- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เปิดที่มา‘รถโฟล์ค’ 3 ล.ฉบับ‘สุพจน์’ โยงเมีย นักธุรกิจ - ศาลชี้ปมเอกชนได้งานการท่าฯ
เปิดที่มา‘รถโฟล์ค’ 3 ล.ฉบับ‘สุพจน์’ โยงเมีย นักธุรกิจ - ศาลชี้ปมเอกชนได้งานการท่าฯ
เปิดความเป็นมา ‘รถโฟล์ค’ 3 ล. คดีซุกทรัพย์สิน ฉบับ ‘สุพจน์ ทรัพย์ล้อม’ ในคำพิพากษาศาลฎีกาฯ อ้างนักธุรกิจใหญ่ซื้อให้เมียใช้ แต่ยกให้พระผู้ใหญ่ มีลูกสาวเป็นพยาน เคยเป็นเลขาฯ‘ที่ปรึกษา’ ของ‘สุวัจน์’ ทำงานให้ ‘เสี่ยเพ้ง’ อดีต รมว.คมนาคม ศาลชี้ปมสัมพันธ์เอกชนได้งานการท่าฯ
กรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาคดีนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความเป็นเท็จ เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2560 (คดีหมายเลขแดงที่ อม. 210/2560) ทรัพย์สินที่นายสุพจน์ปกปิด 2 รายการ คือ เงินสด 17,553,000 บาท (เงินสดที่ถูกปล้นบ้าน) และรถตู้โฟล์คสวาเกน 1 คัน หมายเลขทะเบียน ฮต 8822 มูลค่า 3 ล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า กรณีรถยนต์ตู้โฟล์คนั้นนายสุพจน์อ้างว่า ไม่ได้เป็นเจ้าของ แต่เป็นของนายเอนก จงเสถียร เจ้าของบริษัท เอ็มเอ็มพี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ทำธุรกิจเกี่ยวกับฟิล์มถนอมอาหารในนาม เอ็ม แรป ซึ่งนายเอนกซื้อและนำไปให้ นางนฤมล ทรัพย์ล้อม ภรรยานายสุพจน์ใช้ในงานเกี่ยวกับเด็กและศาสนา เพื่อตอบแทนที่ นางนฤมล วางระบบงานบุคคลให้บริษัทของ นายเอนก และอ้างอีกว่า นำรถไปมอบให้พระเทพปฏิภาณกวีใช้งาน (อ่านประกอบ:ชื่อ ‘พระผู้ใหญ่’ โผล่คดี ‘สุพจน์’ ซุกทรัพย์สิน อ้างมอบรถโฟล์ค 3 ล.ให้ใช้งาน)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา เรียบเรียงคำพิพากษาของศาลฎีกาฯในกรณีดังกล่าวมาเสนอ
ประเด็นวินิจฉัย รถยนต์ ยี่ห้อโฟล์คสวาเกน หมายเลขทะเบียน ฮต 8822 กรุงเทพมหานคร ตามคำร้องเป็นของผู้คัดค้านหรือไม่
องค์คณะผู้พิพากษามีมติเสียงข้างมากว่า ผู้คัดค้าน (นายสุพจน์) ยื่นคำคัดค้านและนำพยานเข้าไต่สวนโดยมี นายเอนก จงเสถียร เบิกความว่า รถยนต์คันดังกล่าวเป็นของ นายเอนก นำไปให้ นางนฤมล ภริยาผู้คัดค้าน ใช้ในงานเกี่ยวกับเด็กและศาสนา เพื่อตอบแทนที่ นางนฤมล วางระบบงานบุคคลให้บริษัทของ นายเอนก
@เอนกแจง ป.ป.ช. ถอนเงินซื้อให้เมียสุพจน์
แต่เมื่อพิเคราะห์รายงานของผู้ร้อง (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ-คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ตามเอกสาร ประกอบพยานผู้คัดค้านแล้วปรากฏว่า วันที่ 27 มี.ค. 2555 นายเอนก ให้ถ้อยคำต่อผู้ร้อง (ป.ป.