- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เปิดร่าง กม.ศาล ปค.ชนวน 101ตุลาการเดือด!! ฮือต้าน
เปิดร่าง กม.ศาล ปค.ชนวน 101ตุลาการเดือด!! ฮือต้าน
".. กำหนดให้ ก.ศป. ประกอบด้วยประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธานกรรมการ กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นตุลาการศาลปกครองจำนวนเก้าคน ได้แก่ ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดจำนวนหกคนซึ่งได้รับเลือกจากตุลาการในศาลปกครองสูงสุดและตุลาการในศาลปกครองชั้นต้นจำนวนสามคนซึ่งได้รับเลือกจากตุลาการในศาลปกครองชั้นต้น .."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ..)พ.ศ. .... และบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... พร้อม ตารางเปรียบเทียบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ กับร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ตุลาการศาลปกครอง 101 คน เข้าชื่อทำหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กรณี สำนักงานศาลปกครอง และผู้บริหารศาลปกครองได้เสนอร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ คสช. ได้เห็นชอบแล้ว เสนอมายัง สนช. ที่อาจมีการเสนอพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวในสภา ในวันที่ 11 กันยายน 2557 นี้
(อ่านประกอบ : 101 ตุลาการ ฮือต้านแก้ กม.ศาลปค.ยุบ ก.ศป.ลักไก่เสนอ สนช. , "พรเพชร"ยันร่างกม.จัดตั้งศาลปค.ชงเข้าสนช.จริง-ไม่ทราบ101ตุลาการต้าน)
-----------
บันทึกหลักการและเหตุผล
ประกอบร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ..)
พ.ศ. ....
หลักการ
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังต่อไปนี้
(๑) แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (แก้ไขมาตรา ๓๕)
(๒) แก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่เป็นตุลาการศาลปกครอง (เพิ่มมาตรา ๓๕/๑)
(๓) แก้ไขเพิ่มเติมวิธีการเลือกกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ
(แก้ไขมาตรา ๓๖ มาตรา ๓๗ และมาตรา ๓๘)
(๔) แก้ไขเพิ่มเติมวาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ
ตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ (แก้ไขมาตรา ๓๙ และมาตรา ๔๐ และเพิ่มมาตรา ๓๙/๑)
(๕) กำหนดการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองในกรณีที่ไม่มีกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่เป็นตุลาการศาลปกครอง (เพิ่มมาตรา ๔๑/๑)
เหตุผล
โดยที่องค์ประกอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองที่ผ่านมาได้บัญญัติไว้เฉพาะในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ โดยมิได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สมควรกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และแก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม วิธีการเลือก และการพ้นจากตำแหน่ง ของกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิให้สอดคล้องกับการกำหนดบทบัญญัติดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
@@@@@@@
ร่าง
พระราชบัญญัติ
จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ..)
พ.ศ. ....
...........................................
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
....................................................................................................................................
...........................................
