- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ย้อนคำพิพากษาศาลปค.สูงสุดริบประกันซอง5แสนยื่นประมูลช้า39 วิฯ เทียบคดีอู่ตะเภา2แสนล.สาย9นาที
ย้อนคำพิพากษาศาลปค.สูงสุดริบประกันซอง5แสนยื่นประมูลช้า39 วิฯ เทียบคดีอู่ตะเภา2แสนล.สาย9นาที
“...จากคำพิพากษาคดีข้างต้น จึงเป็นบรรทัดฐานถึงหลักการริบหลักประกันซองได้เป็นอย่างดีและเป็นข้อยืนยันความถูกต้องในการปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาของประธานคณะกรรมการประกวดราคา เพราะการจะพิสูจน์ว่าความล่าช้านั้นเป็นเหตุสุดวิสัยตามที่มีการกล่าวอ้างหรือไม่ เป็นเรื่องที่กระทำได้ยาก การใช้ดุลพินิจตัดสิทธิการเสนอราคาโดยพิจารณาจากความล่าช้า จึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุดแล้วในสถานการณ์เช่นนั้น...”
หากใครที่ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหว กรณี บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด กับพวก ประกอบไปด้วย 1. บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี 2. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) 4. บี.กริม จอยน์ เวนเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด และ 5. Orient Success International Limited เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องคดี ต่อ คณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก กรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คงจะพอทราบว่า ในวันที่ 7 พ.ย.2562 นี้ เวลา 13.00 น. ณ ห้องพิจารณาคดี 12 ชั้น 3 อาคารศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร เป็นวันที่ ศาลปกครองสูงสุด กำหนดนัดนั่งพิจารณาคดีนี้ครั้งแรก
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2562 ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ในส่วนที่ปฏิเสธไม่รับข้อเสนอ ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ และซองข้อเสนอด้านราคา ของกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้คณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ รับพิจารณาเอกสารดังกล่าวให้เป็นไปตามขั้นตอนการดำเนินการคัดเลือกต่อไปแล้ว
ขณะที่การกำหนดนัดนั่งพิจารณาคดีนี้ครั้งแรก นี้ สำนักงานศาลปกครอง เคยเผยแพร่รายละเอียดเนื้อหาคำอุทธรณ์ของฝ่ายโจทก์ คือ บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด กับพวกไปแล้ว สรุปสาระสำคัญคำอุทธรณ์ว่า การให้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้ายื่นซองข้อเสนอให้ครบถ้วนย่อมก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับรัฐมากกว่าการยึดถือเวลาเพียง 9 นาที ซึ่งอาจมีบุคคลใดเห็นว่าเป็นข้อบกพร่องของผู้ฟ้องคดีอยู่บ้างแต่การเปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดียื่นซองข้อเสนอเพื่อแข่งขันกับผู้ยื่นข้อเสนออีก 2 ราย อย่างครบถ้วนและเป็นธรรมนั้น จะเป็นการเปิดกว้างให้คณะกรรมการนโยบายฯ ได้ใช้ดุลพินิจตัดสินใจในการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนซึ่งไม่ส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่รัฐอย่างร้ายแรง การที่ผู้ถูกฟ้องคดีนำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการที่ผู้ฟ้องคดีนำเอกสารจำนวน 2 กล่อง คือ กล่องที่ 6 และที่ 9 มา ณ จุดลงทะเบียนยื่นข้อเสนอเมื่อเวลา 15.09 น. มาเป็นเหตุในการมีมติไม่รับข้อเสนอซองที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ขัดต่อหลักพอสมควรแก่เหตุ ขัดต่อหลักความได้สัดส่วนและไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
