- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ชอตต่อชอต! เทียบคดีนาฬิกาหรู 'บิ๊กป้อม' - รถโฟล์คตู้ ‘สุพจน์’
ชอตต่อชอต! เทียบคดีนาฬิกาหรู 'บิ๊กป้อม' - รถโฟล์คตู้ ‘สุพจน์’
เปรียบเทียบข้อเท็จจริง ชอตต่อชอต คดีนาฬิกาหรู 22 เรือน 'บิ๊กป้อม' ป.ป.ช. ดูพฤติกรรมแวดล้อม นักสะสม เชื่อเป็นของปัฐวาท - คดีรถโฟล์คตู้ 3 ล. ดูลักษณะการใช้งาน ไม่เชื่อเป็นของเพื่อน ‘สุพจน์ ทรัพย์ล้อม’
ภายหลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติ 5 ต่อ 3 เสียง (พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ขอถอนตัวออกจากห้องประชุม ไม่ร่วมพิจารณา) ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่ได้ยี่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินเท็จ กรณีนาฬิกาหรู 22 เรือน โดยเชื่อตามคำกล่าวอ้างของ พล.อ.ประวิตรว่า พล.อ.ประวิตรไม่ได้เป็นเจ้าของนาฬิกาเพียงแต่ พล.อ.ประวิตรยืมจากนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ เพื่อนสนิท มาใส่และได้คืนไปหมดแล้วและจากการสอบปากคำพยานที่เกี่ยวข้องก็พบว่านายปัฐวาทชอบสะสมนาฬิการาคาแพงจำนวนมาก ข้อร้องเรียนการปกปิดบัญชีทรัพย์สินจึงถูกยกคำร้อง
ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และถูกนำไปเปรียบเทียบกับคดี นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ปกปิดบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน กรณี ซุก เงินสด 18 ล้านและรถตู้ยี่ห้อโฟล์คสวาเก้นมูลค่า 3 ล้านบาท (อ่านประกอบ : เบื้องหลัง กก.ป.ป.ช. เสียงข้างมาก ลงมติ 5:3 ตีตกคดีนาฬิกาหรู'บิ๊กป้อม' ยืมเพื่อนไม่ผิด!, ยืมเพื่อนไม่ผิด! ป.ป.ช.มติ 5 ต่อ 3 ตีตกคดีนาฬิกาหรู'บิ๊กป้อม')
เพื่อให้เห็นแง่มุมหลากหลาย สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เทียบเคียงข้อมูลทั้งสองคดีให้เห็นอย่างชัดๆ
@ กรณีบิ๊กป้อมกับนาฬิกาหรู 22 เรือน
1.พล.อ.ประวิตรชี้แจงว่า พล.อ.ประวิตรไม่ได้เป็นเจ้าของนาฬิกาเพียงแต่ พล.อ.ประวิตรยืมจากนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ เพื่อนสนิท มาใส่และได้คืนไปหมดแล้ว
2. ป.ป.ช.สอบปากคำพยานบุคคลที่เกี่ยวข้อง และขอเอกสารหลักฐานจากผู้แทนจำหน่ายนาฬิกาหรูในไทย รวมทั้งขอเอกสารและความร่วมมือจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมศุลกากร และกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อตรวจสอบการสำแดงรายการนาฬิกาที่นำเข้าจากต่างประเทศ รวมทั้งผู้จำหน่ายนาฬิกาในต่างประเทศ ปรากฎข้อเท็จจริงว่านายปัฐวาทเป็นนักธุรกิจที่มีฐานะการเงินและมีทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก และชอบสะสมนาฬิการาคาแพง มีนาฬิการาคาแพงอยู่ในบ้านของนายปัฐวาท จำนวนมากกว่าที่ร้องเรียน
3.นายปัฐวาทคอยช่วยเหลือสนับสนุนทางด้านการเงินให้กับกลุ่มเพื่อนที่เคยศึกษาที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล และได้ให้เพื่อนในกลุ่มโรงเรียนเซนต์คาเบรียลยืมนาฬิการาคาแพงไปใช้สวมใส่ รวมถึง พล.อ.ประวิตร เพื่อนร่วมห้องเดียวกับนายปัฐวาท ที่มีความสนิทสนมกัน นอกจากกลุ่มเพื่อนในโรงเรียนเซนต์คาเบรียลแล้ว นายปัฐวาท ยังให้เพื่อนกลุ่มอื่นยืมนาฬิกาไปใส่ด้วย
