- Home
- Investigative
- ข่าวทั่วไปศูนย์ข่าวสืบสวน
- พบโคราชทุ่ม161ล.สร้างอภิมหาหอประชุมฯ ใช้งานไม่คุ้มค่า ปีเดียวชำรุดเพียบ!
พบโคราชทุ่ม161ล.สร้างอภิมหาหอประชุมฯ ใช้งานไม่คุ้มค่า ปีเดียวชำรุดเพียบ!
สตง.พบโครงการก่อสร้างอาคารหอประชุมอเนกประสงค์โคราช 161 ล้าน ไม่คุ้มค่า สร้างเสร็จ 1 ปี ชำรุดแล้ว ใช้ประโยชน์แค่จัดประชุมประจำเดือนกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ไม่เคยจัดงานราชพิธี พบ "มือดี" ลักไก่ สั่งเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการที่ตั้งขนาดใหญ่ขึ้น โดยไม่มีเอกสารหลักฐาน จี้ "อธิบดีกรมการปกครอง" สอบสวนข้อเท็จจริง เผย "สุวัจน์" ประธานพิธีวางศิลาฤกษ์
โครงการก่อสร้างอาคารหอประชุมอเนกประสงค์อำเภอเมืองนครราชสีมา ของที่ทำการปกครอง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ปีงบประมาณ 2555 วงเงิน 161 ล้านบาท กำลังถูกจับตามองอย่างมาก ภายหลังถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบปัญหาความไม่คุ้มค่าในการก่อสร้างหลายประการ ขณะที่ขั้นตอนการก่อสร้างก็มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดการดำเนินงาน ที่ส่อว่าจะมีปัญหาขัดกับระเบียบราชการด้วย
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.58 ที่ผ่านมา สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบดำเนินงาน โครงการก่อสร้างอาคารหอประชุมอเนกประสงค์อำเภอเมืองนครราชสีมา ของที่ทำการปกครองอ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา ปีงบประมาณ 2555 วงเงิน 161 ล้านบาท
โดยมีวัตถุประสงค์ในการก่อสร้าง 4 ข้อ คือ 1. เป็นอาคารหอประชุมอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ใช้งานได้ในหลายกิจกรรม 2. เพื่อใช้เป็นที่ประชุมประจำเดือนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน 3. เพื่อให้เป็นศูนย์รวมให้ส่วนราชการต่างๆ ได้ใช้เป็นที่ประชุมสัมมนา จัดงานนิทรรศการงานแสดงสินค้า จัดกิจกรรมส่วนรวมและจัดเลี้ยงต่างๆ และ 4. จัดงานพระราชพิธีต่างๆ
จากการตรวจสอบพบว่า ภายหลังจากที่จังหวัดนครราชสีมา ได้ส่งมอบอาคารหอประชุมฯ ให้อำเภอเมืองนครราชสีมาเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2556 จนถึงเดือนกันยายน 2557 อาคารหอประชุมฯ มีการใช้ประโยชน์ได้เพียงบางวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. ใช้จัดเป็นที่ประชุมประจำเดือนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จำนวน 10 ครั้ง ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2556 ถึงเดือนกันยายน 2557
2. ใช้จัดเป็นที่อบรม จัดงานเลี้ยง จำนวน 2 ครั้ง ได้แก่ โครงการอบรมให้ความรู้กับผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะ จำนวน 1,800 คน ของสำนักงานขนส่งจังหวัดนครราชสีมา จัดงานเลี้ยงและพิธีเปิดการแข่งขัน ของคณะกรรมการสเปเชียลโอลิมปิคแห่งประเทศไทย โดยอำเภอเมืองนครราชสีมาไม่ได้จัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้สถานที่ เพียงแต่หน่วยงานผู้ขอใช้เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ได้แก่ ค่าทำความสะอาดและจัดสถานที่ ค่าน้ำ ค่ากระแสไฟฟ้าจัดเก็บตามหน่วยไฟฟ้าที่ใช้งานจริง
