- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- งานวิจัยในสหรัฐฯพบว่าเมื่อรัฐลงทุนในพลังงานสะอาด ช่วยลดรายจ่ายหลักพันล้านเหรียญ
งานวิจัยในสหรัฐฯพบว่าเมื่อรัฐลงทุนในพลังงานสะอาด ช่วยลดรายจ่ายหลักพันล้านเหรียญ
งานวิจัยชิ้นใหม่พบสหรัฐฯสามารถประหยัดเงินไปมากถึง 35 พันล้านเหรียญฯและ 220 พันล้านเหรียญฯจากการที่ลดจำนวนผู้เสียชีวิตก่อนวัยลดอัตราการป่วยรายวันและการจัดการปัญหาสภาวะการเปลี่ยนแปลงของอากาศ
หนึ่งในสิ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดในประเด็นเพื่ออุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนนั่นคือการอุดหนุนเม็ดเงินจากรัฐบาล ซึ่งแน่นอนราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า หากปราศจากการสนับสนุนจากรัฐบาลเเล้ว การจะดำเนินการการลงทุนในเทคโนโลยีนี้คงเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญไปกว่านั้นคือการลงทุนจากเงินภาษีเหล่านี้ ประชาชนทั่วไปจะได้อะไร
ในงานวิจัยชิ้นล่าสุดในหัวข้อ กำไรจากการลงทุนในภาคพลังงานธรรมชาติ ของ Dev Millstein แห่ง Lawerence Berkeley National Laboratory และคณะทีมวิจัย ได้ทำการสำรวจค้นพบว่า การที่พลังงานฟอสซิลไม่ได้ถูกนำมาใช้เพราะมีการใช้งานในภาคพลังงานสะอาดอย่างลมและแสงอาทิตย์ สามารถช่วยลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในสหรัฐอเมริกาได้ถึง 3,000 และ 12,700 คน ในปี 2007 และ 2015 ตามลำดับ
อย่างที่เราทราบกันดีว่า พลังงานฟอสซิลนั้นก่อให้เกิดมลพิษ ไม่ว่าจะเป็นก๊าซอย่างคาร์บอนไดอ็อกไซด์ซัลเฟอร์ ไดอ็อกไซด์ ไนโตรเจน ไดอ็อกไซด์และอื่นส่งผลอย่างหนักต่อสภาพภูมิอากาศและชั้นบรรยากาศโลก ที่สำคัญคือตัวการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์จนมาสู่การเสียชีวิตในที่สุด
(อ่านประกอบ : งานวิจัยล่าสุดเผย มลพิษปนเปื้อนคร่าชีวิตคนทั่วโลกกว่า9ล้านคนในปี2015 )
นักวิจัยกลุ่มนี้ค้นพบว่า สหรัฐฯ สามารถประหยัดเงินไปมากถึง 35 พันล้านเหรียญฯ และ 220 พันล้านเหรียญฯจากการที่ลดจำนวนผู้เสียชีวิตก่อนวัย ลดอัตราการป่วยรายวัน และการจัดการปัญหาสภาวะการเปลี่ยนแปลงของอากาศ
Millstein หัวหน้าวิจัยฯ บอกว่า จำนวนเงินที่สามารถประหยัดไว้ได้จากการมีคุณภาพอากาศที่ดีนั้นเท่ากับหรือมากกว่าเงินอุดหนุนของภาครัฐที่มีต่ออุตสาหกรรมพลังงานลมและแสงอาทิตย์ด้วยซ้ำ
หมายความว่าอะไร หมายความว่า ที่รัฐลงทุนพัฒนาการใช้พลังงานสะอาดเหล่านี้ กลับคืนทุนในระดับที่คุ้มค่ามากๆ นั่นเอง เมื่อต้องเทียบกับรายจ่ายที่ต้องสูญเสียไปกับการรักษาพยาบาลและสวัสดิการด้านสุขภาพ
(อินโฟกราฟฟิกแสดงประเทศที่มีการลงทุนในภาคพลังงานสะอาด ที่มา:สหประชาชาติหรือยูเอ็น)
งานวิจัยชิ้นยังระบุอีกว่า ช่วงระหว่างปี 2007 และ 2015 จากการวิเคราะห์ของ Quartz พบว่า รัฐบาลสหรัฐฯใช้จ่ายเงินไปว่า 50 พันล้านเหรียญฯ และ 80 พันล้านเหรียญฯ ในการอุดหนุน (subsidies) ในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนทั้งลมและแสงอาทิตย์ ซึ่งหากคิดจากกำไรขั้นต่ำสุดและอัตราเงินอุดหนุนสูงสุด มองเพียงประเด็นสุขภาพและสภาพอากาศที่ดีขึ้นจากพลังงานหมุนเวียนเหล่านั้น คนอเมริกาได้ประโยชน์คิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของเงินภาษีที่จ่าย
หากสหรัฐฯจะตัดสินใจเลิกอุดหนุนในตอนนี้ กำไรที่มาจากการลงทุนนั้นจะยังคงอยู่ไปอีกช่วงชีวิตหนึ่งเลยทีเดียว ซึ่งถือเป็นบทพิสูจน์สำหรับสำหรับการลงทุนในระยะยาวที่ให้กำไรอย่างชัดเจน
นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น การลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดยังส่งผลดีต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ สร้างงานใหม่ และยังเป็นการนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยี ที่ยังไม่สามารถประเมินค่าเงินได้
นอกจากนี้ ในประเด็นที่ว่าในอนาคตการทำกำไรในส่วนนี้จะลดลงหรือไม่ เมื่อมีการผลิตไฟฟ้าสะอาดที่เพิ่ม ในทุกเมกกะวัตต์ที่เพิ่มนั้นจะเท่ากับมลพิษที่หายไป ซึ่งหมายถึง จำนวนของชีวิตผู้คนที่สามารถรักษาเอาไว้ได้และเงินกำไรที่ได้มาจะจบลง แต่ Millstein ยังเชื่อว่า ไม่มีทางที่จะเดินไปถึงจุดนั้นได้ อย่างน้อยในสหรัฐฯ
ทั้งนี้ยังคงมีข้อถกเถียงว่าการอุดหนุนของรัฐต่ออุตสาหกรรมพลังงานสะอาดนั้นจะคุ้มค่าอย่างมากแบบนี้ในทุกประเทศทั่วโลกหรือไม่ ซึ่งหากดูในวิจัยฉบับนี้ก็ยังเป็นการศึกษาผลที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ และประเทศร่ำรวยจำนวนหนึ่งที่มีปัจจัยใกล้เคียงกันเท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้นาหกมองในมุมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนในระยาว รูปแบบจากงานวิจัยก็พอฉายภาพให้เราเห็นถึงคุณค่าและประโยชน์อย่างมาก