4.นาฬิกาที่ปรากฎเป็นข่าวเก็บรักษาอยู่ในบ้านของนายปัฐวาท และเป็นส่วนหนึ่งของนาฬิการาคาแพงที่นายปัฐวาท ได้สะสมไว้ แม้ไม่ปรากฎเอกสารการซื้อขายว่า นายปัฐวาท เป็นผู้ซื้อนาฬิกาดังกล่าว แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1369 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ที่ยึดถือทรัพย์สินนั้นไว้เป็นการยึดถือเพื่อตน จึงต้องด้วยบทสันนิษฐานตามกฎหมายดังกล่าวว่า นายปัฐวาท เป็นเจ้าของนาฬิกาตามภาพข่าวจำนวน 21 เรือน และให้ พล.อ.ประวิตร ยืมใช้ในโอกาสต่าง ๆ ประกอบกับนายปัฐวาท ให้เพื่อนคนอื่นยืมใช้นาฬิกาด้วย จึงรับฟังได้ว่าเป็นการกระทำโดยปกติของนายปัฐวาท
5.เมื่อรับฟังว่า พล.อ.ประวิตร ได้ยืมนาฬิกาของนายปัฐวาท มาใส่ออกงานต่าง ๆ จำนวน 21 เรือนข้างต้น จึงรับฟังได้ว่า พล.อ.ประวิตร ยืมนาฬิกาที่ยังตรวจสอบไม่พบมาใส่เช่นกัน (1 เรือน) และไม่ปรากฏหลักฐานว่า นายปัฐวาท และบริษัท คอม-ลิงค์ฯ เข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม จากพยานหลักฐานดังกล่าว
@ คดีนายสุพจน์ซุกรถตู้
กรณีรถตู้โฟล์คคันนี้ มาจากเหตุการณ์มีกลุ่มคนร้ายเข้าไปปล้นบ้านนายสุพจน์ เมื่อวันที่ 12 พ.ย.2554 โดยมีข่าวว่าโจรได้เงินไปหลายร้อยล้านบาท ป.ป.ช.เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงกลับพบรถยนต์จอดอยู่ในบ้านนายสุพจน์ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย.2554 ป.ป.ช.ชี้มูลนายสุพจน์จงใจปกปิดบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน
1.ในการไต่สวนข้อเท็จจริง นายสุพจน์อ้างว่า ไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์คันดังกล่าว แต่เป็นของนายเอนก จงเสถียร เจ้าของบริษัทเอ็มเอ็มพี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ทำธุรกิจเกี่ยวกับฟิล์มถนอมอาหารในนาม เอ็ม แรป ซึ่งนายเอนกซื้อและนำไปให้ นางนฤมล ทรัพย์ล้อม ภรรยานายสุพจน์ใช้ในงานเกี่ยวกับเด็กและศาสนา เพื่อตอบแทนที่ นางนฤมล วางระบบงานบุคคลให้บริษัทของ นายเอนก และอ้างอีกว่า ได้นำรถไปมอบให้พระเทพปฏิภาณกวีใช้งาน
2.แต่ปรากฎข้อเท็จจริงว่ารถยนต์คันดังกล่าว แม้ชื่อนายเอนกเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ แต่นายสุพจน์และภรรยาเป็นผู้ใช้งาน
3. เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลฎีกาฯพบพิรุธในคำเบิกความหลายประการ อาทิ หมายเลขทะเบียน ฮต 8822 เมียนายสุพจน์เป็นคนสั่งให้นายสุพจน์ขอหมายเลขทะเบียนนี้ เพื่อให้ตรงกับหมายเลขทะเบียนรถยนต์ของลูกสาวนายสุพจน์หมายเลข จท 8822 ที่มีอยู่ในบ้านนายสุพจน์
4.คำเบิกความของพระเทพปฏิภาณกวี เบิกความว่า การใช้รถจะออกค่าใช้จ่ายแต่เฉพาะค่าน้ำมันเท่านั้น ส่วนค่าบำรุงรักษา ตรวจเช็คสภาพรถยนต์ ค่าต่อกรมธรรม์ประกันภัย และภาษีประจำปีไม่ได้เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย เท่ากับเป็นการให้ยืมใช้เพียงชั่วคราวมิใช่เป็นการมอบกรรมสิทธิ์
5.ศาลฏีกาฯวินิจฉัยว่า “แม้จะพยายามยืนยันว่ารถยนต์ ยี่ห้อโฟล์คสวาเกน หมายเลขทะเบียน ฮต 8822 กรุงเทพมหานคร นายเอนก เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ก็ตาม ซึ่งคณะอนุกรรมการของผู้ร้อง (ป.ป.