- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- กรณีศึกษา!พลิกคำวินิจฉัยตุลาการศาล รธน.ข้างน้อยคดี‘ดอน’ โอนหุ้นต้องยึดเอกสารแหล่งใด?
กรณีศึกษา!พลิกคำวินิจฉัยตุลาการศาล รธน.ข้างน้อยคดี‘ดอน’ โอนหุ้นต้องยึดเอกสารแหล่งใด?
“…ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เอกสารดังกล่าวบริษัทได้จัดทำขึ้นและนำส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ภายหลังจากผู้ถูกร้องถูกตรวจสอบแล้ว ส่วนเอกสารอื่น ๆ ล้วนเป็นเอกสารที่ผู้ถูกร้องจัดขึ้นเองภายในบริษัท มิใช่เอกสารของทางราชการ เอกสารดังกล่าว จึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือที่จะรับฟังได้ว่า นางนรีรัตน์ ได้โอนหุ้นไปภายใน 30 วัน นับจากรัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้…”
ยังคงเป็นเงื่อนปมที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ในสังคม
กรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และคู่สมรส โอนหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด รวม 900,000 หุ้น มูลค่า 9 ล้านบาท ให้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดา ว่าตกลงเกิดขึ้นเมื่อไหร่กันแน่ ?
ก่อนหน้านี้มีกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยคดีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ที่ถูก กกต.ยื่นคำร้องให้วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เนื่องจากนางนรีรัตน์ ปรมัตถ์วินัย คู่สมรส ถือหุ้นเกิน 5% ในบริษัท 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท ปานะวงศ์ จำกัด และบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ จำกัด ภายหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 ตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ก.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 กำหนดห้ามรัฐมนตรีถือหุ้นเกิน 5% ทั้งนี้นางนรีรัตน์ ได้โอนหุ้นดังกล่าวให้แก่นายเพื่อน ปรมัตถ์วินัย บุตรชาย เกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดภายใน 30 วัน
หลายคนคงทราบกันไปแล้วว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง ชี้ว่า การโอนหุ้นของนางนรีรัตน์ถูกต้องแล้ว ดังนั้นนายดอนจึงไม่สิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี (อ่านประกอบ : กรณีศึกษา! คำวินิจฉัยศาล รธน.คดี ‘เมียดอน’โอนหุ้นในกำหนดแต่ฝ่ายทะเบียนแจ้งช้า?)
แต่ยังมีประเด็นสำคัญคือ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย 3 ราย ดังกล่าว มีคำวินิจฉัยส่วนตนเห็นว่า เอกสารการโอนหุ้นภายในบริษัท อาจไม่น่าเชื่อถือ แต่ต้องยึดตามเอกสารราชการ คือจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ?
แม้ว่ากรณีนายธนาธร และนายดอน จะเป็นคนละกรณีกัน แต่มีประเด็นเกี่ยวกับการโอนหุ้นเช่นเดียวกัน สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อยเกี่ยวกับประเด็นการโอนหุ้น ให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
หนึ่ง นายจรัญ ภักดีธนากุล
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นางนรีรัตน์ แจ้งขอโอนหุ้นบริษัท 2 แห่งต่อกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2560 ต่อมาทั้ง 2 บริษัทได้จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีเมื่อวันที่ 27 และ 30 เม.ย. 2562 ตามลำดับ และที่ประชุมจะอนุมัติการโอนหุ้นดังกล่าวตามที่แจ้งให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ต่อมาเมื่อการประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2560 เพื่อรับรองบัญชีผู้ถือหุ้นหลังการโอนกรรมสิทธิ์หุ้น
เห็นว่า ข้อกล่าวอ้างและเอกสารของนางนรีรัตน์ ขัดกับเหตุผล สภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์และข้อกฎหมายหลายประการ กล่าวคือ รายงานการประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2560 ของ 2 บริษัท มีการประชุมเพียง 2 วาระ ซึ่งขัดกับการประชุมทุกปีที่ผ่านมามีวาระการประชุม 5 วาระ ทั้งนี้กฎหมายกำหนดให้กระทำโดยที่ประชุมใหญ่สามัญ การที่บริษัททั้ง 2 จัดประชุมใหญ่โดยไม่กำหนดวาระการประชุมครบถ้วนเหมือนทุกปีที่เคยปฏิบัติ มีเพียงวาระรับรองงบดุลและพิจารณาเรื่องการอนุมัติการโอนหุ้นของนางนรีรัตน์ ย่อมขัดต่อกฎหมายและข้อบังคับของบริษัท จึงเป็นพิรุธอันควรสงสัย ไม่น่าเชื่อถือ
และสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นซึ่งที่ประชุมใหญ่สามัญครั้งที่ 1/2560 ของ 2 บริษัทได้อนุมัติการโอนหุ้นแล้ว ไม่มีการนำส่งให้แก่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าภายใน 14 วัน ทั้งการอ้างว่า ในการเรียกประชุมใหญ่สามัญ ข้อมูลในวาระอื่นยังไม่พร้อม ยิ่งไม่น่าเป็นไปได้ ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนพยานที่เรียกศาลเรียกมาให้ถ้อยคำก็ยอมรับว่า เป็นบริษัทในครอบครัว กรรมการก็เป็นกรรมการชุดเดิม ผู้สอบบัญชีก็เป็นคนเดิม ค่าตอบแทนเท่าเดิม จึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องเตรียมข้อมูลใด ๆ การไม่กำหนดวาระการออกและเข้าสู่ตำแหน่งกรรมการ และการเลือกผู้สอบบัญชีจึงเป็นเรื่องที่ผิดปกติอย่างยิ่ง
นอกจากนี้เอกสารต่าง ๆ ที่นางนรีรัตน์อ้าง มีเพียงบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นระบุว่า นางนรีรัตน์ได้โอนหุ้นให้นายเพื่อนแล้วเท่านั้น ที่เป็นเอกสารที่มีการส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ผู้ถูกร้องคัดรับรองมาแสดงเป็นหลักฐาน แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เอกสารดังกล่าวบริษัทได้จัดทำขึ้นและนำส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ภายหลังจากผู้ถูกร้องถูกตรวจสอบแล้ว ส่วนเอกสารอื่น ๆ ล้วนเป็นเอกสารที่ผู้ถูกร้องจัดขึ้นเองภายในบริษัท มิใช่เอกสารของทางราชการ เอกสารดังกล่าว จึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือที่จะรับฟังได้ว่า นางนรีรัตน์ ได้โอนหุ้นไปภายใน 30 วัน นับจากรัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้ ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อว่า นางนรีรัตน์ถือครองหุ้นในบริษัทเกินกว่าจำนวนที่กฎหมายกำหนด
สอง นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นางนรีรัตน์ โอนหุ้น 2 บริษัทให้กับนายเพื่อน โดยบริษัท ปานะวงศ์ จำกัด ทำหนังสือสัญญาโอนหุ้นเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2560 และบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ จำกัด ทำหนังสือสัญญาโอนหุ้นลงวันที่ 30 เม.ย. 2560 โดยที่ประชุมบริษัทพิจารณาแล้วอนุมัติการโอนหุ้นดังกล่าว และจะดำเนินการแจ้งเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน โดยบริษัท
จากข้อเท็จจริงพบว่า นางนรีรัตน์ ถือหุ้น 2 บริษัทระหว่างปี 2558-2560 โดยคิดเป็น 12% และ 17.5% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ต่อมาเมื่อวันที่ 9 และ 11 ต.ค. 2560 ได้จดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น เป็นวันเดือนปีที่มีการโอนและการได้มาซึ่งหุ้นดังกล่าว ตามหนังสือสัญญาโอนหุ้นเมื่อวันที่ 27 และ 30 เม.ย. 2560
อย่างไรก็ตามแม้หนังสือสัญญาโอนหุ้นของ 2 บริษัทดังกล่าว จะระบุว่าทำขึ้นเมื่อวันที่ 27 และ 30 เม.ย. 2560 ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า กรรมการผู้จัดการของ 2 บริษัท ลงลายมือชื่อในวันประชุมโอนหุ้นดังกล่าว ทั้งนี้กรรมการทั้ง 2 บริษัทรับทราบถึงข้อมูลเปลี่ยนแปลงนี้แล้ว
นอกจากนี้สมุดจดทะเบียนผู้ถือหุ้นของ 2 บริษัทดังกล่าว ได้จดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น โดยระบุวันที่ 9 ต.ค. 2560 เป็นวันเดือนปีที่มีการโอนและการได้มาซึ่งหุ้นดังกล่าว ทั้งที่การจดแจ้งการโอนและการรับโอนลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท 2 แห่ง เป็นเรื่องที่บริษัทสามารถดำเนินการได้เองหลังจากที่ประชุมได้อนุมัติการโอนหุ้นของนางนรีรัตน์แล้ว
ดังนั้นแม้คู่สัญญาตามหนังสือสัญญาโอนหุ้นจะได้แสดงเจตนาให้สัญญาโอนหุ้นเกิดขึ้นในวันที่ 27 และ 30 เม.ย. 2560 ตามลำดับก็ตาม แต่การใช้สิทธิแห่งตนดังกล่าวนั้น ย่อมมีผลต่อการพิจารณาว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายดอนสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัวหรือไม่ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จึงไม่อาจอ้างวันที่ตามที่ลงในหนังสือสัญญาโอนหุ้นได้ ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่า วันที่ 9 ต.ค. 2560 เป็นวันที่นางนรีรัตน์ ได้โอนหุ้น 2 บริษัทดังกล่าว ให้แก่นายเพื่อน
สาม นายวรวิทย์ กังศศิเทียม
ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า นางนรีรัตน์ ทำหนังสือสัญญาโอนหุ้น 2 บริษัทดังกล่าว ลงวันที่ 27 และ 30 เม.ย. 2560 โดยในทางไต่สวนกรรมการผู้จัดการบริษัท 2 แห่ง ได้ให้การตรงกันว่า หุ้นของบริษัทเป็นหุ้นประเภทระบุชื่อ ถ้ามีการโอนหุ้นต้องแจ้งให้บริษัททราบ และแก้ไขในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท ในทางปฏิบัติจะต้องนำเข้าที่ประชุมเพื่อรับรองก่อนนำข้อมูลแจ้งให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประกอบสำนักงานบัญชีขอเวลาในการดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนผู้ถือหุ้นให้แล้วเสร็จภายในเวลา 6 เดือน
เห็นว่า เนื่องจากบริษัททั้ง 2 แห่ง เป็นบริษัทภายในครอบครัวมีผู้ถือหุ้นจำนวนไม่มาก การเรียกประชุมผู้ถือหุ้น การจัดทำเอกสารการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ของผู้ถือหุ้นสามารถกระทำได้ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด การดำเนินการแจ้งเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนของผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทครั้งที่ผ่าน ๆ มา บริษัททั้ง 2 จัดให้มีการประชุมวิสามัญในการพิจารณาการโอนหุ้น โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการแล้วเสร็จไม่เกิน 30 วัน
ข้อกล่าวอ้างของบริษัท 2 แห่ง ที่นางนรีรัตน์ถือหุ้นอยู่ว่า ต้องใช้เวลาโอนหุ้น 6 เดือน จึงไม่สมเหตุสมผล นอกจากนี้การที่กรรมการผู้จัดการบริษัท 2 แห่ง แจ้งข้อมูลการถือหุ้นต่อคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง กกต. ว่า จำนวนหุ้นนางนรีรัตน์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจนถึงปัจจุบัน สัดส่วนยังเป็นเท่าเดิม โดยกรรมการผู้จัดการบริษัท 2 แห่ง อ้างว่า รายงานตามข้อมูลเดิมที่ปรากฏในทะเบียนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทั้งที่กรรมการผู้จัดการบริษัท 2 แห่ง อ้างว่า รายงานตามข้อมูลเดิมที่ปรากฏในทะเบียนกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ทั้งที่กรรมการทั้ง 2 บริษัททราบถึงข้อมูลที่มีการเปลี่ยนแปลงก่อนแล้ว แต่มิได้แจ้งข้อมูลดังกล่าวแก่คณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง กกต. แต่มิได้มีการแจ้งข้อมูลดังกล่าวจึงเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยของกรรมการผู้จัดการทั้ง 2 แห่ง
ขณะเดียวกันในหนังสือสัญญาโอนหุ้นของนางนรีรัตน์ให้กับนายเพื่อน เมื่อวันที่ 27 และ 30 เม.ย. 2560 ตามสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท 2 แห่ง ได้ลงรายการโอนหุ้นเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2560 ย่อมเป็นการผิดปกติ เนื่องจากในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท 2 แห่ง เป็นเรื่องที่บริษัทสามารถแก้ไขการโอนหุ้นลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นได้เองภายในบริษัทหลังจากที่ประชุมได้อนุมัติการโอนหุ้นตั้งแต่วันที่ 27 และ 30 เม.ย. 2560 แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องรอให้สำนักงานบัญชีดำเนินการประกอบกับสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) ในวันที่ 9 ต.ค. 2560 ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงเชื่อได้ว่า ยังไม่มีการโอนหุ้นภายในระยะเวลา 30 วัน นับแต่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ตามที่นางนรีรัตน์กล่าวอ้าง
----
นี่คือความเห็นที่เป็นสาระสำคัญของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย 3 ราย เกี่ยวกับการโอนหุ้นของนางนรีรัตน์ให้กับบริษัทเอกชน 2 แห่ง กรณีถือหุ้นเกิน 5% ที่ชี้ให้เห็นว่า เอกสารการโอนหุ้น สามารถลงจดแจ้งในทะเบียนผู้ถือหุ้นได้เลย ภายหลังมีหนังสือสัญญาโอนหุ้น ที่สำคัญเอกสารดังกล่าวจัดทำขึ้นภายในบริษัท อาจไม่มีน้ำหนักหรือความน่าเชื่อถือมากพอ เมื่อเทียบกับเอกสารราชการที่ปรากฏในกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
อย่างไรก็ดีกรณีของนายดอน ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากว่า ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายไปแล้ว คงเหลือกรณีของนายธนาธร ที่ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนของสำนักงาน กกต. ดังนั้นต้องรอดูกันว่าจะมีบทสรุปออกมาเป็นเช่นไร
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/