- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ฉบับเต็ม! คำพิพากษาศาลปค.สูงสุด อ้างจราจรติดขัดยื่นประมูลสาย 39 วิฯ ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย
ฉบับเต็ม! คำพิพากษาศาลปค.สูงสุด อ้างจราจรติดขัดยื่นประมูลสาย 39 วิฯ ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย
"...การที่ผู้แทนของผู้ฟ้องคดีเดินทางไปลงทะเบียนเข้าสู่กระบวนการเสนอราคาไม่ทันกำหนดเวลา จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นเพราะเหตุสุดวิสัยหรือพฤติการณ์อื่นใดอันผู้ฟ้องคดีไม่ด้องรับผิดชอบตามมาตรา 8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หากแต่เกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้แทนของผู้ฟ้องคดีที่ไม่ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับสภาพการจราจรบนถนนในกรุงเทพมหานคร และใช้ข่าวสารดังกล่าววางแผนการเดินทางไปยังสถานที่เสนอราคาให้รัดกุม ดังเช่น ที่วิญญูชนพึงกระทำ..."
"เมื่อผู้แทนของผู้มีสิทธิเสนอราคามาลงทะเบียนไม่ทันภายในเวลาที่กำหนด โดยมิได้เกิดจากเหตุสุดวิสัย จึงเป็นความผิดของผู้มีสิทธิเสนอราคา เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของกรมฯ ทุกประการอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลปกครองจะลดหลักประกันซองแต่อย่างใด"
คือ ข้อมูลสาระสำคัญในคำพิพากษาศาลปคกรองสูง ที่ตัดสินคดี ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) สายสัมพันธ์ ฟ้อง กรมทางหลวงชนบท และปลัดกระทรวงคมนาคม จากกรณีการถูกริบหลักประกันซอง หลังถูกตัดสิทธิไม่ให้เข้าร่วมการประมูลงานของรัฐอันเป็นผลมาจากการที่ผู้เสนอราคามาไม่ทันเวลากำหนดลงทะเบียนเข้าร่วมการเสนอราคา ซึ่งเป็น 1 ใน 5 คดีตัวอย่างที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาต่อคดีลักษณะนี้ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงนัยยะสำคัญของการตัดสินคดี ว่า ข้อกำหนดเรื่องเวลา ถือเป็นสาระสำคัญของการเข้าร่วมประมูลไม่ว่าจะมาช้าหรือมาสายกี่วินาที หรือนาทีก็ตาม ถือเป็นแนวคำวินิจฉัยคดีมาโดยตลอด ตามที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบข้อมูลไปก่อนหน้านี้ (อ่านประกอบ : เอกชนแพ้ทั้ง 5 คดี! แนวคำวินิจฉัยศาล ปค.สูงสุด ยื่นประมูลไม่ทันเวลา, ย้อนคำพิพากษาศาลปค.สูงสุดริบประกันซอง5แสนยื่นประมูลช้า39 วิฯ เทียบคดีอู่ตะเภา2แสนล.สาย9นาที)
เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับคดีนี้มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา นำรายละเอียดคำพิพากษาฉบับเต็มในส่วนนี้ มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบกันอีกครั้ง
คดีนี้ ศาลปกครองสูง พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1(กรมทางหลวงชนบท ) ได้มีประกาศกรมทางหลวงชนบท เลขที่ สบร. 42/2551 เรื่อง การประกวคราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2551 ประกวดราคางานจ้างก่อสร้างซ่อมสร้างผิวทางแอสพัลติกคอนกรีต (โดยวีธี Pavement In - Place Recycling) ถนนสาย อก. 4007 แยกทางหลวงหมายเลข 3195 -บ้านสามเรือน อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง ระยะทาง 3 กิโลเมตร โดยการประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ กำหนดยื่นเอกสารประกวคราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวันที่ 16 มิถุนายน 2551 โดยผู้เสนอราคาต้องวางหลักประกันซองพร้อมกับการยื่นเอกสารประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 575,000 มาท
ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นเอกสารการประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว พร้อมหลักประกันซองเป็นหนังสือค้ำประกัน (หลักประกันซอง) ของธนาคารกสิกรไทยจำกัด (มหาชน) สาขาสุพรรณบุรี เลขที่ 51-41-0046-2 ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2551 จำนวนเงิน 575,000 บาท
ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1(กรมทางหลวงชนบท ) ได้มีหนังสือตามแบบแจ้งวัน เวลา และสถานที่เสนอราคา เพื่อเข้าสู่กระบวนการเสนอราคา ด่วนที่สุด ที่ คค 0718.1/ว 5294 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 แจ้งวัน เวลา และสถานที่เสนอราคา ให้ผู้ฟ้องคดีมาเสนอราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในวันที่ 26 มิถุนายน 2541 ณ บริษัท บีส ไดเมนชั่น จำกัด อาคาร เอส. เอ็ม. ทาวเวอร์ ชั้น 32 เลขที่ 979/3-4 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร
กำหนดเวลาลงทะเบียน เริ่มตั้งแต่เวลา 9 นาฬิกา ถึงเวลา 9.30 นาฬิกา และมีหมายเหตุเตือนไว้ท้ายหนังสือฉบับดังกล่าวด้วยว่า จะด้องมาทำการลงทะเบียน มิฉะนั้นจะถูกยึดหลักประกันซอง
แต่ในวันที่ 26 มิถุนายน 2551 ซึ่งเป็นวันเสนอราคา มีผู้มีสิทธิเสนอราคามาลงทะเบียนภายในเวลาที่กำหนด จำนวน 10 ราย
ส่วนผู้แทนของผู้ฟ้องคดีมาถึง อาคาร เอส. เอ็ม. ทาวเวอร์ ชั้น 32 สถานที่ลงทะเบียนเสนอราคา เมื่อเวลา 9.30 นาฬิกา 39 วินาที ล่วงเลยกำหนดเวลาไป 39 วินาที ถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีไม่ได้ส่งผู้แทนมาลงทะเบียนเพื่อเข้าสู่กระบวนการเสนอราคาตามวัน เวลา และสถานที่ ที่กำหนด
โดยผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า การที่ผู้แทนของผู้ฟ้องคดีมาลงทะเบียนเพื่อเข้าสู่กระบวนการเสนอราคาไม่ทันกำหนด เป็นเพราะเหตุสุดวิสัยตามหนังสือ ที่ สพพ. 123/2551 ลงวันที่
27 มิถุนายน 2551 เรื่อง แจ้งเหตุสุดวิสัยและขอให้พิจารณาผ่อนผันคืนหลักประกันซอง และหนังสือ ที่ สพพ. 135/2551 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2551 เรื่อง อุทธรณ์คำสั่งยึดหลักประกันซองเสนอราคา เห็นว่า มาตรา 8 แห่งประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า คำว่า "เหตุสุดวิสัย" หมายความว่า เหตุใดๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดีเป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการะมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น
