดเจน ผลการตรวจสอบ พบว่า อำเภอเมืองนครราชสีมาใช้หอประชุมฯ ได้เพียง1 กิจกรรม เท่านั้น คือ ใช้เป็นที่ประชุมของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 12.50 ของกิจกรรมที่กำหนดตามแผนการใช้หอประชุม จึงเป็นการใช้จ่ายเงินงบประมาณ จำนวน 159.00 ล้านบาท ที่ไม่คุ้มค่า
3. การบริหารจัดการโครงการหอประชุมฯ หลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จ
อำเภอเมืองนครราชสีมาได้จัดทำ แผนบริหารจัดการซึ่งหากส่วนราชการขอใช้คิดค่าใช้จ่ายครั้งละ 12,000 บาท และหากเอกชนขอใช้ คิดค่าใช้จ่ายครั้งละ 15,000 บาท โดยประมาณการรายรับและรายจ่าย ดังนี้
- ประมาณการรายรับ โดยมีรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว ประมาณเดือนละ 18,768.48 บาท
- ประมาณการรายจ่าย โดยมีค่าใช้จ่ายต่อวัน (8 ชั่วโมง) เป็นเงิน 13,696.66 บาท
ทั้งนี้ การจัดทำแผนการบริหารจัดการฯ และประมาณการรายรับรายจ่ายจัดทำขึ้น
โดยคำนวณจากห้องประชุมที่รองรับการประชุมได้ 1,500 คน ซึ่งเป็นขนาดเดียวกับเอกสารของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ
จากการตรวจสอบ พบว่า อำเภอเมืองนครราชสีมายังไม่สามารถบริหารโครงการ
ให้สามารถใช้พื้นที่หอประชุมฯ ได้ตามวัตถุประสงค์ มีการใช้พื้นที่หอประชุมฯ ได้เพียง 1 กิจกรรมเท่านั้น คือ การประชุมประจำเดือนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ สำหรับกรณีหน่วยงานอื่นที่มาขอใช้ ไม่ได้จัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้สถานที่ เพียงแต่หน่วยงานผู้ขอใช้เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น
และการที่จะมอบอาคารหอประชุมฯ ให้กับสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านฯ เป็นผู้บริหารจัดการหอประชุมฯ นั้นยังไม่มีระเบียบหรือกฎหมายใดอนุมัติ/อนุญาต อีกทั้งการขอยกเว้นไม่นำเงินรายได้ที่เกิดจากการให้เช่าพื้นที่หอประชุมฯ ส่งคลังจังหวัด อำเภอเมืองนครราชสีมาได้ยื่นเรื่องต่อกระทรวงการคลัง ผ่านจังหวัดนครราชสีมา แต่จังหวัดนครราชสีมาให้อำเภอเมืองนครราชสีมารวบรวมรายละเอียดการบริหารจัดการ
เหตุผลความจำเป็นที่จะขอยกเว้นการนำเงินส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน เพื่อเสนอต่อกระทรวงการคลังต่อไป ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด
จากผลการดำเนินงานข้างต้น แสดงให้เห็นว่า อำเภอเมืองนครราชสีมาไม่สามารถบริหารจัดการแผนบริหารโครงการ ทั้ง 3 แผน จึงได้มีการปรับแผนบริหารโครงการ ดังนี้
1. แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการการใช้หอประชุมอเนกประสงค์อำเภอเมือง
นครราชสีมา ตามคำสั่งอำเภอเมืองนครราชสีมา ที่ 435/2557 ลงวันที่ 22 กันยายน 2557 โดยแบ่งหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ได้แก่ คณะกรรมการการบริหารจัดการการใช้หอประชุมฯ คณะดำเนินงานจัดการใช้หอประชุมฯ ฝ่ายอาคารสถานที่และรักษาความสะอาด ฝ่ายควบคุมระบบไฟฟ้า เครื่องเสียงและระบบประปา ฝ่ายการเงินและบัญชี
2. ปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมการใช้อาคารหอประชุมฯ ขึ้นใหม่ ตามประกาศอำเภอ
เมืองนครราชสีมา ลงวันที่ 22 กันยายน 2557 เรื่อง อัตราค่าธรรมเนียมการใช้อาคารหอประชุมอเนกประสงค์อำเภอเมืองนครราชสีมา จากการตรวจสอบเพียงวันที่ 30 กันยายน 2557 อำเภอเมือง นครราชสีมาและคณะกรรมการบริหารฯ ยังไม่สามารถขับเคลื่อนโครงการก่อสร้างอาคารหอประชุมอเนกประสงค์ให้บรรลุวัตถุประสงค์ และเป็นไปตามแผนบริหารจัดการทั้งแผนเดิมและแผนใหม่
ข้อเสนอแนะ
เพื่อให้โครงการก่อสร้างอาคารหอประชุมอเนกประสงค์อำเภอเมืองนครราชสีมาสามารถใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์ และการดำเนินการตามแผนบริหารจัดการมีประสิทธิภาพประสิทธิผล คุ้มค่า เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงและยั่งยืน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โดยสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 4 มีข้อเสนอแนะให้ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ อธิบดีกรมการปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายอำเภอเมืองนครราชสีมา และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการจัดทำ
โครงการ ดำเนินการ ดังนี้
ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการกลั่นกรองและบริหารโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555
1. ศึกษาหรือวิเคราะห์รายละเอียดโครงการให้รอบคอบ รอบด้าน ก่อนที่จะเสนอต่อ
คณะรัฐมนตรีเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ เนื่องจากเป็นโครงการที่ได้รับงบประมาณเป็นจำนวนเงินสูงมีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถดำเนินโครงการได้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ เช่น กรณีข้อกฎหมายเรื่อง มอบหมายการบริหารจัดการให้สมาคมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และการขอยกเว้นการนำเงินรายได้ส่งคลัง จังหวัด เป็นต้น ซึ่งทั้งสองกรณีได้ระบุไว้ในรายละเอียดโครงการ และแผนบริหารจัดการอย่างชัดเจน
2. ปรับปรุงระบบการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการและมีการติดตาม
ประเมินผลอย่างจริงจัง เพื่อทราบถึงปัญหาอุปสรรค และใช้ข้อมูลดังกล่าวในการพิจารณาให้การสนับสนุนงบประมาณ เพื่อลดความเสี่ยงต่อโครงการไม่บรรลุวัตถุประสงค์ และช่วยยับยั้งการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีความคุ้มค่า และนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป
อธิบดีกรมการปกครอง
1. ตรวจสอบและวิเคราะห์ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของโครงการที่เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณ หากเป็นโครงการที่เกินศักยภาพหรือไม่ตรงกับลักษณะงานของหน่วยงานเจ้าของโครงการที่ปฏิบัติอยู่เป็นประจำ จะทำให้โครงการฯ ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ การใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ได้ลงทุน และโครงการไม่เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต
2. กำกับและติดตามประเมินผลการดำเนินการโครงการเป็นระยะๆ เพื่อให้ทราบถึงสภาพปัญหา อุปสรรคในการบริหารโครงการ และให้คำแนะนำหรือช่วยเหลือแก้ไขปัญหาอุปสรรคในฐานะผู้กำกับดูแลและพิจารณา
3. เร่งรัดและติดตามผลการสอบข้อเท็จจริงของจังหวัดนครราชสีมา กรณีมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ ได้แก่ ขนาดความจุของหอประชุม สถานที่ก่อสร้าง โดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2553 แล้วแจ้งผลให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินทราบ
ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา
1. กำหนดนโยบายหรือขอความร่วมมือให้หน่วยงานราชการในจังหวัดนครราชสีมาที่มีความประสงค์จะใช้สถานที่เพื่อจัดเป็นที่ประชุม อบรม สัมมนา จัดเลี้ยงต่างๆ ภายในจังหวัดนครราชสีมา พิจารณาใช้อาคารหอประชุมอเนกประสงค์อำเภอเมืองนครราชสีมา เพื่อให้การใช้อาคารหอประชุมฯ บรรลุวัตถุประสงค์ คุ้มค่ากับงบประมาณที่ได้ลงทุนไป อีกทั้งเป็นการช่วยรัฐประหยัดงบประมาณในการเช่าสถานที่ของเอกชน
2. สนับสนุนให้มีการบริหารจัดการในเชิงบูรณาการ โดยแต่งตั้งคณะทำงานในระดับ
จังหวัดจากหน่วยงานอื่นที่มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการธุรกิจการให้เช่าสถานที่เนื่องจากลักษณะงานของบุคลากรกรมการปกครองไม่ได้มีความเชี่ยวชาญระดับมืออาชีพในด้านการบริหารเชิงธุรกิจ
3. เร่งรัดให้อำ เภอเมืองนครราชสีมาดำ เนินการหารือกับกระทรวงการคลังในการ
ขอยกเว้นการนำเงินรายได้ค่าเช่าพื้นที่ส่งคลังจังหวัดตามระเบียบการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังในหน้าที่อำเภอและกิ่งอำเภอ พ.ศ. 2520
4. ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้ให้ความเห็นชอบโครงการ ก่อนเสนอต่อกรมการปกครองหรือกระทรวงมหาดไทย ควรต้องศึกษา วิเคราะห์ ทำความเข้าใจในรายละเอียดของโครงการพิจารณาความเป็นไปได้ด้านกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง และศักยภาพของหน่วยงานเจ้าของโครงการ เพื่อให้มั่นใจว่า โครงการที่ได้ให้ความเห็นชอบนั้น มีความคุ้มค่ากับงบประมาณแผ่นดินเกิดประโยชน์แก่ประชาชน และประเทศชาติอย่างแท้จริง