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน“มาตรา ๓๕ ให้มีคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองคณะหนึ่งเรียกโดยย่อว่า
“ก.ศป.” ประกอบด้วย
(๑) ประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธานกรรมการ
(๒) กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นตุลาการศาลปกครองจำนวนเก้าคน ดังนี้
(ก) ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดจำนวนหกคนซึ่งได้รับเลือกจากตุลาการในศาลปกครองสูงสุด
(ข) ตุลาการในศาลปกครองชั้นต้นจำนวนสามคนซึ่งได้รับเลือกจากตุลาการในศาลปกครองชั้นต้น
(๓) กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่เป็นตุลาการศาลปกครองจำนวนสามคน ดังนี้
(ก) ผู้ซึ่งได้รับเลือกจากวุฒิสภาจำนวนสองคน
(ข) ผู้ซึ่งได้รับเลือกจากคณะรัฐมนตรีจำนวนหนึ่งคนให้เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองเป็นเลขานุการของ ก.ศป. และให้ ก.ศป. แต่งตั้งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองจำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ”
มาตรา ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๓๕/๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ “มาตรา ๓๕/๑ กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง (๓) ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) มีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๓ (๑) (๒) และ (๔)
(๒) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
(๓) ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ
(๔) ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี
(๕) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไม่เคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(๖) ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ
(๗) ไม่เคยต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๘) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ หรือคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(๙) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๔ (๑) (๓) (๔) (๕) และ (๗)”
มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน“มาตรา ๓๖ การเลือกกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง (๒) ให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ ในการนี้ให้เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองจัดทำบัญชีรายชื่อบุคคลผู้มีสิทธิได้รับเลือก โดยแยกเป็นประเภทตุลาการในศาลปกครองสูงสุดและตุลาการในศาลปกครองชั้นต้นส่งไปยังตุลาการในศาลปกครองสูงสุดหรือตุลาการในศาลปกครองชั้นต้น แล้วแต่กรณี และให้แจ้งกำหนดวัน เวลา และสถานที่ที่จะทำการเลือกไปด้วยให้มีคณะกรรมการดำเนินการเลือก ประกอบด้วย เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ตุลาการศาลปกครองสามคน และคณบดีคณะนิติศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐสามคน
ซึ่งประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นผู้คัดเลือก เป็นกรรมการ มีหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง การตรวจนับคะแนนและการประกาศผลการเลือก
ให้ประธานศาลปกครองสูงสุดรับผิดชอบดูแลให้การเลือกเป็นไปโดยถูกต้องและเรียบร้อย
เมื่อประธานศาลปกครองสูงสุดได้ประกาศรายชื่อผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง (๒) แล้ว ให้เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองดำเนินการประกาศรายชื่อผู้ได้รับเลือกในราชกิจจานุเบกษา”
มาตรา ๖ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน“มาตรา ๓๗ การเลือกกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง (๓) (ก) ให้วุฒิสภาตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาเสนอรายชื่อบุคคลที่เห็นสมควรจำนวนสี่คนต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณาต่อไปให้นำความในมาตรา ๓๖ วรรคสี่ มาใช้บังคับกับการเลือกกรรมการตุลาการ
ศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิในวรรคหนึ่ง โดยอนุโลม”
มาตรา ๗ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๘ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน“มาตรา ๓๘ การเลือกกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง (๓) (ข) ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอชื่อบุคคลที่เห็นสมควรจะได้รับเลือกต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาลงมติให้นำความในมาตรา ๓๖ วรรคสี่ มาใช้บังคับกับการเลือกกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิในวรรคหนึ่ง โดยอนุโลม”
มาตรา ๘ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน“มาตรา ๓๙ กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง (๒) และ (๓) ให้อยู่ในตำแหน่งคราวละสองปีโดยอาจได้รับเลือกใหม่ได้อีก แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้ภายในหกสิบวันก่อนกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง (๒) และ (๓) จะครบวาระ ให้ประธานศาลปกครองสูงสุดดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) ดำเนินการให้มีการเลือกกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ
ตามมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง(๒) ใหม่ โดยต้องแล้วเสร็จก่อนที่กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิชุดเดิมจะพ้นจากตำแหน่งตามวาระ(๒) แจ้งต่อประธานวุฒิสภาหรือนายกรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี เพื่อทราบ ในกรณีที่เป็นกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง (๓)”
มาตรา ๙ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๓๙/๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ “มาตรา ๓๙/๑ กรณีที่ตำแหน่งกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง (๒) และ (๓) ว่างลงก่อนครบวาระ ให้ดำเนินการเพื่อให้มีการเลือกซ่อม เว้นแต่วาระการอยู่ในตำแหน่งของกรรมการผู้นั้นจะเหลือไม่ถึงเก้าสิบวัน จะไม่ดำเนินการเลือกซ่อมก็ได้การดำเนินการเพื่อให้มีการเลือกซ่อมตามวรรคหนึ่ง ให้ประธานศาลปกครองสูงสุดดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) กรณีตำแหน่งกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง (๒) ให้ดำเนินการเลือกซ่อมให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งว่างลง(๒) กรณีตำแหน่งกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง (๓) ให้แจ้งประธานวุฒิสภาหรือนายกรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี ทราบภายในสิบห้าวัน
นับแต่วันที่ตำแหน่งว่างลงกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับเลือกซ่อมให้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน”
มาตรา ๑๐ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๐ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน“มาตรา ๔๐ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการตุลาการ
ศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง (๒) และ (๓) พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออกโดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อประธานศาลปกครองสูงสุด
(๓) พ้นจากตำแหน่งตุลาการในศาลปกครองสูงสุด หรือตุลาการในศาลปกครองชั้นต้น ในกรณีที่เป็นกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง (๒)
(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๓๕/๑ ในกรณีที่เป็นกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง (๓)”
มาตรา ๑๑ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๔๑/๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ “มาตรา ๔๑/๑ กรณีที่ไม่มีกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง (๓) หรือมีแต่ไม่ครบสามคน ถ้าคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองจำนวนไม่น้อยกว่าหกคนเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องให้ความเห็นชอบ ให้คณะกรรมการตุลาการศาลปกครองจำนวนดังกล่าวเป็นองค์ประกอบและองค์ประชุมพิจารณาเรื่องเร่งด่วนนั้นได้”
มาตรา ๑๒ ให้ดำเนินการเลือกกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง (๒) และ (๓) ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ
มาตรา ๑๓ ในระหว่างที่ยังมิได้มี ก.ศป. ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดตามมาตรา ๖๘ วรรคสอง ทำหน้าที่เป็น ก.ศป. ไปพลางก่อน จนกว่าจะมี ก.ศป. ตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๑๔ มติหรือการให้ความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ สิ้นสุดลง
ที่ได้ดำเนินการไปในช่วงเวลานับแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ จนถึงวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่ามติหรือการให้ความเห็นชอบนั้นเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของ ก.ศป. ตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๑๕ ให้ประธานศาลปกครองสูงสุดรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
...........................................
นายกรัฐมนตรี
@@@@@@@
บันทึกวิเคราะห์สรุป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ..)
พ.ศ. ....
คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มีมติให้เสนอร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้จัดทำบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ ดังต่อไปนี้
๑. เหตุผลและความจำเป็นในการเสนอร่างพระราชบัญญัติโดยเดิมบทบัญญัติเกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ได้บัญญัติไว้เฉพาะในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ โดยมิได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งทำให้เกิดความไม่ชัดเจนและไม่แน่นอนในความคงอยู่ของ ก.ศป.
ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงสมควรกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับองค์ประกอบของ ก.ศป. ไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม วิธีการเลือก และการพ้นจากตำแหน่ง ของกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อให้การบริหารงานบุคคลของศาลปกครองเป็นไปได้ด้วยดียิ่งขึ้น
๒. สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญดังนี้
๒.๑ องค์ประกอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.)
