จัดซื้อ723ตัว ใช้งานไม่ได้เกือบครึ่ง!สตง.สอบงบกล้องCCTV อบจ.ชลบุรี 746ล.
สตง. ชำแหละงบซื้อกล้อง CCTV อบจ.ชลบุรี 746 ล้าน พบจัดซื้อ 723 ตัว ให้ 13 สถานีตร. ใช้งานไม่ได้เกือบครึ่ง! สภ.เมืองชลบุรี สภ.บางละมุง -สภ.บ่อวิน มีปัญหาทั้งระบบ หวั่นงบประมาณสูญเปล่า กระทบงานป้องกันอาชญากรรม-อุบัติเหตุ จี้แก้ไขด่วน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิด(CCTV)ในพื้นที่ต่างๆ ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ชลบุรี ซึ่งเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2552 -2559 รวมจำนวนทั้งสิ้น 18 โครงการ งบประมาณ 682,593,300 บาท และตั้งงบประมาณซ่อมแซมและย้ายกล้องโทรทัศน์วงจรปิด จำนวน 7 โครงการ งบประมาณ 63,670,000 บาท รวมงบประมาณทั้งสิ้น 746,263,000 บาท ซึ่งพบว่ากล้องวงจรปิดในโครงการจำนวนมากไม่สามารถใช้งานได้
สตง.ระบุว่า จากการตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 1 – 26 กุมภาพันธ์ 2559 พื้นที่ติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดตามโครงการ ซึ่งมีการเปิดให้สถานีตำรวจภูธรขอรับการสนับสนุนให้ อบจ.ชลบุรี ติดตั้ง กล้องโทรทัศน์วงจรปิดในพื้นที่ และ อบจ.ชลบุรี นำข้อมูลดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณในการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดให้กับสถานีตำรวจภูธรต่าง ๆ จำนวน 13 แห่ง พบว่า กล้องโทรทัศน์วงจรปิดตามโครงการไม่สามารถใช้งานได้หรือไม่สามารถแสดงภาพได้ที่ห้องควบคุม จำนวน 309 กล้อง จากกล้องทั้งหมด จำนวน 723 กล้อง หรือคิดเป็นร้อยละ 42.73 ของจำนวนกล้องทั้งหมด โดยเฉพาะ สภ.เมืองชลบุรี สภ.บางละมุง และสภ.บ่อวิน ไม่สามารถใช้งานได้ทั้งระบบ ส่วนภาพที่ได้จากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดตามโครงการบางภาพไม่ชัด ภาพมัว แสงมากเกินไป ภาพมีแถบดำบัง ทำให้ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานในกรณีเกิดเหตุต่าง ๆ ได้
ขณะที่การดูแลและบำรุงรักษาระบบอุปกรณ์แบบเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) ตามกำหนดทุก 3 เดือน ผู้รับจ้างเข้าบำรุงรักษาล่าช้า ไม่ตรงตามแผนงานที่กำหนดไว้ และรายงานการบำรุงรักษาของผู้รับจ้างไม่ครบถ้วนและไม่ชัดเจน
สตง.ยังระบุด้วยว่าการดำเนินโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิดของ อบจ.ชลบุรี ส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ตามวัตถุประสงค์ โดยกล้องวงจรปิดตามโครงการฯ จำนวนมาก ไม่สามารถใช้งานได้ ภาพที่ได้จากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดบางภาพไม่ชัด และการดูแลบำรุงรักษากล้องวงจรปิดและอุปกรณ์เป็นไปอย่างล่าช้าส่งผลกระทบ ทั้งในเรื่องเกิดความสูญเปล่าหรือความไม่คุ้มค่าของงบประมาณที่ใช้ในการจัดทำโครงการ ขาดความต่อเนื่องในการใช้งาน ขาดเครื่องมือช่วยอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่งผลกระทบต่อการป้องกัน การแก้ไขปัญหา เช่น อาชญากรรม อุบัติเหตุในพื้นที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน และทำให้ต้องมีการใช้งบประมาณในการซ่อมบำรุงกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่ไม่สามารถใช้งานได้ สูงกว่าที่ควร ซึ่งหากมีการดูแลบำรุงรักษากล้องโทรทัศน์วงจรปิดอย่างถูกต้อง ตามวิธีการและระยะเวลาที่เหมาะสม กล้องโทรทัศน์วงจรปิดและอุปกรณ์จะยังสามารถใช้งานได้ เป็นต้น
เบื้องต้น สตง.มีข้อเสนอแนะให้ อบจ.ชลบุรี พิจารณาดำเนินการ อาทิ ควรมีการจัดทำข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรกับสถานีตำรวจภูธรต่าง ๆ ที่ติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดตามโครงการ ถึงแนวทางการบริหารจัดการ ความรับผิดชอบในเรื่องค่าไฟฟ้าที่ห้องควบคุมกล้องโทรทัศน์วงจรปิด การควบคุม กำกับดูแลทรัพย์สินตามโครงการ ของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบของสถานีตำรวจภูธร เช่น ให้มีการจัดทำคำสั่งมอบหน้าที่รับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เพื่อควบคุม กำกับ ดูแลการใช้งานกล้องโทรทัศน์วงจรปิดตามโครงการ ให้มีการรายงานผลการใช้งานกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ปัญหาอุปสรรค แก่ผู้บังคับบัญชา และ อบจ.ชลบุรี เป็นระยะ ๆ
และควรจัดให้มีการอบรมให้ความรู้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งในส่วนของผู้ควบคุมบริหารจัดการดูแลรักษาระบบ เจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคและผู้ใช้งาน เพื่อการใช้งานและการดูแลบำรุงรักษาระบบเป็นไปอย่างถูกต้อง และควรเพิ่มเติมกรณีมีการเปลี่ยนแปลงเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการควบคุมหรือผู้ใช้งานระบบ จะต้องมีความชัดเจนในเรื่องการจัดอบรม ถ่ายทอดความรู้แก่เจ้าหน้าที่คนใหม่ ต้องมีวิธีการอย่างไร รวมถึงการซ่อมแซมกล้องโทรทัศน์วงจรปิดตามโครงการที่อยู่ระยะประกันและพ้นระยะประกันด้วย
หมายเหตุ : ภาพประกอบข่าวโลโก้อบจ.ชลบุรี จาก http://www.chon.go.th ส่วนภาพกล้องจาก www.pinterest.com