ช.) ว่า นายเอนก เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทเอ็มเอ็มพี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ทำธุรกิจเกี่ยวกับฟิล์มถนอมอาหารในนาม เอ็ม แรป โดยมีมูลค่าการซื้อขายสินค้าปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท เคยทำงานกับบริษัท เทวีเอชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทขายเครื่องช่วยเดินอากาศให้แก่กรมการบินพาณิชย์ ขณะนั้น นายศรีสุข จันทรางศุ เป็นผู้บริหารของกรมการบินพาณิชย์ ต่อมาย้ายไปเป็นอธิบดีกรมทางหลวง นายเอนก จึงรู้จัก นางนฤมล เนื่องจากเป็นเลขานุการของ นายศรีสุข ที่กรมทางหลวง จากนั้นประมาณปี 2549 ถึงปี 2550 นายเอนก จึงให้ นางนฤมล เข้าช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างการบริหารงานบุคคล นางนฤมล มาทำงานให้ประมาณ 1 ถึง 2 ปี โดยไม่รับค่าตอบแทน เมื่อทราบว่า นางนฤมล จะทำโครงการเลี้ยงเด็กซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ นางนฤมล เข้ามาที่บริษัทของ นายเอนก บ่อยครั้ง นายเอนก จึงถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของตนมอบให้ นางนฤมล รวมประมาณ 3 ล้าน บาท เพื่อให้ นางนฤมล ไปซื้อรถยนต์ นางนฤมล ซื้อรถยนต์คันดังกล่าวและขอหมายเลขทะเบียน ฮต 8822 กรุงเทพมหานคร ด้วยตนเอง นางนฤมล นำรถไปใช้และเก็บรักษาไว้ตั้งแต่ซื้อจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งนำรถคันดังกล่าวเข้าศูนย์ซ่อมบำรุงเอง นายเอนก ไม่เคยขอให้ นางนฤมล นำรถมาคืน แต่ นางนฤมล เคยแจ้งว่าจะนำรถมาคืนให้ นายเอนก แต่ นายเอนก ไม่รับคืนเพราะถือว่าเป็นการตอบแทนที่ นางนฤมล เป็นที่ปรึกษาให้แก่บริษัทของ นายเอนก
น.ส.สุทธาวรรณ (บุตรสาวนายสุพจน์ และนางนฤมล) ให้ถ้อยคำต่อผู้ร้อง ว่าผู้คัดค้านใช้รถยนต์ ยี่ห้อโฟล์คสวาเกน หมายเลขทะเบียน ฮต 8822 กรุงเทพมหานคร เป็นประจำ และรถยนต์ของ น.ส.สุทธาวรรณ ยี่ห้อโตโยต้า รุ่น คัมรี่ หมายเลขทะเบียน จท 8822 กรุงเทพมหานคร ผู้คัดค้านเป็นผู้ขอ หมายเลขทะเบียนให้ตามความประสงค์ของ น.ส. สุทธาวรรณ ที่ต้องการหมายเลขทะเบียนเดียวกับรถยนต์ของผู้คัดค้าน โดยผู้คัดค้านเบิกความว่า รถยนต์ของ น.ส.สุทธาวรรณ ซื้อภายหลังรถยนต์ ยี่ห้อโฟล์คสวาเกน หมายเลขทะเบียน ฮต 8822 กรุงเทพมหานคร และ น.ส.สุทธาวรรณ เชื่อว่าทะเบียนรถยนต์ที่ นายเอนก เลือกเป็นหมายเลขที่ดีจึงขอทะเบียนตาม นายเอนก
@เมียอ้างรับเคยทำงานให้ที่ปรึกษา‘สุวัจน์-เสี่ยเพ้ง’
และทางไต่สวน นางนฤมล เบิกความต่อศาลว่า บริษัทของ นายเอนก มีปัญหาพนักงานไม่ค่อยพูดคุยกัน นางนฤมล รู้จักวิทยากรดี ๆ ที่จะมาแก้ปัญหาว่าควรจะพูดจาอย่างไร ทำอย่างไร รับโทรศัพท์อย่างไร โดยบริษัท ของ นายเอนก ยังไม่มียุทธศาสตร์ ไม่มีพันธกิจ นางนฤมล จึงแนะนำ นางปานจิต จินดากุล เพื่อให้ช่วยงาน นายเอนก โดยได้รับเงินเดือน เดือนละ 30,000 ถึง 50,000 บาท ส่วน นางนฤมล มาช่วยงานเป็นครั้งคราว
