- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เจาะปม2กรณีศึกษา 'ย้ายกลั่นแกล้งลูกน้อง-จ้างตกแต่งสนง.' บทสะท้อนความลุอำนาจในธ.ออมสิน
เจาะปม2กรณีศึกษา 'ย้ายกลั่นแกล้งลูกน้อง-จ้างตกแต่งสนง.' บทสะท้อนความลุอำนาจในธ.ออมสิน
"...ทั้ง 2 กรณีนี้ นับเป็นบทสะท้อนสำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการใช้อำนาจและการปฏิบัติตามระเบียบการบริหารงานของธนาคารออมสิน ซึ่งถือเป็นสถาบันการเงินของรัฐ ได้อย่างชัดเจน ซึ่งผู้มีหน้าที่รับผิดชอบจะต้องรีบเข้าไปดูแลหาทางแก้ไขปัญหาโดยด่วน..."
กำลังเป็นประเด็นร้อนที่ถูกสังคมจับตามอง เกี่ยวกับกรณีธนาคารออมสินว่าจ้างเอกชนปรับปรุงตกแต่งสำนักงานสาขาในจ.อุดรธานี โดยไม่ดำเนินการตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของทางราชการ จนกระทั่งมีการตั้งกรรมการสอบสวนกันเกิดขึ้น และนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการพัสดุธนาคารออมสิน (กวพ.ออมสิน) ที่มีนายสุทธิชัย สังขมณี กรรมการธนาคารออมสิน เป็นประธาน และคณะกรรมการชุดดังกล่าวเห็นชอบในการยกเว้นการว่าจ้างเอกชน ปรับปรุงสำนักงานสาขาโดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบธนาคารออมสินว่าด้วยการพัสดุ ภายหลังการว่าจ้างไปแล้ว สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการใช้อำนาจและการปฏิบัติตามระเบียบการบริหารงานของธนาคารออมสิน ซึ่งถือเป็นสถาบันการเงินของรัฐอย่างชัดเจน (อ่านประกอบ : แบงก์ออมสิน จ้างผู้รับเหมาปรับแต่ง สนง.สาขา ไม่ขออนุมัติ-กวพ.ผ่อนผันตามหลัง)
เพื่อให้สาธารณชนรับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลเชิงลึกเงื่อนปมปัญหาการว่าจ้างเอกชนปรับปรุงตกแต่งสำนักงานสาขาในจ.อุดรธานี มานำเสนอให้รับทราบแบบชัดๆ อีกครั้ง ดังนี้
ที่มาที่ไปของเหตุการณ์นี้ เร่ิมต้นจากการที่ ผู้จัดการธนาคารออมสินที่รับผิดชอบเขตภาคอีสาน ได้ดำเนินการจ้าง หจก.แห่งหนึ่ง รับเหมาปรับปรุงสาขา ตลาดอุดรเมืองทองเจริญศรี โดยไม่รอการอนุมัติจากผู้บริหารตามขั้นตอน และเร่งให้ผู้รับเหมาเข้าดำเนินการเร่งด่วน โดยไม่ได้ทำสัญญาจ้าง
ต่อมาผู้จัดการคนดังกล่าวย้ายออกไป ทำให้เกิดปัญหาผู้รับเหมาเบิกเงินไม่ได้ ผู้บริหารคนใหม่ไม่กล้าเบิกจ่ายเงิน จึงเกิดการร้องเรียน กระทั่งธนาคารออมสินได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 4 ชุดเมื่อปี 2557-2558 เพื่อตรวจสอบกรณีดังกล่าว
โดยการว่าจ้างในลักษณะดังกล่าว ธนาคารฯอ้างว่า มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับธนาคาร
ขณะที่ ผู้จัดการสาขาตลาดอุดรฯอ้างว่า สาขาตลาดอุดรฯ มีสภาพแวดล้อมไม่ดี มีกลิ่นรบกวนการทำงานของพนักงาน และผู้ใช้บริการ และเสี่ยงต่อความปลอดภัยในการเก็บรักษาเงินสด และทรัพย์สินธนาคาร เนื่องจากด้านหลังสาขามีสภาพไม่แข็งแรงเสี่ยงต่อการถูกโจรกรรม และสัญญาเช่าอาคารเดิมกำลังจะสิ้นสุดลงในเดือน สิงหาคม 2555 หากไม่รีบดำเนินการจะไม่มีสถานที่ทำการ
ในเอกสารที่เกี่ยวข้องระบุว่า วงเงินค่าก่อสร้างประมาณ 3.5 ล้านบาท เวลาผ่านไป 2 ปีกว่า ผู้บริหารของธนาคารได้เจรจากับผู้รับเหมาหลายครั้ง กระทั่งได้ข้อยุติเมื่อปี 2559 ขณะที่การสอบสวนเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องในการว่าจ้างเอกชนโดยพลการ ไม่มีความคืบหน้า
จนกระทั่งต่อมา มีการตั้งกรรมการสอบสวนอีกชุดหนึ่ง และนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการพัสดุธนาคารออมสิน (กวพ.ออมสิน) ที่มีนายสุทธิชัย สังขมณี กรรมการธนาคารออมสิน เป็นประธาน และคณะกรรมการชุดดังกล่าวเห็นชอบในการยกเว้นการว่าจ้างเอกชน ปรับปรุงสำนักงานสาขาโดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบธนาคารออมสินว่าด้วยการพัสดุ ภายหลัง จากที่ว่าจ้างไปแล้ว
