- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ชำแหละเอกสารประกอบการสอน149 หน้า อ.จันทรเกษม เข้าข่ายหลักเกณฑ์ผลงานวิชาการหรือไม่?
ชำแหละเอกสารประกอบการสอน149 หน้า อ.จันทรเกษม เข้าข่ายหลักเกณฑ์ผลงานวิชาการหรือไม่?
“...ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรรับปริญญาตรี พ.ศ. 2558 ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132 ตอนพิเศษ 295 ง วันที่ 13 พ.ย. 2558 ข้อ 10 ว่าด้วยเรื่อง จำนวน คุณวุฒิ และคุณสมบัติของอาจารย์ ข้อ 10.1.1 ระบุว่า อาจารย์ประจำหลักสูตร มีคุณวุฒิขั้นต่ำปริญญาโทหรือเทียบเท่าหรือมีตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ และต้องมีผลงานทางวิชาการที่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อรับปริญญา และเป็นผลงานทางวิชาการที่ได้รับการเผยแพร่ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในการพิจารณาแต่งตั้งให้บุคคลดำรงตำแหน่งทางวิชาการอย่างน้อย 1 รายการ ในรอบ 5 ปีย้อนหลัง...”
เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่คนในแวดวงการศึกษาไทย จับตามอง!
สำหรับกรณีมีผู้ส่งหนังสือร้องเรียนไปที่ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขอให้ตรวจสอบผลงานของอาจารย์ประจำหลักสูตรครุศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตร์ (5 ปี) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม (มรภ.จันทรเกษม) รายหนึ่ง โดยระบุว่า ผลงานของอาจารย์รายนี้ ที่ใช้เป็นหลักฐานแสดงคุณสมบัติของอาจารย์ประจำหลักสูตรไว้ในเล่มหลักสูตร คือ เอกสารประกอบการสอน จำนวน 149 หน้า ไม่ใช่ผลงานทางวิชาการที่ได้รับการเผยแพร่ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด จึงขอความอนุเคราะห์กระทรวงศึกษาธิการ และ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง
ขณะที่ รศ.ดร.สุมาลี ไชยศุภรากุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า กรณีดังกล่าวทาง สกอ. ได้ส่งเรื่องมาที่มหาวิทยาลัยแล้ว และตนได้มอบหมายให้รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการดูแล ส่วน ผศ.ดร.อำนาจ สวัสดิ์นะที คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ชี้แจงว่า กำลังให้ทางสาขาวิชาคณิตศาสตร์รวบรวมชี้แจงด้วยเอกสาร โดยคณะฯ ได้ตั้งคณะกรรมการหาข้อเท็จจริงแล้ว (อ่านประกอบ : ร้องปลัดศธ.ตรวจผลงาน อ.คณะวิทย์ จันทรเกษมไม่เข้าหลักเกณฑ์ -อธิการฯ ตั้งกก.สอบแล้ว)
เพื่อไขข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้เกิดความชัดเจน
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบ ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรรับปริญญาตรี พ.ศ. 2558 ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132 ตอนพิเศษ 295 ง วันที่ 13 พ.ย. 2558 ข้อ 10 ว่าด้วยเรื่อง จำนวน คุณวุฒิ และคุณสมบัติของอาจารย์ ข้อ 10.1.1 ระบุว่า อาจารย์ประจำหลักสูตร มีคุณวุฒิขั้นต่ำปริญญาโทหรือเทียบเท่าหรือมีตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ และต้องมีผลงานทางวิชาการที่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อรับปริญญา และเป็นผลงานทางวิชาการที่ได้รับการเผยแพร่ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในการพิจารณาแต่งตั้งให้บุคคลดำรงตำแหน่งทางวิชาการอย่างน้อย 1 รายการ ในรอบ 5 ปีย้อนหลัง (ดูเอกสารประกอบ)
เมื่อพิจารณาคุณสมบัติของการเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรดังกล่าวแล้วนั้น จะเห็นว่าได้ระบุคุณสมบัติไว้ 2 อย่าง คือ 1) วุฒิปริญญาโทขึ้นไป หรือเทียบเท่า หรือมีตำแหน่ง ผศ. และ 2) ต้องมีผลงานวิชาการที่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อรับปริญญา และผลงานทางวิชาการนั้นได้รับเผยแพร่ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ในการพิจารณาแต่งตั้งให้บุคคลดำรงตำแหน่งทางวิชาการ อย่างน้อย 1 รายการ ในรอบ 5 ปีย้อนหลัง
โดยผลงานทางวิชาการนั้นได้รับเผยแพร่ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ในการพิจารณาแต่งตั้งให้บุคคลดำรงตำแหน่งทางวิชาการ ดังกล่าวนั้น สำนักข่าวอิศราตรวจสอบ เอกสารแนบท้ายประกาศ ก.พ.อ. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2556 พบว่า ข้อ 6 คำจำกัดความของผลงานทางวิชาการ ลักษณะการเผยแพร่และผลงานทางวิชาการที่จำแนกตามระดับคุณภาพ ได้แบ่งผลงานทางวิชาการไว้ดังนี้
1.บทความทางวิชาการ 2.ตำรา 3.หนังสือ 4.งานวิจัย 5.ผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น 6.งานแปลและ 7.ผลงานทางวิชาการรับใช้สังคม (อ่านรายละเอียดฉบับเต็มที่ : http://www.mua.go.th/users/bhes/front_home/notice19022558.pdf)
ซึ่งในคำข้อร้องเรียนดังกล่าว ผู้ร้องได้ระบุว่า “ผลงานของอาจารย์รายนี้ ที่ใช้เป็นหลักฐานแสดงคุณสมบัติของอาจารย์ประจำหลักสูตรไว้ในเล่มหลักสูตร คือ เอกสารประกอบการสอน จำนวน 149 หน้า ไม่ใช่ผลงานทางวิชาการที่ได้รับการเผยแพร่ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด”
คำถามคือ เอกสารประกอบการสอน เล่มดังกล่าวนั้น ถือเป็น ผลงานทางวิชาการที่ได้รับการเผยแพร่ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในการพิจารณาแต่งตั้งให้บุคคลดำรงตำแหน่งทางวิชาการ ที่ลักษณะรูปแบบตามที่มี 7 รายการดังกล่าวหรือไม่?
