ผู้ว่าฯ สตง.งัดข้อ คตง.เร่ง สนช.สรรหาใหม่ ล้างบางยกชุด-เจอสวนขัด กม.
สตง.ระอุ 'ผู้ว่าฯ' งัดข้อ 'คตง.' ชิงส่งหนังสือแจ้งวุฒิสภา เริ่มกระบวนการสรรหาใหม่ยกชุด อ้างอำนาจคำสั่งหน.คสช.ต้องรีบดำเนินการหลังกรรมการตรวจเงิน บางรายพ้นตำแหน่งไปแล้ว ฝ่ายคตง.ทำหนังสือโต้ ระยะเวลากระชั้นชิดไป แถมปัจจุบันยังอยู่ในตำแหน่ง ชี้หากขั้นตอนมีปัญหาให้ส่งเรื่องศาลรธน.ตีความ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ขณะนี้กระบวนการสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ชุดใหม่ กำลังมีปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้นในขั้นตอนการดำเนินงาน ระหว่าง นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กับ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ชุดปัจจุบัน ภายหลังจากที่ นายพิศิษฐ์ ได้ลงนามในหนังสือ ที่ ตผ 0005/1740 ลงวันที่ 24 เม.ย.2560 ถึงเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อขอให้มีการสรรหาคตง.ใหม่ แทนคตง.ชุดเก่าทั้งชุด
โดยอ้างคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 23/2560 ที่กำหนดว่า เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน พ้นจากตำแหน่งในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ หรือพ้นตำแหน่งตามวาระภายใน180 วัน นับแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ ให้ดำเนินการคัดเลือกหรือสรรหาบุคคลเพื่อมาดำรงตำแหน่งแทนให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน เนื่องจากในปัจจุบันมี คตง. 2 ราย ลาออกจากตำแหน่งไปแล้ว คือ นายสุทธิพล ทวีชัยการ และนายวิทยา อาคมพิทักษ์ ส่วน คตง.ที่เหลือ 5 คน ได้แก่ นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน นายกรพจน์ อัศวินวิจิตร นายปิยพันธุ์ นิมมานเหมินท์ นางอุไร ร่มโพธิหยก นางจิรพร มีหลีสวัสดิ์ จะพ้นตำแหน่งในวันที่ 25 ก.ย.2560 นี้ โดยไม่ได้เสนอเรื่องให้ คตง.พิจารณาก่อน
ก่อนที่ เลขาธิการวุฒิสภา จะทำหนังสือแจ้งถึง คตง. เพื่อขอให้พิจารณาเสนอชื่อบุคคลเพื่อรับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสรรหากรรมการตรวจเงินแผ่นดิน จำนวน 1 คน ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งหนังสือจากสำนักงานวุฒิสภาฯ ซึ่งมีกำหนดการประชุมคณะกรรมการสรรหากรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ครั้งแรก ในวันที่ 11 พ.ค.2560 นี้
อย่างไรก็ตาม คตง.ที่เหลืออยู่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว เนื่องจากเพิ่งได้รับเรื่องจากผู้ว่าฯ สตง. และบรรจุเข้าวาระการประชุมคตง. เมื่อวันที่ 4 พ.ค.2560 ที่ผ่านมา ขณะที่คณะกรรมการสรรหากรรมการตรวจเงินแผ่นดิน มีกำหนดการเริ่มประชุมครั้งแรกในวันที่ 11 พ.ค.2560 นี้ ระยะเวลากระชันชิดเกินไป คตง.4 ราย (ยกเว้นนายกรพจน์ อัศวินวิจิตร ที่ไม่ได้ลงนาม) จึงลงนามในหนังสือแจ้งตอบกลับไปถึงเลขาธิการวุฒิสภา ว่า ไม่สามารถจัดหาคนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสรรหากรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้ และที่สำคัญ คตง. ชุดปัจจุบัน ที่ยังไม่หมดวาระการทำงาน พร้อมระบุว่า หากเรื่องนี้มีปัญหาเกิดขึ้นในขั้นตอนการปฏิบัติ ขอให้มีการส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ
มีรายงานข่าวแจ้งว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้ นายพิศิษฐ์ ต้องเร่งรีบส่งเรื่องให้ เลขาธิการวุฒิสภา สรรหา คตง.ชุดใหม่ เข้ามาทำหน้าที่แทน คตง.ชุดเดิมทั้งชุด เนื่องจากการทำงานร่วมกันระหว่างนายพิศิษฐ์ กับ คตง.บางส่วน มีปัญหาความขัดแย้งทางความคิดกันมาโดยตลอด ขณะที่ตนเองซึ่งหมดอายุการทำงานในตำแหน่งผู้ว่าฯ สตง.ไปแล้วเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2560 แต่ได้รับการต่ออายุจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ต่อจนถึงวันที่ 25 ก.ย.2560 นี้ พร้อมกับคตง.ชุดปัจจุบัน ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ตนจะพ้นจากตำแหน่งไป แต่ คตง.ชุดปัจจุบันยังรักษาการอยู่ในตำแหน่งเพื่อคัดเลือกหรือสรรหาบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ สตง.ตามอำนาจคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่กำหนดไว้ว่า เมื่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินพ้นจากตำแหน่งแล้ว ให้ คตง.ดำเนินการคัดเลือก หรือสรรหาบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งดังกล่าวแทน และเสนอชื่อไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้แล้วเสร็จ ภายใน 60 วัน ที่พ้นจากตำแหน่ง
นายพิศิษฐ์ จึงต้องการให้มีคณะกรรมการคตง.ชุดใหม่ เข้ามาคัดเลือกผู้ว่าฯ สตง.คนใหม่ แทนชุดปัจจุบัน ที่มีปัญหาความไม่ลงรอยทางความคิดกับคน สตง. ซึ่งหากคตง.ชุดนี้ยังอยู่ในตำแหน่ง เป็นเรื่องยากที่ข้าราชการสตง.สายเดียวกับนายพิศิษฐ์ จะได้รับการคัดเลือกขึ้นมาดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าฯ สตง.คนใหม่
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวระดับสูงในสตง.ว่า การทำหนังสือถึงเลขาธิการวุฒิสภา เกี่ยวกับการสรรหาคตง. ดังกล่าว สตง.ไม่ได้เป็นผู้เริ่มต้นกระบวนการ แต่เป็นเพราะทางวุฒิสภา ประสานมาให้สตง.เร่งรัดดำเนินการในเรื่องนี้ ตามขั้นตอนในคำสั่งหัวหน้า คสช.