เห็นว่า ปัญหาภายในบริษัทของ นายเอนก เรื่องพนักงานไม่พูดคุยกันนั้น เป็นปัญหาเพียงเล็กน้อย ทั้งการวางระบบงานบุคคลก็มีการมอบหมายให้ นางปานจิต ทำหน้าที่ประจำ โดยชัดเจนซึ่งก็ได้เงินเดือนเพียง 30,000 ถึง 50,000 บาท เท่านั้น เมื่อพิจารณาคำให้การของ นางนฤมล ได้ความว่า นางนฤมล ทำงานให้ นายเอนก เพียง 2 เดือน ก็ไปช่วยงาน นายเสถียร วงศ์วิเชียร ซึ่งเป็นที่ปรึกษา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เมื่อ นายเสถียร พ้นจากตำแหน่งจึงกลับไปช่วยงาน นายเอนก อีกครั้ง แต่ทำได้ไม่นานก็ได้รับการติดต่อจาก นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ให้ไปช่วยงานอีก และนอกจากงานที่ นางนฤมล ทำให้ นายเอนก แล้วก็ยังมีงานดูแลเด็กที่ นางนฤมล อ้างว่าได้ทำด้วย
@ทำงานให้เอนกไม่นาน-ศาลไม่เชื่อรถ 3 ล.ให้
เห็นได้ว่า นางนฤมล ทำงานให้บริษัทของ นายเอนก เพียงชั่วคราว เป็นเวลาไม่นานและไม่ได้ทำงานเต็มเวลา จึงไม่มีเหตุผลและความจำเป็นที่ นายเอนก จะมอบรถมูลค่าถึง 3 ล้านบาท ให้แก่ นางนฤมล ซึ่งทำงานให้เป็นครั้งคราวมากกว่า นางปานจิต ซึ่งทำงานให้เป็นประจำกลับได้รับเงินเดือนเพียง 30,000 ถึง 50,000 บาท
จากทางไต่สวนของศาล นายเอนกเบิกความว่า บริษัทของ นายเอนก มีพนักงานเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การจัดการบริหารงานบุคคลน่าจะมีเอกสารหรือหลักฐานอื่นให้เชื่อได้ว่า นางนฤมล มีความสามารถในการบริหารงานบุคคล จนเป็นผลสำเร็จถึงขนาดต้องตอบแทนด้วยการมอบรถมูลค่า 3 ล้าน บาท ให้ ทั้งชั้นไต่สวน ของศาลผู้คัดค้านยังเบิกความด้วยว่า การทำงานเกี่ยวกับเด็กของ นางนฤมล เป็นการสอนเด็กที่บ้านแสดงว่าไม่มีความจำเป็นต้องเดินทาง และแม้จะเบิกความต่อไปว่าพาเด็กไปศึกษานอกสถานที่ในวันเสาร์อาทิตย์แต่ก็เป็นเวลาเดียวกับที่ นางนฤมล เบิกความว่าทำงานให้แก่บริษัทของ นายเอนก เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ นายเอนก ยังเบิกความอีกว่าตนเองมีรถหลายคัน ดังนั้น หากจะให้บุคคลอื่นยืมใช้รถเพื่อรับส่ง เด็กก็น่าจะนำรถที่มีอยู่แล้วมาให้ยืมมากกว่าที่จะมอบเงินถึง 3 ล้านบาท ให้ไปเลือกซื้อเพื่อมารับส่งเด็กเรียนพิเศษรวมทั้งทำงานเกี่ยวกับศาสนา ตามที่ นายเอนก เบิกความจึงเป็นเหตุผลความจำเป็น ที่มีน้ำหนักน้อย ทั้งตามคำให้การของ นายเอนก และคำเบิกความในชั้นไต่สวน ของศาลยังได้ความโดยมีสาระสำคัญตรงกันว่ามีการมอบเงินให้ นางนฤมล หลายครั้งเพื่อไปซื้อรถยนต์ ยี่ห้อโฟล์คสวาเกน หมายเลขทะเบียน ฮต 8822 กรุงเทพมหานคร เห็นได้ว่า การชำระราคารถยนต์ย่อมต้องชำระในคราวเดียว การมอบเงินให้บุคคลอื่นหลายครั้งไปซื้อรถแทนย่อมต้องมีการนำเงินไปพัก ไว้ก่อนซึ่งเสี่ยงต่อการสูญหาย ดังนั้น พฤติการณ์ในการมอบเงินให้หลายครั้งจึงเป็นพิรุธ
@ชี้พิรุธเมียสั่งขอเลขทะเบียน ฮต 8822 ให้ลูกสาว