5. สั่งกำชับและทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่จัดทำโครงการ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ เตรียมความพร้อมของสถานที่ดำเนินโครงการ ระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งศักยภาพของหน่วยงาน และวิเคราะห์ความเสี่ยง ผลกระทบที่อาจเกิดจากการดำเนินโครงการ เพื่อเป็นการป้องกันมิให้มีการใช้จ่ายเงินแผ่นดินโดยไม่บรรลุวัตถุประสงค์
6. แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการเกี่ยวกับขนาดความจุของหอประชุม สถานที่ก่อสร้างโดยไม่มีเอกสารการได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ตรวจสอบ เป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2553 หากพบว่าบุคคลที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกระทำการโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อไม่ปฏิบัติตามระเบียบฯ ให้พิจารณาดำเนินการลงโทษตามสมควรแก่กรณี เพื่อเป็นการป้องปรามให้การปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ
ในคราวต่อๆ ไป
นายอำเภอเมืองนครราชสีมา
1. เร่งรัดให้ดำเนินการหารือกับกระทรวงการคลังในการขอยกเว้นการนำเงินส่งคลังจังหวัดตามระเบียบการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังในหน้าที่อำเภอและกิ่งอำเภอ พ.ศ. 2520
2. เร่งดำเนินการบริหารจัดการอาคารหอประชุมฯ โดยประสานหรือขอความร่วมมือกับหน่วยงานระดับจังหวัดซึ่งเป็นหน่วยจัดงานภายในจังหวัดนครราชสีมาเพื่อผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของโครงการอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะได้ทราบจุดคุ้มทุนของการบริหารจัดการ และนำข้อมูลจากการใช้ประโยชน์มาเป็นฐานในการกำหนดอัตราค่าเช่าหรือค่าธรรมเนียม รวมถึงการจัดทำแผนการใช้ประโยชน์ของอาคารหอประชุมฯ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ไว้ให้หน่วยงาน ผู้รับผิดชอบ
สามารถติดตามตรวจสอบได้
3. ประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนทั่วไป ให้ได้รับทราบข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอาคารหอประชุมฯ การบริการให้เช่าจัดเป็นที่ประชุม อบรม สัมมนา จัดงานราชพิธีจัดเลี้ยงต่างๆ จัดงานแสดงสินค้า ฯลฯ ซึ่งมีหลายช่องทาง เช่น การประชาสัมพันธ์ระดับจังหวัดหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เคเบิลทีวี เป็นต้น
4. จัดอบรมให้ความรู้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและเพิ่มทักษะให้กับเจ้าหน้าที่
ผู้รับผิดชอบในแต่ละฝ่ายที่ได้รับการแต่งตั้งเกี่ยวกับการให้บริการเช่าสถานที่เพื่อจัดเป็นที่ประชุมอบรม สัมมนา จัดเลี้ยงต่างๆ อย่างมืออาชีพและครบวงจร
5. พิจารณาปรับปรุงพื้นที่ห้องประชุมตามข้อเสนอแนะของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา เพื่อลดอัตราการสิ้นเปลืองค่ากระแสไฟฟ้า
6. การจัดทำโครงการใดๆ ของอำเภอเมืองนครราชสีมา ต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นโครงการที่ไม่เกินศักยภาพ และสอดคล้องกับลักษณะงานของที่ทำการปกครองอำเภอ (กรมการปกครอง)
เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการจัดทำโครงการ
1. ศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของโครงการ โดยเฉพาะโครงการที่ใช้
เงินงบประมาณสูงมาก อาจมีความเสี่ยงที่จะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ อีกทั้งยังขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านการบริหารจัดการโครงการในเชิงธุรกิจ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งในการดำเนินโครงการภาครัฐ
ข้อสังเกต
1. การขอใช้ที่ดินก่อสร้างอาคารหอประชุมอเนกประสงค์อำเภอเมืองนครราชสีมา
อำเภอเมืองนครราชสีมาได้เปลี่ยนสถานที่ก่อสร้างหอประชุมฯ จากบึงหัวทะเล ตำบลหัวทะเลอำเภอเมืองนครราชสีมา เป็นที่ราชพัสดุ ตำบลปรุใหญ่ อำเภอเมืองนครราชสีมา ซึ่งการกีฬาแห่งประเทศไทยเป็นผู้เช่า เพื่อก่อสร้างอาคารหอประชุมฯ โดยไม่ได้ยื่นเรื่องขอใช้ที่ดินราชพัสดุดังกล่าวกับสำนักงานธนารักษ์พื้นที่นครราชสีมา โดยการกีฬาแห่งประเทศไทยอนุญาตให้อำเภอเมืองนครราชสีมาใช้ที่ราชพัสดุเพื่อก่อสร้างอาคารหอประชุมฯ เป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้ และจัดหาประโยชน์เกี่ยวกับที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2545 และปฏิบัติไม่ถูกต้องตามสัญญาเช่า