พร้อมให้ข้อมูลรายละเอียดในคดีว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้า ฟ้องว่าคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีมีมติไม่รับซองข้อเสนอของผู้ฟ้องคดีบางรายการ (ข้อเสนอตัวจริงกล่องที่ 6 (ข้อเสนอทางเทคนิคและแผนธุรกิจ) และตัวจริงกล่องที่ 9 (ข้อเสนอด้านราคา)) ในการยื่นข้อเสนอในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ตามหนังสือที่ กพอ.ทร.182/2562 ลว.10 เม.ย. 2562 โดยอ้างว่าผู้ฟ้องคดีได้ยื่นข้อเสนอดังกล่าวเกินกำหนดเวลา เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย
คดีนี้ ศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) มีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพิเคราะห์แล้วเห็นว่า กองทัพเรือในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการได้ดำเนินการเปิดและปิดรับซองข้อเสนอของเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอ กำหนดเวลาเปิดรับซองข้อเสนอเวลา 09.00 น. และปิดรับซองข้อเสนอในเวลา 15.00 น. ตามเวลามาตรฐานประเทศไทย ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอรายหนึ่งในจำนวนดังกล่าวได้นำซองข้อเสนอไม่ปิดผนึกมายังห้องรับรอง
ต่อมาเวลา 13.52 น. ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าได้นำซองข้อเสนออีกจำนวน 8 กล่อง มายังห้องรับรอง คณะทำงานรับและจัดเก็บเอกสารข้อเสนอซึ่งได้รับแต่งตั้งตามคำสั่งคณะกรรมการบริหารเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของกองทัพเรือ (เฉพาะ) ที่ 43/2561 ลว. 16 พ.ย. 2561 ให้ทำหน้าที่รับตรวจนับข้อเสนอ ทำบัญชีรายชื่อ ได้ตรวจสอบหมายเลขซองข้อเสนอที่ระบุบนกล่องข้อเสนอทั้งหมดของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าที่มาถึงห้องรับรองแล้ว พบว่าผู้ฟ้องคดีทั้งห้ามีความประสงค์ที่จะยื่นข้อเสนอจำนวนทั้งหมด 11 กล่อง แต่ข้อเสนอมีเพียง 9 กล่อง เท่านั้นที่มาถึงห้องรับรอง โดยขาดข้อเสนอ 2 กล่อง ได้แก่ กล่องที่ 6 และกล่องที่ 9 และต่อมา เมื่อเวลาประมาณ 15.07 น. ปรากฏว่า มีรถยนต์บรรทุก หมายเลขทะเบียน 1 ฒค 9367 กรุงเทพมหานคร เข้ามายังกองบัญชาการกองทัพเรือ โดยรถดังกล่าวได้นำกล่องข้อเสนอที่ขาดอยู่ 2 กล่อง มายังห้องรับรองในเวลาประมาณ 15.09 น. ทั้งนี้ โดยมีภาพถ่ายแสดงเหตุการณ์ข้างต้นพร้อมระบุเวลาชัดแจ้ง รายละเอียดตามเอกสารดังกล่าวแสดงว่าซองข้อเสนอ 2 กล่อง ได้แก่ กล่องที่ 6 และกล่องที่ 9 มาถึงยังสถานที่รับซองข้อเสนอภายหลังเวลา 15.00 น. อีกทั้ง ผู้ฟ้องคดีทั้งห้ายอมรับตามคำแถลงชี้แจงเพิ่มเติม ลว.16 พ.ค. 2562 ว่าเอกสารข้อเสนอของผู้ฟ้องคดีทั้งห้า กล่องที่ 6 และกล่องที่ 9 ไปถึงห้องรับรองชาวต่างประเทศ กองบัญชาการกองทัพเรือ ในเวลา 15.08 น. เหตุที่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าส่งมอบเอกสารดังกล่าวล่าช้า เนื่องจากในวันดังกล่าวการจราจรติดขัด
