- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ถูกหรือผิด เมื่ออูเบอร์ จดทะเบียนธุรกิจแค่บริษัทสำรวจความคิดเห็น
ถูกหรือผิด เมื่ออูเบอร์ จดทะเบียนธุรกิจแค่บริษัทสำรวจความคิดเห็น
"สิ่งที่เกิดในต่างประเทศคือ บางรัฐของสหรัฐฯ มีคนขับรถอูเบอร์คนหนึ่ง เปิดแอพฯ เเล้วมีคนเรียก คนขับไปรับคนทีจะเรียก เผอิญยังไม่ทันรับ แต่ไปชนเสียชีวิต ที่นี้บริษัทประกันภัยพิสูจน์ได้ว่า คุณเปิดแอพฯ อูเบอร์เพื่อให้บริการเเล้ว เคสนี้ประกันภัยไม่จ่ายเพราะเอารถไปใช้เชิงพาณิชย์ ถึงแม้อูเบอร์จะซื้อประกันภัยไว้ แต่ซื้อเฉพาะผู้โดยสาร กรณีที่รับผู้โดยสารเเล้ว คนที่เสียหายจากรถชนก็ต้องไปเรียกเอาจากอูเบอร์ที่สุดท้ายก็ตกลงกันได้ในตัวเลขที่ไม่เปิดเผย"
บริการอูเบอร์ที่กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง หลังจากมีการจับกุมอูเบอร์ที่สนามบินเชียงใหม่ กลายเป็นประเด็นที่คนในสังคมไทยหันกลับมาตั้งคำถามถึงการให้บริการเดิมที่มีอยู่ภายใต้การคุ้มครองในฐานะถูกกฎหมาย ทั้งแท็กซี่ป้ายเหลือง รถแดงในเชียงใหม่ ที่คนไทยบ่นอุบว่าผูกขาด แถมยังให้บริการที่ตามใจชอบ โก่งราคา เข้าขั้นบริการยอดแย่นั่นเอง หรือแม้กระทั่งการบริการของแท็กซี่ในกรุงเทพฯ ปัจจุบันก็มีเสียงสะท้อนถึงบริการ อย่างเช่น การปฏิเสธผู้โดยสาร เลือกผู้โดยสารเฉพาะต่างชาติบ้าง เป็นต้น
ร้อนถึงกรมการขนส่งทางบกต้องออกมาชี้แจงกรณีมีแท็กซี่ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสารนั้น พบมีแค่ 1% เท่านั้น ขณะที่นายณันทพงศ์ เชิดชู รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เคยให้สัมภาษณ์สื่อในทำนองที่ว่า กรมฯ อาจจะขอใช้ ม.44 เป็นยาแรงสั่งปิด Uber จากการที่แอพพลิเคชั่น ลักษณะนี้ทำลายระบบขนส่งสาธาณะ ทั้งยังระบุว่าต้องสร้างความเข้าใจให้กับคนไทยว่า บริการเช่น Uber นั้นผิดกฎหมาย และหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น ประชาชนจะไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย รวมถึงเรียกร้องให้กลุ่มผู้ให้บริการแท็กซี่ปรับปรุงการให้บริการ เพื่อกระตุ้นให้คนใช้บริการมากขึ้น
ภายหลังคำสัมภาษณ์ของรองอธิบดีกรมขนส่งฯ วันต่อมา นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ออกมายืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีการใช้มาตรา 44 ออกมาบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการให้บริการของรถแท็กซี่อูเบอร์แต่อย่างใดพร้อมทั้งระบุว่า ไม่ได้กีดกันผู้ประกอบการ Uber รวมไปถึงไม่ได้ห้ามนำแอพพลิเคชั่น หรือเทคโนโลยีมาใช้กับระบบขนส่งสาธารณะ แต่อยากให้ประกอบธุรกิจอย่างถูกกฎหมายด้วยการนำรถจดทะเบียนเข้าระบบตามที่กำหนด และหากยังมีการนำรถมาวิ่งให้บริการบนท้องถนนถือว่า ผิดกฎหมาย ซึ่งจะต้องดำเนินการตรวจจับตามกฎหมายทันที
ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 มี.ค. ที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงกรณีปัญหาการร้องเรียนขอให้มีการใช้ ม.44 จัดการแอพพลิเคชั่นอูเบอร์ ว่า ไม่มีแนวคิดที่จะใช้ มาตรา 44 จัดการแอพพลิเคชั่นอูเบอร์ ซึ่งต้องไปดูก่อนว่าแอพฯ อูเบอร์ทำถูกกฎหมายหรือไม่ ซึ่งตอนนี้กำลังให้กระทรวงคมนาคมพูดคุยหาทางออก