ช.) เสียงข้างน้อย มีความเห็นว่าตามคู่มือจดทะเบียนรถมีชื่อ นายเอนก เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ดังนั้น การที่ผู้คัดค้านไม่แสดง ว่าตนเป็นเจ้าของรถยนต์ ยี่ห้อโฟล์คสวาเกน หมายเลขทะเบียน ฮต 8822 กรุงเทพมหานคร ยังฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านมีเจตนาจะปกปิดข้อเท็จจริงอันควรบอกให้แจ้งในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน จึงไม่มีความผิด ในส่วนนี้แต่อย่างใด นั้น เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 17/1 จะให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของรถยนต์ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาหมายเหตุใน การแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติดังกล่าว ก็ได้ความว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงเพิ่มรูปแบบทางธุรกิจจากการเช่าซื้อรถยนต์ โดยสามารถนำรถยนต์ไปจำนองได้เพื่อมิให้ประชาชนต้องเสียค่าธรรมเนียมการโอนรถยนต์ หลายทอดโดยไม่จำเป็น ทั้งผู้รับจำนองยังมีบุริมสิทธิในรถยนต์ด้วย และตามมาตรา 4 บัญญัติว่า เจ้าของรถ หมายความรวมถึงผู้มีรถไว้ในครอบครองด้วย ประกอบกับเมื่อรถยนต์เป็นสังหาริมทรัพย์โดยมีข้อเท็จจริง ที่รู้กันทั่วไปว่าผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในคู่มือจดทะเบียนรถยนต์อาจไม่ใช่เจ้าของที่แท้จริงก็เป็นได้ จึงเห็นว่าบทบัญญัติมาตรา 17/1 เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้น หาใช่เป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาดว่าผู้มีชื่อเป็นเจ้าของรถยนต์จะเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์เสมอไป ดังนั้น การพิจารณาว่าผู้คัดค้านเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ในรถยนต์หรือไม่ ย่อมต้องอาศัยพฤติการณ์ในการซื้อ การครอบครอง รวมถึงการใช้รถยนต์ด้วย ในส่วนของพฤติการณ์ในการครอบครองและใช้รถยนต์ ยี่ห้อโฟล์คสวาเกน หมายเลขทะเบียน ฮต 8822 กรุงเทพมหานคร ยังคงได้ความตรงกันในสาระสำคัญว่าอยู่ในความครอบครองของผู้คัดค้าน (นายสุพจน์) กระทั่งเกิดเหตุปล้นทรัพย์และอนุกรรมการไต่สวนผู้ร้องไปตรวจบ้านเกิดเหตุก็พบรถยนต์คันดังกล่าวในบ้าน ของผู้คัดค้าน
6.ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า รถยนต์ ยี่ห้อโฟล์คสวาเกน หมายเลขทะเบียน ฮต 8822 กรุงเทพมหานคร เป็นทรัพย์สิน ของผู้คัดค้านที่อยู่ในชื่อบุคคลอื่น โดยมอบให้พระเทพปฏิภาณกวีครอบครองดูแลเพียงชั่วคราว จึงเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่มีอยู่จริงในเวลาที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ตามมาตรา 39 ประกอบมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542
7. เมื่อรถยนต์โฟล์คสวาเก้นเป็นของผู้คัดค้าน แต่ผู้คัดค้านไม่แสดงทรัพย์สินในบัญชีทรัพย์สินต่อผู้ร้อง พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าไม่ประสงค์จะให้ผู้ร้องได้ตรวจสอบที่มาของทรัพย์สินของผู้คัดค้าน การกระทำของผู้คัดค้านจึงเป็นการจงใจยื่นบัญชีฯเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ
ทั้งหมดคือข้อเท็จจริงใน 2 คดี
เห็นได้ว่าการวินิจฉัยของศาลฎีกาฯในคดีนายุสพจน์ ชั่งน้ำหนักโดย “ดูพฤติการณ์ในการซื้อ การครอบครอง รวมถึงการใช้รถยนต์ด้วย”ซึ่งรถยนต์คันดังกล่าว แม้มีชื่อนายเอนกเป็นเจ้าของทะเบียนรถยนต์ แต่ในทางปฏิบัตินายสุพจน์ (เมียนายสุพจน์) เป็นผู้ครอบครองและใช้งานจริง
กรณีนาฬิกาหรู ‘บิ๊กป้อม’ การใช้ดุลพินิจของ คณะกรรมการ ป.ป.ช.(เสียงส่วนใหญ่) ให้น้ำหนักที่ ฐานะพฤติกรรมการเป็นนักสะสมและการให้เพื่อนยืมใส่นาฬิกาของนายปัฐวาท มากกว่าประเด็น ใครเป็นผู้ใช้งานหรือครอบครองในทรัพย์สินนั้น?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ:
เปิด 3 แนวทางคำชี้แจงนาฬิกาหรู‘บิ๊กป้อม’ เทียบ คดีรถโฟล์ค ‘สุพจน์’