ต่อมาในวันที่ 18 สิงหาคม 2557 สำนักงานธนารักษ์พื้นที่นครราชสีมาจึงได้มีหนังสือถึงผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทยเพื่อบอกเลิกสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุบางส่วน จำนวน 45-1-61 ไร่
เพื่อให้การใช้ที่ดินถูกต้องตามกฎกระทรวงฯ ที่ทำการปกครองจังหวัดนครราชสีมาได้ทำหนังสือแจ้งธนารักษ์พื้นที่นครราชสีมาเพื่อขออนุญาตใช้ที่ราชพัสดุ โดยกรมธนารักษ์ได้มีหนังสืออนุญาตให้จังหวัดนครราชสีมาใช้ที่ราชพัสดุ จำนวน 45-1-61 ไร่ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2557
โดยนายอำเภอเมืองนครราชสีมาในฐานะผู้แทนหน่วยงานผู้ได้รับอนุญาต ให้ใช้ที่ราชพัสดุได้ลงนามในบันทึกรับทราบแนวเขตที่ราชพัสดุและยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขการใช้ที่ราชพัสดุ ลงวันที่ 26กันยายน 2557 เรียบร้อยแล้ว
2. การบริหารพัสดุ
จากการตรวจสอบสังเกตการณ์ครุภัณฑ์ภายในหอประชุม พบว่า เจ้าหน้าที่พัสดุไม่ได้ลงบัญชีหรือทะเบียนเพื่อควบคุมพัสดุ แต่จัดทำหมายเลขรหัสครุภัณฑ์ไม่ครบถ้วนโดยจัดทำหมายเลขครุภัณฑ์ได้เฉพาะรายการเก้าอี้ประชุมภายในหอประชุม เป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 152 และหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้องของคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ และสำนักนายกรัฐมนตรี
ข้อเสนอแนะ เพื่อให้การใช้/เช่าที่ราชพัสดุ เป็นไปตามกฎหมายและวัตถุประสงค์ รวมทั้งการบริหารพัสดุของโครงการก่อสร้างอาคารหอประชุมอเนกประสงค์อำเภอเมืองนครราชสีมา เป็นไป ตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และนายอำเภอเมืองนครราชสีมา พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กรณีการขอใช้/เช่าที่ราชพัสดุ พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. สั่งการให้สำนักงานธนารักษ์พื้นที่นครราชสีมาสำรวจการใช้ที่ราชพัสดุของส่วนราชการหน่วยงานภาครัฐให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด
2. สั่งการให้สำนักงานธนารักษ์ตรวจสอบที่ราชพัสดุให้มีการใช้ที่ดินตามวัตถุประสงค์ของการเช่าก่อนต่อสัญญาให้กับผู้เช่า
3. สั่งการให้หน่วยงานที่ใช้พื้นที่ราชพัสดุปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย
วัตถุประสงค์การเช่า และสัญญาเช่าอย่างเคร่งครัด
4. สั่งกำชับหัวหน้าหน่วยงานราชการให้ปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่ตามลักษณะงานของแต่ละหน่วยงานโดยเคร่งครัด โดยคำนึงถึงความถูกต้อง และปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบมติคณะรัฐมนตรี เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ และรักษาผลประโยชน์ของทางราชการสูงสุด หากกรณีหน่วยงานที่ขอใช้ที่ราชพัสดุปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาโทษตามควรแก่กรณี
นายอำเภอเมืองนครราชสีมา กรณีการบริหารพัสดุของโครงการก่อสร้างอาคารหอประชุมอเนกประสงค์อำเภอเมืองนครราชสีมา พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. สั่งการให้เจ้าหน้าที่พัสดุดำเนินการเกี่ยวกับวัสดุและครุภัณฑ์ของอาคารหอประชุมฯให้ครบถ้วนถูกต้องตามระเบียบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 152 และตามหนังสือด่วนที่สุด คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ ที่ กค (กวพ) 0408.4/ว 129ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2549 เรื่อง การลงทะเบียนควบคุมพัสดุของทางราชการ และหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ นร (กวพ) 1202/ว 116 ลงวันที่ 1 เมษายน 2535 เรื่อง ตัวอย่างเอกสารประกวด
ราคาซื้อ–จ้าง สัญญาต่างๆ หนังสือค้ำประกัน บัญชีวัสดุและทะเบียนครุภัณฑ์
--------------
อ่านประกอบ : พบโคราชทุ่ม161ล.สร้างอภิมหาหอประชุมฯ ใช้งานไม่คุ้มค่า ปีเดียวชำรุดเพียบ!