นอกจากนี้ ตามเอกสาร ยังปรากฏด้วยว่า นางนฤมล เป็นผู้แจ้งต่อผู้คัดค้านว่าต้องการหมายเลขทะเบียน ฮต 8822 กรุงเทพมหานคร ซึ่งก็ปรากฏพฤติการณ์ใกล้ชิดต่อมาตามคำให้การของ น.ส. สุทธาวรรณ ว่ารถยนต์ของ น.ส.สุทธาวรรณ ซึ่งมีหมายเลขทะเบียน จท 8822 กรุงเทพมหานคร ผู้คัดค้าน (นายสุพจน์) เป็นผู้ขอหมายเลขทะเบียนรถยนต์ให้ตามความประสงค์ของ น.ส.สุทธาวรรณ และเมื่อได้ความว่า น.ส.สุทธาวรรณ อาศัยอยู่บ้านเดียวกันกับผู้คัดค้าน รถทั้งสองคันย่อมจอดอยู่ในบ้านหลังเดียวกันและมีหมายเลขทะเบียนตรงกัน การฟังว่ารถยนต์ ยี่ห้อโฟล์คสวาเกน หมายเลขทะเบียน ฮต 8822 กรุงเทพมหานคร เป็นของผู้คัดค้านโดยมีหมายเลขทะเบียนเดียวกับรถของ น.ส. สุทธาวรรณ ซึ่งเป็นบุตรสาวจึงมีเหตุผลน่ารับฟังกว่าที่จะเชื่อว่า น.ส.สุทธาวรรณ มีความต้องการ ใช้หมายเลขทะเบียนรถยนต์เดียวกันกับนายเอนก แม้ว่า นายเอนก จะเบิกความว่าหมายเลขทะเบียน 8822 เป็นหมายเลขที่ไม่ดี แต่ก็เป็นคำเบิกความที่มีขึ้นภายหลังเหตุการณ์ปล้นทรัพย์ โดยรถยนต์ ยี่ห้อโฟล์คสวาเกน หมายเลขทะเบียน ฮต 8822 กรุงเทพมหานคร จดทะเบียนตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุปล้นทรัพย์เป็นเวลาประมาณ 2 ปี หากรถยนต์คันดังกล่าวเป็นของ นายเอนก จริงก็น่าจะมีรถคันอื่นที่ใช้ทะเบียนเดียวกันบ้าง แต่หมายเลขทะเบียนรถที่ตรงกันในคดีนี้กลับมีแต่รถยนต์ของ น.ส.สุทธาวรรณ บุตรสาวของผู้คัดค้านเท่านั้น ไม่มีรถของ นายเอนก ที่ใช้ทะเบียน 8822 แต่อย่างใด
ยิ่งกว่านั้นคำเบิกความของผู้คัดค้าน นางนฤมล และ นายเอนก ในชั้นไต่สวนของศาลไม่ว่าจะเป็นเรื่องการครอบครอง และการใช้รถยนต์ ยี่ห้อโฟล์คสวาเกน หมายเลขทะเบียน ฮต 8822 กรุงเทพมหานคร ล้วนให้การผิดแผกแตกต่างกัน ในสาระสำคัญ ทั้งขัดต่อเหตุผลและมีพิรุธตามที่วินิจฉัยข้างต้น อีกทั้งยังแตกต่างจากคำให้การ ตามเอกสาร คำเบิกความของผู้คัดค้าน นางนฤมล และ นายเอนก จึงมีน้ำหนักน้อย แม้จะพยายามยืนยันว่ารถยนต์ ยี่ห้อโฟล์คสวาเกน หมายเลขทะเบียน ฮต 8822 กรุงเทพมหานคร นายเอนก เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ก็ตาม ซึ่งคณะอนุกรรมการของผู้ร้องเสียงข้างน้อย มีความเห็นว่าตามคู่มือจดทะเบียนรถมีชื่อ นายเอนก เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ดังนั้น การที่ผู้คัดค้านไม่แสดง ว่าตนเป็นเจ้าของรถยนต์ ยี่ห้อโฟล์คสวาเกน หมายเลขทะเบียน ฮต 8822 กรุงเทพมหานคร ยังฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านมีเจตนาจะปกปิดข้อเท็จจริงอันควรบอกให้แจ้งในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน จึงไม่มีความผิด ในส่วนนี้แต่อย่างใด นั้น
เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 17/1 จะให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของรถยนต์ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาหมายเหตุใน การแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติดังกล่าว ก็ได้ความว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงเพิ่มรูปแบบทางธุรกิจจากการเช่าซื้อรถยนต์ โดยสามารถนำรถยนต์ไปจำนองได้เพื่อมิให้ประชาชนต้องเสียค่าธรรมเนียมการโอนรถยนต์ หลายทอดโดยไม่จำเป็น ทั้งผู้รับจำนองยังมีบุริมสิทธิในรถยนต์ด้วย และตามมาตรา 4 บัญญัติว่า เจ้าของรถ หมายความรวมถึงผู้มีรถไว้ในครอบครองด้วย ประกอบกับเมื่อรถยนต์เป็นสังหาริมทรัพย์โดยมีข้อเท็จจริง ที่รู้กันทั่วไปว่าผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในคู่มือจดทะเบียนรถยนต์อาจไม่ใช่เจ้าของที่แท้จริงก็เป็นได้ จึงเห็นว่าบทบัญญัติมาตรา 17/1 เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้น หาใช่เป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาดว่าผู้มีชื่อเป็นเจ้าของรถยนต์จะเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์เสมอไป ดังนั้น การพิจารณาว่าผู้คัดค้านเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ในรถยนต์หรือไม่ ย่อมต้องอาศัยพฤติการณ์ในการซื้อ การครอบครอง รวมถึงการใช้รถยนต์ด้วย ในส่วนของพฤติการณ์ในการครอบครองและใช้รถยนต์ ยี่ห้อโฟล์คสวาเกน หมายเลขทะเบียน ฮต 8822 กรุงเทพมหานคร ยังคงได้ความตรงกันในสาระสำคัญว่าอยู่ในความครอบครองของผู้คัดค้าน กระทั่งเกิดเหตุปล้นทรัพย์และอนุกรรมการไต่สวนผู้ร้องไปตรวจบ้านเกิดเหตุก็พบรถยนต์คันดังกล่าวในบ้าน ของผู้คัดค้าน
@โยงปมรับเหมาฟิล์มพลาสติกพันกระเป๋าผู้โดยสารการท่าฯ
ตามทางไต่สวนจึงไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดที่จะยืนยันให้เชื่อได้ว่านับตั้งแต่ซื้อรถมา นายเอนก ได้มีการครอบครองอย่างเป็นเจ้าของ เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ปรากฏว่า นายเอนก ได้สิทธิ ในการรับพันกระเป๋าด้วยฟิล์มพลาสติกในบริเวณท่าอากาศยานไทย แม้จะเป็นการทำสัญญากับบริษัท คิงพาวเวอร์ จำกัด ก็ตาม แต่การเป็นคู่สัญญาก็เกิดขึ้นในระหว่างที่ผู้คัดค้านดำรงตำแหน่งกรรมการ การท่าอากาศยานไทย รองประธานกรรมการและกรรมการบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อปี 2544 ถึงปี 2553 ในหลายวาระซึ่งปรากฏตามบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ของผู้คัดค้านดังที่ น.ส.คะฐานิช พยานผู้ร้องเบิกความต่อศาล แต่ผู้คัดค้านกลับเบิกความว่า ตนเองเคยเป็นกรรมการบริษัทการท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ในช่วงเวลาเพียง 2 เดือน คือประมาณเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนมกราคม คำเบิกความดังกล่าวจึงขัดกับบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินโดยชัดแจ้ง เชื่อว่าผู้คัดค้านพยายามปกปิดความสัมพันธ์ระหว่าง นายเอนก กับผู้คัดค้าน ทั้งรถยนต์ ยี่ห้อโฟล์คสวาเกน หมายเลขทะเบียน ฮต 8822กรุงเทพมหานคร มีราคาถึง 3 ล้านบาท หากเป็นของ นายเอนก และให้ยืมใช้จริงเมื่อมีการตรวจสอบ นายเอนก น่าจะยืนยัน ความเป็นเจ้าของโดยนำรถกลับคืนไปสู่ความครอบครองของตนเอง