ข้อเท็จจริงข้างต้นจึงรับฟังได้ว่าเอกสารซองข้อเสนอของผู้ฟ้องคดีทั้งห้า จำนวน 2 กล่อง คือ กล่องที่ 6 และกล่องที่ 9 ไปถึงยังสถานที่รับซองข้อเสนอภายหลังกำหนดระยะเวลาตามที่ระบุไว้ในข้อ 31 (1) ของเอกสารการคัดเลือกเอกชนฯ ผู้ถูกฟ้องคดีย่อมมีหน้าที่ปฏิเสธไม่รับไว้เพื่อพิจารณาในขั้นตอนต่อไปตามที่ระบุไว้ในข้อ 31 (3) โดยไม่สามารถพิจารณายกเว้นให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าเป็นกรณีพิเศษได้ มิเช่นนั้นจะเป็นการเลือกปฏิบัติต่อเอกชนรายใดรายหนึ่งและทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
การที่กล่องข้อเสนอทั้ง 2 กล่อง ถูกนำเข้ามารวมอยู่กับกล่องข้อเสนออีก 9 กล่อง ที่มาถึงห้องรับรองอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ก่อนเวลา 15.00 น. และถูกนำไปเก็บรวมไว้ที่ห้อง Navy Club กองบัญชาการกองทัพเรือ จึงไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของเอกสารการคัดเลือกเอกชน เอกสารหลัก เล่มที่ 1 ข้อแนะนำผู้ยื่นข้อเสนอ ลว. 16 พ.ย. 2561 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ดังนั้นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีในการประชุม ครั้งที่ 6/2562 เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2562 ได้รับทราบผลการชี้แจงความก้าวหน้าของคณะทำงานรับและจัดเก็บเอกสารข้อเสนอแล้วมีมติไม่รับเอกสารข้อเสนอร่วมลงทุนกับรัฐในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าในส่วนของซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ กล่องที่ 6 กับฉบับสำเนา และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านราคา กล่องที่ 9 กับฉบับสำเนา เนื่องจากเป็นเอกสารที่ได้ยื่นภายหลังกำหนดเวลาการยื่นซองเอกสารข้อเสนอตามที่กำหนดในเอกสารการคัดเลือกเอกชน ข้อ 31 (1) และ (3) และมีหนังสือสำนักงานบริหารเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออกของกองทัพเรือ ด่วนมาก ที่ กพอ.ทร.182/2562 ลว. 10 เม.ย. 2562 แจ้งมติให้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าทราบ มติดังกล่าวจึงสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การคัดเลือกและชอบด้วยกฎหมายแล้ว (อ่านประกอบ : ยกเหตุจราจรติดขัด-อย่ายึดถือเวลาสาย9น.! ศาลปค.สูงสุด นัดพิจารณาคดีอู่ตะเภาฯ 7พ.ย.นี้)
หากพิจารณาในรายละเอียดคำอุทธรณ์ดังกล่าว จะพบว่า เหตุผลการจราจรติดขัด กับ การไม่ยึดติดเงื่อนเวลาสาย 9 นาที กับผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุดที่รัฐจะได้จากการเปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดียื่นซองข้อเสนอเพื่อแข่งขันกับผู้ยื่นข้อเสนออีก 2 ราย อย่างครบถ้วนและเป็นธรรม น่าจะเป็นประเด็นสำคัญที่ฝ่ายเอกชนหยิบยกขึ้นมาใช้ในการอุทธรณ์คดีครั้งนี้
ไม่ว่าผลการพิจารณาคดีนี้ ของศาลปกครองสูงสุด บรรทัดสุดท้ายจะออกมาเป็นอย่างไร