คดีนี้แม้หากจะเป็นความจริงดังที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างตามหนังสือ ที่ สพพ. 123/2551 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2551 เรื่อง แจ้งเหตุสุดวิสัยและขอให้พิจารณาผ่อนผันคืนหลักประกันซอง และหนังสือ ที่ สพพ. 135/2551 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2551 เรื่อง อุทธรณ์คำสั่งยึดหลักประกันซองเสนอราคา ว่า เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2551 ซึ่งเป็นวันเสนอราคา
ผู้แทนของผู้ฟ้องคดีออกเดินทางจากจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อไปยังบริษัท บีส ไดเมนชั่น จำกัด อาคาร เอส. เอ็ม ทาวเวอร์ ชั้น 32 ถนนพหลโยธิน ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับ ททบ.5 สนามเป้า โดยใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 340 เพื่อไปขึ้นถนนบรมราชชนนีไปลงสะพานพระราม 8 เดินทางไปยังแยกสี่เสาเทเวศร์ ไปออกบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า และไปพญาไท แล้วตัดไปออกอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
โดยออกเดินทางจากจังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อเวลาประมาณ 5.85 นาฬิกา และไปถึงถนนบรมราชชนนีเมื่อเวลาประมาณ 7.20 นาฬิกา ปรากฎว่าการจราจรในช่วงเวลาดังกล่าวติดขัดมาก อีกทั้งในบริเวณเส้นทางใกล้เคียงมีการชุมนุมประท้วง อยู่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ทำให้มีรถยนต์ติดสะสมเป็นบริเวณกว้าง จนไม่สามารถกลับรถยนต์ออกไปใช้เส้นทางอื่นได้
ผู้แทนของผู้ฟ้องคดีพยายามหาที่จอดรถยนต์และเดินทางต่อด้วยรถจักรยานยนต์รับจ้าง แต่การจราจรติดขัดมากทำให้ไม่สามารถเดินทางไปลงทะเบียนเข้าสู่กระบวนการเสนอราคาได้ทันกำหนดเวลา
แต่วิญญูชนเช่นผู้แทนของผู้ฟ้องคดีย่อมรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าบนถนนสายต่างๆ ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีรถยนต์โดยสารสาธารณะและรถยนต์ส่วนบุคคลสัญจรไปมาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในระหว่างเวลา 8 นาฬิกา ถึงเวลา 9 นาฬิกา ของวันทำการ รถยนต์เคลื่อนตัวได้ช้าสลับกับหยุดนิ่งเป็นระยะๆ การเดินทางจากที่หนึ่งเพื่อไปทำธุระอีกที่หนึ่งต้องใช้เวลามากพอสมควร และหากเกิดอุบัติเหตุบนถนนสายใดสายหนึ่งก็จะทำให้รถยนต์ติดสะสมบนถนนสายนั้น และถนนใกล้เคียง จนต้องใช้เวลาในการเดินทางมากขึ้นไปอีก
ดังนั้น ผู้ใช้รถยนต์สัญจรไปมาบนถนนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจึงต้องติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการจราจรจากสื่อต่างๆ โดยเฉพาะจากวิทยุกระจายเสียงอยู่ตลอดเวลา เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงไม่ใช้เส้นทางที่มีรถยนต์ติดสะสมเป็นจำนวนมาก แล้วใช้เส้นทางอื่นที่การจราจรคล่องตัวกว่าแทน
หากก่อนหรือระหว่างการเดินทางจากจังหวัดสุพรรณบุรีเข้ากรุงเทพมหานคร ผู้แทนของผู้ฟ้องคดีได้ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับสภาพการจราจรบนถนนที่ตั้งใจจะใช้เป็นเส้นทางไปบริษัท บีส ไดเมนชั่น จำกัด เพื่อลงทะเบียนเข้าสู่กระบวนการเสนอราคาดังเช่นที่วิญญูชนพึงกระทำแล้ว