จากการสัมภาษณ์ และสอบถามกลุ่มเป้าหมาย ของโครงการ ได้แก่ นายกสมาคมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หน่วยงานราชการ หน่วยดำเนินการจัดงาน ผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้า สรุปได้ว่า อาคารหอประชุมฯ มีการออกแบบและก่อสร้างไม่เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ได้แก่ ปัญหาระบบเสียงก้อง ติดตั้งระบบปรับอากาศขนาดใหญ่เกินไป ระบบประปาไม่สะอาด หลังคาชำรุดไม่ติดตั้งกล้องวงจรปิด ส่วนหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนไม่ทราบว่า มีการก่อสร้างอาคารหอประชุมฯ และไม่ทราบว่าหอประชุมฯ ได้เปิดให้ใช้แล้ว
ขณะที่การจัดงานพระราชพิธีต่างๆ พบว่า อำเภอเมืองนครราชสีมา และจังหวัดนครราชสีมาไม่เคยใช้อาคารหอประชุมฯ ในการจัดงานพระราชพิธีแต่อย่างใด ซึ่งจากการสอบถามความคิดเห็นของหน่วยงานราชการ สรุปได้ว่า หอประชุมฯ เป็นอาคารขนาดใหญ่ หากใช้ในการจัดงานพระราชพิธีควรเป็นพระราชพิธีเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เนื่องจากมีประชาชนทุกกลุ่มอาชีพเข้าร่วมงาน เป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ ห้องประชุมดังกล่าวยังมีปัญหาการใช้อาคารอยู่หลายประการ เช่น หอประชุมฯ อยู่ไกลจากตัวเมืองนครราชสีมา ขาดการบริหารจัดการที่ดี และ ขาดการประชาสัมพันธ์ เป็นต้น
ส่วนการบริหารแผนงานต่างๆ ของโครงการก่อสร้างหอประชุมอเนกประสงค์อำเภอเมืองนครราชสีมา นั้น จากการตรวจสอบพบว่า ยังขาดประสิทธิภาพ ไม่คุ้มค่า และมีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง อาทิ การดำเนินการก่อสร้างอาคารหอประชุมบนที่ราชพัสดุภายในสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ตำบลปรุใหญ่ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา โดยไม่มีเอกสารหลักฐานการขอเปลี่ยนแปลงสถานที่ดำเนินโครงการฯ ซึ่งมิใช่สถานที่เดียวกันกับที่ระบุไว้ในรายละเอียดโครงการฯ คือ พื้นที่สาธารณะประโยชน์บึงหัวทะเล ตำบลหัวทะเล อำเภอเมืองนครราชสีมา ตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองและบริหารโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ได้ให้ความเห็นชอบร่างแผนบริหารจัดการโครงการ
นอกจากนี้ การก่อสร้างยังได้มีการเพิ่มพื้นที่ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยอำเภอเมืองนครราชสีมาได้จัดทำโครงการอาคารหอประชุมฯ โดยมีความต้องการหอประชุมที่สามารถรองรับการประชุมได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 คน เอกสารของคณะกรรมการกลั่นกรองฯชี้แจงต่อคณะรัฐมนตรี ว่า อาคารหอประชุมฯที่ขอจัดสรรงบประมาณสามารถรองรับผู้ประชุมได้ 1,500 คน รวมทั้งแผนบริหารจัดการโครงการหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ ด้านประมาณการรายรับระบุว่า หอประชุมฯ รองรับผู้เข้ารับอบรมสัมมนา หรือจัดเลี้ยงได้ถึง 1,500 คน
แต่จากการตรวจสอบพบว่า รายละเอียดการออกแบบและการก่อสร้างจริงโครงการก่อสร้างหอประชุมฯ กำหนดให้ห้องอเนกประสงค์สามารถรองรับความจุได้ 4,000 คน ห้องประชุมย่อย 2 ห้อง ความจุ 400 คน ร้านค้าและร้านอาหาร 2 ร้าน ความจุ 200 คน ซึ่งเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการฯ โดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2553 ข้อ 19
ขณะที่ การออกแบบอาคารหอประชุมมีความไม่เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์จำนวน 8 รายการ เช่น ปัญหาระบบเสียงก้องภายในหอประชุม ทำให้รับฟังเสียงได้ไม่ชัดเจน ไม่มีฉากกั้นห้องกรณีต้องการใช้หอประชุมเพียงบางส่วน และปัญหาการติดตั้งหลอดไฟส่องสว่างในระดับที่มีความสูงมาก เป็นต้น