@ให้พระผู้ใหญ่ใช้แค่ชั่วคราว-ไม่โอนกรรมสิทธิ์
ส่วนที่ผู้คัดค้านอ้างว่า นำรถยนต์ ยี่ห้อโฟล์คสวาเกน หมายเลขทะเบียน ฮต 8822 กรุงเทพมหานคร ไปมอบให้พระเทพปฏิภาณกวี เห็นว่า รถคันดังกล่าวถูกตรวจสอบพบว่าอยู่ในบ้าน ผู้คัดค้านตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย.2554 หลังจากนั้นเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน 2555 น.ส.สุทธาวรรณ นายเอนก และ นางนฤมล ไปให้การต่อคณะอนุกรรมการของผู้ร้อง ให้การยืนยันเพียงว่ารถยนต์ ยี่ห้อโฟล์คสวาเกน หมายเลขทะเบียน ฮต 8822 กรุงเทพมหานคร เป็นของ นายเอนก มิได้ให้การ ว่ามีการมอบรถให้แก่พระเทพปฏิภาณกวีแต่อย่างใด
เมื่อพิเคราะห์คำเบิกความของพระเทพปฏิภาณกวี ซึ่งเบิกความว่า การใช้รถจะออกค่าใช้จ่ายแต่เฉพาะค่าน้ำมันเท่านั้น ส่วนค่าบำรุงรักษา ตรวจเช็คสภาพรถยนต์ ค่าต่อกรมธรรม์ประกันภัย และภาษีประจำปีไม่ได้เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย แสดงว่าการมอบรถให้ พระเทพปฏิภาณกวีเป็นการให้ยืมใช้เพียงชั่วคราวมิใช่เป็นการมอบกรรมสิทธ์ิในรถยนต์ให้แต่อย่างใด และเมื่อวินิจฉัยมาแล้วข้างต้นว่ารถยนต์คันดังกล่าวเป็นของผู้คัดค้าน รถยนต์คันดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สิน ที่เกิดขึ้นเมื่อคดีถึงที่สุดดังที่ผู้คัดค้านให้การต่อสู้แต่อย่างใดไม่ เพราะหากผลคำพิพากษาวินิจฉัยว่า รถยนต์ ยี่ห้อโฟล์คสวาเกน หมายเลขทะเบียน ฮต 8822 กรุงเทพมหานคร เป็นของผู้คัดค้าน รถยนต์ คันดังกล่าวย่อมต้องเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า รถยนต์ ยี่ห้อโฟล์คสวาเกน หมายเลขทะเบียน ฮต 8822 กรุงเทพมหานคร เป็นทรัพย์สิน ของผู้คัดค้านที่อยู่ในชื่อบุคคลอื่น โดยมอบให้พระเทพปฏิภาณกวีครอบครองดูแลเพียงชั่วคราว จึงเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่มีอยู่จริงในเวลาที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ตามมาตรา 39 ประกอบมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542
เมื่อรถยนต์โฟล์คสวาเก้นเป็นของผู้คัดค้าน แต่ผู้คัดค้านไม่แสดงทรัพย์สินในบัญชีทรัพย์สินต่อผู้ร้อง พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าไม่ประสงค์จะให้ผู้ร้องได้ตรวจสอบที่มาของทรัพย์สินของผู้คัดค้าน การกระทำของผู้คัดค้านจึงเป็นการจงใจยื่นบัญชีฯเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ
ทั้งหมดคือความเป็นมา รถโฟล์ค 3 ล้าน ตามคำกล่าวอ้างของนายสุพจน์และคำวินิจฉัยของศาลฎีกาฯทุกประเด็น
อย่างไรก็ตาม นายสุพจน์ยังต้องเผชิญกับอีกข้อกล่าวหาหนึ่งคือ รับสินบน ต้องรอดูผลสอบสวนข้อเท็จจริงกันต่อไป