รัฐแจง"โอไอซี"ยังจำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก. – ผบ.ทบ.ขอโทษพี่น้องมุสลิมชายแดนใต้
ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวเนื่องกับชายแดนใต้ 2 ด้าน คือ 1.ภารกิจของคณะผู้แทนพิเศษโอไอซี และ 2.การแสดงท่าทีที่อ่อนลงของผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ระหว่างต้อนรับคณะเยาวชนจาก จ.ปัตตานี ในโครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำเยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้
เริ่มจากภารกิจของคณะผู้แทนพิเศษจากองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 11 พ.ค.2555 ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้เปิดแถลงข่าวร่วมกับ นายซาเยด คาสเซม เอล มาสรี ที่ปรึกษาและผู้แทนพิเศษของเลขาธิการโอไอซี ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของกระทรวงการต่างประเทศ และได้ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
นายสีหศักดิ์ กล่าวว่า คณะผู้แทนเลขาธิการโอไอซีเดินทางเยือนประเทศไทยเป็นครั้งที่ 3 แล้ว การปฏิบัติภารกิจในช่วง 3 วันที่ผ่านมาได้พูดคุยกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ผู้นำศาสนาและผู้นำชุมชนในพื้นที่
ทั้งนี้ การพูดคุยได้เน้นถึงปฎิสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทยกับโอไอซี โดยได้ชี้แจงถึงความโปร่งใสของแนวนโยบายในการแก้ไขปัญหา ซึ่งคณะผู้แทนโอไอซี ยอมรับว่าปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาภายในประเทศ ไม่ใช่ความขัดแย้งทางศาสนา และไม่สนับสนุนให้ดำเนินการใดๆ ในการแบ่งแยกดินแดน
นอกจากนั้น ฝ่ายไทยยังได้ชี้แจงถึงความคืบหน้าในนโยบายของรัฐบาล ซึ่งคณะผู้แทนโอไอซีเห็นด้วยที่ไทยเน้นการแก้ปัญหาที่ต้นตอ โดยใช้การพัฒนาเศรษฐกิจ ส่งเสริมและเคารพอัตลักษณ์ของชาวมุสลิม ให้ความเป็นธรรมและเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารพื้นที่ เป็นกรอบทิศทางในการทำงาน แต่ยอมรับว่าโอไอซียมีความเป็นห่วงเหตุการณ์รุนแรงที่ยังคงมีอยู่ แม้ว่ารัฐบาลจะมีแนวทางแก้ไขปัญหาไปในทิศทางที่ถูกต้องแล้วก็ตามย้ำความจำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
"เราได้เน้นย้ำว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากฝ่ายรัฐ และรัฐบาลเคารพกฏหมาย รวมทั้งส่งเสริมสิทธิของประชาชน แม้ว่าคณะผู้แทนโอไอซีเป็นห่วงการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) แต่เราก็ย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องประกาศใช้เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน หากพื้นที่ใดสถานการณ์ดีขึ้น รัฐบาลก็มีนโยบายยกเลิก จะไม่คงไว้ตลอด"
"นอกจากนั้นรัฐบาลก็พร้อมพูดคุยกับทุกฝ่ายเพื่อรับทราบปัญหา ข้อเดือดร้อน และหาแนวทางแก้ไข แต่ไม่ใช่การเจรจากับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะไม่มีกลุ่มใดเป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่ทั้งหมด จึงต้องพูดคุยกับทุกกลุ่ม" ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ระบุ
ผู้นำโอไอซีปลื้มไทยดับไฟใต้ถูกทาง
ด้าน นายซาเยด คาสเซม เอล มาสรี กล่าวว่า จากที่ได้เดินทางเยือนประเทศไทยและลงพื้นที่เมื่อปี 2548 จนถึงครั้งนี้ เห็นว่าสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ดีขึ้น ทัศนคติของรัฐบาลที่มีในอดีตได้เปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีกว่าเดิม เพราะรัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาที่ต้นตอตามแนวทางการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และยึดหลักการพูดคุยกับผู้ก่อความไม่สงบ