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบเอกสาร หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตร์ (5 ปี) หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2560 ของ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม พ.ศ. 2560 ซึ่งคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ให้ความเห็นชอบในการประชุมครั้งที่ 3/2560 เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2560 และ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา รับทราบการให้ความเห็นชอบหลักสูตรนี้แล้ว เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2561 พบว่า อาจารย์รายดังกล่าวปรากฏชื่อเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรจริง และยังระบุผลงานวิชาการ ไว้ 1 รายการ (ดูเอกสารประกอบ)
สำหรับผลงานทางวิชาการ ที่อาจารย์รายนี้ มีลักษณะคล้ายหนังสือเรียน จัดทำเป็นรูปเล่ม จำนวน 149 หน้า ระบุไว้ในคำนำหน้า ก ว่า เป็นเอกสารประกอบการสอน ซึ่งได้เรียบเรียงขึ้นตามหลักสูตรปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอน สำหรับนักศึกษาวิชาเอกวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งผู้สนใจทั่วไป ซึ่งมีเนื้อหาทั้งหมด 6 บท และมีรายละเอียดของ แนวการสอน (Course Syllabus) ปรากฏในหน้า จ-ฌ (5 หน้า) ด้วย
เมื่อตรวจสอบรายละเอียดเนื้อหาของ เอกสารประกอบการสอนเล่มดังกล่าวพบว่า ในแต่ละบท ช่วงแรกจะเป็นการอธิบายความหมายและแสดงวิธีการตัวอย่างในแต่ละหัวข้อ โดยมีการแทรกแบบฝึกทักษะเป็นโจทย์คำถามให้ผู้อ่านสามารถเขียนคำตอบลงไปได้ในพื้นที่ว่างที่เว้นไว้ ในลักษณะของแบบฝึกหัด และในหน้า 149 เป็นบรรณานุกรม
ทั้งนี้ ในช่วงเย็นวันที่ 30 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยัง นางพิมลรัตน์ วนสัณฑ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง เบื้องต้น นางพิมลรัตน์ กล่าวว่า ยังไม่สะดวกให้สัมภาษณ์
ขณะที่ ผศ.ดร.อำนาจ สวัสดิ์นะที กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า “ยังไม่ได้หารือกับรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการฯ เรื่องดังกล่าวตอบไปแล้วรอบหนึ่ง เรื่องนี้ผมไม่ตอบแล้ว ยังไม่ได้พบกันกับรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการฯ”
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เอกสารประกอบการสอนของอาจารย์รายดังกล่าวนั้น ถือเป็นผลงานทางวิชาการหรือไม่อย่างไร ผศ.ดร.อำนาจ ตอบว่า “เรื่องนี้ต้องขอไปตรวจสอบก่อน เพราะมาก่อนที่ผมจะมารับตำแหน่ง เขาก็ส่งเล่มแล้วล่ะ รอให้สรุปขั้นตอนออกมาว่าเป็นอะไรอย่างไร ตอนนี้ตอบได้เพียงเท่านี้ เพราะยังไม่ได้หารือกับรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการฯ”
ดังนั้น คำถามสำคัญที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจนในขณะนี้ คือ เอกสารประกอบการสอนเล่มดังกล่าวนั้น ถือเป็นผลงานวิชาการ ตามคำจำกัดความของผลงานทางวิชาการ ในเอกสารแนบท้ายประกาศ ก.พ.อ. หรือไม่ และหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่ดำรงตำแหน่ง อาจารย์ประจำหลักสูตร (ปริญญาตรี) ของมหาวิทยาราชภัฏจันทรเกษม แท้จริงเป็นอย่างไร
ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่คณะผู้บริหารของมหาวิยาลัยราชภัฏจันทรเกษมต้องชี้แจงให้ชัดเจนต่อสังคม เพื่อไม่ให้เป็นที่ครหาได้
แต่ที่น่าสนใจและไม่ควรถูกมองข้าม คือ ยังมีกรณีอาจารย์รายอื่น สถาบันการศึกษาอื่น ที่มีปัญหาลักษณะเดียวกันด้วยหรือไม่?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
โชว์หนังสือ 'สกอ.-สป.ศธ.' ไล่บี้สอบ อ.จันทรเกษม อ้างเอกสาร 149 หน้า แทนผลงานทางวิชาการ?
ร้องปลัดศธ.ตรวจผลงาน อ.คณะวิทย์ จันทรเกษมไม่เข้าหลักเกณฑ์ -อธิการฯ ตั้งกก.สอบแล้ว