แต่กรณีการที่ผู้เสนอราคามาไม่ทันเวลากำหนด ส่งผลทำให้ถูกตัดสิทธิไม่สามารถเข้าร่วมการแข่งขันประกวดราคางานหน่วยงานของรัฐได้ และต้องถูกริบหลักประกันซอง เคยมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดตัดสินไว้เป็นคดีอุทาหรณ์มาแล้วในอดีต
ข้อมูลนี้ มีการบันทึกและเผยแพร่ข้อมูลเป็นทางการ ในฐานข้อมูลของสำนักกฎหมาย กรมทางหลวงชนบท ระบุเนื้อหาว่า "เดิมวิธีการจัดซื้อจัดจ้างที่ส่วนราชการดำเนินการอาจจะใช้วิธีการประกวดราคาจ้างด้วย วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะมีหลักการสำคัญประการหนึ่งว่า หากผู้มีสิทธิเสนอราคารายใดไม่ส่งผู้แทนมาลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการเสนอราคาตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด จะถูกริบหลักประกันชอง และให้ประธานคณะกรรมการประกวดราคาประกาศเป็นผู้หมดสิทธิเสนอราคา
ที่ผ่านมามีคดีพิพาทของกรมฯ จำนวนมากที่ผู้แทนของผู้มีสิทธิเสนอราคามาไม่ทันเวลาจึงถูกริบหลักประกันซอง และมีการยื่นฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองสั่งให้กรมฯ คืนหลักประกันซอง
คดีอุทาหรณ์ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ. 1205/2560 เป็นคดีที่กรมฯ ถูกฟ้องสืบเนื่องจากผู้แทนของผู้มีสิทธิเสนอราคามาไม่ทันเวลาลงทะเบียนโดยช้าไปเพียง 39 วินาที ประธานคณะกรรมการประกวดราคาได้ประกาศให้เป็นผู้หมดสิทธิเสนอราคา และกรมฯ ได้ริบเงินหลักประกันชองจำนวน 575,000 บาทเรียบร้อยแล้ว
ผู้มีสิทธิเสนอราคาได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว โดยอ้างว่าเวลาที่กำหนดให้ลงทะเบียน คือ 9.00 น.
ผู้แทนของผู้มีสิทธิเสนอราคาได้เดินทางจากจังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อเวลา 5.45 น. เพื่อไปยังสถานที่เสนอราคา อาคารเอส เอ็ม ทาวเวอร์ ถนนพหลโยธิน ตรงข้าม ททบ. 5
การจราจรติดขัดมากและมีการชุมนุมประท้วงบริเวณทำเนียบรัฐบาลทำให้รถติดสะสมเป็นวงกว้าง จึงหาที่จอดรถยนต์แล้วนั่งรถจักรยานยนต์รับจ้างไปยังสถานที่ประกวดราคา
แต่ไปถึงช้ากว่าเวลาที่กำหนด
ปลัดกระทรวงคมนาคมเห็นว่า อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น เพราะไม่ใช่เหตุสุดวิสัย
ผู้มีสิทธิเสนอราคาจึงยืนฟ้องกรมฯ ต่อศาลปกครอง ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นเห็นว่า เหตุผลที่ผู้แทนของผู้มีสิทธิเสนอราคามาลงทะเบียนไม่ทันไม่ใช่เหตุสุดวิสัย
แต่หลักประกันซองมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับตามกฎหมาย เห็นควรลดลงเหลือร้อยละ 20 ของหลักประกันซอง เป็นเงินจำนวน 115,000 บาท
พิพากษาให้กรมฯ คืนเงินหลักประกันซองให้ผู้มีสิทธิเสนอราคา 460,000 บาท
กรมฯ อุทธรณ์คำพิพากษา และศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า การที่ผู้แทนของผู้มีสิทธิเสนอราคามาลงทะเบียนไม่ทัน ไม่อาจถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย
หากแต่เกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้แทนของผู้มีสิทธิเสนอราคาที่ไม่ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับสภาพการจราจรบนถนนในกรุงเทพมหานคร และใช้ข่าวสารดังกล่าววางแผนการเดินทางให้รัดกุมดังเช่นที่วิญญูชนพึงกระทำ และการยึดหลักประกันซองผู้มีสิทธิเสนอราคาที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการ และเสียประโยชน์ที่จะได้รับการแข่งขันการเสนอพัสดุที่ดีที่สุด ในราคาที่เหมาะสม และเป็นธรรมกับผู้มีสิทธิเสนอราคารายอื่น เป็นมาตรการลงโทษเพื่อให้ผู้มีสิทธิเสนอราคาจะต้องเข้าร่วมการเสนอราคา โดยมาลงทะเบียนเพื่อเข้าสู่กระบวนการเสนอราคาตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด LOG IN เข้าสู่ระบบ มีการเสนอราคา รวมถึงลงลายมือชื่อในแบบ บก. 008 แบบยืนยันราคาสุดท้ายในการเสนอราคา อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่รัฐ
เมื่อผู้มีสิทธิเสนอราคาผูกพันตนตามประกาศประกวดราคาของกรมฯ ด้วยความสมัครใจ
จึงย่อมต้องพิจารณาข้อกำหนดของประกาศอย่างรอบคอบ และเป็นหน้าที่ของผู้มีสิทธิเสนอราคาที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศ
เมื่อผู้แทนของผู้มีสิทธิเสนอราคามาลงทะเบียนไม่ทันภายในเวลาที่กำหนดโดยมิได้เกิดจากเหตุสุดวิสัย จึงเป็นความผิดของผู้มีสิทธิเสนอราคา เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของกรมฯ ทุกประการอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลปกครองจะลดหลักประกันซองแต่อย่างใด
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น เป็นยกฟ้อง (กรมฯ ชนะคดี)
ทั้งนี้ สำนักกฎหมาย กรมทางหลวงชนบท ยังได้แสดงความเห็นต่อคำพิพากษาคดีนี้ว่า “จากคำพิพากษาคดีข้างต้น จึงเป็นบรรทัดฐานถึงหลักการริบหลักประกันซองได้เป็นอย่างดีและเป็นข้อยืนยันความถูกต้องในการปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาของประธานคณะกรรมการประกวดราคา เพราะการจะพิสูจน์ว่าความล่าช้านั้นเป็นเหตุสุดวิสัยตามที่มีการกล่าวอ้างหรือไม่ เป็นเรื่องที่กระทำได้ยาก การใช้ดุลพินิจตัดสิทธิการเสนอราคาโดยพิจารณาจากความล่าช้า จึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุดแล้วในสถานการณ์เช่นนั้น”
ส่วนคำพิพากษากรณีนี้ จะไปเทียบเคียงกับกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่มีวงเงินลงทุนสูงกว่า 2 แสนล้านบาท และมีเงื่อนเวลาล่าช้าที่นานกว่าถึง 9 นาที ได้หรือไม่
คงต้องติดตามรอฟังคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดกันต่อไป แบบห้ามกระพริบตาโดยเด็ดขาด!
อ่านประกอบ :
ยกเหตุจราจรติดขัด-อย่ายึดถือเวลาสาย9น.! ศาลปค.สูงสุด นัดพิจารณาคดีอู่ตะเภาฯ 7พ.ย.นี้
กลุ่มซีพีสู้ต่อ! อุทธรณ์ศาลปค.สูงสุด ค้านมติประมูลอู่ตะเภาฯ-ทร.ชิงประกาศผู้ชนะ 24 ก.ย.
กลุ่มซีพีแพ้! ศาลปค.กลาง ยกฟ้องค้านมติประมูลอู่ตะเภาฯ 2 แสนล.-ยื่นซองเกินเวลา
รู้ผลแพ้ชนะ 21ส.ค.นี้! ศาล ปค.นัดอ่านคำพิพากษากลุ่มซีพี ฟ้องค้านมติอู่ตะเภาฯ 2 แสนล.
กลุ่มซีพีฯพ่ายยกแรก! ศาลปค.ฯ ยกคำขอคุ้มครองชั่วคราวฟ้องมติเลือกเอกชนพัฒนาอู่ตะเภาฯ
อุบผลไต่สวนมูลฟ้องค้านมติเลือกเอกชนพัฒนาอู่ตะเภาฯ2แสนล.- รองผบ.ทร. ขอทำข่าวแจก17 พ.ค.นี้
ทร.ยันโครงการสนามบินอู่ตะเภาเป็นธรรม-คาดพิจารณาคุณสมบัติเสร็จก่อนสิ้น พ.ค.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/