ทั้งนี้กฎหมายการให้บริการการขนรับส่งผู้โดยสารโดยมีค่าตอบแทน มีกฎระเบียบ ข้อบังคับอยู่แล้ว คือกฎหมาย ที่ควบคุมเรื่องแท็กซี่ มีป้ายเหลือง และป้ายต่าง ๆ ต้องดำเนินการตามข้อบังคับ
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแอพพลิเคชั่นอูเบอร์ ที่เป็นปัญหา เพราะมีคนร้องเรียนมาว่า ทำผิดกฎหมาย ก็จำเป็นต้องไปตรวจสอบ ต้องไปจับกุม แต่ในขณะเดียวกันแอพพลิเคชั่นดังกล่าวก็เป็นทางเลือกที่ดี แต่ก็ต้องหากฎหมายที่เหมาะสมว่าจะทำอย่างไร ที่จะไม่สร้างปัญหาใหม่ขึ้นมา ต้องช่วยกันพัฒนา และหามาตรการใหม่ที่จะไปเสริม แต่ในวันนี้แอพ ฯ ยังผิดกฎหมายอยู่ ก็ต้องคุ้มครองให้คนที่ขับแท็กซี่ที่ถูกต้องกฎหมายด้วย
ฟากบริษัทผู้ให้บริการแอพฯ อูเบอร์ เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการประชุมร่วมกับกรมขนส่งทางบก กรมสรรพากร หลังจากอูเบอร์พยายามเรียกร้องผ่านเว็ปไซต์ ที่ขณะนี้มีคนลงชื่อสนับสนุนแล้วกว่า ห้าหมื่นรายชื่อ
ในข้อความเรียกร้อง ทางอูเบอร์ระบุว่า พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 ฉบับปัจจุบันนั้นถูกร่างขึ้นมาเมื่อ 38 ปีก่อน ยังไม่รองรับการให้บริการร่วมเดินทางซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ที่นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้บนสมาร์ทโฟน รวมทั้งยังไม่ได้สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลฯที่จะก้าวข้ามไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเปลี่ยนภาคอุตสาหกรรมไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมในการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนอย่างเช่น Uber ให้สามารถก้าวข้ามปัญหาในการประกอบกิจการในประเทศไทย
เพื่อเรียกร้องในส่วนนี้ทางอูเบอร์ เสนอว่า
- ให้รองรับบริการร่วมเดินทางที่เปลี่ยนแปลงไปตามนโยบายและสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไป
- ให้รองรับทางเลือกในการเดินทางของคนไทยและนักท่องเที่ยวตามสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ให้ทางเลือกแก่ผู้เดินทาง
- ให้ส่งเสริมการทำงานของผู้ประกอบการรายย่อยของไทย และ
- ผลประโยชน์สูงสุดของรัฐบาลฯ ที่จะได้จากการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการระบบขนส่งในเมืองต่างๆในประเทศไทยเพื่อช่วยลดระยะเวลาการรอคอยรถสาธารณะที่มีอยู่และแก้ไขปัญหาการจราจร รวมทั้งทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีต่างๆภายใต้ระบบกฎหมายได้
นอกจากนี้ เฟสบุ๊คแฟนเพจของ อูเบอร์ ยังได้โพสต์ข้อความที่ระบุถึงการพูดคุยกับหน่วยงานรัฐว่า การหารือระหว่างกับกระทรวงคมนาคมเมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมาเป็นไปได้ด้วยดี โดยรัฐบาลเห็นด้วยกับการศึกษาข้อมูลและประโยชน์ที่การร่วมเดินทางจะนำมาสู่ประเทศไทย เช่นเดียวกับประเทศอื่นในภูมิภาคที่ได้รับผลประโยชน์ดังกล่าวอยู่ในเวลานี้
ระหว่างที่มีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อก้าวต่อไป Uber จะยังคงยังเปิดให้บริการตามปกติ เราขอขอบคุณผู้ใช้และพาร์ทเนอร์ร่วมขับทุกคนที่เชื่อมั่นและสนับสนุนเราตลอดมา และหวังว่าทุกท่านจะเป็นกำลังใจให้เราต่อไป พร้อมติดแฮชแท็ก #WhyWeUber
ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา ได้ตรวจสอบข้อมูลบริษัท อูเบอร์(ประเทศไทย) จำกัด พบว่า มีการจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 มีทุนจดทะเบียนปัจจุบัน 8,400,000 บาท โดยมีสัดส่วนการถือหุ้น 3 ราย คือ
1.) อูเบอร์ เทคโนโลยีส์,อิงค์ สัญชาติอเมริกัน สัดส่วน 99.99% จำนวน 43,998 หุ้น มูลค่า 4,399,800 บาท
2.) นางคาเรน แซมมิส วอล์คเกอร์ สัญชาติอเมริกัน สัดส่วน 0.0023% จำนวน 1 หุ้น มูลค่า100 บาท
3.) อูเบอร์ อินเตอร์ชั่นแนล โฮลดิ้ง บี.วี สัญชาติ ดัชต์ สัดส่วน0.0023% จำนวน 1 หุ้น มูลค่า 100 บาท
รวม 100 % จำนวน44,000 มูลค่า 4,400,000 บาท
โดยบริษัทอูเบอร์(ประเทศไทย) จำกัด ระบุประเภทธุรกิจว่า เป็น กิจกรรมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ (วิจัยการตลาดและการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน)
จากประเด็นเรื่องประเภทธุรกิจที่ระบุว่า บริษัที่ทำงานด้านวิจัยการตลาดและการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ยังกลายเป็นประเด็นข้อข้องใจถึงการความพยายามให้บริการรถโดยสารของอูเบอร์ว่า จดทะเบียนถูกต้องหรือไม่
ดร. สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา ระบุว่า ระหว่างการพูดคุยกับทางอูเบอร์ กรมสรรพากร ได้ยกประเด็นนี้ขี้นมาว่า ที่ผ่านมามีการจ่ายภาษีที่ถูกต้องไม่ ก็เข้าใจว่า ไม่ เพราะปัจจุบันอูเบอร์กินค่าส่วนต่างเปอร์เซ็นค่าโดยสารที่เก็บได้ ก็ไม่มีในการจัดส่งภาษี ซึ่งตรงนี้ต้องไปดูว่าการดำเนินการ กระบวนการในการจัดตั้งบริษัทเป็นอย่างไร จดทะเบียนการค้าที่ถูกต้องหรือไม่
ดร. สุเมธ ยกตัวอย่างในหลายประเทศที่ปัญหาในเรื่องการจัดเก็บภาษีในระดับหนึ่ง ถ้าให้พูดถึงปัญหาอูเบอร์ประเทศอื่น พบว่า มีการสืบสวนจากหน่วยงานราชการ ประเทศในยุโรปประเทศหนึ่งที่อนุญาตให้อูเบอร์ดำเนินการได้บางส่วน แต่พบว่า นอกจากจะมีการหลบเลี่ยงภาษี คือค่าโดยสารจ่ายออกไป ส่วนใหญ่ผ่านบัตรเครดิตก็โอนไปต่างประเทศเลย ไม่มีการจ่ายภาษีที่ถูกต้อง ซึ่งไม่รู้ว่าไทยจะดูเเล ส่วนนี้ได้ดีมากน้อยขนาดไหน
ประเด็นที่ว่าอูเบอร์พยายามเรียกร้องให้มีการบริการร่วมเดินทาง ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ที่นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้บนสมาร์ทโฟนนั้น ดร.สุเมธ มองว่า ส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องของการเดินรถร่วม แต่คือ ธุรกิจ มีการรับจ้าง เก็บเงิน
"ประเด็นนี้ชัด ลักษณะของรถที่เอามาให้บริการ ควรต้องเป็นรถแบบไหน นี่คือประเด็นที่ควรมานั่งถกกันมากกว่า สมมติมีรถหนึ่งคัน อยู่มาวันหนึ่งอยากขับอูเบอร์ ก็สมัครเเล้วเอาไปขับเลย อันนี้รัฐจะยอมหรือไม่ ถ้ารัฐยอมก็โอเคตามนี้ไป หาแนวทางจัดการไป แต่ถ้ารัฐไม่ยอม เช่นต้องเอารถไปลงทะเบียน ควบคุมก่อนหนึ่งปี มีการตรวจสอบว่า ขับรถคันนี้จริง มีการตรวจสภาพรถตามมาตรฐานสามารถที่จะเอามารับจ้างได้ แต่ต้องไปเปลี่ยนเป็นป้ายเหลือง ลงทะเบียนก่อนเพื่อให้รู้ ประเด็นนี้อูเบอร์จะยอมไหม
หรือประการสุดท้ายเราไม่ยอมเลย คือต้องเป็นป้ายเหลืองก่อนที่จะมารับจ้างได้ คือต้องมีการจดทะเบียนใหม่ เพราะฉะนั้นพวกนี้เป็นสิ่งที่เราต้องมานั่งดูว่า เมื่อมีเงื่อนไขพวกนี้เราจะยอมไหม แล้วยอมในเงื่อนไขแบบไหน ซึ่งจะรวมไปถึงการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย"
