- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ส่องความเห็น ร่าง กม.จัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค ก่อนเข้า สนช.-เสียงค้านหนัก ปมมีหลายสภา สอดคล้อง รธน.?
ส่องความเห็น ร่าง กม.จัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค ก่อนเข้า สนช.-เสียงค้านหนัก ปมมีหลายสภา สอดคล้อง รธน.?
ส่องความเห็นหน่วยงานกับ ร่าง กม. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค ก่อนเข้าสนช. 10 ม.ค. 62 หลังเสียงค้านหนัก ปมมีหลายสภา สอดคล้อง รธน. จริงหรือ?
ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. ... ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ เป็นหนึ่งในกฎหมายหลายฉบับถูกบรรจุเข้าในวาระการพิจารณาเรื่องด่วนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันที่ 10 ม.ค. 2562 กำลังถูกท้วงติงจากเครือข่ายภาคประชาสังคมอย่างหนัก ภายหลังพบว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวไม่ตอบโจทย์การคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง
โดยได้มีการเคลื่อนไหวแสดงพลังไม่รับร่าง พ.ร.บ.และเรียกร้องให้ สนช.ยุติการพิจารณา เนื่องจากสภาองค์กรของผู้บริโภคที่จะมีขึ้นตามกฎหมายไม่ได้มาจากสภาเดียวหรือองค์กรเดียว ทำให้ขาดความเป็นอิสระ ไร้เอกภาพ ที่สำคัญ กังวลว่า ในอนาคตจะเกิดปัญหาขัดแย้งเหมือนสภาองค์กรลูกจ้างที่มีหลายสภา
(อ่านประกอบ:มีแล้วไม่ดี ไม่มีดีกว่า ‘กม.ตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค’ ล้าหลัง-จี้สนช. ยุติพิจารณา)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่าก่อนหน้านี้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้มีหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 40 หน่วยงาน ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ ภาคผู้ประกอบการ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อขอรับฟังความคิดเห็นพร้อมข้อเสนอแนะอื่น ๆ เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. ...
ไฮไลท์สำคัญ อยู่ที่ มาตรา 4 องค์กรของผู้บริโภคมีสิทธิรวมกันดำเนินการเพื่อจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคตามพระราชบัญญัตินี้ได้
สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เห็นชอบในหลักการนี้จะเพิ่มความเข้มแข็งกับองค์กรผู้บริโภคในการเจรจาหรือปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภค
ขณะที่สมาคมพิทักษ์ประโยชน์ผู้บริโภค เห็นว่า สิทธิการรวมตัวจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ แต่การมีสภาองค์กรของผู้บริโภค สภาเดียว องค์กรเดียว จะทำให้เกิดการรวมตัวที่เป็นเอกภาพ เป็นตัวแทนผู้บริโภคอย่างแท้จริง
ฟาก สคบ. เห็นว่า เพื่อเป็นการกำหนดให้องค์กรของผู้บริโภคมีสิทธิในการรวมตัวกันจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค จึงเป็นการกำหนดตามมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเนื้อหาบทบัญญัติตามมาตรา 46 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว
(มาตรา 46 วรรคสาม ระบุ องค์กรของผู้บริโภคตามวรรคสองมีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลัง ในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้ง อํานาจในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภค และการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ)
จะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้มีการกำหนดให้การรวมกันจัดตั้งองค์กรที่มีความเป็นอิสระขององค์กรของผู้บริโภคจะมีองค์กรเดียวหรือสามารถมีได้หลายองค์กร ดังนั้น หากจะตีความว่ารัฐธรรมนูญมีวัตถุประสงค์ให้มีการจัดตั้งองค์กรที่มีความอิสระเพียงองค์กรเดียวก็อาจเป็นการตีความในการจำกัดสิทธิขององค์กรของผู้บริโภค ซึ่งการที่กฎหมายใดจะมีบทบัญญัติในการจำกัดสิทธิในการรวมตัวของประชาชนได้จะต้องมีการบัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง
เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้มีการกำหนดไว้อย่างชัดแจ้ง ในกรณีนี้จึงต้องตีความเป็นการให้สิทธิหรือขยายสิทธิให้กับองค์กรของผู้บริโภค ว่ารัฐธรรมนูญกำหนดให้องค์กรของผู้บริโภคมีสิทธิรวมกันในการจัดตั้งองค์กรที่มีความเป็นอิสระได้มากกว่าหนึ่งองค์กรหรือหลายองค์กร
ดังนั้นในมาตรา 4 จึงควรมีการกำหนดบทบัญญัติให้ชัดเจนว่าองค์กรของผู้บริโภคมีสิทธิรวมกันจัดตั้ง สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้มากกว่าหนึ่งองค์กรหรือหลายองค์กร เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษ ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นการกำหนดให้องค์กรของผู้บริโภคมีสิทธิในการรวมตัวกันจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค จึงเป็นการบัญญัติที่สอดคล้องกับมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
อ่านประกอบ:เข้าสนช. 10 ม.ค.! ภาคประชาสังคมยันร่างกม. จัดตั้งองค์กรผู้บริโภคต้องมีสภาเดียว เป็นเอกภาพ
สรุปความคิดเห็น 40 หน่วยงาน ต่อ ร่างพ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/