ซึ่งผลการสอบสวนของ กวพ.ออมสินที่ทำถึงผู้อำนวยการธนาคารออมสินเมื่อวันที่ 18 ม.ค.2560 ให้เหตุผลว่า เป็นราคาที่ไม่สูงกว่าปกติ เพียงแต่กระบวนการจัดหามิได้กระทำให้ถูกต้องตามระเบียบของธนาคาร อย่างไรก็ตาม มติของ กวพ.ออมสินต่อกรณี ดังกล่าวระบุว่า ไม่มีผลถึงการสอบสวนหาผู้เกี่ยวข้อง ทั้งหมด ทั้งทางวินัย ความเสียหายทางแพ่ง และอื่นๆ (หากมี) ให้ถึงที่สุดตามควรแก่กรณี
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยังนายสิทธิชัย เพื่อขอให้ชี้แจงผลการสอบสวนดังกล่าวว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงไม่มีการระบุตัวผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้ความว่า กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นมานาน ทำให้จำรายละเอียดของมติที่ประชุม กวพ.ไม่ได้ว่าเป็นอย่างไร เท่าที่พอจำได้ กรณีนี้ได้เรียกผู้จัดการ สาขารายดังกล่าวมาสอบถามหลายครั้งและแจ้งว่าไม่ควรจ้างเอกชนโดยพลการ อย่างไรก็ตาม เห็นว่า เรื่องนี้เกินกว่าอำนาจของ กวพ. ไปแล้ว ต้องสอบถามทางผู้อำนวยการของธนาคาร อีกทั้งเมื่อ พระราชบัญญัติ การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ฉบับใหม่บังคับใช้ ทำให้ กวพ. ไม่มีแล้ว กระนั้นจะติดตามสอบถามเรื่องนี้แล้วแจ้งข้อเท็จจริงต่อทางสำนักข่าวอิศราอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา เคยนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาเรื่องการใช้อำนาจโยกย้ายผู้บริหารระดับสูงของธนาคารออมสิน ที่ดูเหมือนจะมีปัญหาในทางปฏิบัติมาแล้วเช่นกัน
โดยปรากฎข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ย.2560 ศาลแรงงานกลาง มีคำพิพากษา ให้ธนาคารออมสินเพิกถอนคำสั่ง กรณี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน มีคำสั่ง ย้าย นางสีชมภู จักรวาลอาชาชาติ รองผู้อำนวยการฝ่าย ส่วนการตลาดสินเชื่อธุรกิจ SMEs ศูนย์ธุรกิจสินเชื่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สายงานการตลาด (รองผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์ธุรกิจลูกค้า SMEs 4 ภาคขอนแก่น สายงานลูกค้าธุรกิจ SMEs กลุ่มลูกค้าธุรกิจภาครัฐ) ไปดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายสายงานลูกค้าธุรกิจ SMEs กลุ่มลูกค้าธุรกิจและภาครัฐ ประจำสำนักงานใหญ่ และในวันที่ 13 ส.ค. 2558 ผู้อำนวยการธนาคารออมสินได้มีคำสั่งอีกครั้ง ย้าย นางสีชมภู ไปดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญสายงานบริหารทรัพยากรบุคคล กลุ่มทรัพยากรบุคคล ประจำสำนักงานใหญ่ ช่วยปฎิบัติงาน ณ ธนาคารออมสินภาค 11 ขอนแก่น
และพิพากษาให้ธนาคารออมสินบรรจุแต่งตั้ง นางสีชมภูในตำแหน่งเดิมซึ่งก็คือตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่าย ศูนย์ธุรกิจลูกค้า SMEs 11 ฝ่ายบริหารศูนย์ธุรกิจลูกค้า SMEs สายงานลูกค้าธุรกิจ SMEs กลุ่มลูกค้าธุรกิจและภาครัฐ หรือตำแหน่งที่สูงกว่าเดิมและให้ธนาคารชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีแก่นางสีชมภู นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ (คดีหมายเลขแดงที่ 2618/2560)
ขณะที่นางสีชมภู เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศราว่าได้ทางธนาคารออมสินได้ออกคำสั่งให้ตนกลับไปดำรงตำแหน่งเดิมตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ. แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องเงินชดเชยที่เป็นคำสั่งศาลนั้นนับตั้งแต่วันพิพากษาจนถึงวันนี้ตนยังไม่ได้รับแต่อย่างใด
