ชื่อ ‘พระผู้ใหญ่’ โผล่คดี ‘สุพจน์’ ซุกทรัพย์สิน อ้างมอบรถโฟล์ค 3 ล.ให้ใช้งาน
คำพิพากษาคดี ‘สุพจน์’ อดีตปลัด ก.คมนาคม ซุกทรัพย์สิน อ้างนักธุรกิจใหญ่ซื้อรถโฟล์ค 3 ล้านให้เมียแลกช่วยเหลือ เอาไปถวาย พระเทพปฏิภาณกวี ใช้งาน ขณะที่ ผช.เจ้าอาวาสวัดดังเบิกความ รับไว้ จ่ายค่าน้ำมันเอง ไม่โอนกรรมสิทธิ์ให้ ศาลฎีกาฯ ไม่เชื่อผู้คัดค้าน จำคุก 10 เดือน
กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม รับสินบนกรณีเจ้าของรถยนต์ตู้โฟล์คสวาเกน 1 คันมูลค่า 3 ล้านบาท ซึ่งรถยนต์คันดังกล่าว ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาเป็นของนายสุพจน์ และไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. พร้อมเงินสด 17,553,000 บาทเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2560
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า กรณีรถยนต์ตู้โฟล์คคันดังกล่าวนั้นมีการอ้างชื่อพระผู้ใหญ่ซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดดังเข้ามาเกี่ยวข้องว่าเป็นผู้รับถวายเพื่อใช้งานจากเมียนายสุพจน์ แต่ศาลฎีกาฯเห็นว่าเป็นการให้ยืมใช้งานเพียงชั่วคราวเท่านั้น
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบคำพิพากษาของศาลฎีกาฯที่พิพากษาว่านายสุพจน์ปกปิดบัญชีทรัพย์สิน กรณีเงินสด 17,553,000 บาท และรถตู้โฟล์ค 1 คัน หมายเลขทะเบียน ฮต 8822 (คดีหมายเลขแดงที่ อม. 210/2560) เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2560 นั้น นายสุพจน์อ้างว่า ไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์คันดังกล่าว แต่เป็นของนายเอนก จงเสถียร เจ้าของบริษัทเอ็มเอ็มพี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ทำธุรกิจเกี่ยวกับฟิล์มถนอมอาหารในนาม เอ็ม แรป ซึ่งนายเอนกซื้อและ นำไปให้ นางนฤมล ทรัพย์ล้อม ภรรยานายสุพจน์ใช้ในงานเกี่ยวกับเด็กและศาสนา เพื่อตอบแทนที่ นางนฤมล วางระบบงานบุคคลให้บริษัทของ นายเอนก และอ้างอีกว่า นำรถไปมอบให้พระเทพปฏิภาณกวีใช้งาน
ศาลฎีกาฯเห็นว่า นางนฤมล ทำงานให้บริษัทของ นายเอนก เพียงชั่วคราว เป็นเวลาไม่นานและไม่ได้ทำงานเต็มเวลา จึงไม่มีเหตุผลและความจำเป็นที่ นายเอนก จะมอบรถมูลค่าถึง 3 ล้านบาท ให้แก่ นางนฤมล ตามทางไต่สวนจึงไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดที่จะยืนยันให้เชื่อได้ว่านับตั้งแต่ซื้อรถมา นายเอนก ได้มีการครอบครองอย่างเป็นเจ้าของคันดังกล่าว
ส่วนที่อ้างว่า นำรถยนต์ ยี่ห้อโฟล์คสวาเกน ไปมอบให้พระเทพปฏิภาณกวี เห็นว่า รถคันดังกล่าวถูกตรวจสอบพบว่าอยู่ในบ้าน ผู้คัดค้านตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย. 2554 หลังจากนั้นเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน 2555 นางสาวสุทธาวรรณ ทรัพย์ล้อม บุตรสาวนายสุพจน์ นายเอนก และ นางนฤมล ไปให้การต่อคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. ให้การยืนยันเพียงว่ารถยนต์ ยี่ห้อโฟล์คสวาเกน เป็นของ นายเอนก มิได้ให้การ ว่ามีการมอบรถให้แก่พระเทพปฏิภาณกวีแต่อย่างใด
