- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- สอบยันมติครม.ปรามทุจริตฯ ศาลสั่งจำคุกผอ.สถานพินิจฯคดีรถหลวง ยังปฏิบัติหน้าที่ต่อได้?
สอบยันมติครม.ปรามทุจริตฯ ศาลสั่งจำคุกผอ.สถานพินิจฯคดีรถหลวง ยังปฏิบัติหน้าที่ต่อได้?
"...ในกรณีที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่ามีหลักฐานควรเชื่อได้ว่าสามารถสรุปความผิดได้ชัดเจนถึงขั้นชี้มูลความผิด ให้ส่วนราชการต้นสังกัดดำเนินการทางวินัยต่อข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องอย่างเด็ดขาดโดยเร็ว และให้รายงานหัวหน้าส่วนราชการและรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเพื่อทราบความคืบหน้าและเร่งรัดการดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ อาจพิจารณาให้ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นออกจากราชการไว้ก่อนหรือออกจากตำแหน่งก็ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม และในกรณีที่พบว่ามีความเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทางอาญาด้วย ให้ส่งเรื่องให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบเพื่อพิจารณาดำเนินคดีโดยทันที..."
"ในขณะนี้ นางนุสรา ยังคงทำงานที่ตำแหน่งเดิมอยู่ ไม่ขาดจากราชการ เพราะทางคดีความยังสามารถต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์และฎีกาได้ และปัจจุบันนางนุสรา ก็ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งประจำจังหวัดเพชรบูรณ์"
" เหตุผลก็เป็นไปตามหลักการและระเบียบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ระบุว่า ในกรณีที่ถูกสอบวินัยร้ายแรง จะต้องไม่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่เดิม ในกรณีของนางนุสรานั้นกระทำความผิดที่ จ.เพชรบูรณ์ แต่ในขณะนี้อยู่ที่ จ.พิจิตร ก็ถือว่าไม่ได้อยู่ ณ จังหวัดเดิมที่เคยกระทำความผิดแล้ว อีกทั้ง จ.พิจิตร ยังเป็นจังหวัดขนาดเล็ก ไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการสอบสวนในพื้นที่เดิมได้ด้วย"
“ขณะที่ฝ่ายเขา(นางนุสรา) ก็ยังคงจะสามารถตั้งเรื่องไปอุทธรณ์และฎีกาได้ ส่วนเราตั้งสอบคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงตั้งแต่ปี 2560 ขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูลไปยัง อนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) ระดับกรมเพื่อให้พิจารณาความเห็นว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ส่วนวันที่จะส่งเรื่องไปนั้น ตอนนี้ตอบได้แค่ว่าก็คงจะส่งไปให้เร็วที่สุด”
คือคำยืนยันของนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ที่ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ล่าสุด ถึงกรณีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 มีคำพิพากษาจำคุก 5 ปี นางนุสรา แสนนาม ผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเพชรบูรณ์ สังกัดกระทรวงยุติธรรม ฐานใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริตกรณีเอารถยนต์ส่วนกลางไปใช้ภารกิจส่วนตัว ปัจจุบันนางนุสรา ถูกย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดพิจิตร (อ่านประกอบ: ศาลอาญาคดีทุจริตฯ จำคุก 5 ปี ผอ.สถานพินิจฯ เพชรบูรณ์ เอารถหลวงใช้ส่วนตัว, อธิบดีกรมพินิจฯ แจงผอ.พิจิตรคดีใช้รถหลวงปฏิบัติหน้าที่ต่อได้ เหตุถูกย้ายจากเพชรบูรณ์แล้ว)
ทั้งนี้ เพื่อยืนยันข้อเท็จจริงขั้นตอนการดำเนินทางราชการกับ นางนุสรา แสนนาม ตามคำให้สัมภาษณ์ของ นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ ดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา สืบค้นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) พบว่า เมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา ครม.ได้ออกมติว่าด้วยหลักเกณฑ์มาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการ ออกมาเป็นแนวทางปฏิบัติให้กับหน่วยงานราชการทั่วไป ซึ่งการดำเนินการตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีนโยบายสำคัญและเร่งด่วนในการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบเพื่อปฏิรูประบบการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นที่เชื่อมั่นและไว้วางใจของประชาชน
โดยในมาตรการข้อที่ 1 ระบุใจความว่า
“ในกรณีที่มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบของข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้ส่วนราชการต้นสังกัดดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน แล้วรายงานผลการพิจารณาต่อหัวหน้าส่วนราชการและรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเพื่อรับทราบทันที และให้พิจารณาดำเนินการทางวินัยหรือทางอาญาโดยเร็วซึ่งจะต้องให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ในระหว่างนี้ให้รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการต่อหัวหน้าส่วนราชการหรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัด เพื่อทราบเป็นระยะตามความเหมาะสม
