- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ถอดบทเรียน "AT ที่นี่มีเพื่อน" ยุติ HIV กับ “คนต้นเรื่อง” ถูกสังคมตีตรา
ถอดบทเรียน "AT ที่นี่มีเพื่อน" ยุติ HIV กับ “คนต้นเรื่อง” ถูกสังคมตีตรา
เปิดบ้าน "AT ที่นี่มีเพื่อน" ถอดบทเรียนบอกเล่าประสบการณ์ถูกตีตรา สู่หนทางเเก้ปัญหา หลุดพ้นจากวิธีเลือกปฏิบัติจากสังคม
คุณเคยถูก “ตีตรา” หรือไม่
ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไร อยู่ในสถานะไหน...ขายบริการทางเพศ (Sex workers)...LGBT...ยาเสพติด...เเรงงานข้ามชาติ ยิ่งต้องอยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ HIV ด้วยเเล้ว แน่นอนว่า บางคนอาจจะเคย...หรือไม่เคย แต่สำหรับเขาและเธอที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตอยู่ในวังวนดำมืดนั้น ล้วนแต่ถูกตีตรามาแล้วทั้งสิ้น
ในกิจกรรมการเปิดบ้าน “AT ที่นี่มีเพื่อน” ภายใต้โครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ ของมูลนิธิรักษ์ไทย (อ่านประกอบ:‘AT ที่นี่มีเพื่อน’ สื่อกลางเปลี่ยนสังคมไทย “หยุดตีตรา” ผู้ติดเชื้อ HIV) ได้มีการเชิญสื่อมวลชนหลายสำนักเข้าร่วม เพื่อพูดคุยถอดบทเรียนและแบ่งปันประสบการณ์การถูกตีตราจากสังคมร่วมกันกับพวกเขาและเธอ
“ซีซ่า” นพนัย ฤทธิวงศ์
โดยเฉพาะกลุ่ม LGBT -ข้อมูลหนึ่งที่ถูกสะท้อนจากผู้เคยยึดอาชีพขายบริการทางเพศ “ซีซ่า” นพนัย ฤทธิวงศ์ สาวประเภทสอง ใบหน้าสวย ปัจจุบันเธอเป็นเจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ
เธอย้อนอดีตว่า ยึดอาชีพขายบริการทางเพศตั้งแต่ศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย แล้วได้มีโอกาสเจอกับคู่ชีวิตขณะทำงาน อยู่ด้วยกันจนถึงปัจจุบันนี้ เข้าสู่ปีที่ 8 ยอมรับว่า การทำอาชีพดังกล่าวต้องพบเจอกับแรงกดทับ จนกระทั่งเข้ามาทำงานกับมูลนิธิฯ เป็นปีที่ 4 แล้ว ซึ่งตัดสินใจมาทำงานตรงนี้ เพราะคิดว่า เราคือเสียงของคนไม่มีเสียง ในเมื่อเราเป็นคนในประชากรกลุ่มนี้ ฉะนั้นจะเป็นเสียงแทนเพื่อน ๆ ได้
แรงกดทับที่ซีซ่าได้รับ ไม่ต่างอะไรจาก “ม่อยม่อย” วัชระพงศ์ ว่องม่อย ผู้จัดการมูลนิธิซิสเตอร์ จ.ระยอง ซึ่งอดีตต้องอดทนกับการถูกเลือกปฏิบัติ
ม่อยม่อยเป็นเด็กชนบท เติบโตมาในสังคมผู้ชาย มีความคิดว่า จะต้องเป็นทหารหรือตำรวจให้ได้ จนกระทั่งสอบเข้ามหาวิทยาลัย หลายคนคิดว่า สาวประเภทสองอย่างเธอนั้นต้องเรียนบริหารทั่วไป นาฏศิลป์ หรือนิเทศศาสตร์ หากว่า เธอตัดสินใจเลือกเรียนวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อขึ้นปีสาม จึงเริ่มแต่งตัวเป็นผู้หญิง เพราะคิดว่า ชื่นชอบแนวนี้
“ครั้งแรก เพื่อนบอกว่า เป็นผู้ชายเถอะ” นั่นคือการถูกเลือกปฏิบัติอย่างหนึ่ง และกล่าวยอมรับก้าวผ่านจุดนั้นมาได้ ไม่ใช่เพราะความสวย แต่พยายามสื่อให้เห็นว่า “ความเก่ง” เท่านั้นที่สามารถเอาชนะทุกอย่างได้
ส่วน “ดอย” พูดเสียงดังฟังชัดกับทุกคนให้เรียกเธอว่า “กะเทย” เพราะในทัศนคติส่วนตัวแล้ว มองว่า “กะเทย” เป็นคำตรงที่บ่งบอกเอกลักษณ์ไม่ซับซ้อน โดยไม่ต้องเป็นสองรองใคร แต่หากเรียกว่า “สาวประเภทสอง” นั่นหมายความว่า เป็นที่สองรองจากหนึ่ง