ผู้แทนของผู้ฟ้องคดีย่อมจะรู้ได้ว่ามีการชุมนุมของประชาชนอยู่บริเวณทำเนียบรัฐบาล และคาดหมายได้ว่าการจราจรบนถนนที่ตนตั้งใจจะใช้เป็นเส้นทางไปบริษัท บีส ไดเมนชั่น จำกัด ในช่วงเช้าของวันที่ 26 มิถุนายน 2551 ติดขัดมากเป็นพิเศษ และสามารณเปลี่ยนไปใช้ถนนสายอื่นที่การจราจรไม่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมของประชาชนบริเวณทำเนียบรัฐบาลเป็นเส้นทางไปบริษัท บีส ไดเมนชั่น จำกัด แทน
การที่ผู้แทนของผู้ฟ้องคดีเดินทางไปลงทะเบียนเข้าสู่กระบวนการเสนอราคาไม่ทันกำหนดเวลา จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นเพราะเหตุสุดวิสัยหรือพฤติการณ์อื่นใดอันผู้ฟ้องคดีไม่ด้องรับผิดชอบตามมาตรา 8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
หากแต่เกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้แทนของผู้ฟ้องคดีที่ไม่ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับสภาพการจราจรบนถนนในกรุงเทพมหานคร และใช้ข่าวสารดังกล่าววางแผนการเดินทางไปยังสถานที่เสนอราคาให้รัดกุม ดังเช่น ที่วิญญูชนพึงกระทำ
ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ส่งผู้แทนมาลงทะเบียนเพื่อเข้าสู่กระบวนการเสนอราคาตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด ผู้ฟ้องคดีจึงต้องรับผิดตามหลักประกันซอง ตามหนังสือสัญญาค้ำประกัน(หลักประกันซอง) ของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสุพรรณบุรี เลขที่ 51-41-0046-2 ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2551 จำนวนเงิน 575,000 บาท
ก่อนจะพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น เป็นยกฟ้อง ให้กรมทางหลวงชนบท ชนะคดี
ขณะที่ สำนักกฎหมาย กรมทางหลวงชนบท ก็ได้นำคำพิพากษาคดีนี้ มาใช้เป็นบรรทัดฐานถึงหลักการริบหลักประกันซองในการประกวดราคาต่อมา พร้อมระบุว่า เพราะการจะพิสูจน์ว่าความล่าช้านั้นเป็นเหตุสุดวิสัยตามที่มีการกล่าวอ้างหรือไม่ เป็นเรื่องที่กระทำได้ยาก การใช้ดุลพินิจตัดสิทธิการเสนอราคาโดยพิจารณาจากความล่าช้า จึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุดแล้วในสถานการณ์เช่นนั้น
(อ่านข่าวประกอบ : ตุลาการแถลงคดีศาลปค.สูงสุด เสนอให้กลุ่มซีพีฯ ชนะคดีอู่ตะเภา-ทร.แย้งทำลายระบบจัดซื้อจ้าง, ชัดๆ จุดยืนคำแถลง'กลุ่มซีพีVS.ทร.' คดีอู่ตะเภา2แสนล. 'ให้ปย.รัฐมาก-ทำลายระบบซื้อจ้าง')
อ่านประกอบ :
ย้อนคำพิพากษาศาลปค.สูงสุดริบประกันซอง5แสนยื่นประมูลช้า39 วิฯ เทียบคดีอู่ตะเภา2แสนล.สาย9นาที
ยกเหตุจราจรติดขัด-อย่ายึดถือเวลาสาย9น.! ศาลปค.สูงสุด นัดพิจารณาคดีอู่ตะเภาฯ 7พ.ย.นี้
กลุ่มซีพีสู้ต่อ! อุทธรณ์ศาลปค.สูงสุด ค้านมติประมูลอู่ตะเภาฯ-ทร.ชิงประกาศผู้ชนะ 24 ก.ย.
กลุ่มซีพีแพ้! ศาลปค.กลาง ยกฟ้องค้านมติประมูลอู่ตะเภาฯ 2 แสนล.-ยื่นซองเกินเวลา
รู้ผลแพ้ชนะ 21ส.ค.นี้! ศาล ปค.นัดอ่านคำพิพากษากลุ่มซีพี ฟ้องค้านมติอู่ตะเภาฯ 2 แสนล.
กลุ่มซีพีฯพ่ายยกแรก! ศาลปค.ฯ ยกคำขอคุ้มครองชั่วคราวฟ้องมติเลือกเอกชนพัฒนาอู่ตะเภาฯ
อุบผลไต่สวนมูลฟ้องค้านมติเลือกเอกชนพัฒนาอู่ตะเภาฯ2แสนล.- รองผบ.ทร. ขอทำข่าวแจก17 พ.ค.นี้
ทร.ยันโครงการสนามบินอู่ตะเภาเป็นธรรม-คาดพิจารณาคุณสมบัติเสร็จก่อนสิ้น พ.ค.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/