กรณีที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่ามีเหตุน่าเชื่อถือ และเป็นกรณีที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ราชการหรือทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน แม้ผลการตรวจสอบยังไม่อาจสรุปความผิดได้ชัดเจนถึงขั้นชี้มูลความผิด ให้พิจารณาปรับย้ายข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ไปดำรงตำแหน่งอื่นเป็นการชั่วคราว เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบและป้องกันการกระทำที่อาจมีผลต่อการตรวจสอบโดยเร็ว และในกรณีที่เป็นเรื่องร้ายแรงหรือมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและไว้วางใจของประชาชน ให้เสนอให้มีการย้ายหรือโอนไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในอัตรากำลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษในสำนักนายกรัฐมนตรี และดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดขึ้นตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 16/2558 เรื่อง มาตรการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบ และการกำหนดกรอบอัตรากำลังชั่วคราว ลงวันที่ 15 พฤษภาคม พุทธศักราช 2558 หรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 68/2559 เรื่องมาตรการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานอื่นของรัฐและการกำหนดกรอบอัตรากำลังชั่วคราวลงวันที่ 16 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2559 แล้วแต่กรณี
ข้อ 2 ระบุว่า ในกรณีที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่ามีหลักฐานควรเชื่อได้ว่าสามารถสรุปความผิดได้ชัดเจนถึงขั้นชี้มูลความผิด ให้ส่วนราชการต้นสังกัดดำเนินการทางวินัยต่อข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องอย่างเด็ดขาดโดยเร็ว และให้รายงานหัวหน้าส่วนราชการและรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเพื่อทราบความคืบหน้าและเร่งรัดการดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ อาจพิจารณาให้ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นออกจากราชการไว้ก่อนหรือออกจากตำแหน่งก็ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม และในกรณีที่พบว่ามีความเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทางอาญาด้วย ให้ส่งเรื่องให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบเพื่อพิจารณาดำเนินคดีโดยทันที
กระบวนการพิจารณาดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ และระเบียบที่เกี่ยวข้องตามปกติ แต่ให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วโดยพิจารณาจัดลำดับตามความสำคัญ ความสนใจของประชาชน และมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น
ในกรณีที่เป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง แต่ไม่ถึงขั้นให้ปลดออกจากราชการหรือไล่ออกจากราชการ ให้ส่วนราชการต้นสังกัดดำเนินการปรับย้ายจากตำแหน่งเดิม และห้ามปรับย้ายกลับไปดำรงตำแหน่งหน้าที่ในลักษณะเดิม หรือแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นภายในเวลา 3 ปี นับแต่วันที่มีการลงโทษทางวินัย
ข้อ 3 การปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ทำให้การปฏิบัติราชการเกิดความล่าช้าหรือไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ หรือทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน ให้ถือเป็นกรณีที่ต้องพิจารณาให้มีการย้ายหรือโอนไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอื่นตามข้อ 1 วรรคสองด้วย
ข้อ 4 ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาจัดให้มีมาตรการคุ้มครองพยาน หรือผู้ให้ข้อมูลหรือเบาะแสในการตรวจสอบอย่างเหมาะสม เพื่อให้การได้รับข้อมูลและหลักฐานในการดำเนินการต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในกรณีที่ตรวจสอบพบว่ามีการจงใจให้ข้อมูลเพื่อใส่ร้ายหรือบิดเบือนข้อมูลเพื่อให้มีการดำเนินการ ที่เป็นผลร้ายต่อบุคคลอื่น ให้พิจารณาดำเนินการลงโทษบุคคลดังกล่าวอย่างเด็ดขาดด้วย
ข้อ 5 ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ยึดถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์นี้โดยเคร่งครัดตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
คำถามที่น่าสนใจ สำหรับกรณี นางนุสรา แสนนาม ที่ถูกศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 พิพากษาจำคุก 5 ปี ซึ่งขั้นตอนไปไกลกว่าการสอบสวนของหน่วยงานต้นสังกัด
กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ได้ปฏิบัติตามมติครม.ที่กล่าวอ้างถึง ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์แล้วหรือยัง?
โดยเฉพาะเรื่องการพิจารณาออกจากราชการไว้ก่อนหรือออกจากตำแหน่งก็ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม รวมทั้งข้อกำหนดเรื่องระยะเวลาในการสอบสวน และรายงานผลการพิจารณาต่อหัวหน้าส่วนราชการให้ดำเนินการทางวินัยภายในระยะเวลา 30 วัน ตามที่ระบุเป็นหลักเกณฑ์ไว้ในข้อ 1 และ 2
อ่านประกอบ :
อธิบดีกรมพินิจฯ แจงผอ.พิจิตรคดีใช้รถหลวงปฏิบัติหน้าที่ต่อได้ เหตุถูกย้ายจากเพชรบูรณ์แล้ว
ขุดกรุสารพัดคดีเอา‘ของหลวง’ใช้ส่วนตัว ป.ป.ช.ฟัน-ศาลสั่งคุก-ถูกไต่สวนกราวรูด
ที่แท้‘คนใน’ร้อง- 2 คนขับให้การมัด! คดีจำคุก 5 ปี ผอ.สถานพินิจฯ เอารถหลวงใช้ส่วนตัว
ศาลอาญาคดีทุจริตฯ จำคุก 5 ปี ผอ.สถานพินิจฯ เพชรบูรณ์ เอารถหลวงใช้ส่วนตัว