“เราเป็นเกย์กะเทย ทอม ดี้ อัตลักษณ์เหล่านี้แสดงออกชัดเจนดี แต่บางคนอาจมองว่า กะเทย เป็นคำแรง กลายเป็นการดูถูก แต่สำหรับคนทำงาน รู้สึกว่า คำว่า กะเทย เป็นอัตลักษณ์ที่ชัดเจน”
"ดอย"
ดอย กล่าวต่อว่า ทุกคนมองไทยเป็นประเทศที่มีอิสระเสรีภาพมากในการส่งเสริมความเป็นกะเทย เรียกว่า กระเทยไทยเลิศสุดในโลกแล้ว เพราะได้รับสิทธิ มีความสวย และเกิดการยอมรับ เราสามารถใช้ชีวิตได้ โดยไม่มีใครมาฆ่าเรา แขวนคอเรา ยิงเรา หรือขุดหลุมฝังกะเทย แต่ความจริงแล้ว ต้องยอมรับว่า การยอมรับทางกฎหมายต่างๆ เรายังไม่มี เพราะกะเทยไทยยังอยู่ภายใต้คำว่า “นาย” ซึ่งมีปัญหามาก ๆ
“อัตลักษณ์เรามีการข้ามมาเป็นหญิงแล้ว ดังนั้นขัดกับบัตรประชาชนอย่างชัดเจน จึงเกิดการเลือกปฏิบัติ การดูถูกทางสังคม และได้รับโอกาสน้อย ทำให้กะเทยหลายคนหางานทำไม่ได้ จนต้องผันแปรชีวิตตนเองไปทำงานโชว์บ้าง เมคอัพอาร์ตติสท์บ้าง จะเห็นได้ว่า เมื่อตัดสินเรื่องเพศ ทำให้ไม่ถูกมองในเรื่องความสามารถ” เธอกล่าว
ติดเชื้อ HIV อีกหนึ่งการถูกตีตรา
“ปังปอนด์” กฤตนัน ดิษฐบรรจง แกนนำเครือข่ายเยาวชนผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวี เคยขายบริการทางเพศย่านวังสราญรมย์ ถูกตราหน้า ตีตราจากสังคมว่า “ขายตัว” วินาทีนั้น ทำให้เขารู้สึกไม่ดีกับสิ่งที่เกิดขึ้น และรู้สึกต่อไปว่า สังคมไม่ต้อนรับ ไม่เปิดโอกาสให้เรามีพื้นที่ นั่นจึงทำให้เราเลือกขยับไปอยู่ในทางที่ต้องการอีกครั้งหนึ่ง กระทั่งมีเชื้อ HIV และถูกตีตรามากขึ้นไปอีก
“เคยให้สัมภาษณ์ลงคอลัมน์ในสื่อสำนักหนึ่ง ตอนนั้นยังไม่เปิดเผยตัวตน มีคอมเมนต์หนึ่งบอกว่า เคยขายตัว แล้วจะมาขอพื้นที่เราทำไม ยอมรับว่า ตอนนั้นจิตตกมาก ทำไมคิดแบบนี้ แต่ไม่ได้เสียใจ เพียงกำลังคิดว่า ทำไมเขาคิดแบบนี้ ทั้งที่สังคมนี้ต้องการโอกาส ความเข้าใจ และความยอมรับกับหลายคนที่เกิดขึ้น” ปังปอนด์ สะท้อน
“พีช” ฐิฏิวัสส์ ศิรเศรษฐกร
อีกหนึ่งคนที่มีเชื้อ HIV เขาชื่อ “พีท” ฐิฏิวัสส์ ศิรเศรษฐกร เคยใช้ยาเสพติดประเภทฉีด มีเพศสัมพันธ์ไม่ป้องกัน วันนี้เขาเดินสายให้ความรู้ยุติปัญหาผู้ติดเชื้อ HIV รายใหม่ แน่นอนว่า ต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้คนนอกที่เป็นเหยื่อ
“ผมเห็นเหยื่อรายใหม่เข้าไปในวงยาเสพติดทุกวันและออกมาพร้อมเชื้อ HIV ทุกวัน รุ่นพี่จะหลอกล่อคนใหม่ ๆ ที่ไม่รู้เรื่องเข้าไปใช้ยาเสพติดประเภทฉีดทำให้มีสติเลอะเลือน ควบคุมตัวเองไม่ได้ แล้วมีเพศสัมพันธ์กันโดยไม่ป้องกัน ผมค้นพบว่า เราห้ามคนมีเซ็กส์แบบนั้นไม่ได้ เราห้ามคนใช้ยาเสพติดไม่ได้ แต่เราให้ความรู้ในการมีเซ็กส์แบบป้องกันได้”
เขากล่าวต่อว่า บางครั้งสังคมตีตราผู้ติดเชื้อ HIV จนทำให้พวกเขาไม่รู้จะระบายออกมาอย่างไร สุดท้ายจึงตัดสินใจแพร่เชื้อ
“ผมเจอคนประเภทนี้หลายคนมากในกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี และคนใช้ยาเสพติด พวกเขาถูกคนในสังคมดูถูก ดูถูกนักใช่มั้ย เหยียดหยามนักใช่มั้ย เดี๋ยวทำให้ติดเชื้อให้หมด ผมพาตนเองเข้าไปในกลุ่มนั้น เพื่อพูดคุยว่า ประเด็นเกิดเพราะอะไร ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ถูกเหยียดหยามจากสังคม” พีท กล่าว .