กำหนดให้ ก.ศป. ประกอบด้วยประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธานกรรมการ กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นตุลาการศาลปกครองจำนวนเก้าคน ได้แก่ ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดจำนวนหกคนซึ่งได้รับเลือกจากตุลาการในศาลปกครองสูงสุดและตุลาการในศาลปกครองชั้นต้นจำนวนสามคนซึ่งได้รับเลือกจากตุลาการในศาลปกครองชั้นต้น และกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่เป็นตุลาการศาลปกครองจำนวนสามคนซึ่งได้รับเลือกจากวุฒิสภาจำนวนสองคนและได้รับเลือกจากคณะรัฐมนตรีจำนวนหนึ่งคน รวมทั้งกำหนดผู้ที่ทำหน้า
เป็นเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการของ ก.ศป. ไว้ด้วย (ร่างมาตรา ๓๕)
๒.๒ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่เป็นตุลาการศาลปกครอง
กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่เป็นตุลาการศาลปกครอง เพื่อเป็นการลดอุปสรรคต่อการได้มาซึ่งบุคคลผู้ที่มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก เช่น คุณสมบัติเกี่ยวกับวุฒิการศึกษา ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่าเท่านั้น ซึ่งจะเป็นการเปิดกว้างและทำให้ได้มาซึ่งผู้ที่มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกมากขึ้น (ร่างมาตรา ๓๕/๑)
๒.๓ วิธีการเลือกกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ
กำหนดวิธีการเลือกกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นตุลาการศาลปกครอง และกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่เป็นตุลาการศาลปกครอง รวมทั้งให้ดำเนินการประกาศรายชื่อผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าวด้วย (ร่างมาตรา ๓๖ ร่างมาตรา ๓๗ และร่างมาตรา ๓๘)
๒.๔ วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการตุลาการ
ศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ
(๑) กำหนดให้กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปีโดยอาจได้รับเลือกใหม่ได้อีก แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้ และภายในหกสิบวันก่อนกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิจะครบวาระ ประธานศาลปกครองต้องดำเนินการให้มีการเลือกกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นตุลาการศาลปกครอง โดยต้องแล้วเสร็จก่อนที่กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิชุดเดิมจะพ้นจากตำแหน่งตามวาระ สำหรับกรณีกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่เป็นตุลาการศาลปกครอง
ให้ประธานศาลปกครองแจ้งต่อประธานวุฒิสภาหรือนายกรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี เพื่อทราบ (ร่างมาตรา ๓๙)
(๒) กำหนดให้มีการเลือกซ่อม ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิว่างลงก่อนครบวาระ เว้นแต่วาระการอยู่ในตำแหน่งของกรรมการผู้นั้นจะเหลือไม่ถึงเก้าสิบวัน จะไม่ดำเนินการเลือกซ่อมก็ได้ นอกจากนี้ ได้กำหนดการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒินอกจากการพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระไว้ด้วย (ร่างมาตรา ๓๙/๑ และร่างมาตรา ๔๐)
๒.๕ การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองในกรณีที่ไม่มีกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่เป็นตุลาการศาลปกครอง
กำหนดให้ในกรณีที่ไม่มีกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่เป็น
ตุลาการศาลปกครอง หรือมีแต่ไม่ครบสามคน ถ้าคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองจำนวนไม่น้อยกว่าหกคนเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องให้ความเห็นชอบ ให้คณะกรรมการตุลาการศาลปกครองจำนวนดังกล่าวเป็นองค์ประกอบและองค์ประชุมพิจารณาเรื่องเร่งด่วนนั้นได้ ทั้งนี้ เพื่อให้ ก.ศป. ที่เหลืออยู่สามารถปฏิบัติต่อไปได้หากไม่มีกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่เป็นตุลาการ
ศาลปกครอง (ร่างมาตรา ๔๑/๑)
๒.๖ บทเฉพาะกาล
กำหนดให้มีการดำเนินการเลือกกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ
โดยต้องแล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ หากในระหว่างที่ยัง
มิได้มาซึ่ง ก.ศป. ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดตามมาตรา ๖๘ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ทำหน้าที่เป็น ก.ศป. ไปพลางก่อน เพื่อให้การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของศาลปกครองมีความต่อเนื่อง และได้กำหนดรองรับการปฏิบัติหน้าที่ของ ก.ศป. ชุดเดิมในเรื่องมติหรือการให้ความเห็นชอบซึ่งได้ดำเนินการไปก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ โดยให้ถือว่ามติหรือการให้ความเห็นชอบนั้นเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของ ก.ศป. ตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา ๑๒ ร่างมาตรา ๑๓ และร่างมาตรา ๑๔)
@@@@@@@
ตารางเปรียบเทียบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
กับร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา