- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เจาะคำพิพากษาฎีกาคดีไร่ส้ม! หลักฐานใหม่‘สรยุทธ’สู้ปมเช็ค-ชนวนสำคัญได้ลดโทษ?
เจาะคำพิพากษาฎีกาคดีไร่ส้ม! หลักฐานใหม่‘สรยุทธ’สู้ปมเช็ค-ชนวนสำคัญได้ลดโทษ?
“...ส่วนประเด็นค่าเช็ค 6 ฉบับ จำนวน 739,770 บาท ที่จำเลยที่ 2 จ่ายให้จำเลยที่ 1 นั้น มิใช่ค่าตอบแทน โดยปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 4 จ่ายค่าประสานงานให้กับจำเลยที่ 1 โดยมิได้เป็นการจ่ายแบบรายเดือน แต่จ่ายเป็นรายครั้ง โดยเป็นคำนวณเงินค่าโฆษณาร้อยละ 2 ทั้งนี้จำเลยที่ 2-4 ได้ค้นหาโฆษณาทุกตัวที่มีการจ่ายค่าประสางานร้อยละ 2 ให้แก่จำเลยที่ 1 จากผู้สั่งซื้อโฆษณาทั้งหมด จึงรับฟังได้ว่า เงินดังกล่าวมิใช่เงินต่างตอบแทน แต่เป็นเงินค่าประสานงาน ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน…”
“ที่จำเลยทั้งหมดฎีกาว่าขอให้ลงโทษสถานเบา และรอการลงโทษนั้น โดยจำเลยที่ 3 (นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา) ระบุว่า เคยประกอบคุณงามความดีนั้น ศาลเห็นว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้สื่อมวลชนอาวุโส แต่กลับกระทำความผิดโดยไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง ทั้งที่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่วงการสื่อมวลชน จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ”
เป็นหนึ่งในสาระสำคัญคดีที่ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา อดีตพิธีกรนักเล่าข่าวชื่อดัง และกรรมการบริษัท ไร่ส้ม จำกัด กรณียักยอกเงินค่าโฆษณาเกินเวลาในรายการ ‘คุยคุ้ยข่าว’ ที่ออกอากาศทางช่อง อสมท ระหว่างปี 2548-2549 รวมเป็นเงินกว่า 138 ล้านบาท โดยฎีกาแก้ลดโทษนายสรยุทธ เหลือ 6 ปี 24 เดือน จากเดิมในชั้นต้น และชั้นอุทธรณ์ถูกพิพากษาจำคุก 13 ปี 4 เดือน (อ่านประกอบ : คุกจริง 'สรยุทธ' 6 ปี 24 ด.! ศาลฎีกาฯ พิพากษาแก้คดี ‘ไร่ส้ม’ ไม่รอลงอาญา)
สิ่งที่หลายคนสงสัยคือ เหตุผลอะไรที่ศาลฎีกาลดโทษนายสรยุทธ กับพวกลงเหลือเท่านี้ ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปคำพิพากษาศาลฎีกาคดีดังกล่าวให้สาธารณชนทราบ ดังนี้
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว รับฟังข้อเท็จจริงที่เป็นข้อยุติจากคู่ความทั้งสองฝ่ายได้ว่า นางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด (จำเลยที่ 1) เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ในบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ มีหน้าที่จัดทำใบคิวโฆษณา โดยอยู่ใต้การบังคับบัญชาของ น.ส.อัญญา อู่ไทย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนธุรการระดับ 6 ฝ่ายบริการลูกค้า ส่วนบริษัท ไร่ส้ม จำกัด (จำเลยที่ 2) เป็นนิติบุคคล มีนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา (จำเลยที่ 3) เป็นกรรมการ และ น.ส.มณฑา ธีระเดช (จำเลยที่ 4) เป็นพนักงานบริษัท ไร่ส้ม จำกัด
ในช่วงเกิดเหตุระหว่างปี 2548-2549 บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ได้ทำสัญญาดำเนินรายการคุยคุ้ยข่าว ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ อสมท โดยแบ่งโฆษณากันคนละครึ่ง โดยหาเป็นรายการ 1 ชั่วโมง บริษัท ไร่ส้ม จำกัด จะได้โฆษณาจำนวน 5 นาที หากเป็นรายการออก 30 นาที บริษัท ไร่ส้ม จำกัด จะได้โฆษณาจำนวน 2.5 นาที โดยมีอัตราจ่ายในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ นาทีละ 2 แสนบาท และช่วงวันจันทร์-ศุกร์ นาทีละ 2.2 แสนบาท และปรับเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2549 เป็นนาทีละ 2.4 แสนบาท
โดยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นางพิชชาภา ผู้จัดใบคิวโฆษณา มิได้รายงานการโฆษณาเกินเวลาของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ในรายการคุยคุ้ยข่าว ระหว่างปี 2548-2549 รวมค่าโฆษณาเกินเวลากว่า 138 ล้านบาท ให้แก่ผู้บังคับบัญชาคือ น.ส.อัญญา ทราบ และนางพิชชาภา ได้ใช้ปากกาลบคำผิดขีดฆ่าใบคิวโฆษณาเกินเวลาของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ออกด้วย
@ปมเช็ค 6 ฉบับ 7.3 แสนบาทไม่ใช่ค่าตอบแทน แต่เป็นค่าประสานงานจริง
ฎีกาของฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่า เช็คจำนวน 6 ฉบับ วงเงิน 739,770 บาท ที่สั่งจ่ายให้นางพิชชาภานั้น มิใช่ค่าตอบแทนในการช่วยเหลือเพื่อให้บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ได้โฆษณาเกินเวลา แต่เป็นเช็คที่จ่ายเป็นค่าประสานงานโดยคิดจากเงินค่าโฆษณาร้อยละ 2 ต่อครั้ง
ศาลฎีกา พิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 ทราบข้อเท็จจริง และทราบสิทธิของจำเลยที่ 2 ดีว่า การโฆษณาต้องดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้จากการไต่สวนพยานฝ่ายโจทก์ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ต้องรายงานค่าโฆษณาเกินเวลาแก่ผู้บังคับบัญชา (น.ส.อัญญา อู่ไทย) ทันที แต่กลับละเลยหน้าที่ ทำให้จำเลยที่ 2 มิได้ชำระเงินค่าโฆษณาเกินเวลาตามระยะเวลาที่กำหนด จำเลยที่ 1 จึงละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต
ส่วนประเด็นค่าเช็ค 6 ฉบับ จำนวน 739,770 บาท ที่จำเลยที่ 2 จ่ายให้จำเลยที่ 1 นั้น มิใช่ค่าตอบแทน โดยปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 4 จ่ายค่าประสานงานให้กับจำเลยที่ 1 โดยมิได้เป็นการจ่ายแบบรายเดือน แต่จ่ายเป็นรายครั้ง โดยเป็นคำนวณเงินค่าโฆษณาร้อยละ 2
@'สรยุทธ'งัดหลักฐานใหม่คุ้ยโฆษณาทุกตัวมาคอนเฟิร์มว่าไม่ใช่ค่าตอบแทน
เมื่อพิจารณาจากใบกำกับภาษีของจำเลยที่ 2 สั่งจ่ายจำเลยที่ 1 เห็นว่า เงินที่ระบุเป็นค่าประสานงานนั้น คิดคำนวณเป็นอัตราค่าโฆษราร้อยละ 2 โดยก่อนหน้านี้ จำเลยที่ 2 อ้างว่า มีการโฆษณาสินค้าในส่วนที่ไม่ได้เกินเวลา แต่จากการไต่สวนมิได้พบว่าเป็นโฆษณาจากสินค้าอะไรบ้าง
ทั้งนี้จำเลยที่ 2-4 ได้ค้นหาโฆษณาทุกตัวที่มีการจ่ายค่าประสานงานร้อยละ 2 ให้แก่จำเลยที่ 1 จากผู้สั่งซื้อโฆษณาทั้งหมด จึงรับฟังได้ว่า เงินดังกล่าวมิใช่เงินต่างตอบแทน แต่เป็นเงินค่าประสานงาน ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
(หนึ่งในเช็ค 6 ฉบับที่บริษัท ไร่ส้ม จำกัด สั่งจ่ายนางพิชชาภา ท้ายที่สุดศาลฎีกาวินิจฉัยว่ามิใช่ค่าตอบแทน แต่เป็นค่าประสานงาน)
@อดีต พนง.อสมท ไม่ผิดฐานรับทรัพย์สินโดยมิชอบ ‘ไร่ส้ม-สรยุทธ’ มิได้สนับสนุน
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยอีกว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับทรัพย์สินโดยมิชอบ หรือโดยทุจริต ขณะที่จำเลยที่ 2-4 ให้การสนับสนุนหรือไม่นั้น
ตามที่ศาลฎีกาวินิจฉัยไปก่อนหน้านี้ว่า เช็คจำนวน 6 ฉบับที่จำเลยที่ 2 สั่งจ่ายจำเลยที่ 1 มิใช่เช็คต่างตอบแทน แต่เป็นเช็คค่าประสานงาน นอกจากนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คำว่าทรัพย์สิน หมายถึงวัตถุรูปร่าง ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่มีบทลงโทษสูง ดังนั้นจึงไม่เข้าข่ายองค์ประกอบความผิดในส่วนนี้ ขณะเดียวกันฟ้องโจทก์ยังคลุมเครือไม่ชัดเจน
การที่จำเลยที่ 1 รับเช็คดังกล่าว จึงยังฟังไม่ได้ว่ากระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับทรัพย์สินโดยมิชอบ หรือโดยทุจริต เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ผิด จำเลยที่ 2-4 จึงไม่ผิดฐานสนับสนุน
@ชี้ชัด ‘สรยุทธ’ คนสั่งการ ข้ออ้างฟังไม่ขึ้น
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยอีกว่า จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต ขณะที่จำเลยที่ 2-4 ให้การสนับสนุนหรือไม่นั้น
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้รายงานค่าโฆษณาเกินเวลาของจำเลยที่ 2 ต่อมาเมื่อสอบปากคำจำเลยที่ 1 ให้การยอมรับว่า จำเลยที่ 2 มีการโฆษณาเกินเวลาจริง รวมถึงใช้ปากกาลบคำผิดในใบคิวโฆษณา แม้ว่าจะไม่มีระเบียบข้อใดระบุว่าจำเลยที่ 1 ต้องรายงานค่าโฆษณาเกินเวลาแก่ผู้บังคับบัญชา แต่เป็นสามัญสำนึกของเจ้าพนักงานของรัฐ เพื่อให้ อสมท ไม่ต้องได้รับความเสียหาย แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 ทำให้ อสมท ได้รับความเสียหายกว่า 138 ล้านบาท แม้จะมีการคืนเงินแล้ว แต่ได้รับเงินล่าช้ากว่ากำหนด
นอกจากนี้ตามทางไต่สวนของโจทก์ เห็นว่า จำเลยที่ 4 ได้สั่งการให้จำเลยที่ 1 ใช้ปากกาลบคำผิดในใบคิวโฆษณาโดยอ้างถึงจำเลยที่ 3 ขอมาให้กระทำการดังกล่าว ขณะเดียวกันหากจำเลยที่ 1 มิได้ผลประโยชน์ตอบแทน ย่อมไม่จำเป็นต้องทำตามที่จำเลยที่ 3-4 ร้องขอ ดังนั้นข้ออ้างของจำเลยที่ 3-4 ที่ว่าไม่ได้สั่งการจำเลยที่ 1 จึงฟังไม่ขึ้น
ขณะเดียวกันตามทางไต่สวนโจทก์ พบอีกว่า ช่วงเวลาที่จำเลยที่ 1 มิได้รายงานค่าโฆษณาเกินเวลาดังกล่าว เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ได้เช็คจำนวน 6 ฉบับ แม้เช็คดังกล่าวจะมิใช่ค่าตอบแทนดังที่ศาลวินิจฉัยไปแล้ว แต่ถ้าจำเลยที่ 2 มิได้จ่ายเช็คดังกล่าว ก็ไม่มีเหตุผลจำเป็นที่จำเลยที่ 1 ต้องลบใบคิวโฆษณา รวมถึงไม่รายงานค่าโฆษณาเกินเวลาดังกล่าว
(นายสรยุทธ ขณะเดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อปี 2559)
@ความผิดต่างกรรมต่างวาระ ลงโทษรายกระทง
ฎีกาของฝ่ายโจทก์ขอให้ศาลพิจารณาลงโทษทุกกรรม เนื่องจากเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 มีหน้าที่จัดทำใบคิวค่าโฆษณา และต้องรายงานค่าโฆษณาเกินเวลาแก่ผู้บังคับบัญชา (น.ส.อัญญา อู่ไทย) แต่กลับละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต ส่วนจำเลยที่ 2-4 กระทำความผิดฐานสนับสนุน ความผิดสำเร็จแต่ละครั้งคราว จึงเป็นการกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน โดยฟ้องโจทก์ให้ลงโทษ 17 กระทง อย่างไรก็ดีศาลชั้นพิพากษาลงโทษ 6 กระทง และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงเห็นว่าฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
@‘สรยุทธ’อ้างเคยทำความดี แต่กลับทำผิดไม่เกรงกลัวกฎหมาย จึงเป็นเหตุไม่รอลงโทษ
ส่วนฎีกาของฝ่ายจำเลยขอให้ศาลลงโทษสถานเบา หรือรอการลงโทษนั้น ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต ทำให้จำเลยที่ 2 มิต้องจ่ายเงินค่าโฆษณาเกินเวลาให้แก่ อสมท ทำให้ อสมท ขาดรายได้ ถือว่าเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีแก่พนักงานในองค์การของรัฐ ทำให้ อสมท เกิดความเสียหาย และกระทำความผิดอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย
ส่วนจำเลยที่ 2-4 กระทำความผิดฐานสนับสนุนจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1, 3 และ 4 อ้างว่าไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน โดยจำเลยที่ 3 (นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา) ระบุว่า เคยประกอบคุณงามความดีนั้น ศาลเห็นว่า จำเลยที่ 3 เป็นสื่อมวลชนอาวุโส แต่กลับกระทำความผิดโดยไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง ทั้งที่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่วงการสื่อมวลชน จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษจำเลยที่ 1, 3 และ 4
@พิพากษาแก้คุก ‘สรยุทธ-มณฑา’ 6 ปี 24 เดือน- ‘พิชชาภา’ โดน 12 ปี
ศาลฎีกาเห็นว่าคำฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน จึงพิพากษาแก้ให้จำคุก น.ส.พิชชาภา กระทงละ 3 ปี รวม 6 กระทง จำคุก 18 ปี แต่ให้การเป็นประโยชน์ลดโทษให้ 1/3 คงจำคุก 12 ปี ส่วนนายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา จำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 6 กระทง รวมจำคุกคนละ 12 ปี แต่ให้การเป็นประโยชน์ลดโทษให้ 1/3 คงจำคุกคนละ 6 ปี 24 เดือน ปรับบริษัท ไร่ส้ม จำกัด 1.8 แสนบาท ลดเหลือ 7.2 หมื่นบาท คำฎีกาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
อ่านประกอบ :
คุกจริง 'สรยุทธ' 6 ปี 24 ด.! ศาลฎีกาฯ พิพากษาแก้คดี ‘ไร่ส้ม’ ไม่รอลงอาญา
ชี้ชะตาคดี ไร่ส้ม 138 ล. ‘สรยุทธ’ ปิดฉากหรือพ้นผิด นักเล่าข่าว 5.5 พันล.
ถ้าทุจริตคงไม่ร่วมมือ อสมท สอบ! คำต่อคำ‘สรยุทธ’หลังศาลอุทธรณ์จำหน่ายคดีปลอมเอกสาร
ศาลอุทธรณ์ตัดสินคดี‘สรยุทธ’โฆษณาเกินเวลา 29 ส.ค.-ยืนชั้นต้นจำหน่ายคดีปลอมเอกสาร
ชัด ๆ คำพิพากษาศาล! คดี‘สรยุทธ-พวก’โฆษณาเกินเวลา 138 ล.
ไม่รอลงอาญา! ศาลสั่งจำคุก‘สรยุทธ-พวก’ 13 ปี 4 เดือนคดีไร่ส้ม
ช่อง 3 โยน บ.ไร่ส้ม ตัดสินใจ เปลี่ยนพิธีกร 'เรื่องเล่าเช้านี้'
ย้อนข้อมูล 10 ปี! คดี‘สรยุทธ-ไร่ส้ม’ก่อนศาลนัดอ่านคำพิพากษา
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายสรยุทธ จาก ไทยโพสต์ออนไลน์