คำพิพากษาระบุว่า เมื่อพิเคราะห์คำเบิกความของพระเทพปฏิภาณกวี ซึ่งเบิกความว่า การใช้รถจะออกค่าใช้จ่ายแต่เฉพาะค่าน้ำมันเท่านั้น ส่วนค่าบำรุงรักษา ตรวจเช็คสภาพรถยนต์ ค่าต่อกรมธรรม์ประกันภัย และภาษีประจำปีไม่ได้เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย แสดงว่าการมอบรถให้ พระเทพปฏิภาณกวีเป็นการให้ยืมใช้เพียงชั่วคราวมิใช่เป็นการมอบกรรมสิทธ์ในรถยนต์ให้แต่อย่างใด
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า รถยนต์ ยี่ห้อโฟล์คสวาเกน เป็นทรัพย์สิน ของนายสุพจน์ที่อยู่ในชื่อบุคคลอื่น โดยมอบให้พระเทพปฏิภาณกวีครอบครองดูแลเพียงชั่วคราว จึงเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่มีอยู่จริงในเวลาที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ตามมาตรา 39 ประกอบมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542
พิพากษานายสุพจน์จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบกรณีพ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ 3) มาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี กรณีพ้นจากตำแหน่งกรรมการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) มาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี กรณีพ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ 3) มาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี กรณีพ้นจากตำแหน่งและกรณีพ้นจากตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคมมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี ห้ามมิให้ ผู้คัดค้านดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันที่ 18 พ.ค.2555 อันเป็นวันที่ ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคมซึ่งเป็นตำแหน่งสุดท้ายที่ผู้ร้องขอให้ลงโทษ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง กับมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 252 มาตรา 119 การกระทำของผู้คัดค้านเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 องค์คณะ ผู้พิพากษามีมติเสียงข้างมากให้จำคุกกระทงละ 2 เดือน รวม 5 กระทง เป็นจำคุก 10 เดือน
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2560 นายปรีชา เลิศกมลมาศ กรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า คดีกล่าวหานายสุพจน์ รับสินบน ปัจจุบันยังไม่ได้มีการชี้มูลความผิด แต่อยู่ระหว่างการสรุปสำนวน เนื่องจากมีความสับสนกันอยู่ว่า ใครเป็นผู้ให้รถยนต์โฟล์คสวาเกนมูลค่า 3 ล้านบาท แก่นายสุพจน์กันแน่ ในชั้นการไต่สวนคดีจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ นั้น ตามทางไต่สวนภรรยาของนายสุพจน์ให้การในชั้นศาลฎีกาฯว่า ได้รับรถยนต์มาจากนายเอนก จงเสถียร นักธุรกิจชื่อดังจริง อย่างไรก็ดีในชั้นการไต่สวนของคณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. พบว่า ผู้ให้รถยนต์โฟล์คสวาเกนดังกล่าว เป็นบริษัทเอกชนเกี่ยวกับการรับเหมาก่อสร้างแห่งหนึ่ง ทำให้คณะอนุกรรมการฯ ต้องคัดคำพิพากษาฉบับเต็มคดีจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จของนายสุพจน์มาดูอีกทีว่า ศาลฎีกาฯไต่สวนอย่างไร และจะใช้มาเป็นแนวทางในการไต่สวนของ ป.ป.ช. และ เบื้องต้นยังไม่ปรากฏชื่อนายเอนก จงเสถียร เป็นผู้ถูกกล่าวหา ต้องรอการหาข้อมูลข้อเท็จจริงเพิ่มเติมก่อน (อ่านประกอบ: ยังไม่ฟัน‘สุพจน์’คดีสินบน สำนวนสับสนปมรถโฟล์ค-บ.ก่อสร้างเอี่ยว เกิดปัญหามอบให้วัด)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีที่เกี่ยวข้องกับนายสุพจน์แยกออกเป็น 3 คดี คือ