ต่อมาเมื่อวันที่ 18 ก.พ. สำนักข่าวอิศราได้เปิดเผยข้อมูลการพิพาทระหว่างธนาคารออมสินกับพนักงานอีกกรณีเมื่อ เมื่อวันที่ 17 ต.ค.2560 น.ส.นคินทร ปันทวังกูร พนักงาน นิติกร 7 ธนาคารออมสิน เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 กล่าวโทษ นางพัชลีพร วรวิบูลย์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการธนาคารออมสินภาค 11 นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กับพวก 13 คน ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-13 ข้อหาหรือฐานความผิด เป็นเจ้าพนักงานของรัฐร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อันเนื่องมาจากโยกย้ายโจทก์ไม่เป็นธรรม ลดตำแหน่งและเป็นการผิดสภาพการจ้าง โดยมีชนวนเหตุมาจากจำเลยที่ 1 สั่งการด้วยวาจาให้พนักงานของธนาคารทำงานหลังเลิกงานจนถึงเวลา 18.00 น. แต่โจทก์มีภาระต้องดูแลมารดาที่ป่วยเป็นโรคพาร์กินสันและอัลไซเมอร์ อยู่บ้านคนเดียว ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งได้ สร้างความไม่พอใจให้แก่จำเลยที่ 1 และเป็นเหตุแห่งการโยกย้าย ออกจากตำแหน่งเดิมคือ นิติกร 7 สังกัดหน่วยธุรกิจ ธนาคารออมสิน ภาค 11 ไปอยู่ในตำแหน่ง นิติกร 7 สังกัด หน่วยบริหารคดี ธนาคารออมสินเขต ขอนแก่น 1 อันเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผิดสภาพการจ้าง ลดตำแหน่งของโจทก์ลงจากเดิม และลักษณะงานที่ด้อยและต่ำลงกว่าตำแหน่งเดิม
โดยก่อนหน้านี้นั้นน.ส.นคินทรได้ไปฟ้องร้องต่อศาลแรงงานแล้วด้วยคำฟ้องเดียวกันและทางศาลแรงงานก็ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2559 ว่าการสั่งย้าย น.ส.นคินทร ย่อมขัดต่อกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับของธนาคารออมสิน อันเป็นการไม่ชอบ จึงมีเหตุเพิกถอนคำสั่งย้ายโจทก์ โดยให้ทางฝ่ายจำเลยแต่งตั้งโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งนิติกร 7 สังกัดหน่วยธุรกิจ ธนาคารออมสินภาค 11 หรือตำแหน่งนิติกรภาค 11 หน่วยสนับสนุนธุรกิจ หรือหน่วยธุรกิจ ธนาคารออมสินภาค 11 ตามเดิมหรือในตำแหน่งที่สูงขึ้นกว่าเดิม (คดีหมายเลขแดงที่ 222/2559) แต่อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่วันที่ ศาลแรงงานมีคำพิพากษาออกมา ก็ไม่ปรากฎว่าทางฝ่ายธนาคารออมสินจะปฏิบัติตามคำพิพากษาแต่อย่างใด
จนเป็นเหตุให้ น.ส.นคินทร ได้ยื่นฟ้องผู้เกี่ยวข้องทั้ง 13 คนต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ และศาลจะนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 26 เม.ย.นี้ ส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไรคงต้องรอดูกันต่อไป
แต่ที่แน่ๆ ทั้ง 2 กรณีนี้ นับเป็นบทสะท้อนสำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการใช้อำนาจและการปฏิบัติตามระเบียบการบริหารงานของธนาคารออมสิน ซึ่งถือเป็นสถาบันการเงินของรัฐได้อย่างชัดเจน ซึ่งผู้มีหน้าที่รับผิดชอบจะต้องรีบเข้าไปดูแลหาทางแก้ไขปัญหาโดยด่วน
เพราะไม่มีใครกล้ายืนยันว่าจากนี้ไปจะมีกรณีอื่นๆ ที่ใหญ่โต และรุนแรงกว่านี้ เกิดขึ้นตามมาอีกหรือไม่
อ่านประกอบ:
แบงก์ออมสิน จ้างผู้รับเหมาปรับแต่ง สนง.สาขา ไม่ขออนุมัติ-กวพ.ผ่อนผันตามหลัง
เปิดคำพิพากษา บิ๊ก ธ.ออมสิน ย้ายกลั่นแกล้งลูกน้อง ไม่รับคำสั่งให้ทำงานถึงหกโมงเย็น
บิ๊ก ธ.ออมสินแพ้อีกคดี!ปมให้ทำงานจนถึงหกโมงเย็น-ยื่นฟ้องศาลอาญาทุจริตฯ 13 คน
บิ๊ก ธ.ออมสินแพ้คดีย้าย รอง ผอ. 2 ครั้งใน 15 วัน ปมรายงานหนี้ลูกค้า ศาลสั่งชดใช้ 3 แสน