"เราไม่สนับสนุนขบวนการต่างๆ ที่จะมาแบ่งแยกดินแดน และขอประณามการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับพลเรือน ทั้งยังเห็นว่าสถานการณ์ความไม่สงบที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องภายในของไทย ซึ่งโอไอซีไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของไทยได้ เพียงแต่ให้ข้อแนะนำ รวมทั้งอาจมีกองทุนในความช่วยเหลือด้านการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในพื้นที่ และเห็นด้วยว่าการดำเนินการต่างๆ ของรัฐบาลต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ"
ประทับใจแม่ทัพภาค 4 เน้นงานพัฒนาดับไฟใต้
ผู้แทนพิเศษโอไอซี กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไทยให้ความร่วมมือกับโอไอซีเป็นอย่างดี และหวังว่าความร่วมมือนี้จะส่งผลทางบวกต่อสถานการณ์ภาคใต้ และสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลไทยที่พยายามแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ เราเห็นว่าสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องศาสนา ส่วนการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็เข้าใจว่าใช้ในสถานการณ์ไม่ปกติ มีความจำเป็นต้องคุ้มครองปกป้องความปลอดภัยของชุมชนชาวไทย และหวังว่าเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ความรุนแรงลดลง ประชาชนมีความปลอดภัยมากขึ้น จะเลิกประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตามลำดับ
"การมาเยือนครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ จะนำผลการลงพื้นที่รายงานให้เลขาธิการโอไอซีได้รับทราบว่าสถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น และรัฐบาลไทยมีแนวทางแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง ทั้งยังรู้สึกประทับใจการพบกับแม่ทัพภาคที่ 4 ที่นำเรื่องการพัฒนามาเป็นหัวใจสำคัญในการแก้ไขปัญหาด้วย" นายซาเยด คาสเซม เอล มาสรี กล่าวในที่สุด
โอไอซีถกแม่ทัพ 4 - จี้รัฐควบคุมความรุนแรง
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 พ.ค. นายซาเยด คาสเซม เอล มาสรี ที่ปรึกษาและผู้แทนพิเศษของเลขาธิการโอไอซี ได้พบปะหารือกับ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เสนาธิการทหารบก (เสธ.ทบ.) และ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาค 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค 4) ที่ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี
นายซาเยด คาสเซม เอล มาสรี กล่าวภายหลังการหารือว่า เดินทางลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 หลังจากเคยเดินทางมาเมื่อปี 2548 และ 2550 โดยครั้งนั้นเป็นการติดตามกรณีกรือเซะและตากใบ รวมถึงสถานการณ์ที่แย่ๆ ในช่วงนั้น ประกอบกับเลขาธิการโอไอซี ได้เดินทางมาลงนามเพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสารกับรัฐบาลไทย ซึ่งมีการเห็นพ้องร่วมกันในประเด็นการแก้ปัญหาว่าจะต้องแก้ที่ต้นเหตุของปัญหา ควรอนุญาตให้คนมีอิสระในวัฒนธรรมและภาษาของตนเอง มีโอกาสที่จะมีความสุขกับวิถีชีวิตของตนเองที่ปราศจากการแทรกแซง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ทราบว่ามีอยู่แล้วในรัฐธรรมนูญของไทย