1.คดีปกปิดบัญชีฯทรัพย์สินกรณี เงินสด 17.5 ล้านบาท และรถตู้โฟล์คฯ 3 ล้านบาท 2. คดีร่ำรวยผิดปกติ 64.7 ล้านบาท และ 3. ล่าสุดอยู่ระหว่างไต่สวนกรณีรับสินบนกรณีรถตู้โฟล์คฯหรือไม่ (คดีแรกกับคดีที่สอง ศาลตัดสิน สิ้นสุดแล้ว)
คดีร่ำรวยผิดปกติ นั้น เมื่อ 24 ก.ค. 2555 นายสุพจน์ถูก คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลในข้อกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ จำนวน 64.7 ล้านบาท และ ส่งเรื่องให้อัยการยื่นคำร้องต่อศาลอาญายึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน ต่อมา 31 ม.ค. 2557 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ทรัพย์สินตามคำร้องของอัยการสูงสุด 19 รายการ รวมมูลค่าทั้งสิ้น 46,141,038 .83 บาท ของนายสุพจน์ และที่มีชื่อของภรรยา , บุตรสาว และบุตรเขย เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ พร้อมดอกผลที่เกิดขึ้นนั้นตกเป็นของแผ่นดิน นายสุพจน์และครอบครัวยื่นอุทธรณ์
11 พ.ย. 2558 ศาลอุทธรณ์ เห็นว่าทรัพย์ตามคำร้องได้มาโดยไม่สมควร สืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่และเกิดจากความร่ำรวยผิดปกติ จึงต้องสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดิน แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ทรัพย์สินรวม 46,141,038 .83 บาท ตกเป็นของแผ่นดินโดยนำบัญชีเงินฝาก 3 บัญชี ที่ปิดแล้วจำนวน 15,857,548.69 บาท หักออกจากมูลค่าทรัพย์สินที่ อสส.ยื่นคำร้องนั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นด้วย เมื่อฟังได้ว่านายสุพจน์ ผู้คัดค้านที่ 1 ร่ำรวยผิดปกติ แม้ภายหลังมีการปิดไปแล้วก็ต้องนำเงิน 15,857,548.69 บาท มารวมอยู่ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติด้วย ส่วนรถยนต์ยี่ห้อ VOLK SWAGEN มูลค่า 3 ล้านบาทแม้ไม่มีชื่อของนายสุพจน์เป็นเจ้าของ แต่รับฟังได้ว่ามีการมอบรถให้นายสุพจน์ใช้อย่างถาวร จึงเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเกิดจากการร่ำรวยผิดปกติด้วย เมื่อนำทรัพย์สินดังกล่าวกับมูลค่าทรัพย์สินที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว จะรวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 64,998,587.52 บาท จึงพิพากษาแก้เป็นว่าให้รถยนต์ยี่ห้อ VOLK SWAGEN มูลค่า 3 ล้านบาท รวมเข้ากับทรัพย์สินอื่นตามคำสั่งศาลชั้นต้น รวมมูลค่าทั้งสิ้น 64,998,587.52 บาท ให้ตกเป็นของแผ่นดิน
อ่านประกอบ:
คุก10เดือนไม่รอลงอาญา!‘สุพจน์’ซุกทรัพย์สิน5ครั้งช่วงนั่งบอร์ดรัฐวิสาหกิจ-ปลัดคมนาคม
‘สุพจน์’รอลุ้น! อนุฯป.ป.ช.สรุปคดีเรียกรับสินบนชนวนเหตุรวยผิดปกติแล้ว