ดร.สุเมธ กล่าวยังยกกรณีในต่างประเทศ การประกันภัยของรถยนต์จะคุ้มครองแยกกันระหว่าง รถยนต์ส่วนบุคคล กับคนที่ใช้งานเชิงพาณิชย์ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นรถยนต์ส่วนบุคคลประกันภัยก็จะคุ้มครองคุณในฐานะรายบุคคล แต่ในกรณีว่า หากคุณเอาไปรับจ้างและบริษัทประกันภัยสามารถพิสูจน์ได้ว่าคุณเอารถคนนี้ไปรับจ้าง ประกันมีสิทธิ์ที่ปฏิเสธการคุ้มครองกรณีที่เกิดอุบัติเหตุได้ อันนี้คือหลักการ ส่วนในเชิงรายละเอียดอาจมีเยอะมากกว่านี้
"สิ่งที่เกิดในต่างประเทศคือ บางรัฐของสหรัฐฯ มีคนขับรถอูเบอร์คนหนึ่ง เปิดแอพฯ เเล้วมีคนเรียก คนขับไปรับคนทีจะเรียก เผอิญยังไม่ทันรับ แต่ไปชนเสียชีวิต ที่นี้บริษัทประกันภัยพิสูจน์ได้ว่า คุณเปิดแอพฯ อูเบอร์เพื่อให้บริการเเล้ว เคสนี้ประกันภัยไม่จ่ายเพราะเอารถไปใช้เชิงพาณิชย์ ถึงแม้อูเบอร์จะซื้อประกันภัยไว้ แต่ซื้อเฉพาะผู้โดยสาร กรณีที่รับผู้โดยสารเเล้ว คนที่เสียหายจากรถชนก็ต้องไปเรียกเอาจากอูเบอร์ที่สุดท้ายก็ตกลงกันได้ในตัวเลขที่ไม่เปิดเผย"
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวด้วยว่า ถ้าไม่เกิดเหตุลักษณะนี้เราจะไม่เห็นภาพว่า มีช่องว่างทางกฎหมายอยู่พอสมควร ตัวกฎหมายที่เกี่ยวข้องประกันภัย มีความซับซ้อน ระหว่ารถยนต์ส่วนบุคคลกับรถโดยสารเชิงพาณิชย์ ถ้าคนเอารถไปขับอูเบอร์ โอกาสที่บริษัทประกันภัยจะคิดเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นด้วย ผลกระทบตรงนี้ก็ต้องดูกันอีกที เพราะในเมืองไทยยังไม่เกิดขึ้น
มีตัวอย่างให้เห็นอีกที่อินโดนีเซีย ซึ่งทาง เว็ปไซต์ South China Morning Post รายงานว่า จากความพยายามหาจุดร่วมระหว่างสองกลุ่มด้วยการเปิดทางให้รัฐบาลท้องถิ่นควบคุมราคาและปริมาณรถของแอพฯ เหล่านี้ หลังจากออกกฎควบคุมแล้ว แต่คนขับแท็กซี่ยังแสดงความไม่พอใจอยู่
กฎหมายใหม่เปิดทางให้รัฐบาลท้องถิ่นสามารถกำหนดราคาขั้นต่ำและสูงของแอพเรียกรถ พร้อมกับจำกัดปริมาณรถได้ด้วย สำหรับเหตุผลการออกกฎครั้งนี้ ทางขนส่งอินโดนีเซียยอมรับตรงๆ ว่า เป็นการหาจุดร่วมระหว่างคนขับรถโดยสารเดิมกับกลุ่มใหม่ที่ให้บริการผ่านแอพ
ทั้งนี้ อินโดนีเซียเริ่มประกาศกฎควบคุมแอพเรียกรถโดยสารมาตั้งแต่ต้นปี 2016 โดยเป็นข้อบังคับทั่วไป เช่น การสอบใบขับขี่สาธารณะ และการนำรถไปตรวจสภาพเพิ่มเติม โดยให้เวลาแอพทั้งหมดเตรียมตัวมาแล้วหนึ่งปี และจะมีผล 1 เมษายนนี้
ขณะที่กลุ่มผู้ให้บริการแอพเรียกรถ ได้แก่ Uber, Grab, และแอพท้องถิ่นอย่าง Go-Jek ออกแถลงการณ์ร่วมแสดงความไม่เห็นด้วยกับกฎใหม่นี้ รวมถึงขอให้รัฐบาลสร้างช่องทางการตรวจสภาพรถตามกฎเดิมที่กำลังมีผลให้สะดวกขึ้น ส่วนประเทศต้นกำเนิดอูเบอร์อย่างสหรัฐฯ เองก็ยังคงมีหลายรัฐที่แบนการใช้งาน เนื่องจากพบปัญหาระหว่างแท็กซี่ท้องถิ่นเดิม อย่างเช่นในเมืองออสติน รัฐแท็กซัส เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เราอย่าหลงประเด็นเรื่อง "อูเบอร์"
ภาพประกอบจาก
Illustration from http://i2.wp.com/techadvisor.lk/wp-content/uploads/2015/12/Uber-war.jpg
ภาพแอพอูเบอร์จาก http://www.techxcite.com/topic/26705.html