"พวกเราไม่ได้สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนหรือการเคลื่อนไหวในการแบ่งแยก แต่ในทางตรงกันข้ามพวกเราส่งเสริม สนับสนุน และให้เกียรติความเป็นเอกราช ตลอดจนเกียรติยศของราชอาณาจักรไทย ส่วนปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและการใช้กำลังทางทหารในทางที่ผิด ความขัดแย้งเหล่านี้ควรจะดำเนินการแก้ไขให้เร็วที่สุด ถ้าปล่อยปัญหาเหล่านี้ให้ยืดเยื้อออกไปเรื่อยๆ ก็จะอันตราย จะเกิดการแทรกแซงจากบุคคลภายนอกมากขึ้นจนทำให้ยากต่อการควบคุม ดังนั้นขอย้ำว่าให้รีบแก้ไขให้เร็วที่สุดเพื่อลดความสูญเสีย" นายซาเยด คาสเซม เอล มาสรี กล่าว
ทัพ 4 ปัดข่าวเตรียมเสนอเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ด้าน พล.ท.อุดมชัย ได้กล่าวยืนยันถึงการใช้แนวทางการพัฒนาและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ พร้อมเน้นย้ำถึงการบังคับใช้กฎหมายพิเศษว่ายังคงมีความจำเป็น แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นก็จะเสนอรัฐบาลให้ยกเลิกตามความเหมาะสมต่อไป
แหล่งข่าวจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวจากสื่อบางแขนงในทำนองแม่ทัพภาคที่ 4 รับปากกับผู้แทนพิเศษโอไอซีจะเร่งเสนอรัฐบาลให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า ไม่เป็นความจริง แม่ทัพภาคที่ 4 ไม่ได้พูดเช่นนั้น แต่ยืนยันในหลักการว่าไม่ได้มีความต้องการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปเรื่อยๆ และที่ผ่านมาได้ทดลองใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคง) ในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ซึ่งหากประเมินแล้วได้ผลดี ประกอบกับสถานการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ก็จะเสนอให้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อไป แล้วใช้กฎหมายความมั่นคงแทน
"ข่าวที่ออกไปคงเป็นการตัดตอนคำพูดของท่านแม่ทัพ แต่ถ้าฟังทั้งหมดและรายงานทั้งหมดจะเข้าใจเนื้อหาตามที่ระบุมานี้" แหล่งข่าวซึ่งเป็นนายทหารคนสนิทของแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าว
ผบ.ทบ.ขอโทษพี่น้องมุสลิมชายแดนใต้-ยอมรับอดีตผิดพลาด
อีกเรื่องหนึ่งคือ กิจกรรมในโครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำเยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีการนำเยาวชนจาก อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี จำนวน 90 คนไปทัศนศึกษาที่กรุงเทพฯ และได้เข้าพบ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 พ.ค.ด้วย
ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานต้อนรับเยาวชนจาก จ.ปัตตานี จำนวน 90 คน ในโครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำเยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า รู้สึกยินดีที่มีโครงการร่วมกัน มีเยาวชนทั้งไทยพุทธและมุสลิมมาร่วมกิจกรรม วันนี้เราไม่ได้มีปัญหาอะไรกัน และสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตจนถึงปัจจุบันเป็นเหมือนเมฆหมอกที่ทำให้เกิดความรุนแรงขึ้น แต่เรามองทุกคนล้วนเป็นคนไทยทั้งสิ้น ไม่เคยมองเป็นศัตรู ไม่ว่าจะศาสนาใดก็ตาม
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ทหารที่ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ไปเพื่อคุ้มครองปกป้องให้ประชาชนปลอดภัย เพราะมีคนไม่หวังดีทำร้ายประชาชนอยู่ ทหารไม่ได้ไปต่อสู้หรือรบกับใคร แต่จะต้องหาวิธีหันหน้าเข้าหากันและแก้ไขปัญหาร่วมกันเพื่อให้เกิดความสงบและสันติสุขอย่างยั่งยืน
"สิ่งแรกที่เราต้องให้กันคือความไว้วางใจและเชื่อมั่นต่อกัน กองทัพบกเป็นกองทัพของประเทศชาติ มีหน้าที่ดูแลชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ รวมถึงประชาชนให้เกิดความปลอดภัย หากในอดีตมีความผิดพลาด ผมก็ขอโทษและขออภัย ทั้งนี้หากสถานการณ์ในพื้นที่มีการสู้รบและกลุ่มก่อความไม่สงบหลบซ่อนอยู่ ครอบครัวของพวกท่านก็จะอยู่อย่างไม่เป็นสุข เพราะท่านก็จะไม่สามารถกลับมาอยู่กับครอบครัวของท่านได้"
"ดังนั้นอยากให้มาพูดคุยและมาสู้กันในสิ่งที่ถูกต้อง ทหารไม่ต้องการรบกับคนในชาติด้วยกันเอง ไม่มีทหารคนใดที่อยากทำให้ประชาชนเสียชีวิตแม้แต่คนเดียว เราพยายามทำทุกอย่างให้ดีขึ้น แม้ว่าจะต้องใช้เวลานานก็ตาม" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
เตือนสุดท้ายคนแพ้คือประเทศชาติ-ประชาชน
ผบ.ทบ.กล่าวด้วยว่า กลุ่มก่อความไม่สงบพยายามใช้ประวัติศาสตร์ในอดีตเพื่อปลูกฝังและปลุกระดม ดังนั้นการจะทำให้บุคคลเหล่านี้เข้าใจต้องใช้เวลานาน เนื่องจากถูกปลูกฝังมาเป็นเวลาหลายสิบปี ส่วนตัวไม่อยากท้าทายว่าใครจะแพ้หรือชนะ แต่มองว่าคนที่จะแพ้ที่สุดคือประเทศชาติ และต่อไปก็คือประชาชนทุกคน หากเหตุการณ์ยังไม่สงบ บ้านเมืองก็ไปข้างหน้าไม่ได้
"เราอยากให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับไปอยู่อย่างสันติสุขเหมือนเดิม ขอสัญญาว่าพวกเราทุกคนจะผลักดันทุกอย่างเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เจริญทัดเทียมกับจังหวัดอื่นๆ สิ่งที่เป็นปัญหาวันนี้คือความยากจนและการเข้าถึงทรัพยากรไม่ทั่วถึง แต่ความเป็นคนเท่าเทียมกัน ดังนั้นต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ผู้นำเยาวชนไม่เชื่อมือนายกฯดับไฟใต้
ก่อนหน้านั้น คณะเยาวชนจาก จ.ปัตตานี ได้เข้าพบ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดย คอลีเยาะ หะหลี อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนภาคใต้ และทายาทผู้สูญเสียจากเหตุการณ์กรือเซะ เป็นตัวแทนนำเข้าพบ โดย นางสาวยิ่งลักษณ์ ได้กล่าวให้โอวาท และย้ำว่ารัฐบาลอยากเห็นความรัก ความสามัคคี และความเท่าเทียมเสมอภาคกันในพื้นที่
ขณะที่ คอลีเยาะ กล่าวภายหลังพบนายกฯว่า ยังไม่ค่อยไว้ใจการทำงานของ นางสาวยิ่งลักษณ์ เนื่องจากยังเป็นมือใหม่ และยังขาดประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาความรุนแรง แต่ก็เห็นว่าปัจจุบันนายกฯมีความเอาจริงเอาจังมากขึ้น จึงอยากให้นายกฯกำชับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เร่งบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างมีเอกภาพ และต้องไม่ใช้เงินเป็นเครื่องมือหลักในการแก้ไขปัญหา
อนึ่ง ระหว่างการทำกิจกรรมของคณะเยาวชน คอลีเยาะได้ขอถ่ายรูปและทำท่า "ซารางแฮโย" (เป็นภาษาเกาหลี แปลว่า "ฉันรักเธอ" ซึ่งปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เกาหลีหลายเรื่อง) กับ นางสาวยิ่งลักษณ์ และ พล.อ.ประยุทธ์ ด้วย โดยเมื่อภาพดังกล่าวเผยแพร่ออกไปตามสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ได้เรียกเสียงฮือฮาจากผู้ที่พบเห็นเป็นอย่างมาก
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ผบ.ทบ.ร่วมทำท่า "ซารางแฮโย" หรือ "ฉันรักเธอ" ในสไตล์เกาหลี กับ คอลีเยาะ หะหลี ทายาทผู้สูญเสียจากชายแดนใต้
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากศูนย์ภาพเนชั่น