จากการตรวจสอบ พบว่า หลังจากหอประชุมฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จ มีการใช้ประโยชน์ 2 ลักษณะ คือ อำเภอเมืองนครราชสีมาใช้ประชุมประจำเดือนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2556 – เดือนกันยายน 2557 เพียง 1 วันต่อเดือน โดยไม่เปิดใช้เครื่องปรับอากาศใช้เพียงเครื่องเสียง ไฟส่องสว่าง และพัดลม มีค่ากระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณเดือนละ30,000 – 40,000 บาท ซึ่งสูงกว่าประมาณการข้างต้นเป็นอย่างมาก
ขณะที่จากการสังเกตการณ์อาคารหอประชุมฯ ณ วันที่ 30 กรกฎาคม 2557 พบว่าอาคารหอประชุมฯ มีความชำรุด จำนวน 9 รายการ เช่น บริเวณพื้นกลางห้องน้ำหญิงมีรอยคราบน้ำขังห้องประชุมย่อย 2 หลังคารั่ว ฝ้าเพดานชำรุดหลุดร่อน เป็นต้น
"จากผลการตรวจสอบข้างต้นจะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการซึ่งประกอบด้วย การเปลี่ยนแปลงสถานที่ก่อสร้างหอประชุม การเพิ่มขนาดพื้นที่ของหอประชุมโดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ รวมทั้งการออกแบบการก่อสร้างที่ไม่เหมาะสมทำให้การดำเนินงานไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการฯ และหลังจากที่อาคารหอประชุมฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จเป็นเวลาหนึ่งปี ด้วยงบประมาณ 159 ล้านบาท แต่ใช้ประโยชน์เพียงการประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นเพียงกิจกรรมเดียว เป็นการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่ไม่คุ้มค่า"
เบื้องต้น สตง. ได้ทำหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยในส่วนของอธิบดีกรมการปกครอง เห็นควรให้มีการตรวจสอบและวิเคราะห์ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของโครงการที่เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณ หากเป็นโครงการที่เกินศักยภาพหรือไม่ตรงกับลักษณะงานของหน่วยงานเจ้าของโครงการที่ปฏิบัติอยู่เป็นประจำ จะทำให้โครงการฯ ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ การใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ได้ลงทุน และโครงการไม่เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต
รวมถึงการกำกับและติดตามประเมินผลการดำเนินการโครงการเป็นระยะๆ เพื่อให้ทราบถึงสภาพปัญหา อุปสรรคในการบริหารโครงการ และให้คำแนะนำหรือช่วยเหลือแก้ไขปัญหาอุปสรรคในฐานะผู้กำกับดูแลและพิจารณา เร่งรัดและติดตามผลการสอบข้อเท็จจริงของจังหวัดนครราชสีมา กรณีมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ ได้แก่ ขนาดความจุของหอประชุม สถานที่ก่อสร้าง โดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2553 แล้วแจ้งผลให้สตง.ทราบต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2555 นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) ได้เดินทางไปเป็นประธานในการวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างหอประชุมอำเภอเมืองนครราชสีมา ดังกล่าว โดยมีนายชวน ศิรินันท์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยคณะ ส.ส. นครราชสีมา พรรคชพน. และ นายชัยยงค์ ฮมภิรมย์ นายอำเภอเมืองนครราชสีมา ผู้นำชุมชน กลุ่มพลังมวลชนให้การต้อนรับกว่า 1,000 คน
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก Google